Advertising...The Victorian Way

โดย วิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ฉบับนี้อยากพาคุณผู้อ่านมาชมแผ่นโฆษณาสินค้าเก่าๆ ของอังกฤษในยุควิกตอเรีย กันเสียหน่อย ว่ากันว่าในยุคที่พระนางเจ้าวิกตอเรียเป็นประมุขของสหราชอาณาจักร (ค.ศ.1839-1901) นั้น ประเทศอังกฤษเกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ มากมาย เรียกว่าเป็นยุคทองของเขาเลยทีเดียว ซึ่งจริงๆ แล้วความรุ่งเรืองของอังกฤษในยุคนั้น ก็ไม่ใช่เพราะว่าพระนางเจ้าวิกตอเรียมีความสนพระทัยในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมากกว่ากษัตริย์องค์อื่นๆ แต่อย่างใด เนื่องจากพระองค์เองก็เอาแต่ทรงโศกเศร้าเสียพระทัยกับการจากไปก่อนเวลาอันควรของพระสวามีสุดที่รัก คือเจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งเยอรมนี ทรงไว้ทุกข์ให้กับเจ้าชายและไม่ยอมทรงงานเป็นเวลาสิบๆ ปี ดังนั้นการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศอังกฤษในยุคนั้น น่าจะมาจากกระแสคิดใหม่ทำใหม่ที่เกิดแก่ชาวอังกฤษเอง การนำหลักวิทยาศาสตร์มาแย้งความเชื่องมงายทางศาสนา ซึ่งก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์นำไปสู่การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ มากกว่า

เมื่อสินค้าอุปโภคบริโภคหลากชนิดถูกพัฒนาออกมา การแข่งขันจึงเข้มข้นขึ้นจนผู้ผลิตต้องนำโฆษณาเข้ามาช่วยตรึงความสนใจของลูกค้า และเพราะในสมัยก่อนไม่มีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กราฟิก งานโฆษณาแต่ละชิ้นจึงต้องอาศัยฝีมือของศิลปินล้วนๆ แผ่นโฆษณาเก่าๆ จึงกลายเป็นของโบราณอันทรงคุณค่า ที่มีคนซื้อหาสะสมกันอยู่มากมายในปัจจุบัน งานประมูลของเก่าในอังกฤษแต่ละครั้ง จะเห็นผู้คนนำแผ่นพิมพ์โฆษณาทั้งหลายออกมาประมูลกันประปราย สนนราคาก็มีตั้งแต่ 5 ปอนด์บ้าง 10 ปอนด์บ้าง แล้วแต่ความสมบูรณ์ของภาพบวกกับความหายาก (ใครสนใจลองไปเปิดดูได้ที่เว็บไซต์ของอีเบย์) แต่บางภาพนี่ขึ้นหลักร้อยหรือหลักพันก็มี

ภาพที่คุณผู้อ่านกำลังชมอยู่นี้ มาจาก หนังสือเล่มเล็กๆ ซึ่งทำเป็นโปสต์การ์ดด้วย จัดทำโดยองค์กรการกุศลของอังกฤษชื่อ HAT หรือ History of Advertising Trust (http://www.hatads.org.uk) ซึ่งเก็บรวบรวมภาพพิมพ์ วิดีโอ และสื่อโฆษณาอื่นๆ ของอังกฤษ เกือบ 3 ล้านรายการ เอาไว้ให้ประชาชนและ ผู้ที่สนใจได้มาเยี่ยมชมและค้นคว้า รูปโฆษณา เหล่านี้สื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอังกฤษเมื่อร้อยกว่าปีก่อนได้อย่างดีเยี่ยม บางรูปบ่งบอกถึงค่านิยมทางสังคมที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ร้อยปี ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง เช่น การ นำความรักสวยรักงามของเพศหญิงมาเป็นจุดขายสินค้า ตอกย้ำให้ผู้หญิงเรารู้สึกว่า ตน จะเป็นหญิงที่สมบูรณ์แบบได้ก็ต่อเมื่อตนสามารถรักษาความสวยมัดใจชายไว้ได้ ดูได้จากโฆษณาแถบรัดเอวให้กิ่ว (corset) ยี่ห้อ Harness ซึ่งมาแปลก เพราะเขาโฆษณาว่า การใช้แถบรัดเอวของ Harness จะช่วยแก้ปัญหาปวดหลังได้ด้วย

ส่วนโฆษณาผงซักฟอก ไม่ว่าวันนี้หรือเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ก็จะจับแต่ประเด็นแม่บ้านที่ต้องการทำตัวเป็นศรีภรรยาของสามี และแม่ที่ดีของลูก ซึ่งจะแสดงให้เห็นได้ก็ตรง ที่สามารถซักผ้าได้ขาวสะอาด สีสดใส ทำให้ลูกๆ และสามีใส่เสื้อผ้าออกไปข้างนอกได้อย่างไม่ต้องอายใคร ราวกับว่าไม่มีอะไรในโลก นี้ที่จะทำให้หญิงที่แต่งงานแล้วมีความสุขได้มากเท่ากับการได้ปฏิบัติหน้าที่ทางครอบครัว ได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้วเท่านั้น ส่วนความสุขส่วนตัวของผู้หญิง ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ใช่ทั้งในฐานะภรรยาหรือแม่นั้น ไม่ค่อยจะมีใครนำมากล่าวถึง ที่น่าประหลาด ใจก็คือ แม้กาลเวลาจะผ่านมาเนิ่นนาน แต่โฆษณาผงซักฟอกในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเมืองไทยหรือเมืองไหนๆ ก็ยังคงใช้คอนเซ็ปต์ แม่บ้านที่แสนดีนี้กันอยู่ หรือว่าความเคลื่อน ไหวทางสังคมด้านสิทธิสตรีที่ผ่านมานั้นไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้คนสักเท่าไร ไม่ว่าจะในหญิงหรือชายก็ตาม

แต่ทัศนคติเกี่ยวกับเพศหญิงหลายประการก็ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อนมาก เช่น การขี่จักรยานของผู้หญิง ซึ่งสำหรับสังคมอังกฤษในยุควิกตอเรียนั้น นี่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครรับได้ เพราะต่างก็เห็นว่าไม่เหมาะกับผู้หญิง บ้างก็ว่าผู้หญิงที่อยากขี่จักรยานนั้น จริงๆ แล้วชอบใส่กระโปรงสั้นยั่วกิเลสชายเล่นเท่านั้น บ้างก็กล่าวว่าการขี่จักรยานนั้นนอกจากจะไม่ดีต่อสุขภาพของสตรีแล้ว ยังจะทำให้จริยธรรมและชื่อเสียงของหญิงสาว เสื่อมเสียไปด้วย ส่วนคุณหมอ 2 ท่านที่ชื่อ Thomas Lothrop และ William Poter ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การขี่จักรยานจะทำให้ผู้หญิงเริ่มไม่รู้จักนอบน้อมถ่อมตน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ของหญิงสาวด้วย (อันนี้ก็ไม่ทราบว่าคุณหมอเขาหมายความว่าผู้หญิงจะกล้าแกร่งขึ้นจากการขี่จักรยานจนไม่ง้อผู้ชาย ใครขอแต่งก็จะไม่ยอมแต่งด้วยหรือเปล่า??) ส่วนบางคนก็ถึงกับกล่าวว่าผู้หญิงชอบขี่จักรยานเพราะจะได้สำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง (masturbation) เอากับเบาะจักรยานน่ะสิ1! (ว่าเข้าไปนั่น) ก็นับว่าโชคดีที่ทัศนะต่ออิสตรีในเรื่องนี้ได้เปลี่ยน ไปแล้วตามกาลเวลา ไม่เช่นนั้นผู้หญิงเราคงอึดอัดใจแย่

เอ..มัวแต่ถกประเด็นทางสังคม เดี๋ยวคุณผู้อ่านจะเครียดแย่ ถ้าอย่างนั้นขอเชิญดูรูปให้เพลิดเพลินกันดีกว่านะคะ

หมายเหตุ : ภาพจากหนังสือ Vintage Advertising from the History of Advertising Trust

ข้อมูลจาก 1www.victorianstation.com


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.