'MRC' แฟรนไชส์ แดนลอดช่อง เปิดแผนเชิงรุกเจาะตลาดการศึกษา


ผู้จัดการรายสัปดาห์(27 กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ศูนย์พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ (MCR) ระดับอายุ 3-12 ปี เป็นแฟรนไชส์การศึกษาจากสิงคโปร์ ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ด้วยความแตกต่างเทคนิคการสอนที่เน้นการพัฒนาสมองซีกซ้าย ( การใช้สติปัญหาเป็นเหตุเป็นผล) และสมองซีกขวา (อารมณ์ ความรู้สึกและความคิดสร้างสรรค์) ควบคู่กัน ซึ่งในปี 2549 นี้เปิดแผนเชิงรุกตั้งเป้าขยาย 100 สาขา และเตรียมนำหลักสูตรและเทคนิค SMM-3Q ขยายเข้าระบบโรงเรียน

ตั้งเป้า 49 100 ศูนย์ เพิ่มหลักสูตรเจาะตลาด

Voon Swee Heong County Manager-MRC Center กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ หรือเอ็มอาร์ซี เป็นแฟรนไชส์จากประเทศสิงคโปร์ ที่เน้นการเรียน การสอนโดยการใช้สมองซีกซ้ายและซีกขวา โดยได้ขยายสาขาเข้ามาในไทยเมื่อปีที่ผ่านมา ด้วยเล็งเห็นช่องว่างทางการศึกษาที่ส่วนใหญ่เน้นการใช้สมองซีกซ้ายเท่านั้น

ทั้งนี้ด้วยระบบการเรียน การสอนดังกล่าวจะสร้างความเข้าใจและการที่ใช้สมองซีกขวาในการเรียนจะช่วยให้เด็กสามารถใช้จินตนาการประกอบจะเป็นตัวช่วยในการเรียนได้อย่างดี

สำหรับการเข้ามาของเอ็มอาร์ซีในไทยนั้นเข้ามาครั้งแรกที่หาดใหญ่เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา โดยได้เข้ามาร่วมลงทุนกับคนไทยในรูปแบบของการถือหุ้น 50% เพื่อเปิดศูนย์เอ็มอาร์ซี โดยนำโนฮาวต่างๆ จากบริษัทแม่ที่สิงคโปร์เข้ามา ระยะแรกนั้นได้เปิดตัวที่หาดใหญ่ก่อน เพราะก่อนหน้านี้ตนได้เปิดศูนย์ที่ปดังเบซาร์ มาเลเซีย ปรากฎว่าช่วงเสาร์-อาทิตย์ มีเด้กไทยจำนวนมากเดินทางมาเรียน จึงตัดสินใจขยายการลงทุนมายังประเทศไทย

ปัจจุบันเอ็มอาร์ซียังคงใช้หาดใหญ่เป็นสำนักงานใหญ่และอบรมบุคลากรหรือครูผู้สอน และมีสาขาที่สุราษฎร์ธานี ชลบุรี นนทบุรี จังหวัดละ 1 ศูนย์และกรุงเทพฯ 4 ศูนย์ ตั้งเป้าปี 2549 จะขยายสาขาแฟรนไชส์ได้ 100 ศูนย์

สำหรับวิชาที่เปิดสอน ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน จินตคณิตและศิลปะ และในอนาคตจะเพิ่มวิชาวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์และภาษาไทย หลักสูตรที่ใช้ในการนำเข้าจากสิงคโปร์ทุกวิชาแต่ได้มีการนำมาดัดแปลงให้เหมาะสมกับเด็กไทยและผสมผสานบทเพลงเข้ามาช่วยในการสอนเพื่อให้เด็กมีสมาธิในการเรียนมากขึ้นซึ่งเป็นทฤษฎีของบริษัทแม่ที่สิงคโปร์เป็นผู้คิดค้นจากผลการวิจัย

ซึ่งเด็กที่พร้อมจะเข้าเรียนกับศูนย์ได้จะเริ่มตั้งแต่อายุ 3-12 ปี และสำหรับ เด็กที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่สามารถเรียนได้ โดยผู้เรียนทุกคนจะต้องมาทดสอบระดับชั้นก่อนที่จะเข้าเรียน นอกจากนี้ ศูนย์ยังมีการให้ทดลองเรียนฟรีเพื่อให้เด็กได้เรียนอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับตัวเอง

ชูจุดแข็งภาษาจีน เจาะตลาดโรงเรียน

สำหรับรูปแบบการขยายศูนย์จะขยายในรูปแบบแฟรนไชส์ การลงทุนมี 3 ระดับ คือ PM (Province Manager) เป็นการซื้อแฟรนไชส์ครบคลุมทั้งภูมิภาค, DM (District Manger) ซื้อแฟรนไชส์ครบคลุมจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง และ BA (Business Association) ซื้อแฟรนไชส์เฉพาะศูนย์ ซึ่งผู้ประกอบการที่ซื้อแฟรนไชส์แบบ PM และ DM จะต้องเข้าไปดูแลกลุ่ม BA ด้วย

โดยเงินลงทุนที่ใช้สำหรับแบบ BA มีค่าโนฮาวหรือเทรนนิ่ง 138,000 บาท แต่หากต้องการซื้อแฟรนไชส์แบบ PM หรือ DM จะต้องเสียค่าใช้โนฮาวหรือเทรนนิ่งเพิ่มอีกประมาณ 1 เท่าตัว ส่วนค่าตกแต่งและค่าเช่าพื้นที่ขึ้นอยู่กับแต่ละโลเกชั่น

ด้านคุณสมบัติของคนที่จะเป็นแฟรนไชซีได้ต้องเป็นคนไทยที่สามารถพูดภาษาจีนหรืออังกฤษได้ และต้องเป็นคนที่มีทัศนะคติในแง่บวก ยอมรับโนฮาวใหม่ๆ อย่างเทคนิค SMM (Super Memory Map) ซึ่งเป็นเทคนิคจากประเทศสิงคโปร์ในการสร้างแผนที่ความจำขนาดใหญ่ ซึ่ง SMM จะสอนให้เด็กรู้จักคิดและจินตนาการ หรือเทคนิค 3Q ซึ่งจะสอนในเรื่อง 1.IQ (Intelligence Quotient) ความฉลาดทางด้านสติปัญญา 2.CQ (Creativity Quotient) ความฉลาดด้านความคิดสร้างสรรค์ และ 3.EQ (Emotional Quotient) ความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งหากแฟรนไชซีไม่ยอมรับเทคนิคดังกล่าวและกลับไปใช้เทคนิคเดิมการสอนแบบเดิมก็จะทำให้การเรียนไม่เห็นผล

ในอนาคตคาดว่าจะมีการขยายตัวไปยังโรงเรียนอนุบาลในรูปแบบของการเรียนเสริม ซึ่งขณะนี้มีการนำหลักสูตรและเทคนิคเข้าไปใช้ในโรงเรียนนานาชาติของไต้หวันแล้วหนึ่งแห่ง ส่วนของโรงเรียนอื่นยังอยู่ในขั้นของการเตรียมตัวอยู่ และกำลังทำเรื่องเสนอไปยังกระทรวงศึกษาธิการอยู่ นอกจากนี้ ยังอยู่ต้องใช้เวลาในการสร้างครูที่ใช้เทคนิค SMM ด้วย เพราะหากครูยังคงมีความคิดในแบบเก่าๆ การเรียนก็จะไม่ได้ผล ทางเอ็มอาร์ซีจึงต้องมีการส่งครูเข้าไปเอง

อย่างไรก็ดี เอ็มอาร์ซีจะบุกตลาดโรงเรียนโดยชูจุดแข็งภาษาจีน ซึ่งปัจจุบันสถาบันจำนวนมากเพิ่มหลักสูตรการเรียนภาษาจีน ซึ่งเอ็มอาร์ซีเป็นแฟรนไชส์จากประเทศสิงคโปร์ที่เป็นประเทศพูดภาษาจีนเป็นภาษาหลักอยู่แล้ว ถือว่ามีความเชี่ยวชาญทางด้านภาษาจีนสูง

เน้นกลยุทธ์ให้ความรู้สร้างฐานนักเรียน-ผู้ลงทุน

สำหรับกลยุทธ์ที่จะใช้ในการดึงลูกค้าแฟรนไชซีคือการให้ความรู้กับคนที่จะมาเป็นแฟรนไชส์ด้วยการจัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างจากแบรนด์อื่น พร้อมทั้งอธิบายรูปแบบของการลงทุนทั้ง 3 ระดับให้แฟรนไชซีเข้าใจ

ด้านกลยุทธ์ในการดึงผู้ปกครองและเด็กให้มาเรียนที่เอ็มอาร์ซี จะใช้การให้ความรู้กับผู้ปกครองและการให้เด็กได้ทดลองเรียนฟรี ซึ่งตรงนี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างดีว่าเด็กเรียนเข้าใจหรือเปล่า ซึ่งเด็กที่มาเรียนจะเป็นผู้ช่วยโฆษณาให้กับทางศูนย์เอง นอกจากนี้จะเน้นการออกงาน Exhibition และการโฆษณาผ่านทางเว็บไซต์

เชื่อแนวโน้มดี-ไร้คู่แข่ง show case สิงคโปร์-มาเลย์

ส่วนการยอมรับของเอ็มอาร์ซีในไทยนั้น ตนเชื่อว่าอยู่ในแนวโน้มที่ดี เนื่องจากปัจจุบันผู้ปกครองรุ่นใหม่มีการศึกษามากขึ้น และเศรษฐกิจของไทยกำลังขยายตัวมาก ขณะที่รัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะภาษาจีนเริ่มมีการบุกตลาดแล้ว

สำหรับการแข่งขันในไทยตนถือว่าไม่มีคู่แข่ง เนื่องจากระบบการเรียนการสอนของเอ็มอาร์ซีไม่เหมือนใคร และไม่มีสถาบันการศึกษาแห่งใดที่รับนักเรียนเด็กเล็กขนาดเอ็มอาร์ซีมาก่อน

ด้านการยอมรับของเอ็มอาร์ซีในตลาดต่างประเทศได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากเอ็มอาร์ซีเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว โดยเฉพาะในมาเลเซียและสิงคโปร์ซึ่งการเข้ามาขยายสาขาในไทยก็มีการนำเอาความสำเร็จดังกล่าวของทั้งสองประเทศเข้ามาปรับใช้กับไทยด้วย

ปัจจุบันเอ็มอาร์ซีมีสาขาในสิงคโปร์ถึง 12 สาขา และมีการขยายตัวออกไปยังประเทศอื่นๆ อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย บรูไน โดยประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือประเทศมาเลเซีย มีศูนย์ทั้งหมด 350 ศูนย์ และมีการนำหลักสูตรเข้าไปตามโรงเรียนอนุบาลต่างๆ ในมาเลเซียอีก 90 แห่ง

***********

2 แฟรนไชซี’ เปิดใจ ทำไมถึงเลือก MRC

กรกัลห์ ขลุ่ยทอง ผู้จัดการเขตภูมิภาคใต้ตอนบน และแฟรนไชซีเอ็มอาร์ซีสาขาจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การเข้ามาทำธุรกิจดังกล่าวเกิดจากตนเองซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่กับบริษัททัวร์มาก่อนได้มีโอกาสดูแลลูกทัวร์ที่เป็นพนักงานที่ทำงานอยู่ในเอ็มอาร์ซีจึงเกิดความสนใจ โดยขณะนี้ยังไม่มีศูนย์อยู่ในไทยเลยตนจึงต้องเดินทางไปดูรูปแบบที่ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ก่อน ทำให้ตนเห็นว่ารูปแบบของเอ็มอาร์ซีไม่ใช่ศูนย์กวดวิชา แต่เป็นศูนย์ที่สอนเด็กให้รู้จักความสนุกเพื่อที่ให้เขารักสิ่งที่เขาสอนโดยมีทีมงานค้นคว้าและทำวิจัย

โดยสาขาที่ตนดูแลอยู่เปิดสาขามาได้ 5 เดือนซึ่งผลตอบรับอยู่ในขั้นดี ด้านการเติบโตตนมองว่าเทรนด์ของธุรกิจการศึกษาดังกล่าวมีการเติบโตที่น่าจะดีเห็นได้จากการที่สาขาของตนเองมีผู้ปกครองให้ความไว้วางใจให้ลูกมาเรียนมากขึ้น เนื่องจากเด็กที่มาเรียนส่วนใหญ่พอใจในการมาเรียนจึงมีส่วนในการชักนำพี่น้องเข้ามาเรียนด้วย นอกจากนี้หากดูเทรนด์ของประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์พบว่าโอกาสการขยายตัวน่าจะไปได้ดี

สำหรับความต้องการในรูปแบบธุรกิจดังกล่าวในไทยถือว่ายังมีความต้องการอีกมาก และเป็นธุรกิจที่น่าสนใจลงทุนเนื่องจากไม่มีการเก็บค่ารอโยตี้ฟีแต่จะเก็บค่าอบรมซึ่งเหมือนกับเป็นค่าแฟรนไชส์

ด้าน อิสระ กิจเกื้อกูล แฟรนไชซีเอ็มอาร์ซีจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า จุดที่ทำให้ตนเองเลือกเปิดแฟรนไชส์เอ็มอาร์ซีเนื่องจากมองเห็นว่าเทรนด์ของธุรกิจการศึกษากำลังมีการเติบโต และมองว่าในระยะยาวการศึกษาถือเป็นสิ่งที่ดี จึงเริ่มหาข้อมูลธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษา

ได้มาพบกับเอ็มอาร์ซีซึ่งมีจุดต่างในเรื่องของการพัฒนาสมองซีกขวา เนื่องจากธุรกิจการศึกษาส่วนใหญ่ในตลาดจะเป็นการเน้นทำซ้ำ นอกจากนี้ เมื่อรู้ว่าเอ็มอาร์ซีเป็นแฟรนไชส์ที่มาจากสิงคโปร์ก็เชื่อว่าเป็นธุรกิจที่น่าลงทุน เพราะประเทศสิงคโปร์ถือเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการศึกษา

สำหรับเอ็มอาร์ซีสาขานนทบุรีจะเปิดให้บริการครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2549 นี้ ซึ่งก่อนที่ตนจะตัดสินใจเปิดสาขาก็มีการไปดูสาขาต้นแบบที่แฟชั่นไอส์แลนด์ หาดใหญ่ และในอนาคตจะมีการไปดูสาขาต้นแบบที่มาเลเซียและสิงคโปร์ด้วย

ด้านความคาดหวังจากการเข้ามาทำธุรกิจดังกล่าวตนเชื่อว่าธุรกิจการศึกษาที่มีคุณภาพจริงๆ สามารถไปรอดได้ เนื่องจากทุกคนต้องการให้บุตรหลานของตัวเองสามารถแข่งขันทางด้านการเรียนกับคนอื่นได้ ซึ่งการเรียนของเอ็มอาร์ซีไม่ใช่การเรียนแบบท่องจำหรือการเรียนแบบซ้ำจากที่เคยเรียนในโรงเรียนแต่เป็นการเรียนแบบสร้างจิตนาการซึ่งสิ่งเหล่านี้จะติดตัวผู้เรียนตลอดไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.