|

มงต์-แซงต์-มิเชล
โดย
สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ได้ยินคำเล่าลือเกี่ยวกับมงต์-แซงต์-มิเชล (Mont-Saint-Michel) มาตั้งแต่เรียนหนังสือ ดูจากรูปแล้วบอกได้อย่างเดียวว่า น่าเที่ยว ก็เป็นเกาะเล็กๆ ที่ยามน้ำทะเลลด จะสามารถเดินจากแผ่นดินใหญ่ไปยังเกาะนี้ได้ และแล้ววันหนึ่งได้ไปเที่ยวแถบนอร์มองดี (Normandie) จึงขอแวะไปชม
มงต์-แซงต์-มิเชลตั้งอยู่ตรงรอยต่อระหว่างมณฑลนอร์มองดี (Normandie) และมณฑลเบรอะตาญ (Bretagne) หากขึ้นกับนอร์มองดี ถนนที่ไปสู่มงต์-แซงต์-มิเชลตัดเลียบทะเล เมื่อเข้าบริเวณอ่าว มงต์-แซงต์-มิเชลดูสวยสง่าเป็นอย่างยิ่ง
มงต์-แซงต์-มิเชล เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ บริเวณเชิงเขาเต็มไปด้วยร้านค้าและร้านอาหาร เกิดการ "จราจร" คับคั่ง ด้วยว่าทางเดินขึ้นเขาแคบมาก เมื่อมีผู้หยุดชมร้านค้า ผู้เดินตามหลังจำต้องหยุดไปด้วย ร้านรวงส่วนใหญ่ รวมทั้งพิพิธภัณฑ์มีเจ้าของเดียวกัน ก็เป็นของนายกเทศมนตรีนี่นะ หากเห็นชื่อ Mere Poulard เป็นอันว่าใช่
โบสถ์อยู่บนยอดเขา ใช้เวลาเดินขึ้นนานพอสมควร และได้หอบด้วยความเหนื่อย นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เที่ยวอยู่แต่เชิงเขา นอกจากนั้นยังมีโบสถ์เล็กอีกแห่งหนึ่งอยู่ครึ่งทาง และเป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาสำหรับชาวบ้านบนเกาะ เห็นรูปปั้นนักบุญแซงต์-มิเชลขนาดใหญ่ อันว่านักบุญแซงต์-มิเชลเป็นผู้ชั่งความดีความเลวของผู้เสียชีวิต และนำดวงวิญญาณขึ้นสู่สวรรค์หรือลงนรก
มงต์-แซงต์-มิเชลเป็นเกาะเล็กๆ ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เริ่มตั้งแต่ ค.ศ.708 เมื่อโอแบรต์ (Aubert) เจ้าอาวาสโบสถ์เมืองอาวรองช์ (Avranches) สร้างโบสถ์บนเกาะนี้ตามบัญชาของนักบุญมิเชล (Saint Michel) ซึ่งมาให้นิมิตหลายครั้ง การสร้างโบสถ์นี้ลำบากยากเข็ญเพราะต้องนำหินแกรนิตมาจากเกาะโชเซย์ (iles Chaussey) หรือจากเบรอะตาญ (Bretagne) อันเป็นแคว้นใกล้เคียง ทั้งยังต้องลำเลียงหินสู่ยอดเขา มงต์-แซงต์-มิเชลกลายเป็นที่จาริกแสวงบุญของคริสต์ ศาสนิกชนผู้ที่เคร่งศาสนา จะเดินข้ามจากแผ่นดินใหญ่ไปยังเกาะยามน้ำทะเลลด หากกระแสน้ำเปลี่ยนเร็วมาก จึงทำให้ผู้จาริกแสวงบุญเสียชีวิตอยู่เนืองๆ ระหว่างศตวรรษที่ 11 ถึงศตวรรษที่ 16 มีการสร้างเพิ่มเติม ในศตวรรษที่ 10 นักบวชเบเนดิคตีนมาปักหลักที่นี่ ผู้คนค่อยๆ มาอพยพมายังเกาะ ตั้งหมู่บ้านที่เชิงเขา สภาพภูมิประเทศของมงต์-แซงต์-มิเชลทำให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของอังกฤษระหว่างสงครามร้อยปี อย่างไรก็ตามแบบสถาปัตยกรรมของมงต์-แซงต์-มิเชลเป็นป้อมปราการที่พร้อมรับมือข้าศึกช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสจนถึง ค.ศ.1863 มงต์-แซงต์-มิเชล กลายเป็นที่คุมขังนักโทษ ต่อมาในค.ศ.1874 รัฐจัดให้มงต์-แซงต์-มิเชลเป็นโบราณสถาน และทำการบูรณะครั้งใหญ่ โบสถ์เล็กๆ กลายเป็นวิหารขนาดใหญ่ด้วยการใช้โบสถ์เก่าเป็นฐานใน ค.ศ.1969 นักบวชเริ่มกลับมายัง มงต์-แซงต์-มิเชล ทำให้มีกิจกรรมทาง ศาสนาอย่างต่อเนื่อง ในค.ศ.1979 ยูเนสโกประกาศให้มงต์-แซงต์-มิเชลเป็นมรดกโลก วิคตอร์ อูโก (Victor Hugo) นักเขียนเพื่อชีวิตผู้ยิ่งใหญ่เปรียบมงต์-แซงต์-มิเชลของฝรั่งเศสดุจดั่งพีระมิดใหญ่ของอียิปต์
อันที่จริงมงต์-แซงต์-มิเชล จะเป็นเกาะที่มีน้ำล้อมรอบเพียงเดือนละหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น เพราะจะต้องมีน้ำขึ้นมากพอจึงจะล้อมเกาะได้หมด ยามน้ำลดจะเห็นทรายและสามารถเดินข้ามไปได้ หากทรายสีสวยที่เห็นนั้นก็หฤโหดในทีเพราะมีส่วนที่เป็นทรายดูด การเดินข้ามจึงจำต้องมีผู้นำทางที่เชี่ยวชาญ นอกจากนั้นหมอกยังโรยตัวอย่างรวดเร็วจนทำให้หลงทางได้ง่าย อีกทั้งกระแสน้ำเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว นักท่องเที่ยวที่ไม่เชื่อคำเตือนจึงมักประสบภัยอยู่เสมอ ถูกทรายดูดบ้าง ถูกกระแสน้ำพัดจมหายไปบ้าง
ในปัจจุบัน การไปเที่ยวมงต์-แซงต์-มิเชลนั้นไม่ลำบากเหมือนสมัยก่อน เพราะมีถนนเชื่อมแผ่นดินใหญ่และเกาะมาตั้งแต่ปี 1879 จุดมุ่งหมายคือให้ผู้อยู่อาศัยบนเกาะสามารถเดินทางสู่แผ่นดินใหญ่ โดยไม่ต้องใช้เรือ ในภายหลังอนุญาตให้รถยนต์และรถโค้ชจอดหน้าป้อมปราการเลย หากถนนนี้กลายเป็นเขื่อนที่บังคับให้น้ำทะเลเดินผิดทางธรรมชาติ ในปี 1969 มีการสร้างเขื่อนที่ปากแม่น้ำกูเอส์นง (Couesnon) ตรงที่เป็นเขื่อนเก่าที่ชื่อว่า la Caserne ซึ่งสร้างในปี 1877 ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้น้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรมจึงทำให้ดินทรายและเปลือกหอยทับถมในบริเวณอ่าว แผ่นดินใหญ่จึงค่อยๆ งอกขึ้น และก่อให้เกิดสภาวะทรายดูดด้วย รัฐตระหนักว่าหากการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป มงต์-แซงต์-มิเชลจะไม่สามารถรักษาสภาพเป็นเกาะได้ ในปี 1970 จึงมีโครงการที่จะทำลายถนนที่เป็นเสมือนเขื่อนกั้นน้ำและสร้างทางเดินที่ตั้งบนตอม่อแทน ทั้งยังจะขุดแอ่งน้ำทางด้านตะวันออกของแม่น้ำกูเอส์นง หากจนถึงปัจจุบันได้ดำเนินการไปเพียงประการเดียวคือการทำลายเขื่อน Le Roche-Torin หากสิ่งสำคัญอยู่ที่การทำลายเขื่อน la Caserne และสร้างประตูระบายน้ำ 8 ประตูด้วยกัน เมื่อน้ำขึ้น น้ำทะเลจะไหลผ่านประตูระบายน้ำ หลังจากน้ำทะเลขึ้นสูงสุด 6 ชั่วโมง จะเปิดประตูระบายน้ำให้น้ำค่อยๆ ไหลเข้าแม่น้ำประมาณ 20 เซนติเมตรใน 20 นาที เป็นการควบคุมมิให้ดินทรายไหลเข้าไปสู่แม่น้ำโดยไม่มีคลื่น อีกทั้งกักน้ำไว้เหนือเขื่อน ยามน้ำทะเลลด จะปล่อยน้ำนี้ลงทะเล เป็นการทำความสะอาดแม่น้ำไปในตัว และทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้ดุจดังในอดีต
นอกจากนั้นยังต้องทำลายถนนที่เชื่อมแผ่นดินใหญ่กับเกาะ สร้างเป็นสะพานตั้งบนตอม่อแทน ย้ายที่จอดรถไปที่อื่น พร้อมกับจัดพาหนะรับส่ง
ความล่าช้าของโครงการทำให้งบประมาณที่ตั้งไว้ไม่เพียงพอประกอบกับความผิดพลาดของโครงการบางประการ เช่น ความแข็งแรงของทางเดินที่ต้องต้านกระแสลมแรงในอ่าว หรือการสร้างพาหนะรับส่งผู้โดยสารในการนี้ เบรอะตาญประกาศว่าจะช่วยออกค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งเพื่อช่วยให้มงต์-แซงต์-มิเชลยังคงเป็นเกาะอยู่คู่นอร์มองดี
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|