|
Knocking on the Livedoor
โดย
สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
พลันที่พนักงานสืบสวนนำกำลังเข้าตรวจค้นสำนักงานใหญ่ของ Livedoor เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจุดเริ่มต้นแห่งจุดจบของอาณาจักรธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตที่น่าตื่นตาตื่นใจแห่งนี้ ได้เปิดฉากขึ้นแล้ว
ขณะที่ชื่อของ Horie Takafumi ในฐานะผู้ก่อตั้งและ CEO ก็กำลังจะถูกลบออกจากสารบบนักธุรกิจชั้นนำของญี่ปุ่นด้วยเวลาอันรวดเร็วเช่นกัน
Horie Takafumi เกิดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 1972 ที่เมือง Yame ในเขตจังหวัด Fukuoka หัวเมืองใหญ่ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ซึ่งประวัติชีวิตในวัยเยาว์ของ Horie มิได้แตกต่างไปจากเด็กชาย ชาวญี่ปุ่นทั่วไปมากนัก โดยเขาเติบโตขึ้นจาก ครอบครัวสามัญที่มีพ่อเป็น salaryman และมีแม่ที่มาจากครอบครัวเกษตรกรรม
จุดหักเหสำคัญเริ่มต้นขึ้นเมื่อ Horie เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาที่ Department of Literature ในมหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) โดยเขาเลือกเรียนในสาขาวิชาเอกศาสนา และด้วยสถานภาพของการเป็นนักศึกษาในกรุงโตเกียว ทำให้ Horie มีโอกาสได้เริ่มเรียนรู้ความเป็นไปของ internet และ cyber world หลังจากที่เขาทำงาน part-time ในบริษัท IT และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างธุรกิจที่เต็มไปด้วยความทะเยอ ทะยานในเวลาต่อมา
ด้วยวัยเพียง 23 ปี Horie Takafumi ยุติการเรียนในระบบ และมุ่งหน้าสู่หนทางธุรกิจในโลก cyber ที่เปิดกว้างในยุคสมัยที่กระแส dot com กำลังขยายตัว ด้วยการร่วมลงทุนกับเพื่อนของเขา จัดตั้งบริษัท Livin' on the Edge ในปี 1995 เพื่อรับเป็นที่ปรึกษาและพัฒนาเว็บไซต์ ภายใต้ทุนจดทะเบียนเริ่มต้นเพียง 6 ล้านเยนและมีพนักงานเพียง 3 คน
กิจการและธุรกิจของ Livin' On the Edge ดำเนินและเติบโตอย่างช้าๆ พร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงชื่อและโครงสร้างบริษัทจาก Livin' On the EDGE Inc. ในปี 1996 ไปสู่ Livin' On the EDGE Co., Ltd. ในปี 1997 ก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (Tokyo Stock Exchange : TSE) จะเปิดตลาดใหม่ "Mothers" (market of the high-growth and emerging stocks) เพื่อเป็นช่องทางให้ บริษัทเกิดใหม่มีโอกาสเข้าระดมทุนในตลาด หลักทรัพย์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 1999 ซึ่ง Horie ได้อาศัยช่องทางและโอกาสที่เปิดกว้าง ดังกล่าวมาต่อเติมธุรกิจของ Livin' On the EDGE ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Livin' On the EDGE แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนและเข้าจดทะเบียนในตลาด Mothers ในเดือนเมษายน 2000 พร้อมๆ กับอัตราการเติบโตของบริษัทที่ดำเนินไปอย่างน่าตื่นตาตื่นใจในเวลาต่อมา ทั้งโดยการแลกเปลี่ยนหุ้นระหว่างกัน หรือด้วยการควบรวมและเข้าครอบงำกิจการ (mergers and acquisitions) หลากหลาย
รวมถึงการเข้าครอบกิจการของ Livedoor Corp. ผู้ให้บริการ internet ที่ประสบกับภาวะล้มละลายในช่วงปลายปี 2002 ก่อนที่ Livin' On the EDGE จะเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น EDGE Co., Ltd. ในเดือนเมษายน 2003 และเปลี่ยนชื่อเป็น Livedoor Co., Ltd. ในเดือนกุมภาพันธ์ 2004 ซึ่งเป็นชื่อที่ยังคงใช้อยู่และได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในปัจจุบัน
Horie ได้บรรยายภาพความเป็นไปของ Livin' On the EDGE ที่เติบโตอย่างรวดเร็วดังกล่าว ไว้ในหนังสือ "100 Oku Kasegu Shigotojutsu" หรือ "The art of making 10 billion yen" ของเขาว่า การตั้งชื่อบริษัท Livin' On the EDGE เป็นเพราะเขาต้องการ ให้บริษัทแห่งนี้ ไม่หยุดอยู่เพียงความพึงพอใจกับความสำเร็จที่ผ่านมา หากจะเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าบริษัทแห่งนี้จะขยายตัวยิ่งใหญ่ไปมากมายเพียงใดก็ตาม
ทัศนะดังกล่าวสอดรับกับวิธีการดำเนินธุรกิจของ Horie ในช่วงที่ผ่านมาอย่าง แนบแน่น และสะท้อนให้เห็นแรงปรารถนาของเขาอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะเมื่อเขาเข้าซื้อกิจการ Nippon Global Securities (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Livedoor Securities) ซึ่งเป็นการแทรกตัวเข้าสู่ธุรกิจในภาคการเงินที่อุดมด้วยผลกำไร และเป็นจักรกลสำคัญสำหรับการเติบโตทางธุรกิจของ Livedoor ในอนาคตด้วย
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดและรวดเร็วของ Horie Takafumi และ Livedoor ที่เกิดขึ้นจากผลของกระแส dot com รวมถึงช่องว่างที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ แม้จะทำให้ Horie เป็นประหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จและเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อย แต่สำหรับแวดวงสังคมธุรกิจของญี่ปุ่น Horie Takafumi กลับถูกวิพากษ์และประเมินในฐานะ "คนนอก" ที่กำลังท้าทาย status quo อย่างไม่อาจเลี่ยง
ไม่นับรวมถึงกรณีภาพลักษณ์และไลฟ์สไตล์ของ Horie Takafumi ที่มักปรากฏ กายในเสื้อยืด T-shirt หรือการไม่กลัดกระดุมเสื้อเชิ้ตและไม่ผูกเนกไท ซึ่งถือเป็นการกระทำ ที่แปลกแยกออกจากแบบแผนและประเพณีปฏิบัติในสังคมธุรกิจญี่ปุ่นอย่างมาก
ในปี 2004 ชื่อของ Horie Takafumi และ livedoor ปรากฏอยู่ในความสนใจของสื่อสารมวลชนและผู้คนในวงสังคมทุกระดับอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เมื่อ Horie ประกาศที่จะเข้าซื้อสิทธิใน franchise ทีมเบสบอลอาชีพ Osaka Kintetsu Buffaloes ที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน ซึ่งกรณีดังกล่าวนับเป็นการประกาศตัวอย่างชัดเจนที่จะท้าทายกับบรรทัดฐาน (norm) ของสังคมธุรกิจญี่ปุ่น เพราะการเป็นเจ้าของ franchise ทีมเบสบอลในญี่ปุ่นถือเป็นกิจกรรมที่ผูกพันอยู่เฉพาะแวดวงของ elite circle ในสังคมธุรกิจญี่ปุ่นเท่านั้น
ขณะที่เจตจำนงของ Horie ก้าวไปไกลกว่าความต้องการที่จะครอบครองสิทธิ franchise ในฐานะสมาชิกรายหนึ่งเท่านั้น หาก Horie ได้ก้าวล่วงไปสู่การเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร และรูปแบบ การแข่งขันของ Nippon Professional Base-ball (NPB) อีกด้วย
กรณีดังกล่าว ส่งผลให้ชื่อของ Horie Takafumi ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ Hiroshi Mikitani ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Rakuten ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ internet-based shopping mall อย่างไม่อาจเลี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทั้งสองฝ่ายต่างเสนอตัวเพื่อขอรับสิทธิใน franchise ทีมเบสบอลแห่งใหม่ของ NPB ก่อนที่ข้อเสนอของ Rakuten จะได้รับการพิจารณา ให้เป็นผู้ได้รับสิทธิ franchise ทีมเบสบอลแห่งใหม่ ภายใต้ข้อตกลงที่ประมาณว่ามีมูลค่า ไม่ต่ำกว่า 6 พันล้านเยนและอาจมีมูลค่าสูงถึง 1 หมื่นล้านเยนนี้
บทสรุปของการต่อสู้เพื่อให้ได้รับเลือกเป็นผู้ได้รับสิทธิใน franchise ทีมเบสบอลดังกล่าว แม้ในด้านหนึ่งจะได้รับการเปิดเผยว่า มุ่งเน้นพิจารณาจากศักยภาพและความสามารถทางการเงินเป็นด้านหลัก แต่ก็เป็นกรณีที่ปฏิเสธได้ยากว่า ท่วงทำนอง และจังหวะก้าวของ Horie กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เขาต้องพลาดโอกาสดังกล่าวไป
แม้ Horie Takafumi (อายุ 33 ปี) และ Hiroshi Mikitani (41 ปี) จะประกอบการและประสบความสำเร็จจากธุรกิจในโลก cyber ด้วยวัยวุฒิที่ใกล้เคียงกัน แต่เส้นทาง การเติบโตทางธุรกิจของพวกเขา กลับกลายเป็นข้อแตกต่างและปัจจัยสำคัญในการขับ เคี่ยวและเก็บเกี่ยวความสำเร็จของ cyber hero ทั้งสองนี้
เพราะขณะที่ Horie Takafumi เริ่มต้นธุรกิจแรก Livin' On the Edge ตั้งแต่เมื่อครั้งยังมีสถานะเป็นนักศึกษาโดยไม่เคยผ่านการเป็น salaryman ในองค์กรธุรกิจใดๆ ของญี่ปุ่นมาก่อนเลยนั้น
Hiroshi Mikitani ที่มีปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย Hitotsubashi และ MBA จาก Harvard มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา เป็นวุฒิพ่วงท้าย กลับสั่งสมประสบการณ์และ บ่มเพาะทัศนะทางธุรกิจ จากสถานภาพของการเป็นวาณิชธนากร ที่รับผิดชอบงานด้าน mergers and acquisitions (M&A) ของ Industrial Bank of Japan ระหว่างปี 1988-1996 มาใช้ประโยชน์ในการเชื่อมโยงโลกธุรกิจ ทั้งเก่าและใหม่ได้อย่างลงตัว
การแข่งขันระหว่าง Horie Takafumi และ Hiroshi Mikitani ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องทั้งในมิติของเชิงชั้นทางธุรกิจ และการแสวงหาที่อยู่ที่ยืนที่มั่นคงขึ้นกว่าเดิมในสังคมธุรกิจญี่ปุ่น โดยในปี 2005 กลายเป็นช่วงเวลาที่ความเคลื่อนไหวของนักธุรกิจหนุ่มรุ่นใหม่ทั้งสอง ได้กลายเป็นประหนึ่งสัญญาณเตือนที่ส่งผ่านไปสู่ผู้คนในแวดวงธุรกิจของญี่ปุ่นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เมื่อนักธุรกิจจากโลก cyber ทั้งสองรายต่างพยายามแทรกตัวเข้าต่อยอดทางธุรกิจด้วยการรุกเข้าสู่วงการวิทยุและโทรทัศน์
หลังจากที่ไม่ประสบความสำเร็จในความพยายามที่จะเป็นเจ้าของทีมเบสบอลในเดือนกุมภาพันธ์ 2005 Horie Takafumi ได้เขย่าสังคมธุรกิจญี่ปุ่นอีกครั้ง ด้วยการประกาศว่า Livedoor ได้เข้าซื้อหุ้นของ Nippon Broadcasting System (NBS) บริษัทในเครือของ Fuji Television Network (Fuji TV) เป็นจำนวนกว่า 35% และกำลังดำเนินการเพื่อครอบกิจการ NBS สำหรับการปูทางไปสู่การสร้างสื่อรูปแบบใหม่
กระนั้นก็ดี ถ้อยแถลงว่าด้วยวัตถุ ประสงค์และทิศทางในอนาคตของการครอบกิจการดังกล่าว กลับกลายเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจน้อยกว่า "วิธีการได้มา" เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า Livedoor เข้าซื้อหุ้นของ NBS ในช่วง off-hour trading ซึ่งเป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่ต่อทั้งกฎระเบียบและจริยธรรมทางธุรกิจของญี่ปุ่นอย่างไม่อาจปฏิเสธ ไม่นับรวมถึงท่าทีที่จะครอบกิจการแบบปฏิปักษ์ (hostile takeover) ที่ติดตามมาด้วยการต่อสู้อย่างบอบช้ำทั้งสองฝ่าย
Tug of war ระหว่าง Fuji TV กับ Livedoor ดำเนินไปอย่างยืดเยื้อ ขณะที่ Hiroshi Mikitani ประกาศถึงการเข้าถือหุ้นใน Tokyo Broadcasting System (TBS) เพื่อสร้างเสริมความแข็งแกร่งในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างกันและผลักดันให้เกิดการเจรจาเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ซึ่งกลายเป็นภาพและบรรยากาศที่แตกต่างกันอย่างมาก
แม้จะประสบกับอุปสรรคในการก้าวไปสู่การเป็นสมาชิกของทำเนียบบุคคลชั้นนำในระบบธุรกิจดั้งเดิมบ่อยครั้ง แต่ Horie ไม่ได้หยุดยั้งความพยายามที่จะได้มาซึ่งสถานภาพทางสังคม เมื่อเขาประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรแบบไม่สังกัดพรรค สำหรับเขตการเลือกตั้งที่ 6 ของจังหวัดฮิโรชิมา ในการเลือกตั้งทั่วไปที่เป็นผลจากการประกาศยุบสภา (snap general election Sep.11) ก่อนที่จะพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับอดีตผู้สมัครของ LDP เจ้าของพื้นที่เดิมไปอย่างหวุดหวิด
ผลการเลือกตั้งดังกล่าวไม่ได้ทำให้ชื่อของ Horie จางหายไปจากความสนใจของสาธารณชน หากความเคลื่อนไหวของเขายังก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์ในสังคมอย่างกว้างขวาง เมื่อ Horie ประกาศแผนที่จะ ดำเนินธุรกิจอวกาศส่วนบุคคล (private space business) ในการประชุมนานาชาติครั้งที่ 56 ของ International Astronautical Congress ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-21 ตุลาคม ที่เมือง Fukuoka จังหวัดบ้านเกิดของเขาอีกด้วย
ประเด็นที่ทำให้คำประกาศของ Horie อยู่ในความสนใจของผู้คน ไม่ได้อยู่ที่การประกาศว่าจะพัฒนายานอวกาศจากพื้นฐานของยานอวกาศ TKS ของรัสเซียเท่านั้น หากยังเกี่ยวเนื่องกับการระบุว่าเขาจะลงทุนในโครงการพัฒนาอวกาศ Japan Space Dream-A Takafumi Horie Project ที่มีเป้าหมายจะส่งจรวดที่มีมนุษย์ร่วมเดินทางท่องอวกาศภายใน 5 ปี ซึ่งถือเป็นคำประกาศ ที่ท้าทายต่อทั้งภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเอกชนและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ท่ามกลางความสงสัยว่า Horie จะนำเงินจากแหล่งใดมาลงทุนในโครงการมูลค่ามหาศาลนี้
ตลอดระยะ 10 ปีที่ Horie Takafumi โลดแล่นอยู่ในวงจรทางธุรกิจ ที่เริ่มต้นจากบริษัทให้คำปรึกษาและพัฒนาเว็บไซต์ในนาม Livin' On the Edge เมื่อปี 1995 จังหวะก้าวการเติบโตของเครือข่ายธุรกิจของเขา ล้วนเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวร้อนที่ช่วยสร้างมูลค่าทั้งในเชิงหลักทรัพย์และภาพลักษณ์ของเขาอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนว่ากรณีดังกล่าวจะดำเนินต่อเนื่องออกไปไม่สิ้นสุด หากไม่เกิดเหตุการบุกเข้าตรวจค้นสำนัก งานใหญ่ของ Livedoor และบ้านพักของ Horie ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
พนักงานสวบสวนได้กล่าวหา Horie ทั้งในข้อหาฟอกเงิน และการกระทำผิดพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ ด้วยการสร้างราคาและการแต่งตัวเลขทางบัญชีในงบการเงินของ บริษัทในเครือ ซึ่งข้อกล่าวหาดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดผลกระทบกับราคาหุ้นของ Livedoor ที่ตกต่ำลงอย่างรวดเร็วมากกว่า 14% ในการซื้อขายวันเดียวเท่านั้น
หากการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เต็มไปด้วยแรงคำสั่งขายทิ้งหุ้น Livedoor ให้ตลาด หลักทรัพย์โตเกียวต้องประกาศปิดการซื้อขายก่อนเวลาปิดทำการปกติเร็วขึ้นกว่า 20 นาที ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ TSE ขณะที่ดัชนี Nikkei ปรับตัวลดลงถึง 465 จุด ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 2 ปีเลยทีเดียว
แม้ข้อกล่าวหาที่ Horie กำลังเผชิญในครั้งนี้จะต้องอาศัยเวลาและพยานหลักฐาน ในการพิจารณาสอบสวนพิสูจน์ความถูกผิดอีกยาวนาน แต่นัยสำคัญของกรณีดังกล่าว กลับอยู่ที่การแสดงออกซึ่งความพยายามที่จะรักษาบรรทัดฐานและการลงโทษ "ผู้ท้าทาย ที่น่ารังเกียจ" ให้ต้องพ้นออกจากวงการธุรกิจ
ถึงที่สุดแล้ว ภายใต้สังคมที่อุดมด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยีและเครื่องมือทาง การเงินหลากหลาย ท่ามกลางความคิดเชิงอนุรักษนิยมเช่นญี่ปุ่นนี้ กรณีของ Horie Takafumi และ Livedoor อาจเป็นเพียงเหยื่อของการจัดระเบียบสังคม ที่ถูกห่มคลุมอยู่ภายใต้วาทกรรมว่าด้วยธรรมาภิบาล ที่ยังหานิยามที่ชัดเจนไม่ได้เท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|