การเมืองกับผลประโยชน์

โดย วรรณปราณี ศักดิ์สราญรมย์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ผลการเลือกตั้งทั่วไปของแคนาดาเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการประกาศ "Stand up for Change" การยืนขึ้นเพื่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถือเป็นสโลแกนของพรรคอนุรักษนิยม สามารถนำชัยได้ที่นั่งในรัฐสภา 124 เสียง ไปครอง

พรรคอนุรักษนิยมสามารถคว้าชัยในการเลือกตั้งหนนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะนับเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 13 ปีที่พรรคเสรีนิยมบริหารประเทศนี้

ขณะที่พรรคเสรีนิยมของอดีตนายกรัฐมนตรีพอล มาร์ติน ได้รับ 103 ที่นั่ง พรรคบร็อคควิเบกคัว (BQ) ได้รับ 51 ที่นั่ง พรรค NDP ได้ 29 ที่นั่ง และพรรคอิสระได้ 1 ที่นั่ง

เท่าที่สังเกตการณ์การลงคะแนนเสียงของชาวแคนาดา ปรากฏว่า ส่วนใหญ่กลุ่มคนที่มาใช้สิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงนั้นเป็นกลุ่มคนวัยกลางคนจนถึงสูงอายุ ทำให้ เห็นชัดถึงแคมเปญของพรรคฝ่ายขวาที่พุ่งเป้าไปที่การให้บริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ซึ่งคนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมในการใช้บริการทางด้านนี้มากที่สุด

ช่วงระหว่างการประกาศผลการเลือกตั้งในตอนค่ำ มีบรรยากาศไม่แตกต่างจากการเลือกตั้งทั่วไปในบ้านเรา เพราะมีการรายงานตัวเลขของเสียงที่พรรคต่างๆ ได้รับมาเป็นระยะๆ ทั่วแคนาดา โดยผู้นำพรรค การเมือง ต่างเฝ้าชมผลการเลือกตั้งในถิ่นของตนเอง

ผลคะแนนเสียงในพื้นที่กว่า 60,000 หน่วยเลือกตั้ง ปรากฏตัวเลขชัดเจนว่าพรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้ง ก่อนเที่ยงคืนในวันเลือกตั้ง เพราะพื้นที่ชี้ขาดการเลือกตั้งส่วนใหญ่อยู่ใน 2 มณฑลใหญ่ของแคนาดา นั่นคือ ควิเบก และออนทาริโอ

ความพ่ายแพ้ของพรรคเสรีนิยมคราวนี้ ถูกนักวิเคราะห์ทางการเมืองวิจารณ์ว่าเป็นผลจากข้อครหาการคอร์รัปชั่นของพรรค รวมถึงการวางแผนแคมเปญการรณรงค์หาเสียงของพรรคที่ยังจำกัดอยู่ในวงแคบ และคอยไล่ตามแคมเปญของพรรคอนุรักษนิยมตลอดมา

ไม่ใช่เพียงการพ่ายแพ้ของพรรคเสรีนิยมเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความตกต่ำของพรรคบีคิวด้วยที่สูญเสียคะแนนนิยมจาก 48.9% ลดลงเหลือ 42.3% ถือเป็นเรื่องน่าจับตามองที่ชาวแคนาดาได้เรียนรู้จากการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะพรรคอนุรักษนิยมสามารถแย่งชิงฐานเสียงของพรรคบีคิวไปได้ 3 เสียง ทำให้พรรคเจ้าถิ่นของจิลล์ ดูเซปป์ ต้องกลับไปพิจารณาอีกนานว่า มันเกิดอะไรขึ้น

ฮาร์เปอร์ประกาศชัยชนะในทันทีว่า ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่เป็นเพียงจุดจบของการคอร์รัปชั่นเท่านั้น แต่ถือเป็น การจุดแสงสว่างอนาคตของประเทศด้วย

เป็นที่รู้กันว่าเส้นทางการนำของฮาร์เปอร์คงไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากเสียงของพรรคอนุรักษนิยมมีเพียง 37% ขณะที่พรรคเสรีนิยมได้ 27% ไม่เพียงพอตามที่กำหนดไว้ 308 เสียง ซึ่งจะทำให้เขาทำงานได้ลำบาก เพราะต้องพึ่งเสียงการสนับสนุนจากพรรคอื่นด้วย

สภาวการณ์ทางการเมืองของแคนาดา อยู่ในช่วงปริศนาว่ารัฐบาลฝ่ายขวาของฮาร์เปอร์ที่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยจะสามารถทำงานได้มากน้อยเพียงใด หรือจะมีการเลือกตั้งอีกครั้งในไม่ช้าหรือไม่

แม้แจ็ค เลตัน ผู้นำพรรคเอ็นดีพีลั่นวาจาว่าจะไม่มีการเลือกตั้งโดยเร็วอย่างที่ชาวแคนาดาหวั่นวิตก ถ้าเขาจะร่วมมือใน การทำงานกับรัฐบาลฮาร์เปอร์ ขณะที่ดูเซปป์ ประกาศทันทีภายหลังการเลือกตั้งว่า พรรคบีคิวของเขาจะยังยึดมั่นในการรักษาผลประโยชน์ของชาวควิเบก และหากรัฐบาลของฮาร์เปอร์ดูแลและให้ความสำคัญกับ ชาวควิเบกแล้วเขาจะอยู่ข้างรัฐบาลชุดนี้แน่นอน

เป็นที่รู้กันดีว่าชาวควิเบก เป็นชาวแคนาดาที่มีแนวความคิดทางการเมืองอย่างล้ำลึกมาช้านาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศส ที่คิดถึงเรื่องการรักษาผลประโยชน์ทางการเมืองเพื่อชาวควิเบกเป็นใหญ่ และพวกเขาสามารถถกเถียง วิเคราะห์ พูดคุย ต่อรองเรื่องทางการเมืองได้โดยไม่หวั่นต่อสายตาของชาวแคนาดาโดยทั่วไป

พิจารณาดูแล้วการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยของพรรคอนุรักษนิยมคราวนี้ ไม่เพียงเป็นปัญหาใหญ่ของพรรคฝ่ายขวาที่จะต้องเผชิญกับความยากลำบากในการผ่านร่างกฎหมายเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงการต่อรองในเรื่องผลประโยชน์ระหว่างพรรคการ เมืองอื่น โดยเฉพาะกับผู้นำพรรคบีคิว ที่ประกาศเรียกร้องการดูแลมณฑลควิเบกเป็นกรณีพิเศษด้วย

ส่วนพรรคเสรีนิยมที่กลายเป็นพรรคฝ่ายค้านในคราวนี้ก็กำลังอยู่ในสภาวะการขาดผู้นำ เนื่องจากมาร์ตินประกาศลาออก จากตำแหน่งผู้นำพรรค แล้วใครจะมาเป็นผู้นำฝ่ายซ้ายของแคนาดาในอนาคตที่จะมา คานอำนาจของพรรคฝ่ายขวา

สิ่งสำคัญ พันธมิตรทางการเมืองจากพรรคอื่น คือปัจจัยหลักที่พรรคฝ่ายขวาจำเป็นอย่างยิ่งในการบริหารงาน ซึ่งต้องพิจารณาว่าจะสามารถตกลง หรือต่อรองกันได้มากน้อยเพียงไร เพราะนั่นอาจหมายถึง ผลประโยชน์ที่หลายคนคงจำได้มั่นว่า "การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์"

สตีเฟนจะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ต่อมิเกล ฌอง ผู้สำเร็จราชการของควีนอลิซาเบธที่สอง ซึ่งมิเกลบอกให้เขารีบจัดตั้งรัฐบาลซึ่งเขากำลังสรรหาคณะรัฐมนตรีชุดใหม่อยู่

ฮาร์เปอร์ถือเป็นนายกรัฐมนตรีแคนาดาที่หนุ่มที่สุดด้วยวัยเพียง 46 ปี งานสำคัญที่เขาประกาศทันทีในการบริหารงานที่ต้องเริ่มอย่างแน่นอน คือเรื่องการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ การลดภาษีจีเอสทีจาก 7% เหลือ 5% การให้บริการทางสาธารณสุขอย่างทั่วถึงของประชาชน การสนับสนุนเงินช่วยเหลือในการดูแลเด็ก และเยาวชน การดูแลในเรื่องการรักษาความปลอดภัย

วิสัยทัศน์ของผู้นำคนใหม่ผู้นี้เป็นสิ่งท้าทายที่ชาวแคนาดาจำนวนไม่น้อยกำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะส่วนใหญ่มักบอกว่าเขาเป็นคนหนุ่มที่เงียบ มีดีกรีทางด้านเศรษฐศาสตร์จาก Calgary University แต่ไม่ค่อยมีคนรู้จักเขามากนัก บางคนถึงกับบอกว่า ไม่ไว้ใจว่าเขาคิดอะไรอยู่

นั่นอาจเป็นเพียงเสียงสะท้อนจากฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรืออาจเป็นกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยในแนวความคิดของฮาร์เปอร์ก็เป็นได้ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคงเป็นบทวิจารณ์ทางการเมืองที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในสื่อสิ่งพิมพ์ที่อาจแสดงให้เห็นถึงบางส่วนของตัวตนของผู้นำแคนาดาคนนี้

โดยข่าวผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นที่สนใจของประเทศต่างๆ โดยทั่ว เห็นชัดจากสื่อจากทุกมุมโลกให้ความสนใจถึงกับพาดหัวข่าวกันถึงการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลปีกซ้ายมาเป็นปีกขวา โดยเฉพาะเพื่อนบ้านแคนาดา อย่างสหรัฐอเมริกาพูดถึงฮาร์เปอร์ใน New York Times ว่า "free-market economist who expressed strong support for Washington at the time of the American-led invasion of Iraq."


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.