Uncertainty

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ความผันแปรของสถานการณ์ในสังคมไทยมีมากขึ้น ซับซ้อนขึ้น สร้างความวิตกกังวลมากขึ้น ทั้งชีวิตและการงาน ความจำเป็นต้องปรับตัว ปรับกลยุทธ์ มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

แนวคิดนี้ดูเหมือนเป็นความเข้าใจทั่วไปมานานแล้ว แต่จากนี้ไป ดีกรีของเรื่องนี้จะยกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

ภูมิศาสตร์

มีเหตุการณ์มากมายที่เกิดขึ้นจากมุมหนึ่งมุมใดของโลก กลับส่งผลไปอย่างกว้างขวางยังอีกมุมโลกหนึ่ง เรื่องนี้มีทั้งเป็นเรื่องจริง และจิตวิทยา

การสื่อสารเชื่อมทั้งโลก เพื่อเศรษฐกิจ การติดต่อของระบบเศรษฐกิจต่างๆ ในขอบเขตทั่วโลกเป็นไปในชีวิตประจำวัน แล้ว Transaction ลงลึกมากกว่ายุคใดๆ ตั้งแต่ระดับระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจ จนถึงระดับบุคคล เป็นความเชื่อมโยงที่ลึกซึ้ง แน่นแฟ้นมาก พร้อมกับเกิดขึ้นด้วยความถี่ทบทวี ที่เรียกว่า byte by byte

การสื่อสาร สร้างความรู้สึกร่วม เกือบทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ใด เกิดขึ้นที่ใด ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปทั้งโลก เป็นจิตวิทยาที่ส่งผลต่อความผันแปรทางความรู้สึกที่มากขึ้น นี่คือด้านมืดของยุคสื่อสารข้ามพรมแดน ยุคอินเทอร์เน็ต ที่ไม่มี เฉพาะสินค้าไม่พึงปรารถณาเท่านั้น หากนำมาซึ่งความวิตกกังวล ความผันแปรของจิตใจที่มีดีกรีมากขึ้นมาด้วย

มิติ

เมื่อสังคมโลกเชื่อมกัน ถึงแม้ว่าจะเริ่มต้นด้วยผลประโยชน์ ทางเศรษฐกิจ แต่ในชีวิตประจำวัน ผลประโยชน์ที่ว่านี้มีความเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ อย่างแยกไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นการเมือง สังคม วัฒนธรรม รสนิยม โรคระบาด ภัยก่อการร้าย ฯลฯ ปัจจัย ความเสี่ยงทางธุรกิจใหม่เกิดขึ้นเสมอ การวิเคราะห์แผนงานธุรกิจต่างๆ มีปัจจัยที่ต้องคำนึงมากมาย ซึ่งหลายเรื่องนี้นักวิเคราะห์แผนซึ่งมีความรู้ค่อนข้างจำกัด ย่อมไม่สามารถเสนอแผนที่เป็นจริงได้ รวมไปถึงยากที่วางแผนเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยซ้ำ นักวางแผน นักบริหารธุรกิจจำต้องมีความรู้กว้างขวางขึ้น ความรู้การบริหารธุรกิจแบบอเมริกันที่ค่อนข้างแคบจะมีปัญหาความเข้าใจในมิติอื่นๆ เสมอ ธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ของไทย มีความจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้หลากหลายมากขึ้นในยุคจากนี้ โดยเฉพาะความรู้ทางสังคมศาสตร์

ความคิด

สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความกังวลมากขึ้นในขณะนี้ก็คือ ผู้คนในสังคมมีความคิดหลากหลายมากขึ้น สุดขั้วมากขึ้น มีความขัดแย้งทางความคิดมากขึ้น เมื่อก่อนโลกแบ่งความคิดในลักษณะภูมิศาสตร์ แต่วันนี้ หน่วยเล็กของสังคมหนึ่งๆ ก็มีความคิด ที่แตกต่างกันมากขึ้น ความคิดที่แตกต่างมักจะมาจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มเล็กของตนเอง ซึ่งนับวันหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะยิ่งสังคมที่อยู่ระหว่างปรับตัวกับการพัฒนาใหม่ ปรับตัวเข้ากับระบบทุนนิยม หรือแม้กระทั่งปรับตัวเข้ากับ Globalization ก็ยิ่งจะมีความขัดแย้งรุนแรงขึ้น ในช่วงหนึ่งของการปรับตัว

สิ่งที่สร้างความกังวลในความขัดแย้งทางความคิดยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือ ความรู้ ความเข้าใจ ที่เกี่ยวข้องกับการตีความข้อมูลข่าวสารที่พรั่งพรูมากเหลือเกินในปัจจุบัน ในข้อมูลชุดเดียวกันอาจมีการตีความได้ในคนละขั้วเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่หลากหลาย มีความแตกต่างกันมากในเรื่องความสามารถ และความรู้

การปรับตัว

ผู้คนมักจะปรับตัวกับความกังวล ด้วยความเคยชิน โดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ความเคยชิน มิใช่แผนกลยุทธ์ที่ดีสำหรับชีวิตและการงาน

ทางที่ดี การทำความเข้าใจ และเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ จะ ทำให้เข้าใจกฎเกณฑ์ของปัจจัยความไม่แน่นอนมากขึ้น เมื่อเข้าใจมากขึ้น ย่อมจัดการได้ดีขึ้น

ทั้งนี้จะต้องยึดหลักคิดที่กว้าง และมั่นคงไว้เสมอ ด้วยองค์ความรู้ที่กว้างและลึกอย่างสมดุลกัน มิฉะนั้นจะไม่สอดคล้องกับหลักการบริหารทั้งชีวิตและการงานอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก

ท่ามกลางความไม่แน่นอน ความผันแปรมากเท่าใด ยิ่งต้อง การความหนักแน่น มั่นคง และแผนงานที่เป็นจริง และการดำเนินตามแผนนั้นอย่างมุ่งมั่นมากขึ้นเท่านั้น

ไข้หวัดนก เป็นโรคที่สอดคล้อง Globalization มากทีเดียว เริ่มระบาดทั่วโลกโดยนกเป็นพาหะ ซึ่งเป็นสัตว์ที่เคลื่อนไหวไปทั่วโลก ยากจะควบคุม ส่งผลกระทบทั่วโลก เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงในยุคนี้ และมีหลายเรื่องที่เป็นทำนองนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.