|
สกัดแผนรับมือปัญหากองทุน หลัง ICLแบไต๋เพดานเงินกู้ปี’ 49
ผู้จัดการรายสัปดาห์(27 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
สารพัดปัญหารุม ICL หลังเจอเพดานเงินกู้ถล่ม ผอ. แจงกรณีต่ำกว่า กสย. เพราะครอบคลุมเฉพาะค่าเรียน พร้อมทบทวนใหม่ยกเลิกเพดานวิชาชีพที่ขาดแคลน ขณะเงินอุดหนุนรายวิชาเจอโรคเลื่อนระบุขาดข้อมูลสถาบันเอกชนแจ้งต้นทุนที่แท้จริง เผยงบประมาณหมดรออีกยาว ด้าน สสอท. แนะสถาบันเล็กไม่ต้องหวั่น มุ่งแข่งตัวเองด้านคุณภาพดีกว่า
หลังจากสำนักงานบริหารโครงการปฏิรูประบบการเงินเพื่อการอุดมศึกษา หรือ สปอ. ได้ประชาสัมพันธ์กองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) หรือกองทุนไอซีแอลที่จะดำเนินการครั้งแรกในปี 2549 ให้ได้รู้จักมาระยะหนึ่งแล้ว
ล่าสุดต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เปิดเผยข้อสรุปการดำเนินโครงการของกองทุน ICL ที่จะเริ่มใช้กับนิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2549 โดยวงเงินสามารถขอกู้ได้ตามอัตราค่าลงทะเบียนจริง แต่ไม่เกินเพดานที่กำหนดไว้ (อ่านตารางประกอบ)
งบประมาณที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติปีแรกนี้ อยู่ที่ 4,800 ล้านบาท คาดว่าจะรองรับผู้กู้ได้ราว 500,000 คน หรือร้อยละ 70 ของนักศึกษาในระบบทั้งหมดที่มีประมาณ 700,000 คน โดยกองทุนกรอ. จะให้กู้เฉพาะค่าเรียนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ไม่รวมค่าใช้จ่ายส่วนตัวนักศึกษา
ก่อนหน้าที่เพดานเงินกู้จะออกมา มีหลายฝ่ายรอคอยด้วยใจจดจ่อ อย่างนักศึกษาที่เชื่อว่าจะสามารถกู้เงินกองทุนเข้าเรียนที่สถาบันใดก็ได้ เพราะไม่จำกัดให้เฉพาะเด็กยากจนเท่านั้น รวมถึงมหาวิทยาลัยเอกชนที่เชื่อว่าเมื่อนักศึกษามีเงิน ก็จะเลือกเรียนสถาบัน หรือสาขาวิชาที่ใฝ่ฝันโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่ายในการเรียน
แต่เมื่อพิจารณาในเพดานที่กำหนดไว้กลับพบว่า ค่าเรียนที่นักศึกษาต้องจ่ายในมหาวิทยาลัยเอกชนไม่ครอบคลุมทั้งหมด และยังมีบางความเห็นที่มองว่ากองทุนกรอ. ให้เงินกู้ยืมน้อยกว่ากองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) เป็นที่น่าสนใจว่าทาง สปอ. จะมีความเห็นต่อกรณีเหล่านี้อย่างไร
ผ่าทางตัน!ปลดล็อคเพดานเงินกู้
รศ.ดร.ดำรงค์ วัฒนา ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการปฏิรูประบบการเงินเพื่อการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ถึงผลตอบรับหลังเปิดเผยเพดานค่าเรียน 60,000 -150,000 บาทต่อปี ว่าไม่มีปัญหากับสถาบันการศึกษาภาครัฐ เพราะค่าใช้จ่ายครอบคลุมค่าเรียนทั้งหมด
แต่สำหรับสถาบันการศึกษาเอกชน แม้จะครอบคลุมค่าเรียนประมาณ 80% ตนก็เชื่อว่าเป็นประโยชน์ เพราะถ้าเทียบในอดีต กยศ. ให้กู้เฉพาะนักศึกษายากจน ซึ่งคนกลุ่มนี้เลือกเรียนที่สถาบันเอกชนไม่มาก ขณะที่กองทุน ICL เปิดโอกาสให้ทุกคน น่าจะเป็นผลดีมากกว่า
ส่วนกรณีที่มีบางความเห็นมองว่า กยศ.ให้วงเงินกู้สูงสุดมากกว่านั้น รศ.ดร.ดำรงค์ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว กยศ.ไม่ได้ให้มากกว่า แต่เพราะครอบคลุมค่ายังชีพ และค่าใช้จ่ายต่อเนื่องอื่นๆ ยอดรวมจึงมีวงเงินที่สูงกว่า และที่สำคัญ กยศ. ไม่ได้ให้นักศึกษาทุกคน
อย่างไรก็ดี กรณีที่นักศึกษาขาดแคลนทุนทรัพย์จริงๆ และต้องการกู้เงินค่าใช้จ่ายเพื่อการยังชีพ สามารถที่จะกู้กับ กยศ. ได้อีกเดือนละ 2,000 บาท อีกทั้งยังมีทุนให้เปล่า และทุนที่ต้องช่วยทำงานระหว่างเรียน ที่อยู่ระหว่างพิจารณาช่วยเหลือ
นอกจากนี้ ในบางสาขาอาจทบทวนเพดานเงินสูงสุดที่จะให้กู้ได้อีกครั้ง เช่น แพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่มีผู้เข้าไปตั้งกระทู้ในเว็บไซต์ว่าค่าใช้จ่ายในการเรียนทั้งหมดสูงกว่าเพดานเงินกู้
รศ.ดร.ดำรงค์ กล่าวว่า สาขาแพทยศาสตร์ มีมหาวิทยาลัยเอกชนที่สอนเพียงแห่งเดียว อีกทั้งเป็นสาขาที่ขาดแคลน และเป็นที่ต้องการของประเทศ อาจจะขออนุมัติให้เป็นหลักสูตรพิเศษที่ไม่ต้องกำหนดเพดานค่าเรียนสูงสุด ซึ่งจำนวนนักศึกษาไม่มากและไม่น่ากระทบกับงบประมาณ ทั้งนี้ต้องหารือถึงความเป็นไปได้อีกครั้งคาดว่าเร็วๆ นี้จะหาข้อสรุปได้
ส่วนสาขาอื่นๆ ผู้อำนวยการ สปอ. กล่าวว่า สถาบันการศึกษาเอกชนอาจต้องมีบทบาทช่วยเหลือได้ โดยชะลอที่จะขึ้นค่าเล่าเรียนในปีนี้ และอาจจัดสรรทุนให้แก่นักศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมถึงถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น ให้แจ้งกับทางกองทุนกรอ. เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน
"มีหลายสถาบันที่ถือโอกาสขึ้นค่าเรียน ปีนี้เป็นปีแรก งบประมาณที่ให้กับทาง กรอ. ยังมีไม่มาก ปีหน้าถ้ามีมากขึ้น ค่อยขยับเพิ่มขึ้น แต่ถ้าขึ้นในปีนี้ เมื่อไม่ครอบคลุมทั้งหมด จะกลายเป็นภาระของเด็กบางคนได้"
รศ.ดร.ดำรงค์ กล่าวว่า อุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งของโครงการนี้ คือ บางสถาบันของเอกชน ไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลรายละเอียดต้นทุนต่างๆ จึงอยากสื่อถึงทางมหาวิทยาลัยว่าอยากให้จริงใจกับเด็ก และการทำงาน เชื่อว่าในระยะยาวมหาวิทยาลัยเอกชนได้ประโยชน์แน่นอน
ฝันเก้อเงินอุดหนุนไม่คลอด ลุ้นรัฐปล่อยงบปี' 51
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา นอกจากจะคลอดกองทุน ICL แล้ว ยังมีอีกตัวขับเคลื่อนสำคัญที่หลายสถาบันการศึกษารอข้อสรุป คือ เงินอุดหนุนที่จะให้แต่ละสาขาวิชา
กลไกนี้เชื่อว่าจะจูงใจให้นิสิตนักศึกษาเลือกเรียนในสาขาที่เป็นที่ต้องการของประเทศ หรือสาขาที่ขาดแคลนกำลังคน เช่น นักศึกษาแพทย์ ถ้ามีการอุดหนุนให้ 80% แสดงว่าจากค่าเรียน 100,000 บาท รัฐจะออกให้นักศึกษา 80,000 บาท ส่วนที่เหลือจ่ายเอง 20,000 บาท ซึ่งจะกู้ หรือจ่ายเองก็ได้ ส่วนสาขาที่ไม่ขาดแคลน มีบัณฑิตจบมาล้นตลาด อาจอุดหนุนเพียง 10% เพื่อทำให้ค่าเรียนไม่แตกต่างกัน ซึ่งอาจดึงดูดใจให้เด็กเรียนในสาขาที่ขาดแคลนได้มากขึ้น
ข้อดีของเงินส่วนนี้ ยังเป็นการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ ไม่ว่าสถาบันที่ได้รับจะเป็นของรัฐหรือเอกชนก็ตาม เพราะถือว่าให้ผ่านผู้เรียน สถาบันใดคุณภาพดี มีคนเรียนมาก ก็จะได้เงินอุดหนุนมากตามไปด้วย ส่งผลให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องมุ่งแข่งที่คุณภาพมากขึ้น และทำให้โอกาสทางการแข่งขันระหว่างสถาบันของรัฐและเอกชนเท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ดี อาจกลายเป็นฝันค้างของหลายๆ สถาบัน เพราะ รศ.ดร.ดำรงค์ กล่าวว่า ปีนี้ยังไม่สามารถจัดสรรให้ได้ เนื่องจากมีอุปสรรคด้านข้อมูลที่กล่าวถึงข้างต้น และเมื่อหลายสถาบันของเอกชนไม่ให้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูลต้นทุนที่แท้จริงของแต่ละสาขา ทาง สปอ. จึงไม่สามารถคิดสัดส่วนที่จะอุดหนุนได้ เพราะเกรงจะกระทบกับงบประมาณของประเทศ
"ตอนนี้งบประมาณหมดแล้ว ปีหน้าก็อาจไม่ทัน แต่ ปี 2551 ที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณให้มหาวิทยาลัยของรัฐ 50,000 ล้าน อาจเลือกอุดหนุนผ่านผู้เรียนก็ได้"
เปิดมาตรการป้องกัน 'หัวหมอ'กำหนดสัดส่วนอาจารย์ต่อ นศ.
อีกข้อกังวลหนึ่งที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าอาจมีบางสถาบันการศึกษารับนักศึกษามากเกินกว่าความสามารถในการรองรับ ผู้อำนวยการ สปอ. กล่าวว่า กองทุน ICL ได้นำเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. เช่น อัตราส่วนจำนวนอาจารย์ต่อนักศึกษา มาพิจารณาอนุมัติทุนแก่สถาบันการศึกษา ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลพร้อมอยู่แล้ว ทางกองทุน กรอ. จะอนุมัติให้นักศึกษาเท่าจำนวนที่สถาบันการศึกษานั้นๆ รองรับได้
"กรอ. จะตรวจสอบเอง แต่คงไม่เข้มงวดนัก เพื่อให้ปรับตัวก่อนในเบื้องต้น เพราะตอนนี้สถานการณ์ในมหาวิทยาลัยปิดบางแห่งรับไม่อั้น นักศึกษาตรวจสอบสัดส่วนได้ โดยดูที่เว็บไซต์www.icl.or.th ซึ่งขณะนี้กำลังทยอยส่งข้อมูลขึ้นเว็บ"
รศ.ดร.ดำรงค์ กล่าวว่า คาดหวังจะใช้มาตรการทางการเงินนี้ มาพัฒนาคุณภาพมหาวิทยาลัย และถ้าเป็นไปได้ ต่อไปอาจประกาศลงเว็บว่าสถาบันใดทำผิดมาตรฐาน แต่ระยะแรก คงใช้การส่งสัญญาณให้รู้ตัวเท่านั้น เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อความรู้สึก ต้องระวังการนำเสนอข้อมูล และต้องขอไฟเขียวจาก สกอ. ด้วย
รศ.ดร.ดำรงค์ กล่าวถึงแผนงานระยะสั้นขณะนี้อยู่ระหว่างประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็เร่งสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนกับกองทุน ซึ่งกองทุน ICL ไม่ต้องค้ำประกัน การยืมเงินจะง่าย และเร็วมาก ตอนนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมด้านไอทีและข้อมูลที่ต้องทำร่วมกัน
สำหรับแผนระยะยาว การปรับเปลี่ยนเพดานค่าเรียนอาจพิจารณาทุกปี และอนาคตถ้าระบบสมบูรณ์มากขึ้น อาจยกเลิกเพดานราคาก็ได้ เพราะกลไกตลาดจะทำงาน เมื่อนักศึกษาต้องรับผิดชอบค่าเรียนเอง ย่อมมองถึงอนาคตที่ตนเองลงทุนมากขึ้น และเมื่อประเทศมีการพัฒนายุทธศาสตร์ ก็จะมีงาน และการเติบโตทางธุรกิจ หรืออุตสาหกรรม และเมื่อเด็กเห็นโอกาสตรงนี้ก็จะเลือกเรียนมากขึ้น นอกจากนี้ ทาง สปอ. จะเดินหน้าในการหาแหล่งเงินทุนอื่นที่นอกเหนือจากการพึ่งพิงภาครัฐให้มาสนับสนุนการพัฒนาอุดมศึกษาด้วย ซึ่งจะเป็นขั้นตอนต่อไป
************
ICL เพื่อคนที่อยากเรียน ?
ที่ผ่านมาแม้ว่าภาครัฐจะมีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อสนับสนุนแก่ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้มีโอกาสในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา แต่ก็มีข้อจำกัดที่ทำให้การกระจายโอกาสทางการศึกษาไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการ เช่น การจำกัดคุณสมบัติของผู้กู้ การบังคับให้ผู้กู้ใช้เงินคืนในขณะที่ยังไม่พร้อม หรือการที่ผู้กู้นำไปใช้จ่ายผิดวัตถุประสงค์ จนสร้างภาระหนี้แก่ผู้เรียนมากเกินไป
ปัญหาข้างต้นกลายเป็นที่มาของ "กองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.)" ที่ทุกคนสามารถกู้ยืมได้ แต่จะมีส่วนลดให้สำหรับผู้ที่ชำระค่าเรียนด้วยตนเองแทน กองทุนนี้ให้กู้ตั้งแต่ระดับอนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จนถึงระดับปริญญาตรี ครอบคลุมหลักสูตรทุกประเภท ทั้งหลักสูตรปกติ พิเศษ และต่อเนื่อง สำหรับผู้เรียนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน สถาบันอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน วิทยาลัยชุมชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา
กองทุน ICL ยังแตกต่างจาก กยศ. ตรงที่กำหนดให้นักศึกษากู้เฉพาะค่าเล่าเรียนเท่านั้น และให้ใช้คืนภายหลังจบการศึกษา เมื่อมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 16,000 บาทต่อเดือน มีระยะเวลาคืนเงินกู้จนกว่าหนี้จะหมด หรือมีอายุ 60 ปี ทั้งนี้ ผู้กู้ไม่จำเป็นต้องมีผู้ค้ำประกัน แต่อาศัยความสามารถในการหารายได้ในอนาคตเป็นหลักประกันแทน
เงินกู้ ICL จะไม่คิดดอกเบี้ยด้วย แต่จะปรับมูลค่าหนี้ตามดัชนีราคาผู้บริโภคหรืออัตราเงินเฟ้อในแต่ละปี แต่ไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี เริ่มปรับตั้งแต่ปีแรกที่เข้าศึกษา ในส่วนของการติดตามและรับชำระหนี้เงินกู้ให้เป็นภารกิจของกรมสรรพากร โดยประสานงานกับสถานศึกษา สำนักงานประกันสังคม สำนักงานกองทุน กบข. สำนักงานกองทุน กรอ. เป็นต้น
หากมองถึงจุดประสงค์ในภาพรวม win win ทั้งผู้เรียนและสถาบันการศึกษา แต่เพียงคลอดกองทุนออกมา นับเป็นเรื่องที่น่าจับตาว่ากองทุน ICL เพื่อผู้ที่อยากเรียนนั้นจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่
หากมองถึงจุดประสงค์ในภาพรวม win win ทั้งผู้เรียนและสถาบันการศึกษา คงต้องจับตากันต่อไปว่ากองทุน ICL จะผุดปัญหาอะไรใหม่ๆ ตามมาหรือไม่?
*************
จุดเปลี่ยน ! สร้างการแข่งขันที่ทัดเทียม
ภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในฐานะนายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย หรือ สสอท. มองว่าเพดานวงเงินกองทุน ICL ตั้งแต่ 60,000 -150,000 บาทต่อปี แม้จะไม่เพียงพอ แต่ก็ถือว่าเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลไม่ได้มีงบประมาณสนับสนุนมากนัก
ทั้งนี้ควรให้โครงการดำเนินไปได้ 1-2 ปีก่อน แล้วมาพิจารณาถึงผลที่เกิดขึ้นทั้งด้านดีและไม่ดี เพื่อแก้ไขให้สอดคล้องกับความเป็นจริง
"ต้องเปิดให้แนวคิดมีการเริ่มปฏิบัติก่อน แล้วมีการปรับตัวของมัน ไม่อย่างนั้นจะเกิดได้ยาก ซึ่งบางปัญหาก็อาจเป็นปัญหาเฉพาะบุคคลที่ยากจนจริงๆ ก็คงต้องไปดูก่อนว่าจำนวนขนาดไหน ถ้ากำหนดเพดานสูงกว่านี้ โมเดลที่ใช้นี้อาจใช้ไม่ได้ เพราะเงินไม่มี ต้องดูในภาพรวมมากกว่าปัญหารายสถาบัน ทางสถาบันอาจต้องให้ทุนการศึกษาช่วยเหลือเด็กบ้างในช่วงแรกต้องอาศัยทุกฝ่ายช่วยเหลือกันด้วย"
ทั้งนี้ ทาง สสอท.เองยังเชื่อว่า ในภาพรวมกองทุน ICL จะมีผลเชิงบวกต่อนโยบายการพัฒนาอุดมศึกษาได้ชัดเจนด้วย เพราะกระจายโอกาสทางการศึกษามากขึ้น และยังได้สร้างจิตสำนึกต่อนักศึกษาด้วย เพราะนำไปผูกพันกับรายได้ในอนาคต
นอกจากนี้ ยังส่งผลในด้านการยกระดับคุณภาพของการศึกษาในภาพรวมด้วย เพราะเมื่อภาครัฐเปลี่ยนจากการอุดหนุนด้านซัปพลายหรือสถาบันการศึกษา มาเป็นด้านดีมานต์หรือตัวผู้เรียน สถาบันการศึกษาก็ต้องพัฒนาคุณภาพแข่งกัน เพื่อให้เป็นที่ต้องการของผู้เรียน ถ้าสถาบันไม่พัฒนา ผู้จ้างงานในตลาดไม่ยอมรับนักศึกษา สุดท้ายจะเป็นกลไกให้นักศึกษาไม่เลือกเรียนที่สถาบันนั้น
ภราดา ดร.บัญชา กล่าวว่า ในหลักการของกองทุน ICL เองก็ต้องการสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ยังเป็นเพียงระยะแรก จะคาดหวังให้ทุกอย่างสมบูรณ์เลยคงเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ต่อไปนี้เงินอุดหนุนที่ได้ผ่านนักศึกษาเชื่อว่าจะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งก็ต้องมองต่อไปว่าจะเป็นไปในทิศทางที่คาดการณ์ไหม
สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็กนั้น นายก สสอท. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยที่เพิ่งเปิดใหม่ คงไม่สามารถสร้างชื่อเสียงได้ในเวลาที่รวดเร็ว เพราะแต่ละแห่งต้องอาศัยศิษย์เก่าสร้างชื่อเสียงมาให้
อย่างไรก็ดี สังคมไทยแตกต่างจากประเทศอื่นๆ การสมัครเข้าไปเรียนยังอาศัยคนที่รู้จักกัน ซึ่งมีความเชื่อถือกัน ใช้ปัจจัยระยะทาง เช่น ใกล้บ้าน เดินทางสะดวก สังคมแบบนี้ยังช่วยสถาบันขนาดเล็กอยู่ ดังนั้นผลกระทบในช่วงแรก เชื่อว่ายังไม่แรงนัก ต้องมองระยะยาวว่าหลังเปลี่ยนปรัชญา นโยบาย จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้ สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าดูต่อไป
"จริงๆ ทุกวันนี้จำนวนผู้มาเรียนในมหาวิทยาลัยขนาดเล็กลดน้อยลงมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักสูตรภาคพิเศษของสถาบันของรัฐที่ทำให้ผู้เรียนมีทางเลือกมากขึ้น ดังนั้นถ้าจำนวนผู้เรียนลดลงในอนาคต อาจไม่ใช้ผลจากกองทุน ICL อย่างไรก็ดี การมีกองทุน กรอ. อาจช่วยให้สถาบันต่างๆ ใส่ใจคุณภาพมากขึ้น สุดท้ายอาจกลายเป็นผลดีก็ได้ ต้องรอให้กองทุนนี้ขับเคลื่อนไปก่อน"
เพดานเงินกู้สูงสุดที่สามารถกู้ได้ในแต่ละสาขาวิชา
กลุ่มสาขาวิชา เงินกู้สูงสุด(บาท/ปี)
1. สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ 60,000
2. ศิลปกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ 60,000
3. วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 70,000
4. เกษตรศาสตร์ ตามที่สถาบันเรียกเก็บจริง
5. สาธารณสุขศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ 80,000
6. แพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ 150,000
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|