"MovieSeer" เมื่อหนังช่วยสร้างเงิน

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"เริ่มก่อนได้เปรียบ" กลายเป็นคำพูดที่ใครหลายคนจดจำมาใช้กับการทำธุรกิจของตนมานาน เช่นเดียวกับ MovieSeer บริษัทเล็กๆ บนชั้น 9 ของตึกศรีเฟื่องฟุ้ง ที่ริเริ่มนำหนังมาสร้างเงินก่อนใคร เขาเหล่านี้สร้างมูลค่าจากภาพยนตร์อย่างไร "ผู้จัดการ" ตามไปคุยด้วยถึงที่

นับเป็นการนัดหมายของบริษัทผู้พัฒนาคอนเทนต์หรือข้อมูลสำหรับโทรศัพท์มือถือไม่บ่อยนักสำหรับ "ผู้จัดการ" เพราะโดยปกติแล้ว มักเปิดโอกาสให้ทั้งตัวเองและเขาเหล่านี้ได้พูดคุยกันในงานแถลงข่าวเปิดตัวบริการใหม่ๆ เสียมากกว่าการนัดหมายเพื่อพบปะพูดคุยกันจริงจังเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท แต่สำหรับ MovieSeer แล้ว การตัดสินใจนัดหมายย่อมสำคัญไม่น้อยในสายตาของ "ผู้จัดการ"

MovieSeer เป็นบริษัทเล็กๆ ที่มีชาวต่างชาติซึ่งเข้ามาอาศัยในเมืองไทยเป็นผู้ก่อตั้ง แต่ถือเป็นบริษัทที่เกิดในเมืองไทยเต็มตัว และมีพนักงานภายใต้การบริหารเป็น คนไทยเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

บริษัทเริ่มต้นเมื่อประมาณปี 2543 เมื่อครั้งที่ Roy D. Chapin IV ผู้ก่อตั้งและซีอีโอคนปัจจุบันของบริษัท ถูกชักชวนให้ไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้พัฒนาคอนเทนต์เกี่ยวกับภาพยนตร์บนเทคโนโลยี WAP ของโทรศัพท์ มือถือ จากที่ก่อนหน้านั้นทำธุรกิจออกแบบเว็บไซต์ที่เชียงใหม่ก่อน

Roy ทำหน้าที่พัฒนาเว็บท่าหรือ portal สำหรับให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ เลือกเข้าไปเช็กข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์ รวมถึงการตรวจสอบตารางการฉายภาพยนตร์ของโรงภาพยนตร์บนโทรศัพท์มือถือแบบเรียลไทม์ ผ่านเทคโนโลยี WAP และกลายเป็นก้าวแรกของบริษัทในการขยับเข้าสู่วงการธุรกิจคอนเทนต์บนโทรศัพท์มือถือด้วยในเวลาเดียวกัน

ปัจจุบัน MovieSeer ในปีที่ผ่านมา มีรายได้แม้จะทำธุรกิจพัฒนาคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับภาพยนตร์สำหรับใช้บนโทรศัพท์มือถือ เพียงอย่างเดียวก็ตาม

พนักงานกว่า 60 คนของบริษัท ส่วนใหญ่อายุไม่มากนัก จัดสรรกันทำงานในหน้าที่ แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะการพัฒนาคอนเทนต์หรือข้อมูลที่เกี่ยวกับภาพยนตร์สำหรับใช้บนโทรศัพท์มือถือ อาทิ การนำตัวอย่างหรือโปสเตอร์หนังมาย่อไซส์ ปรับแต่งให้สามารถนำไปใช้เป็นฉากหลัง หรือ wallpaper ของโทรศัพท์มือถือรุ่นต่างๆ ได้ ไปจนถึงการนำตัวอย่างของภาพยนตร์มาย่อขนาดไฟล์ให้เล็กลง เพื่อให้ผู้คนได้ดาวน์โหลด มาชมบนโทรศัพท์มือถือก่อนตัดสินใจไปดูในโรงภาพยนตร์ได้

แม้ที่ผ่านมาคนจะไม่รู้จักบริษัท แต่นั่นเป็นเพราะเหตุผลที่ไม่ซับซ้อนนัก Movie Seer ไม่ได้ขายชื่อของบริษัท แต่ต้องการขาย ชื่อภาพยนตร์เรื่องดังต่างๆ เพื่อให้ชื่อของ ภาพยนตร์สามารถขายต่อไปถึงคอนเทนต์ที่ตนพัฒนาได้

ทุกวันนี้ MovieSeer มีธุรกิจแบ่งออก เป็นสองฝั่ง คือ Licensing & Distribution และ production สำหรับส่วน production นั้นบริษัทรับทำคอนเทนต์ให้กับเจ้าของภาพยนตร์ หรือสตูดิโอหนังต่างๆ โดยสตูดิโอเหล่านั้นจะทำการจ้างให้ MovieSeer เตรียมทำคอนเทนต์ทั้งเสียงเรียกเข้า, wallpaper, theme และคลิปวิดีโอสำหรับบนโทรศัพท์มือถือหรือ แม้แต่ค่ายเกมจาวาบนโทรศัพท์มือถือ เพื่อ นำไปขายต่อให้กับโอเปอเรเตอร์ที่ต้องการนำ ไปให้บริการแก่ลูกค้า

ขณะที่ส่วน licensing นั้น บริษัทจะทำการซื้อสิทธิ์ในการขายคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้อง กับภาพยนตร์จากสตูดิโอเพื่อใช้บนโทรศัพท์ มือถือต่างๆ มาขายสิทธิ์ต่อให้กับบริษัทหรือโอเปอเรเตอร์โทรศัพท์มือถือค่ายต่างๆ ที่สนใจในแถบเอเชียใต้ รวมออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ กว่า 10 ประเทศ

ในปีนี้บริษัทถือสิทธิ์คอนเทนต์หนังบน โทรศัพท์มือถือของ Sony pictures, Walt Disney Internet Group, Columbia Pictures หรือแม้แต่บางรายการของ ESPN เพื่อที่จะขายสิทธิ์คอนเทนต์ของภาพยนตร์และรายการ ของสตูดิโอดังกล่าวให้แก่บริษัทในแถบเอเชียใต้ต่อไป

โดยในเวลาเดียวกันบริษัทเหล่านั้นก็ยังจ้างให้ MovieSeer ทำคอนเทนต์ให้กับสิทธิ์เหล่านั้นด้วยเช่นกัน

ต้องยอมรับว่า ดีกรีความดังของภาพยนตร์แต่ละค่ายที่ MovieSeer ถือสิทธิ์อยู่นั้นได้ส่งผลให้คอนเทนต์เป็นที่นิยมมาก นี่เองเป็นอีกปัจจัยหนึ่งให้ยอดรายได้ในการพัฒนาคอนเทนต์และขายสิทธิ์ต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านไม่มีหยุดหย่อนมาตลอดระยะเพียง 5 ปีที่ก่อตั้งบริษัทขึ้นมา

"ผู้จัดการ" ตั้งคำถามให้กับศุภวัจน์ ใจดี Business Development Manager ของ MovieSeer ในโอกาสที่พบปะและพูดคุยกันถึงความสำเร็จของบริษัท ซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยในสังคมการพัฒนาคอนเทนต์บนโทรศัพท์มือถือ

ศุภวัจน์บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า "จริงๆ หลายคนทำได้ การนำภาพยนตร์มาใช้เป็นตัวขายสำหรับคนใช้โทรศัพท์มือถือ แต่ว่าใคร จะทำได้ดีนั้นอยู่ที่ connection ด้วย ที่ช่วยให้ธุรกิจของบริษัทแบบนี้อยู่ได้ ต้องบอกว่า MovieSeer เริ่มก่อนและมองเห็นว่าคอนเทนต์ แบบนี้จะยังขายและเติบโตได้ ดังนั้นเมื่อแรกเริ่มเราคิดแบบนั้น จนถึงวันนี้เราจึงไม่หยุดนิ่ง"

แรกเริ่มทำธุรกิจนี้ บริษัทมีโอกาสเพียง แค่ซื้อสิทธิ์ภาพยนตร์ทีละเรื่องมาขายสิทธิ์ต่อและรับเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการพัฒนาคอนเทนต์ให้กับภาพยนตร์เรื่องดังเพียงไม่กี่เรื่อง แต่ในภายหลังด้วยความสัมพันธ์ที่ดีและฝีมือที่พิสูจน์แล้วในระดับสากล บริษัทจึงมีโอกาสได้สิทธิ์ระยะยาวเป็นปีๆ จากสตูดิโอชื่อดัง

โดยปี 2546 บริษัทเริ่มก้าวเท้าไป นอกประเทศด้วยการซื้อสิทธิ์คอนเทนต์ภาพยนตร์บนโทรศัพท์มือถือของสตูดิโอชื่อดังที่สร้างภาพยนตร์เรื่อง Charlie's Angles : Full Throttle, Bad Boys II และอีกหลายๆ เรื่อง โดยแต่ละบริษัท หรือโอเปอเรเตอร์ที่ต้อง การใช้คอนเทนต์ดังกล่าวต้องซื้อสิทธิ์ในการใช้ งานผ่าน MovieSeer ก่อน

คอหนังอาจจะไม่ทราบว่า MovieSeer ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการพัฒนาคอนเทนต์ สำหรับใช้บนโทรศัพท์มือถือสำหรับหนังเรื่อง Spider_Man II ที่ใช้กันอยู่ในแถบเอเชียอีกด้วย ปีนี้ MovieSeer ยังถือสิทธิ์ตัวการ์ตูนจาก Disney ทั้งหมด ทั้งมิกกี้ เมาส์ ที่มีอายุ 100 ปี หรือวินนี่เดอะพูห์ที่มีอายุย่างเข้าสู่ปีที่ 80 และเริ่มมีคอนเทนต์ให้เห็น กันสารพัดบนโทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่บัตรเติมเงินบนโทรศัพท์มือถือ หรือซิมการ์ดของบางค่าย

นับเป็นบริษัทที่ไม่เพียงแต่ได้เปรียบที่เริ่มก่อนได้เปรียบคนอื่นเท่านั้น แต่ยังคงเส้นคงวาเอาดีหาเงินเข้ากระเป๋าจากหนังดังของแท้อีกด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.