เสรีภาพของสื่อ เป็นสิ่งที่ "จำเป็น"

โดย สุจินดา มหสุภาชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"ยิ่งระดับการพัฒนาประเทศและการลงทุนสูงขึ้นเท่าใด บทบาทของสื่อมวลชนในการตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงาน และประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล ย่อมต้องมีความจำเป็นมากขึ้นเท่านั้น เพราะความมั่นคงของรัฐบาลเป็นความมั่นคงในการพัฒนาประเทศ และความเปลี่ยนแปลงในระบบการเมืองของประเทศได้เป็นไปในทิศทางที่คนอยากเห็น" เป็นความเห็นของวีรพงษ์ รามางกูร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมีบทบาทมากกว่าการให้คำแนะนำ ที่เป็นเพียงแค่คำพูด

หากมองการเมืองในระบบของอังกฤษหรือยุโรป ที่มีระบบประชาธิปไตยแบบ 2 พรรคใหญ่ รัฐบาลจะมีความเข้มแข็ง และเป็นการปกครองแบบเผด็จการในรัฐสภาเช่นเดียวกัน ดังนั้นคนที่ตรวจสอบการทำงานในระบบรัฐสภาแบบอังกฤษตัวจริงจึงไม่ใช่พรรคการเมืองฝ่ายค้าน แต่เป็นสื่อมวลชนที่ต้องทำหน้าที่ของตนเองอย่างเข้มแข็งด้วย

วีรพงษ์เห็นว่าเสรีภาพของสื่อมวลชนจะขาดไม่ได้ในการ ปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เพราะพรรคการเมือง ด้วยกันเองต้องยกมือสนับสนุนกันในเกือบทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้กระทั่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นเหตุให้ต้องยกสื่อมวลชน ซึ่งทำหน้าที่นี้ให้ขึ้นเป็นฐานันดร 4 เพื่อเป็นการให้เกียรติ

แต่เมื่อสื่อมวลชนมีความสำคัญเช่นนี้แล้ว จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบ และมีการควบคุมด้านจรรยาบรรณกันเอง เขาค่อนข้างพอใจสื่อมวลชนไทย ที่มีการพัฒนาตัวเองค่อนข้างรวดเร็ว แต่หากจะให้ถึงขั้นสมบูรณ์แบบนั้น ยังต้องอาศัยเวลา

ต้องค่อยๆ พัฒนา อย่าใจร้อน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้ได้ หากจะแก้ไขก็ต้องคิดให้ดีเสียก่อน เสถียรภาพของรัฐบาลมีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แนวโน้มประชาชนทั่วโลกเน้นเสถียรภาพรัฐบาล เช่นญี่ปุ่นที่เคยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทุก 2 ปี ตอนนี้ก็กลายเป็นยาวแล้ว และก็มี 2 พรรคผลัดกันมาเป็นรัฐบาล ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้นตามหลักวิชาการส่วนข้อตำหนิติติงต่างๆ ก็ต้องว่ากันไป ทำหน้าที่กันไปด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน ถ้าหากว่าไม่มีสื่อมวลชนแล้ว ระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาจะไม่สมบูรณ์ และทั้ง 2 เป็นของที่ต้องเดินคู่กันไป"

ด้านความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มคนต่างๆ ในช่วง 2-3 เดือนมานี้ แม้เขาจะต้องอยู่ตรงกลางระหว่างความขัดแย้งนี้ แต่ด้วยความที่เคยทำงานในบทบาทที่ปรึกษามานาน จึงไม่ตกใจกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งเชื่อว่าในท้ายที่สุด การประนีประนอมของคนในชาติจะเกิดขึ้น ขอเพียงอย่างเดียวว่า อย่าได้มีการปฏิวัติล้มกระดานเสียก่อน

เขาบอกว่า ในประวัติศาสตร์ประเทศไทย เมื่อความขัดแย้งสุกงอม มักมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้ามาช่วยให้เกิดแสงสว่าง และมองเห็นทางออกได้ตลอดเวลา

"สื่อมวลชนต่างประเทศ นักลงทุนต่างประเทศ ที่ไม่เข้าใจสังคมไทย อาจตกอกตกใจ เพราะไม่เข้าใจว่าการทะเลาะเบาะแว้งที่รุนแรงระหว่างคนในประเทศ ซึ่งอาจจะเห็นว่าน่ากลัวนั้น แต่ไม่เคยรุนแรง แม้กระทั่งยุคปฏิวัติ แพ้ก็ไปบวชพระ ชนะก็ไปเป็นรัฐบาล เราไม่ฆ่ากัน ไม่เหมือนละตินอเมริกาหรือที่อื่นๆ ความที่ชินกับเรื่องนี้ผมก็เลยไม่ได้ตกใจอะไร คิดว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่จะทำให้การเมืองพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ สื่อมวลชนก็หวงแหนเสรีภาพ ความเป็นอิสระของตน รัฐบาลก็จะประมาทไม่ได้แล้ว ก็ต้องปรับตัว ต้องรับฟัง และนำเอากลับไปคิดผ่อนสั้นผ่อนยาว เพราะประชาธิปไตยคือการผ่อนสั้นผ่อนยาว คือการประนีประนอมกัน"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.