True Brand Concept Shop

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

หากหน้าร้านเปรียบเสมือนกับหน้าตาของบริษัทและสินค้าขององค์กร True Brand Concept Shop ก็คงเป็นหน้าร้านแห่งใหม่ที่กำลังทำหน้าที่ของมันในการโปรโมตหน้าตาให้กับ ทรู คอร์ปอเรชั่น เช่นเดียวกันกับการโปรโมตความเป็นทรูที่นำเสนอความเป็นผู้ให้บริการด้านไลฟ์สไตล์หรือ lifestyle enabler อย่างที่พยายามมาตลอด

ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธาน คณะผู้บริหารบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ปรากฏตัวต่อสายตาสื่อมวลชนอีกครั้งด้วยทรงผมแปลกตาไป เมื่อครั้งเป็นโต้โผในงานแถลงข่าวแสดงวิสัยทัศน์ปี 2549 ของบริษัทช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากพักยาวจากภารกิจในการร่วมงานแถลงข่าวไปเป็นเวลาหลายสัปดาห์ เพื่ออุปสมบทพร้อมลูกชายหัวแก้วหัวแหวนเพื่อตอบแทนพระคุณเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้เป็นบิดา

ความแปลกใหม่ของทรงผมที่สั้นเกรียน ที่เกิดจากการโกนผมเพื่อบวชอุปสมบทของศุภชัย มาพร้อมกับความแปลกใหม่ ของช็อปแห่งใหม่ของทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานในวันนั้นด้วย

True Brand Concept Shop ชื่อช็อปแห่งใหม่ล่าสุดของทรู อยู่บนชั้น 3 โซน Living & Technology ศูนย์การค้าสยามพารากอน เป็นหนึ่งในความพยายามของศุภชัยที่พยายาม จะสื่อให้คนที่เห็นแบรนด์ของทรู คิดไปถึงความเป็นผู้นำในตลาด เทคโนโลยีที่เริ่มจะเข้าใกล้ตัวคนไปทุกวัน

รวมถึงการมาของเทคโนโลยีหลายอย่างที่เริ่มผนวกเข้าด้วยกันในอุปกรณ์ตัวเดียว หรือที่เรียกว่า Convergence ซึ่งทรูช็อปแห่งใหม่ภายใต้ชื่อใหม่ที่ศุภชัยตั้งขึ้นด้วยตนเองถือเป็นสัญลักษณ์ของการนำเสนอแนวคิดดังกล่าวนั่นเอง

พื้นที่ใช้สอยกว่า 600 ตารางเมตรของ ช็อปถูกแบ่งเป็นโซนต่างๆ เช่นเดียวกันกับร้านค้าทั่วไป แต่แปลกตาและไม่เหมือนร้าน อื่นๆ ก็ตรงการออกแบบและรูปแบบของการให้บริการของร้าน

True Brand Concept Shop มีคอนเซ็ปต์การออกแบบภายใต้ชื่อที่เรียกว่า "True Urban Park" โดยมีดวงฤทธิ์ บุนนาค เจ้าของบริษัท ดวงฤทธิ์ บุน นาค จำกัด ผู้ฝากผลงานการ ออกแบบ "H1" ในซอยทอง หล่อ และ "ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ" (Thailand Creative & Design Center : TCDC) บนชั้น 6 ห้างเอ็มโพ เรียม ทั้งหมดเป็นการออก แบบร่วมกับทีมออกแบบคนไทยอีกหลายชีวิตที่เข้าช่วยเหลือเรื่องเทคโนโลยี ดนตรี เสริมทัพเรื่องอาหารการกินและอื่นๆ (อ่านเรื่องเกี่ยวกับดวงฤทธิ์เพิ่มเติมได้ที่ "Thai-land Creative & Design Center โอเอซิสแห่งปัญญาชนสยาม" โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข นิตยสาร "ผู้จัด การ" ฉบับมกราคม 2549)

"ผู้จัดการ" พบปะดวงฤทธิ์หลายครั้งทั้งวันแถลงข่าวเปิดตัวช็อป อย่างไม่ทางการ ระหว่างการใช้สถานที่หนแรกสำหรับการแถลงข่าวแสดงวิสัยทัศน์ หรือแม้แต่วันอื่นๆ ที่ "ผู้จัดการ" มีโอกาสแวะเวียนเข้าไปเยี่ยมช็อปแห่งนี้

ดวงฤทธิ์มีโอกาสพบปะกับศุภชัยตั้งแต่ครั้งออกแบบ H1 ด้วยการแนะนำของคนรู้จักอีกต่อหนึ่ง ก่อนได้รับการชักชวนจากศุภชัยเมื่อก่อนหน้านี้ 1 ปีเพื่อให้รับผิดชอบโครงการหลายสิบล้านบาทในการออกแบบ ช็อปแห่งใหม่บนพื้นที่ของห้างสยามพารากอน ซึ่งขณะนั้นกำลังเป็นที่กล่าวขวัญของคนทั่วไป และได้รับความสนใจจากหลายๆ บริษัทดังๆ เข้าไปร่วมเปิดร้านของตนบนห้าง

ระยะเวลาในการออกแบบ ทั้งการพูดคุยสื่อสารกับศุภชัยที่ลงมาดูแลโครงการนี้ด้วยตัวเองกับทีมงานผู้บริหาร และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกินเวลายาว นานนับ 1 ปีหลังจากนั้น ก่อนลงมือ ก่อสร้างร้านกันจริงๆ จังๆ เพียง 3 เดือน ทดสอบระบบการทำงานอีก 2 เดือน ก่อนเสร็จ ให้ใช้ในวันงานแถลงข่าวครั้งแรกในชั่วข้ามคืนเท่านั้น

ดวงฤทธิ์อธิบายความพยายามในการออกแบบของ True Brand Concept Shop ของเขาว่า เขาอยากให้เป็น สถานที่ที่ใช้คนสื่อสารกันมากขึ้น ให้คนได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากที่สุด ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ ซึ่งเป็นความพยายามของทรูเองด้วย

"ก่อนหน้านี้อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ได้ทำลายระบบการปฏิสัมพันธ์ของคนเราลงไปอย่างมาก หลายคนจับจองเก้าอี้ในร้าน และหันหน้าเข้าจอคอมพิวเตอร์ โดยไม่สนใจคนรอบข้าง แต่ที่นี่กลับแตกต่าง เราใส่ใจในการ ออกแบบการวางจอคอมพิวเตอร์ในมุม "True Speed" จอที่วางสูงต่ำไม่เท่ากันในระดับสายตา เพื่อให้คนข้างๆ ได้มีโอกาสเห็นคนที่นั่งอยู่ในโต๊ะถัดไปหรือตรงกันข้าม เราเพิ่มโอกาสให้คนได้สื่อสารกับคนอื่นๆ" ดวงฤทธิ์กล่าว

เขาเลือกที่จะใช้โครงสีดำเข้มซึ่งกำลัง เป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมกับช็อปแห่งนี้ เลือกใช้ไม้จริงเป็นพื้นโต๊ะ หรือเคาน์เตอร์ เลือกที่จะไม่ยัดเยียดความเป็นแบรนด์ของทรู เช่นเดียวกับช็อปของทรูที่มีหน้าที่รับจ่ายเงินหรือขายของดังเช่นที่อื่นๆ โดยเลือกที่จะใส่คำว่า "True" ซึ่งเป็นชื่อของแบรนด์เพียงจุดเดียวของร้าน คือส่วนกำแพงขนาดใหญ่ด้านหลังกระจกหน้าร้าน

True becomes you คือคอนเซ็ปต์ของป้ายขนาดใหญ่ยักษ์ชื่อ "True" ที่เกิดจากการพลิกด้านของกระดาน Flip dot

สีสันและรูปแบบของเก้าอี้ในร้านกลายเป็นสิ่งที่บ่งบอกตัวตนของคนนั่ง เก้าอี้ทุกตัวในร้านไม่มีตัวไหนที่เหมือนกัน ผู้ออกแบบตั้งใจให้เจ้าของมีโอกาสได้เลือกนั่งตามความ ชอบและความต้องการของตน

ศุภชัยเองพยายามย้ำให้เห็นแนวทางของร้านจะมีส่วนร่วมในการนำเสนอเทคโนโลยี ในอนาคตให้คนใช้งานได้เห็นในเวลาเดียวกัน ด้วย บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายถูกนำเสนอเอาไว้ในมุม "True Speed" ซึ่งมุมดังกล่าวพ่วงเอาไว้ด้วยความเป็นไร้สาย ผู้ใช้จะมีโอกาส ได้คีย์บอร์ดไร้สาย เห็นแต่จอเพราะคอมพิว เตอร์ทุกเครื่องถูกเชื่อมเข้ากับเซิร์ฟเวอร์กลางแทนการแยกเคสเอาไว้เฉพาะของตน นับเป็นคอนเซ็ปต์ของร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ของทรูด้วยในอนาคต

จอภาพสีขาวขนาดยักษ์บนฝาผนังด้านหนึ่งของร้าน เป็นสถานที่ที่ศุภชัยเรียกว่า "From you to True" จุดที่ผู้คนสามารถส่งข้อความผ่านบริการ sms มาแสดงบนนั้นได้

ขณะที่ฝาผนังอีกฝั่งกลายเป็นจุดที่แสดงภาพถ่ายทอดสดที่ยิงตรงมาจากมุมที่ดีที่สุดของแท็งก์ปลาใต้น้ำที่ Siam Ocean World บริเวณชั้นล่างสุดของห้ามสยามพารากอน

ติดกันมีมุมโต๊ะ เก้าอี้ให้เลือกนั่งพักผ่อน หยิบกาแฟ และขนมหวาน พร้อมกับนั่งเล่นอินเทอร์เน็ตไร้สายที่ให้บริการภายในร้านด้วย ผู้ออกแบบตั้งใจให้เป็นมุมนี้สะท้อนความไฮเทคไว้ในตัว โต๊ะทุกตัวที่ล้อมรอบด้วย เก้าอี้หลายแบบ ถูกติดตั้งจุดสำหรับ Docking หรือวางเครื่องเพลงแบบพกพา iPod สายไฟถูกซ่อนเอาไว้ให้โยงเข้าถึงตัวลำโพงที่ด้านบนศีรษะของผู้นั่ง เสียงเพลงใน iPod จะถูกส่งผ่านออกมาจากลำโพงแบบพิเศษดังกล่าว โดยไม่รบกวนโต๊ะข้างๆ

พื้นที่ส่วนใหญ่ตรงกลางของช็อป ทรูใช้เป็นสถานที่แสดงสินค้ารุ่นใหม่ล่าสุดที่คัดสรรมานำเสนอให้กับผู้ที่เข้ามาแวะเวียน "True Stuff" รวมเอาไว้ทั้งโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ทันสมัย รุ่นพิเศษ รุ่นที่มีขายจำกัด หรือแม้แต่อุปกรณ์การถ่ายภาพหลากชนิดที่ได้รับความร่วมมือจากร้าน Foto File บนห้างมาบุญครองมาร่วมจัดแสดงสินค้าและขายในราคาปกติให้กับผู้ที่สนใจด้วย

ต้องยอมรับว่ายุคของการเปลี่ยนแปลง การตกแต่งร้านค้าให้สวยเด่นแปลกตา ทันสมัย และอวดฝีมือการออกแบบที่เต็มไปด้วยความหมายภายในร้าน จากทั้งสถาปนิกมีชื่อ และโนเนม ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นในเมืองไทย แต่เป็นความพยายามที่คนไทยได้เห็นกันมาหลายปีก่อนหน้านี้

แต่สำหรับ True Brand Concept Shop ไม่ได้เป็นดังเช่นความพยายามเหมือนที่หลายคนกำลังทำเท่านั้น แต่เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่เจ้าของแบรนด์พยายามจะสร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่าง ภายใต้การนำเสนอที่แตกต่าง บนขอบเขตของสินค้าและบริการที่ตัวเองมีอยู่

ความทันสมัยและแปลกตาของ True Brand Concept Shop จึงแฝงเอาไว้ด้วยภาพลักษณ์ของแบรนด์ทรูที่ออกจะครบถ้วน ขาดไปก็ตรงที่วันนี้จะมีใครแวะไปเยี่ยมชมช็อปแห่งนี้มากน้อยอย่างที่คาดการณ์กันไว้หรือไม่ ต้องจับตามองกันต่อไป เงินมากแค่ไหน สื่อประโคมข่าวกันมากเท่าใด หรือแม้ช็อปจะสวยและมากมายด้วยคุณค่า จะไร้ค่าในบัดดล หากไม่มีคนเข้าไปเยี่ยมเยือน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.