ซอฟต์แวร์ต่างประเทศ งานนี้รวยเละ


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ไอบีซีและยูทีวีแข่งกันมากเท่าไร ผู้ที่ร่ำรวยที่สุดก็คือผู้ผลิตซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ

ยิ่งผลจากการสำรวจของทั้งไอบีซีและยูทีวี พบว่าความนิยมของคนไทยที่มาเป็นอันดับ 1 คือภาพยนตร์จากต่างประเทศ ส่วนอันดับ 2 นั้นไอบีซี บอกว่ากีฬา และยูทีวีบอกว่ายังเป็นภาพยนตร์จากต่างประเทศอยู่เหมือนเดิม ส่วนอันดับ 3 คือกีฬา ส่วนซอฟต์แวร์ของเมืองไทยไม่ติดอันดับ

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การเดินสายกว้านซื้อซอฟต์แวร์จากต่างประเทศจึงมีมาตลอด

รายการซอฟต์แวร์จากต่างประเทศมีทั้งหมด 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1. รายการบันเทิง 2. รายการข่าว เช่น ซีเอ็นเอ็น, เอ็นบีซี สตาร์นิวส์ เอบีซี 3. รายการสารคดีดิสคัฟเวอรี่ รายการภาพยนตร์ HBO ซีนีแม็กซ์ ซึ่งทั้ง 3 ประเภทนั้นมีวิธีขายลิขสิทธิ์ และการส่งรายการให้ก็แตกต่างกันไป

สองประเภทหลังนั้นจะขายรายการแบบเหมาเป็นช่องโดยจะส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมมาให้ผู้ให้บริการเคเบิลทีวีเพื่อนำไปถ่ายทอดแพร่ภาพ ซึ่งการคิดค่าใช้จ่ายจะคิดคำนวณจากจำนวนสมาชิก คือยิ่งสมาชิกมาก็ยิ่งเสียค่าลิขสิทธิ์มาก

"สองประเภทนี้จะไม่มีเอ็กซ์คลูซีฟให้ใคร เพราะเขามองเป็นภาพรวม แต่ถ้ารายใดมียอดสมาชิกมากตามที่กำหนดเช่น 5 แสนรายก็จะขายลิขสิทธิ์ให้" ผู้เชี่ยวชาญในวงการทีวีเล่า

ส่วนประเภทแรก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นละคร อาทิ ละครชุด หนังตลก มักจะขายลิขสิทธิ์เป็นม้วนเทป และจะให้ลิขสิทธิ์แต่รายเดียว

"ซอฟต์แวร์ประเภทนี้ ส่วนใหญ่ไอบีซีจะซื้อลิขสิทธิ์มาตุนเอาไว้เยอะมาก และจะเป็นรายการดีๆ จะเห็นว่าช่องรายการของไอบีซีจะมีการปรุงแต่งใหม่ และดีกว่าของยูทีวี เช่น ไอบีซี 2 หรือ 3"

การแย่งชิงรายการของไอบีซี และยูทีวียิ่งทำให้ค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ถูกปั่นสูงขึ้นมาก

มีผู้ประเมินว่า เคเบิลทีวีเมืองไทยนั้นมีต้นทุนในการซื้อลิขสิทธิ์รายการ 120 ล้านบาท : 1 ช่องรายการ : 1 ปี ซึ่งไอบีซีมีทั้งหมด 12 ช่อง จะต้องเสียเงินประมาณ 1,440 ล้านบาท ในขณะที่ยูทีวีมี 43 ช่อง ต้องเสียเงินมากกว่า 5,160 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ฟรีทีวีก็เคยเจอปัญหาการแย่งชิงซื้อรายการข่าว จนทำให้ต้นทุนสูงมาก บรรดาฟรีทีวีจึงรวมตัวกันตั้งทีวีพูล ซึ่งเป็นเสมือนองค์กรกลางเพื่อซื้อรายการจากต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้ไทยสกายทีวีเองก็พยายามออกมาแสดงเจตนารมณ์ให้มีการรวมตัวกันระหว่างผู้ให้บริการเคเบิลทีวี โดยให้ อ.ส.ม.ท. เป็นแกนกลางในการซื้อซอฟต์แวร์

แต่การแข่งขันก็ยังเป็นการแข่งขัน เมื่อการร่วมมือยังไม่บรรลุผล งานนี้ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ต่างประเทศก็ต้องโกยเงินเข้ากระเป๋าล่วงหน้าไปก่อน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.