Carl Faberge ราชาไข่อีสเตอร์แห่งราชสำนักรัสเซีย


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ระหว่างเทศกาลอีสเตอร์ที่คริสต์ศาสนิกชนทำพิธีฉลองการเสด็จขึ้นจากหลุมของพระเยซูในวัน Easter Sunday ของทุกปีแล้ว ยังเป็นเทศกาลแห่งการส่งไข่อีสเตอร์ระหว่างกัน โดยเฉพาะในรัสเซีย ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกาย Russian Orthodox เป็นศาสนาประจำชาตินั้น ให้ความสำคัญกับการส่งไข่อีสเตอร์มากเป็นพิเศษและทำกันแพร่หลายที่สุดตั้งแต่ระดับสามัญชน ซึ่งใช้ไข่ที่วาดภาพลงบนเปลือกไข่อย่างสวยงาม ส่งให้กันไปจนถึงระดับพระมหากษัตริย์หรือชนชั้นสูงในราชสำนักที่เน้นไข่ประดับอัญมณีและเครื่องเพชรทองล้ำค่า

Peter Carl Faberge ช่างทองและนักออกแบบอัญมณีชาวรัสเซีย ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1846-1920 จึงมีบทบาทสูงมากในงานออกแบบไข่อีสเตอร์ให้กับราชสำนักของรัสเซียจนชื่อเสียงกระฉ่อนไปทั่วโลก ระหว่างปี 1885-1916 Faberge ออกแบบไข่อีสเตอร์ให้สมาชิกราชวงศ์ของรัสเซีย รวม 50 ชิ้นด้วยกัน แต่หลังจากเหตุการณ์ ปฏิวัติรัสเซีย Russian Revolution 1917 แล้ว มีไข่อีสเตอร์ฝีมือการออกแบบของเขาเหลือรอดพ้นจากการถูกทำลายเพียง 42 ชิ้นเท่านั้น

จักรพรรดินี Marie Feodorovna พระมเหสีของ Tsar Alexander III แห่งรัสเซียเคยทรงยกย่อง Faberge ว่า "อัจฉริยะผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคสมัย"

จึงไม่น่าแปลกที่ผลงานของเขาได้รับการต้อนรับจากนักสะสม อย่างอบอุ่นในงานนิทรรศการ "Faberge in Berlin-Treasures of Imperial Russia" ซึ่งจัดขึ้นที่ Charlottenburg Palace ระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน 2005 ผู้เข้าชมมีโอกาสชื่นชมและตื่นตาตื่นใจกับไข่อีสเตอร์ผลงานของ Faberge ที่นำออกแสดงถึง 15 ชิ้นด้วยกัน

หนึ่งในนั้นเป็นไข่อีสเตอร์ Hen Egg ที่ออกแบบอย่างเรียบง่ายและเป็นผลงาน "ไข่" ชิ้นแรกของ Faberge ซึ่งออกแบบถวาย Tsar Alexander III ในปี 1885 สำหรับพระองค์พระราชทานเป็นของขวัญแด่พระมเหสี เป็นไข่เปลือกขาวเคลือบลงยา ข้างในมีไข่แดง ทำด้วยทองคำ เมื่อเปิดฝาไข่แดงก็จะพบไก่ทองคำมีตาสองข้างทำด้วยเม็ดทับทิม และเซอร์ไพรส์สุดๆ คือเมื่อเปิดฝาที่ตัวไก่ก็จะพบมงกุฎเล็กๆ ประดับด้วยไข่ทำด้วยทับทิม 2 ฟอง แต่น่าเสียดายที่ไข่ทับทิมดังกล่าวได้สูญหายไปแล้ว

Hen Egg จึงเป็นไข่อีสเตอร์ที่ชักนำให้ Faberge ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ออกแบบไข่อีสเตอร์ถวายราชสำนักรัสเซียนับจากนั้นเป็นต้นมา

Coronation Egg เป็นผลงานที่ได้ชื่อว่ามีราคาแพงที่สุดในบรรดาของสะสมที่นำออกแสดงในนิทรรศการ ราคาประเมินอยู่ที่ 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยประมาณ เป็นไข่ที่ Tsar Nicholas II พระราชทานแด่พระมเหสีในปี 1897 ทำด้วยทองคำ แพลทินัมและ เคลือบลงยา เมื่อเปิดฝาออกจะพบพระราชรถม้าจำลองของทั้งสอง พระองค์ (โปรดดูภาพประกอบ)

ส่วน 15th Anniversary Egg ออกแบบเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 15 ปีแห่งการครองราชย์ของ Tsar นอกจากจะเป็นไข่ประดับ ด้วยทองคำลงยา เพชร คริสตัล และงาช้างแล้ว ยังมีพระฉายาลักษณ์ ของสมาชิกราชวงศ์ประดับอยู่โดยรอบด้วย (โปรดดูภาพประกอบ)

ธุรกิจและความนิยมในงานออกแบบไข่อีสเตอร์ของ Faberge มาถึงจุดสิ้นสุดพร้อมกับการระเบิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 ปี 1914 การสละพระราชบัลลังก์ของ Tsar การปฏิวัติ Russian Revolution ปี 1917 และการปลงพระชนม์ Tsar และพระราชวงศ์ของพระองค์

หลังการปฏิวัติแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียคือ Bolshevik เข้ายึดไข่อีสเตอร์เอาไว้ทั้งหมด และนำออกขายในต่างประเทศรวม 40 ชิ้นด้วยกัน ทำให้ผลงานดังกล่าวกระจัดกระจายไปทั่วโลกและปรากฏให้เห็นตามพิพิธภัณฑ์หรือในครอบครองของนักสะสมทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์อันเกรียงไกรและฝีมือการออก แบบไข่อีสเตอร์ได้อย่างวิจิตร สวยงาม และหรูเลิศของ Faberge หา ได้ล่มสลายไปตามกาลเวลาไม่ แถมยังอยู่ยงคงกระพันให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมและศึกษา เพราะได้ Victor Mayer นักออกแบบอัญมณีชาวเยอรมัน ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าทีมฟื้นฟูอนุรักษ์ในปี 1989 เป็นแม่งานใหญ่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.