ผู้ทำหน้าที่สนองนโยบายข้าราชการการเมืองด้วยดีมาตลอด กับกระทรวงคมนาคม
ที่มีโครงการขนาดนับแสนล้านบาทอันเป็นที่หมายปองของบริษัทเอกชน อนาคตในตำแหน่งซี
11 ถึงขั้นปลัดกระทรวงคมนาคม คงไม่พ้นคนชื่อศรีสุข จันทรางศุ เพราะการทำงานทุกวันนี้เพื่อให้ถึงจุดสูงสุดในราชการที่ใฝ่ฝันไว้
วันที่9 เดือน 9 ปี 2540 นับเป็นฤกษ์งามยามดี ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
จะเสนอวาระการแต่งตั้งอธิบดีกรมทางหลวงคนใหม่ ที่ชื่อศรีสุข จันทรางศุ โดยการโยกข้ามห้วยมาจากกรมการบินพาณิชย์
ซึ่งศรีสุขครองตำแหน่งยาวนานถึง 8 ปี ใน 2 วาระ
ครั้งนี้มีคนเล่าขานว่าเท่ากับเป็นการปูทางอันสวยหรูเพื่อให้ดอกเตอร์หนุ่มใหญ่จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ
สหรัฐอเมริกา ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงคมนาคมคนต่อไป !
หนทางนี้แผ้วทางไว้เพื่อบุคคลคนนี้โดยเฉพาะแล้วกระนั้นหรือ
หลังจากจบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธาเมื่อปี
2509 ศรีสุข ก็เข้าทำงานเป็นนายช่างตรี กองสำรวจออกแบบ กรมทางหลวง
จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ด้านการขนส่ง
หรือ Transportation และเดินทางไปศึกษาต่อถึงระดับปริญญาเอก ด้านการวางแผนระบบขนส่งที่สหรัฐอเมริกา
จนจบในปี 2516
ด้วยความเป็นคนหนุ่มอายุแค่ 30 ปีต้นๆ มีความคล่องแคล่ว และมีความรู้ถึงระดับดอกเตอร์
ประกอบกับบิดาก็รับราชการในกระทรวงคมนาคม จนได้ระดับซีสูงสุดคือปลัดกระทรวงคมนาคมในช่วงปี
2510-2519 ศรีสุขจึงเป็นบุคคลที่จัดได้ว่ามีอนาคตดีในหน้าที่การงาน
ศรีสุขได้ปรับฐานะไปรับหน้าที่ในกองงานคณะกรรมการขนส่งและคมนาคม สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม
ในเวลาเพียง 7 ปี ศรีสุขก็ได้ก้าวไปถึงตำแหน่งผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการขนส่งและคมนาคม
สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม บางคนมองว่า เป็นการก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่รวดเร็วด้วยวัยหนุ่มฉกรรจ์
แต่ใครจะรู้ว่าตำแหน่งระดับนี้ คงไม่สามารถเรียกได้ว่าสูงสุดสำหรับเขา
แม้จะก้าวหน้าเร็วกว่าเพื่อนในรุ่นราวคราวเดียวกันหลายคน
เพราะหลังจากนั้นเพียง 4 ปี ศรีสุขก็เลื่อนขั้นแทบจะเรียกได้ว่าปีต่อปี
จากผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมชั้น 2 มาเป็นรองอธิบดีกรมการบินพาณิชย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม
ชั้น 1 และรองปลัดกระทรวงคมนาคม
แน่นอนว่า การได้มีโอกาสเข้าช่วยเหลืองานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ในต่างกรรมต่างวาระ ทำให้ศรีสุขสามารถชูบทบาทเด่นชัดให้กับเจ้ากระทรวงได้ไม่ยาก
เป็นการปูทางให้ขึ้นสู่ระดับซีที่มากขึ้นในเวลาไม่นาน
ที่ดูเหมือนจะเด่นชัดที่สุดก็คือการเข้าไปช่วยเหลืองานรับใช้ใกล้ชิดกับ
บรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
บรรหารปรับระดับการศึกษาของตนเองโดยศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
แต่ควารู้ด้านภาษาอังกฤษก็ยังไม่คล่องแคล่วพอ แต่ต้องติดต่องานกับเจ้าหน้าที่ต่างประเทศบ่อยครั้งตามหน้าที่
ก็ได้อาศัยรองปลัดกระทรวงคมนาคมอย่างศรีสุขเข้าช่วยเหลือทั้งด้านข้อมูลและล่ามแปล
จนเรียกได้ว่าเป็นเงาตามตัวของบรรหารแทบจะตลอดเวลา
แม้เมื่อบรรหารกลับจากการดูงานต่างประเทศ ศรีสุขซึ่งติดตามไปด้วยก็ยังได้ช่วยเหลือหิ้วถุงเหล้าจากร้านปลอดภาษีในสนามบิน
จนเป็นที่ฮือฮาในหมู่ข้าราชการประจำที่ไปรับนายบรรหารขณะนั้น ถึงความเหมาะสมสำหรับข้าราชการประจำนี้
ด้วยผลงานที่เหนือความคาดหมาย ซึ่งเตะตากรรมการ ก่อนการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไม่นาน
บรรหารก็ได้เสนอชื่อศรีสุขให้ขึ้นรับตำแหน่งอธิบดีกรมการบินพาณิชย์ ด้วยวัยเพียง
44 ปี เมื่อปี 2531 หลังจากเป็นรองปลัดกระทรวงได้ประมาณ 1 ปี
และเป็นก้างย่างที่สำคัญของศรีสุข ในการขึ้นสู่อำนาจระดับสูงที่สามารถตอบสนองผลงานผลงานกับรัฐมนตรีว่าการที่เป็นข้าราชการการเมือง
นับจากวันนั้น ศรีสุขก็สร้างผลงานชิ้นใหญ่ที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง ในยุคที่ธุรกิจการบินของประเทศกำลังก้าวเข้าสู่การพัฒนาครั้งยิ่งใหญ่
ในช่วงที่มนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีโครงการขนาดใหญ่
ที่กระทรวงเน้นการเข้าร่วมทุนกับภาคเอกชนอยู่หลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นด้านทางบก
ทางน้ำ ทางอากาศ และด้านสื่อสาร อย่างโครงการทางรถไฟยกระดับโฮปเวลล์ การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติสายใหม่
การให้เอกชนลงทุนและขยายการติดตั้งโทรศัพท์
และกรมการบินพาณิชย์ก็ได้เสนอแนวคิดในการขุดซากของโครงการสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ขึ้นมา
แน่นอนว่า สนามบินหนองงูเห่าเป็นหัวใจหลัก ด้วยนโยบายการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบินพาณิชย์ระดับภูมิภาค
เพราะอัตราการเติบโตของผู้โดยสารผ่านเข้าออกที่สนามบินดอนเมืองมีเพิ่มมากขึ้น
โดยศักยภาพของสนามแห่งเก่านั้นไม่เพียงพอที่จะรองรับ
จะด้วยปัจจัยของการศึกษาในตัวเลขผู้โดยสาร เที่ยวบิยที่ผ่านเข้าออกสนามบินเก่าด้านไหนก็ตาม
มีการเสนอตัวเลขของปริมาณผู้โดยสาร โดยระบุว่าปีค.ศ. 2000 นั้น ดอนเมืองจะเต็มและรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ
35 ล้านคน ดังนั้นจึงควรมีสนามบินใหม่
โดยที่ท่าอากาศยานดอนเมืองก็ต้องมีการขยายการก่อสร้างครั้งใหม่ด้วยการจัดทำแผนแม่บทระยะยาวและจ้างบริษัทที่ปรึกษา
มีการคัดเลือกบริษัท หลุยส์ เบอร์เจอร์ เข้ามาดำเนินการ โดยที่ศรีสุขซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งของการท่าอากาศยานฯ
ร่วมในการคัดเลือก
แม้จะมีข่าวว่า หลุยส์ เบอร์เจอร์ เป็นบริษัทที่อยู่ในบัญชีดำของธนาคารโลก
แต่ศรีสุขเป็นผู้ออกมารับประกันว่าไม่มีปัญหา และหลุยส์ เบอร์เจอร์ ก็ได้รับการคัดเลือกไปอย่างลอยลำในการวางแผนพัฒนาและขยายการปรับปรุงท่าอากาศยานดอนเมือง
แต่การขยายดอนเมืองตามความเห็นของศรีสุขนั้นยังไม่เหมาะสม และชี้ว่าดอนเมืองแทบจะเป็นสนามบินที่ยาวที่สุดในโลกแล้ว
ไม่พ้นที่น่าจะมีสนามบินใหม่มารองรับ
งานด้านการบินหลายงานที่ศรีสุขจับนับได้ว่าทำได้ดี เพียงแต่การเข้าเป็นคณะกรรมการในบริษัทการบินไทยเท่านั้น
ศรีสุขไม่มีโอกาสเข้าถึง ทั้งที่ดูแลงานด้านการบินโดยตรง เจ้าตัวเคยพูดว่า
"เขาคงไม่ให้ผมเป็น" ซึ่งคนที่ใกล้ชิดระบุว่า เป็นเพราะกองทัพอากาศซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการบินไทยขณะนั้น
ไม่ได้คัดเลือกศรีสุขให้มาร่วมวงด้วย
นโยบายหลายอย่างเกิดขึ้นในช่วงที่ศรีสุขเป็นอธิบดี
เสนอแนวทางด้านขนส่งสินค้าทางอากาศร่วมกับเอกชน การให้เอกชนมีเครื่องบินส่วนตัว
แผนการปรับปรุงสนามบินในระดับภูมิภาค โดยการวางแผนแม่บทรองรับการก่อสร้างสนามบินเชียงรายที่ศรีสุขลงมือวางแปลนสนามบินด้วยตัวเอง
จนถึงการปรับปรุงสนามบินโคราชเพื่อ "น้าชาติ" ที่หวังผลักดันโคราชเป็นประตูสู่อีสาน
และรองรับงานโคราชเอ็กซโป' 35
เพียงแต่งานเหล่านี้ค้างเติ่ง เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ก็นับได้ว่า
ศรีสุขสร้างผลงานสนองระดับนโยบายการเมืองค่อนข้างดีไม่น้อย โดยเฉพาะกับพรรคชาติไทยในขณะนั้น
แล้วตำแหน่งอธิบดี ซึ่งดูเหมือนกำลังรุ่งเรืองก็มีอันต้องถูกเปลี่ยนไปอีกครั้ง
เมื่อนุกูล ประจวบเหมาะ เสนอให้ย้ายศรีสุขกลับไปเป็นรองปลัดกระทรวงคมนาคม
และให้รุ่งโรจน์ ศรีประเสริฐสุข ขึ้นมารับตำแหน่งแทน เมื่อปี 2535 ด้วยเหตุผลว่า
ศรีสุขครบวาระการเป็นอธิบดีแล้ว
แต่เบื้องหลังส่วนหนึ่งนั้น มีการระบุว่า นุกูลไม่ต้องการให้ศรีสุขเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ที่หนองงูเห่ามากกว่าเพราะหลุยส์
เบอร์เจอร์ ซึ่งร่วมกับนาโก้ เป็นตัวเก็งในการประมูลงานที่ปรึกษาครั้งนี้
โดยศรีสุขเป็นประธานคัดเลือก
ประกอบกับศรีสุขยังรู้จักผู้บริหารระดับสูงในทอท.หลายคน ซึ่งมีส่วนในการร่วมพิจารณางานโครงการหนองงูเห่า
แต่ในที่สุด หลุยส์ เบอร์เจอร์ และนาโก้ ก็ได้เป้นที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมทั่วไปของสนามบินใหม่
แม้แต่สนามบินเชียงราย ซึ่งเป็นผลงานชิ้นโบแดงก็เคยถูกอานันท์ ปันยารชุน
ซึ่งเดินทางไปเชียงรายตำหนิว่าเป็นสนามบินที่มีสภาพการใช้งานไม่เหมาะสม
ยุคที่นุกูลคุมกระทรวงคมนาคม จึงเป็นช่วงที่ศรีสุขถูกควบคุมการทำงานมากที่สุด
แต่ก็คงไม่นานมากจนเกินรอ เพราะการเข้ามาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมของ
ทวี ไกรคุปต์ ทำให้ศรีสุข กลับมาเป็นอธิบดีกรมการบินพาณิชย์ในปี 2536 อย่างไม่ยากเย็น
แม้มีข้อกังขามากมายก็ตาม
อาศัยสายสัมพันธ์ของการเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จะมากหรือน้อยแค่ไหนไม่รู้ รู้แต่ว่า ทวีกับศรีสุขสนิทกันมาก
เป็นการกลับมาที่ทำให้ศรีสุขได้สานต่อโครงการสนามบินหนองงูเห่า และการได้เข้าไปเป็นกรรมการของการบินไทย
ศรีสุขได้เป็นประธานคัดเลือกที่ปรึกษาออกแบบอาคารผู้โดยสารของสนามบินหนองงูเห่า
ซึ่งดูเหมือนเป็นการคัดเลือกที่ใช้ระยะการพิจารณานานพอสมควร และมีการท้วงติงจากสถานทูตสหรัฐฯ
ในเรื่องการคัดเลือกเพราะเห็นความไม่เป็นธรรม จนในที่สุดก็ได้กลุ่มบริษัท
เมอรืฟี่ จาห์น เข้ามา
ครั้งนี้หลายคนเชื่อว่า เป็นไปตามขั้นตอนอย่างแท้จริง เพียงแต่แบบที่บริษัทจากสหรัฐอเมริกาเสนอนั้น
ยังไม่เหมาะสมกับภูมิอากาศของไทย
นับจากการกลับเข้ามาเป็นอธิบดีกรมการบินพาณิชย์อีกครั้ง ศรีสุขได้บทเรียนจากครั้งก่อนมาก
การทำงานในระดับกรม ก็ได้คัดเลือกเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ศรีสุขไว้วางใจเท่านั้นเข้ามาร่วมงาน
การได้เข้าร่วมเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจสำคัญอย่างบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย
จำกัด การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย โดยที่วิทยุการบินนั้น แทบจะผูกขาดการเป็นกรรมการสู่ประธาน
สามารถประสานงานกับ ร.อ.เผด็จ ลิมปิสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการอย่างดี สนิทกันมากจนเรียกได้ว่าเป็นเพื่อนซี้กัน
ความรุ่งเรืองของศรีสุข คงมีมากที่สุดในยุคที่สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ได้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ทั้งที่หลายคนคิดว่าสุวัจน์ซึ่งมีความเด็ดขาดในการทำงานอาจจะปรับเปลี่ยนตำแหน่งของศรีสุข
กลับเป็นว่า สุวัจน์ไว้วางใจศรีสุขมากที่สุด นอกจากกรรมการเดิมที่เป็นอยู่แล้ว
ยังมอบตำแหน่งประธานคณะกรรมการการสื่อสารแห่งประเทศไทย ให้ด้วย ทำให้ศรีสุขก้าวเข้ามาดูงานด้านสื่อสารอย่างเต็มตัว
ความไว้ใจของสุวัจน์นั้นมีการระบุว่าเพราะศรีสุขรู้จักสนิทสนมกับพี่ชายของสุวัจน์
ที่ชื่อเทวัญ ลิปตพัลลภ แห่งบริษัท ประยูรวิศว์การช่าง เมื่อครั้งศรีสุขอยู่กรมทางหลวงนั่นเอง
ในที่สุดก็คือสุวัจน์เสนอชื่อศรีสุขให้เป็นอธิบดีกรมทางหลวง คืนสู่งานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและอธิบดีคนใหม่เชี่ยวชาญตั้งแต่เริ่มต้นจับงานมา
ซึ่งดูเหมือนจะเหมาะเจาะลงตัวสำหรับทั้งสองฝ่าย
ทำให้ศรีสุขศึกษางานใหญ่ทางบกเพิ่มขึ้น และเป็นซี 10 ที่เชี่ยวชาญงานที่พร้อมจะรับงานใหญ่ในอนาคต
ขณะที่สุวัจน์ได้คนที่รู้ใจทำงานเกี่ยวกับถนนหนทางให้ หลังจากที่ประพล สมุทรประภูต
ทำงานไม่ได้ดังใจมาแล้ว
เป็นการเสนอเปลี่ยนตำแหน่งให้กับศรีสุข เหมือนที่ครั้งบรรหารเคยปูนบำเหน็จให้เป็นอธิบดีก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงในคณะรัฐมนตรี
ซึ่งครั้งนี้ก็คงเหมือนกัน เพราะสถานภาพของรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นั้นสั่นคลอนเต็มที่แล้ว
ที่สำคัญก็คือเป็นการต่อเส้นทางสู่ตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมให้กับศรีสุข
เนื่องจากเป็นสิ่งที่ศรีสุขมุ่งมั่นต่อตำแหน่งนี้มาช้านานเพื่อให้สมกับที่อยู่
"จันทรางศุ" ซึ่งเคยมีดร.สิริลักขณ์ จันทรางศุ ผู้เป็นบิดานั่งอยู่ในเก้าอี้ตัวนี้มาแล้ว