ยนตรกิจขายโรลสรอยซ์-เบนท์ลี่ เกมนี้ต้องมองยาวๆ


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

พิธีเซ็นสัญญาแต่งตั้งเครือยนตรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ของรถยนต์โรลสรอยซ์ และเบนท์ลี่ ถือเป็นงาน ที่ฝ่ายอังกฤษให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

บาร์นี่ สมิธ เอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย ถึงกับยอมเปิดบ้านให้กลุ่มผู้สื่อข่าวกว่า 100 ชีวิต เดินทางเข้าไปเยี่ยมชมบรรยากาศอันร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ภายในสถานทูต และใช้เวลาอยู่ในสถานที่แห่งนี้ ถึงกว่า 3 ชั่วโมง

"โรลสรอยซ์ ถือเป็นยี่ห้อรถ ที่มีชื่อเสียงที่สุดของอังกฤษ"เอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย ให้เหตุผล

ทั้งโรลสรอยซ์ และเบนท์ลี่ ถือเป็นรถยนต์ระดับหรูสุด ราคานำเข้า บวกกับภาษีแล้วจะตกประมาณคันละ 30 ล้านบาท โดยเฉลี่ย

อย่างไรก็ตาม รถทั้ง 2 ยี่ห้อ กลับเป็นที่นิยมของลูกค้าระดับมหาเศรษฐีในประเทศไทย รวมทั้งโรงแรมระดับ 5 ดาว ที่มีลูกค้าระดับดังกล่าวเข้ามาใช้บริการเป็นประจำ ก็จำเป็นต้องมีรถโรลสรอยซ์ หรือเบนท์ลี่ ไม่ยี่ห้อใดยี่ห้อไว้ เพื่อให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มนี้

"จากข้อมูลล่าสุด ขณะนี้ในประเทศไทย มีคนใช้รถทั้ง 2 ยี่ห้อนี้อยู่ประมาณ 400 คัน"วิทิต ลีนุตพงษ์ กรรมการบริหาร เครือยนตรกิจกล่าว

แม้โรลสรอยซ์ จะเป็นยี่ห้อรถ ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากเกาะอังกฤษ แต่ปัจจุบันสิทธิในการขายรถโรลสรอยซ์ รวมทั้งเบนท์ลี่ทั่วโลก กลับตกไปอยู่ในมือของโฟล์กสวาเกน กรุ๊ป ค่ายรถยนต์จากเยอรมนี

สำหรับประเทศไทย ก่อนหน้านี้ผู้ที่นำรถทั้ง 2 ยี่ห้อเข้ามาขาย คือ บริษัทเอเอเอส ออโต้ เซอร์วิส ในเครือซีทีไอกรุ๊ปของอนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ ซึ่งจับตลาดนำเข้ารถหรูมาขายในประเทศไทยมานาน โดยนอกจากโรลสรอยซ์ และเบนท์ลี่แล้ว กลุ่มนี้ยังขายทั้งรถปอร์เช่ และจากัวร์อีกด้วย

การเปลี่ยนมือการขายโรลส์รอยซ์ และเบนท์ลี่ จากเอเอเอส ออโต เซอร์วิส มาเป็นเครือยนตรกิจ เกิดขึ้นเนื่องจากเมื่อปีที่แล้ว โฟลกสวาเกน เอจี ได้เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอย่างจริงจัง โดยการร่วมมือกับเครือยนตรกิจ

ทั้ง 2 กลุ่มได้เริ่มต้นเปิดตลาดด้วยการนำรถโฟลกสวาเกน พัสสาทเข้ามาประกอบ ที่โรงงานวายเอ็มซี ของเครือยนตรกิจ รวมทั้งนำรถโฟลกสวาเกน นิวบีทเทิล เข้ามาจำหน่าย ซึ่งปรากฏว่ารถทั้ง 2 รุ่น ได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี โฟลกสวาเกนจึงมีแผนที่จะนำรถโรลสรอยซ์ และเบนท์ลี่เข้ามาจำหน่ายในไทยเพิ่มขึ้นด้วย

เครือยนตรกิจ ในฐานะคู่สัญญาเดิมจึงได้อานิสงค์ไปโดยปริยาย ในการได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในครั้งนี้

"เรื่องนี้ผมได้คุยกับคุณอนุศักดิ์แล้ว เขาก็รับรู้"วิทิตยืนยันว่าการได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์หรูทั้ง 2 ยี่ห้อ เป็นการเสนอมาจากฝ่ายโฟลกสวาเกน"เราไม่ได้กระเสือกกระสนจะขอเขามาขาย"

"ยนตรกิจถือเป็นมืออาชีพที่สุด ของวงการรถยนต์เมืองไทย"มาร์ค เทนแนนท์ ผู้อำนวยการประจำภาคพื้นเอเซีย-แปซิฟิค บริษัทโรลสรอยซ์ แอนด์" เบนท์ลี่ คาร์ ประเทศอังกฤษ ให้เหตุผลในการแต่งตั้งให้ยนตรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายรถทั้ง 2 ยี่ห้อในไทย

อย่างไรก็ตาม ในช่วง ที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ยังไม่ฟื้นตัว การหวังยอดขายรถทั้ง 2 ยี่ห้อ ซึ่งมีราคาสูงมาก จึงทำได้ยาก วิทิตยอมรับว่าเขายังไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้เลยว่าจะขายได้กี่คัน การแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการครั้งนี้ เขาจึงมองไปยังการให้บริการกับลูกค้า ที่มีอยู่เดิมเป็นหลัก

เขาตัดสินใจลงทุน 120 ล้านบาท ปรับปรุงอาคารย่านคลองตัน ให้เป็นศูนย์บริการ และสำนักงานใหญ่สำหรับการขายรถ 2 ยี่ห้อนี้โดยเฉพาะ

"เรายอมรับว่ารถทั้ง 2 ยี่ห้อ ที่มีอยู่ 400 คัน ในประเทศไทยขณะนี้ ส่วนใหญ่จะถูกจอดทิ้งไว้ โอกาส ที่เจ้าของจะนำออกมาขับมีน้อยมาก ซึ่งรถ ที่จอดอยู่กับบ้านเฉยๆ มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดปัญหากับเครื่องยนต์"

กลยุทธของวิทิต คือ ต้องกระตุ้นให้คนกลุ่มนี้เริ่มหันมาใช้รถให้มากขึ้น และหากรถมีปัญหา ให้มาซ่อมได้ ที่ยนตรกิจ

ปัจจุบัน โรลสรอยซ์ แอนด์เบนท์ลี่ คาร์ ได้ส่งแอนดรู เพอร์ริช ช่างผู้มีความชำนาญในการซ่อมรถทั้ง 2 ยี่ห้อโดยเฉพาะจากอังกฤษ มาประจำอยู่ในประเทศไทย

แอนดรู ปัจจุบัน อายุเพียง 26 ปี แต่เขามีประสบการณ์กับรถทั้ง 2 ยี่ห้อมาถึง 10 ปีเต็ม เพราะปู่ของเขาเคยเป็นช่างให้กับโรลสรอยซ์มาก่อน"แอนดรูเคยเดินทางไปซ่อมโรลสรอยซ์ และเบนท์ลี่มาแล้วเกือบทั่วโลก แม้แต่ในวังของสุลต่านบรูไน ก็เคยไปมาแล้ว"วิทิตยกย่องสรรพคุณ

การได้รับความร่วมมือจากโรลสลอยซ์ แอนด์ เบนท์ลี่ ในการส่งแอนดรูมาประจำในประเทศไทย รวมทั้งการฝึกอบรมช่างคนไทยให้สามารถซ่อมบำรุงรถทั้ง 2 ยี่ห้อ ทำให้วิทิตไม่ได้มองเป้าหมายแค่การให้บริการกับลูกค้าเพียง 400 รายในประเทศไทยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

แต่เขามองไกลไปถึงขั้น ที่ว่าจะทำอย่างไรให้โรลสรอยซ์ แอนด์ เบนท์ลี่ มาตั้งศูนย์บำรุงรักษารถยนต์ทั้ง 2 ยี่ห้อในประเทศไทย เพื่อให้บริการกับผู้ใช้รถทั้ง 2 ยี่ห้อในภูมิภาคนี้"ขณะนี้เรากำลังเจรจาอยู่"

เขามองว่าการตั้งศูนย์บำรุงรักษาในไทย ประเทศชาติจะได้รับผลประโยชน์ไปด้วย ไม่ใช่ยนตรกิจเพียงฝ่ายเดียว เพราะหากผู้ใช้รถโรลสรอย และเบนท์ลี่ทุกคนที่อยู่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งเขาประมาณเอาไว้ว่ามีไม่ต่ำกว่า 1,000 คัน ส่งรถเข้ามาซ่อมในประเทศไทย หากรถมีปัญหา ก็จะเป็นการดึงเงินตราต่างประเทศเข้ามาได้

นอกจากนี้ ช่างฝีมือคนไทยก็จะได้รับประโยชน์ เพราะจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี่ในการซ่อมรถทั้ง 2 ยี่ห้อ ซึ่ง ที่ผ่านมามีคนรู้น้อยมาก เพราะโรลสรอยซ์ และเบนท์ลี่ ไม่เคยมีศูนย์บริการซ่อมบำรุงนอกประเทศอังกฤษมาก่อน ดังนั้น เวลาผู้ใช้รถทั้ง 2 ยี่ห้อนี้มีปัญหา จะต้องส่งไปยังประเทศอังกฤษเพียงอย่างเดียว

"ถ้าเราทำได้จะถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะถือเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงแห่งแรกของรถ 2 ยี่ห้อนี้ นอกเกาะอังกฤษ"เขามีความหวัง

แม้ว่าปัจจุบันโฟลกสวาเกนกรุ๊ป เยอรมนี จะเป็นเจ้าของสิทธิในการจำหน่ายรถโรลสรอยซ์ และเบนท์ลี่ แต่สิทธิดังกล่าวก็มีอายุเหลืออีกเพียง 2 ปี หลังปี 2002 สิทธิการขายรถโรลสรอยซ์ จะตกไปอยู่ในมือของบีเอ็มดับบลิว ซึ่งเป็นค่ายรถจากเยอรมนีเช่นกัน

บีเอ็มดับบลิวนั้น เคยเป็นคู่ค้ากับยนตรกิจมานานถึงกว่า 30 ปี แต่ต้องมาแยกทางกัน เมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา หลังจากบีเอ็มดับบลิว เยอมนีตัดสินใจเข้ามาทำตลาด รวมทั้งเปิดโรงงานประกอบรถยนต์ขึ้นเองในประเทศไทย ซึ่งคนในวงการรถยนต์มองว่าเป็นประสบการณ์ ที่เจ็บปวดอย่างยิ่งของยนตรกิจ

บีบให้ยนตรกิจ ต้องดึงโฟลกสวาเกนเข้ามาเป็นคู่ค้ารายใหม่

ดังนั้น หากความพยายามในการเจรจาให้ยนตรกิจ เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงให้กับโรลสรอยซ์ และเบนท์ลี่อย่างเป็นทางการในภูมิภาคนี้ ประสบความสำเร็จ ในระยะยาวแล้ว จะเป็นผลดีกับค่ายรถยนต์ชาวไทย ที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวรายนี้ เพราะทำให้สามารถหากินกับรถทั้ง 2 ยี่ห้อไปได้อีกนาน แม้ว่าสิทธิการขายจะเปลี่ยนมือไปแล้วก็ตาม

ถึงเวลานั้น คนคิดหนักอาจะเป็นบีเอ็มดับบลิว

ก็ขอเอาใจช่วยให้การเจรจาประสบผลสำเร็จ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.