สื่อไทยกับประเทศจีน

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ผมนั่งเขียนคอลัมน์ชิ้นนี้ ขณะเดินทางกลับมาประเทศไทยในภาวะที่ประเทศชาติกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ อันมีสาเหตุหนึ่งมาจากกลไกของสื่อมวลชนที่บิดเบี้ยว สื่อมวลชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยุ-โทรทัศน์ตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง สื่อวิทยุ-โทรทัศน์กระแสหลักทั้งหลายกลายเป็นเพียงเครื่องมือในการบริหารประเทศอย่างฉ้อฉลของรัฐบาล

ขณะที่ภาพใหญ่ในระดับโลกก็มีข่าวดังถึงการปิดตัวลงของวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยที่มีอายุยาวนานกว่า 60 ปีอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางความเสียใจและเสียดาย ของเหล่าผู้ฟังชาวไทยรวมถึงผม

การปิดตัวของรายการวิทยุภาคภาษา ไทยของบีบีซีภาคบริการโลกนั้น อยู่ภายใต้แผนการปรับโครงสร้างของบีบีซี เพื่อทำโครงการทำสถานีโทรทัศน์ภาษาอาหรับอันเป็นหนึ่งในกระบวนการการแย่งชิงมวลชน ชาวอาหรับของโลกตะวันตก

ในความเห็นของผม เรื่องราวทั้งสอง ถือเป็นเรื่องราวที่สั่นสะเทือนเลือนลั่นของวงการสื่อสารมวลชน และถือว่าเป็นกระจก เงาชั้นดีที่สะกิดเตือนให้เราหันมามองถึงสภาวะความเป็นจริงของแวดวงสื่อสารมวลชนของบ้านเรา

ทางหนึ่ง ในยุคสมัยที่ประเทศไทยข้ามพ้นยุคสมัยของเผด็จการ และสื่อสารมวลชนได้ชื่อว่ามีอิสรเสรีในการรายงานข่าวแล้วระดับหนึ่ง แต่ผลก็คือเมื่อประเทศและสังคมกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ สื่อที่เข้าถึงมวลชนได้ในวงกว้างและรวดเร็วที่สุดอย่างวิทยุ-โทรทัศน์กลับถูกควบคุมเอาไว้ในมือของภาครัฐ ส่งให้การรายงานข่าวมีความ บิดเบือนอย่างน่าละอาย

อีกมุมหนึ่ง กรณีการปิดตัวของวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย และกระแสคลื่นที่ออกมาก็คือ ชาวไทยกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งต้องเสีย ดายกับการปิดตัวดังกล่าวของสถานีวิทยุภาคภาษาไทยที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล อังกฤษ

ไม่มีใครปฏิเสธว่า การปิดตัวของวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยเป็นเรื่องน่าเสียใจอย่างยิ่งของชาวไทยผู้รักในสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ตรงไปตรงมา แต่ที่น่าเสียใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ตลอดระยะเวลา กว่ากึ่งศตวรรษที่บีบีซีภาคภาษาไทยเปิดให้บริการมา กลับไม่มีสถานีวิทยุข่าวของไทย สถานีใดที่สามารถสร้างมาตรฐานความ แม่นยำ เที่ยงตรง เป็นกลาง ขึ้นมาได้ทัด เทียมกับบีบีซีไทยเลยแม้แต่สถานีเดียว

ส่งให้เมื่อบีบีซีภาคภาษาไทยปิดตัวลง ประเทศไทยก็เหมือนกับขาดกระจกบานใหญ่ที่คอยสะท้อนความเป็นจริงของประเทศไทยและของโลกให้กับผู้นำประเทศ รวมถึงปวงชนชาวไทยไปทันทีหนึ่งบาน

จะเล่าแล้วก็เล่าให้หมดเปลือกเสียดีกว่า...

ภารกิจในการเดินทางกลับมาประเทศไทยในช่วงนี้ของผมอีกชิ้นหนึ่งนั้นก็คือการกลับมาเก็บข้อมูลในการทำปริญญานิพนธ์เกี่ยวกับการรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ ประเทศจีนของสื่อมวลชนไทย

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา พวกเราสามารถสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในแนวทางของสื่อมวลชนโลกได้ประการหนึ่งก็คือ สื่อมวลชนโลกหันมาให้ความสนใจกับประเทศจีนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมานิตยสารธุรกิจ-การเมืองระดับโลกอย่าง Time Magazine, Businessweek, Newsweek, The Economist ฯลฯ แทบทุกฉบับต่างต้องแข่งกันรายงานข่าวเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ของประเทศจีนกันอย่างเร่งด่วน จนเกิดภาวะความขาด แคลนบุคลากรที่มีความรู้ด้านภาษาจีนและประเทศจีน

ทางด้านสื่อมวลชนไทยเองก็เช่นกัน ตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้จะด้วยความสมัครใจหรือไม่ก็ตาม สื่อมวลชนไทยต่างก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสะท้อนสภาวะและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับประเทศจีนให้คนไทยได้รับรู้ ด้วยสาเหตุที่จีนกำลังขยายอิทธิพลอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ บีบให้คนไทยต้องหันมาสนใจ จีนโดยอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าตกใจก็คือ ปัจจุบันแม้จีนกับไทยจะอยู่ใกล้กันนิดเดียว ปักกิ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 4-5 ชั่วโมงบิน เทียบกับลอนดอนหรือนิวยอร์กที่อยู่ห่างจากเรา 10-20 ชั่วโมงบิน แต่คนไทยกลับรู้เรื่องราวของประเทศมหาอำนาจในเอเชียประเทศนี้น้อยนิดสิ้นดี โดยเฉพาะในเรื่องของคนจีน วัฒนธรรมจีน รวมไปถึงระบบโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจและ สังคม

ที่น่าตกใจยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ปัจจุบันองค์ความรู้เกี่ยวกับประเทศจีนที่เมืองไทยมีส่วนใหญ่แล้วต่างต้องถูกกลั่นกรองจากสื่อตะวันตกเสียก่อน ก่อนที่จะไหลเข้ามากลายเป็นองค์ความรู้ภาษาไทยให้เราได้เสพกันอีกต่อ

ครับ! ทุกวันนี้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ ประเทศจีนที่ถูกถ่ายทอดออกมาตามสื่อต่างๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ส่วนใหญ่แล้วถูกแปลมาจากภาษาอื่นที่มิใช่ภาษาจีน (ส่วนใหญ่แล้วเป็นภาษาอังกฤษ)

หรือจะเปรียบเทียบอย่างง่ายๆ ก็คือ ปัจจุบันการที่เราจะรับทราบ หรือเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศจีน-คนจีน ผ่านสื่อต่างๆ สื่อมวลชนไทยจำต้องยืมจมูกสื่อตะวันตกหายใจ เราต้องอาศัยเขาเพื่อที่จะได้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับจีน ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวใหญ่ต่างๆ อย่าง Reuters AP AFP CNN ฯลฯ

คำถามก็คือในอนาคตอีก 10-20 ปีข้างหน้า เมื่อประเทศจีนเติบใหญ่กลายเป็น มหาอำนาจของโลกอย่างเต็มตัว และ"ทฤษฎีภัยจีน (China Threat Theory)" ที่นักวิชาการตะวันตกส่วนหนึ่งคิดขึ้นมา ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางและถูกผลักดันให้กลาย เป็นนโยบายของรัฐบาลจากประเทศทางฝั่งตะวันตกแล้ว เราจะเชื่อถือข่าวเกี่ยวกับจีนที่ถูกเผยแพร่ออกมาจากฝั่งตะวันตกได้มากน้อยเพียงไร?

หรือ ในภาวะตึงเครียดทางการเมือง ที่หมิ่นเหม่ต่อการทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างจีนกับตำรวจโลกอย่างสหรัฐฯ คนไทยจะรับฟังข้อมูลที่ถูกต้องได้อย่างไรเพื่อไม่ให้เราถูกครอบงำจากสื่อตะวันตก ดังเช่นที่สื่อตะวันตกลงมือทำให้เห็นมาแล้วกรณีสงครามในอัฟกานิสถาน และอิรัก หลังเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน ค.ศ.2001

คำตอบเกี่ยวกับปัญหานี้นั้นก็คือ เรา ต้องพึ่งพาตัวเอง อย่ามัวแต่หวังยืมจมูกคนอื่นเขาหายใจ

ในเมื่อจีนมีความสัมพันธ์กับไทยอย่างแน่นแฟ้น นับแต่อดีตนับได้เป็นพันๆ ปี จนถึงปัจจุบันที่คนไทยเชื้อสายจีนได้แทรกซึม และส่งอิทธิพลเข้าไปในทุกอณูของสังคมอย่างมิอาจแยกแยะได้ออก สื่อมวลชนไทยทุกแขนงอันเป็นด่านหน้าที่จะเชื่อมโยงความ สัมพันธ์ระหว่างสองชาติก็จำเป็นต้องปรับตัว และพัฒนาให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง ดังกล่าวนี้ด้วย

การปรับตัวและการพัฒนาของสื่อไทยในการรับข่าวสารเกี่ยวกับประเทศจีนเช่นที่ว่ามิอาจรอเวลา หรือชักช้าได้แม้แต่ นาทีเดียว โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศจีนกำลังพัฒนาแบบติดจรวดเช่นปัจจุบัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.