|
คู่แข่งของเงินสด
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นตัวเลือกแรกในการชำระเงินแทนที่เงินสด ทำให้ Visa วางกลยุทธ์รุกในผลิตภัณฑ์บัตรชำระเงินเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากตลาดบัตรเครดิตที่เริ่มอิ่มตัว
ความสะดวกในการใช้งานและโปรโมชั่นต่างๆ เป็นจุดขายสำคัญของผู้ออกบัตรเครดิตแต่ละรายที่ผลักดันให้ยอดบัตรเครดิตในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งในด้านของจำนวนบัตรและปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร ในปีที่ผ่านมาธุรกิจของ Visa ซึ่งเป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดบัตรเครดิตมากที่สุด ในไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 4.6 ล้านใบ เป็น 5.7 ล้านใบ คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 23%
อย่างไรก็ตาม Visa พบว่าบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการออกบัตรให้กับผู้ที่มีบัตรอยู่แล้ว เนื่องจากจำนวนผู้ที่มีสิทธิถือบัตรเครดิตในแต่ละปีมีอัตราการเติบโตเพียงเล็กน้อย ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้ปัจจุบันผู้ที่มีสิทธิถือบัตรเครดิตแต่ละรายจะมีบัตรเครดิตเฉลี่ยถึง 3 ใบ โดยจากยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งหมดของไทยในปีที่ผ่านมาจำนวน 4.58 แสนล้านบาท จะเป็นการใช้จ่ายผ่านบัตร Visa 3.15 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 22% คิดเป็นปริมาณใช้จ่ายโดยเฉลี่ยใบละ 55, 100 บาท
"ในปีที่ผ่านมาจะเห็นแคมเปญของผู้ออกบัตรมาเน้นที่การให้มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรมากกว่าการเพิ่มจำนวนบัตร เพราะปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรคือ ดัชนีชี้วัดการเติบโตของธุรกิจที่แท้จริง" สมบูรณ์ ครบธีรนนท์ ผู้จัดการ วีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยกล่าว
สำหรับในปีนี้ Visa วางเป้าหมายที่จะผลักดันให้ผลิตภัณฑ์บัตรชำระเงินเข้ามาแทนที่การชำระด้วยเงินสดมากขึ้น โดยนอกเหนือจากบัตรเครดิตที่มีอยู่แล้วจะเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ 4 ประเภท ได้แก่ บัตรเครดิตพรีเมียม จับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูง บัตรเดบิต จับกลุ่มผู้มีบัญชีเงินฝากในธนาคาร บัตรพรีเพด สำหรับประชาชนทั่วไป และบัตรเครดิต สำหรับองค์กร สำหรับบริษัทและหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานของรัฐ ซึ่ง Visa จะมีการทำตลาดบัตรทั้ง 4 ประเภทอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
"คู่แข่งของ Visa คือเงินสด เป้าหมายของเราคือทำให้บัตรชำระเงิน Visa เข้าไปแทนที่เงินสดให้ได้มากที่สุด" สมบูรณ์กล่าว
นอกจากนี้ยังจะมีขยายตลาดออกพื้นที่ต่างจังหวัดให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้บัตรชำระเงินแทนที่เงินสด การเพิ่มหมวดหมู่ร้านค้าประเภทใหม่ๆ ทั้งในส่วนของค่าสาธารณูปโภค การชำระภาษี ประกันภัยและค่าเล่าเรียน รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีบัตรติดชิปมาใช้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจในระบบรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ถือบัตร
Visa คาดว่าในปีนี้จำนวนบัตรเครดิต Visa จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.3 ล้านใบ และยอดใช้จ่ายผ่านบัตรจะเพิ่มขึ้นในอัตราใกล้เคียงกับปีที่แล้ว คือ 22-25% แต่บัตรเดบิตจะเป็นบัตรที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด โดยในปีนี้จะมีบัตรใหม่เพิ่มขึ้นอีก 3 ล้านใบ จากจำนวน 11.4 ล้านใบ เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา และจำนวนบัตรที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรมากขึ้นด้วย ซึ่งในปีที่ผ่านมายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต Visa มีจำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท
สมบูรณ์เล่าว่า ปัจจุบันปริมาณการใช้บัตรเดบิต Visa ยังมีสัดส่วนเพียง 5% ของการใช้บัตร Visa ทั้งหมดที่จุดขาย เนื่องจากผู้บริโภคยังไม่เคยชินกับการใช้บัตรเดบิตในลักษณะดังกล่าว ดังนั้นในปีนี้ Visa จะโปรโมตให้ผู้ถือบัตรเดบิตมีการใช้ชำระค่าสินค้าที่จุดขายมากขึ้น
สำหรับบัตรองค์กรทั้งในส่วนของภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐ ซึ่ง Visa กำลังพยายามผลักดันให้มีการออกบัตรและเกิดการใช้งานมากขึ้น เนื่องจากเป็นบัตรที่มีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรสูง โดยจะพยายามเน้นถึงข้อดีในการช่วยลดขั้นตอนการเบิกจ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับองค์กร ซึ่งในไตรมาสแรกนี้จะมีผู้ออกบัตรเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย
บัตรเครดิตของหน่วยงานรัฐเป็นความหวังสำคัญที่ Visa พยายามจะให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้นในปีนี้ หลังจากช่วงกลางปีที่ผ่านมาได้พาเจ้าหน้าที่ของภาครัฐหลายหน่วยงานไปเข้าร่วมการประชุม Visa International Government Services Conference ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งสาระของงานดังกล่าวพยายามชี้ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เห็นถึงข้อดีของการนำระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานในประเทศต่างๆ ที่ได้นำเอาระบบดังกล่าวของ Visa ไปใช้มาร่วมให้ข้อมูล อาทิ กระทรวงกลาโหม ประเทศออสเตรเลีย และ General Services Administration สหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมากลับไม่ค่อยมีข่าวคราวความคืบหน้าของบัตรดังกล่าวออกมามากนัก แต่หลังจากนี้ไปเชื่อว่าจะมีกิจกรรมเชิงรุกของ Visa ออกมามากขึ้นอย่างแน่นอน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|