มหาวิทยาลัยรังสิต ไม่รู้จะเอาเงินหรือกล่อง

โดย สุจินดา มหสุภาชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

นับตั้งแต่เกิดวิกฤติผู้นำของสังคมไทยขึ้นมา ดูเหมือนมหาวิทยาลัยรังสิตจะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรก และแห่งเดียวที่ออกมาร่วมสนับสนุนความเคลื่อนไหวในการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา องค์การนักศึกษา, คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย ได้จัดงาน "ไม่ไล่ ไม่หนุน แต่คุณต้องตอบ" เพื่อยื่นหนังสือตั้งกระทู้ถาม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ความพยายามขยายเครือข่ายความร่วมมือในกิจกรรมการเมืองของมหาวิทยาลัยรังสิตครั้งนี้ ดูยากลำบากกว่าการขยายความ ร่วมมือด้านการศึกษากับพันธมิตรในต่างประเทศที่เคยประกาศไว้เมื่อต้นปีนี้ ด้วยเหตุที่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่เคลื่อนไหวอย่างโดดเดี่ยว

เนื่องจากเพื่อนจากอีก 5 สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชน คือสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยสยาม, สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น, สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต, สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ปฏิเสธไม่เข้าร่วมแสดงพลังในครั้งนี้ ด้วยเหตุผลต่างกัน บ้างก็อ้างว่ามาไม่ทันบ้างก็ชัดเจนแต่แรกแล้วว่าไม่เอาด้วย และบ้างก็บอกว่าผู้บริหารสถาบันขอให้นักศึกษาวางตัวเป็นกลาง

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามหาวิทยาลัยรังสิตมีอธิการบดีที่ชื่อ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ซึ่งปัจจุบันแม้จะไม่อยู่ในแวดวงการเมืองมาตั้งแต่ปี 2544 แต่เขาก็ยังมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นคนที่เคยได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษประชาธิปไตยในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535

ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปลายปีก่อน มหาวิทยาลัยรังสิตที่มีอายุครบ 20 ปี ได้จัดกิจกรรมทาง การศึกษาอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นโครงการจัดประชุมขยายความร่วมมือสู่ครูแนะแนวตามโรงเรียนมัธยมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ตลอดจนการประกาศเปิดหลักสูตรใหม่ อีก 4 หลักสูตร ที่จะให้บริการในปีการศึกษา 2549 เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา รวมถึงการประกาศใช้แผน Road To Excellence 5 ปี เพื่อลอยตัวอยู่เหนือกระแสการแข่งขันที่รุนแรง โดยสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ พัฒนาให้นักศึกษามีความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ได้เองโดยลำพัง เมื่อเข้าสู่โลกที่แท้จริงของการทำงานแล้ว

นอกจากนี้ยังขยายความร่วมมือทางการศึกษาไปยังเครือข่ายพันธมิตรใหม่ๆ ในต่างประเทศและเพิ่มสัดส่วนการใช้ภาษาอังกฤษในห้องเรียนขึ้นปีละ 10% โดยมีเป้าหมายว่าจะเพิ่มขึ้นได้เป็น 50% เมื่อสิ้นสุดแผน Road of Excellence ในปี 2552

สุดท้ายคือการพัฒนามหาวิทยาลัยรังสิตสู่การเป็น e-university อย่างสมบูรณ์แบบ

สำหรับการจัดประชุมขยายความร่วมมือสู่ครูแนะแนวตามโรงเรียนมัธยมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งบางแห่งก็อยู่ไกลถึงสุไหงปาดี เป็นงานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว

ดร.อาทิตย์ให้เหตุผลว่าที่ต้องทำเช่นนี้เพราะเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องมีความเข้าใจที่ตรงกัน และเขาเองต้องการให้ครูแนะแนวรับรู้ถึงความตั้งใจจริงของมหาวิทยาลัย รังสิต ในเรื่องการพัฒนาด้านการศึกษา รวมถึงช่วยให้ครูแนะแนวจากโรงเรียนต่างๆ มีโอกาส เข้ามาสัมผัสอย่างใกล้ชิดถึงสภาพแวดล้อมที่มีอยู่จริงในรั้วมหาวิทยาลัย อีกทั้งในปีการศึกษา 2549 มหาวิทยาลัยรังสิตก็จะเปิดให้มีหลักสูตรใหม่ขึ้นมา ครูแนะแนวจะได้มีโอกาส ซักถามเกี่ยวกับเหตุผลที่ต้องมีหลักสูตรเหล่านี้

"การเปิดหลักสูตรใหม่ไม่ใช่เพื่อแข่งขันกับคนอื่น ผมพูดอยู่ตลอดเวลาว่า ผมไม่ได้ต้องการแข่งขันกับใคร เพราะนี่คือความต้องการของชาติ" อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิตให้เหตุผล

การเปิดบ้านเพื่อต้อนรับผู้มาเยือนนี้ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ภายในรั้วมหาวิทยาลัยรังสิต แต่เพียงที่เดียว แต่ยังขยายต่อไปถึง British International School ที่ภูเก็ต ให้ครูแนะแนว บางส่วนมีโอกาสเข้าเยี่ยมชม นอกเหนือจากบางส่วนที่จะเดินทางขึ้นไปประชุมกันต่อที่จังหวัดเชียงใหม่

ด้านอาจารย์จากมหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงที่มาของโครงการดังกล่าวว่า มาจากแนวคิดที่ว่าบทบาทของครูแนะแนวที่จำกัดอยู่แค่เฉพาะการให้คำแนะนำ ถึงแนวทางการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยตามความสามารถของนักเรียนนั้น อาจไม่เพียงพอต่อการให้คำแนะนำปรึกษาด้านการเรียนต่อให้แก่เด็กนักเรียนในปัจจุบัน

เพราะในอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญ คือวิธีที่จะทำให้ครูแนะแนวได้รับข้อมูล ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างคณะหรือสาขาวิชา ตลอดจนมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง เพื่อ นำไปให้นักเรียนใช้เป็นอีกข้อมูลหนึ่งในการประกอบการตัดสินใจเลือกสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่ง

แต่การจะเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ อาจมีข้อจำกัดในกลุ่มครูแนะแนวที่อยู่ในโรงเรียนต่างจังหวัด เพราะไม่มีโอกาสได้เห็นภาพมาตรฐาน การเรียนการสอน หรือเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีรองรับการเรียนในภาคปฏิบัติ ตลอดจนความ ใกล้ชิดระหว่างศิษย์และอาจารย์ที่มีอยู่จริงของ แต่ละมหาวิทยาลัย

บ่อยครั้งจึงเกิดปัญหาตามมาว่า การให้คำแนะนำด้านการศึกษาของครูกลุ่มนี้ จึงเกิดผิดเพี้ยนขึ้น ทั้งในแง่ประโยชน์ที่เด็กนักเรียนจะได้รับจากลักษณะเด่นในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากหลักสูตรการเรียน โอกาสที่จะมีงานทำหลังเรียนจบ หรือการช่วยให้เด็กมีความสุขในแบบที่ต้องการได้ตลอดช่วงเวลาของการเรียนในคณะหรือสถาบันการศึกษาที่ตนเองเลือกเรียนต่อ

"นโยบายเราจะต่างจากที่อื่นตรงที่ว่า ทำอย่างไรที่จะให้ครูแนะแนวได้เข้ามาเห็นของจริง ประเด็นตรงนี้ถือเป็นศิลปะการทำการตลาด แต่ต้องไม่ใช่ hard sale ในแบบที่ครูแนะแนวต้องมาเป็นคนของเรา หรือไปช่วยแนะนำนักเรียนหรือทำประชาสัมพันธ์ให้เรา ซึ่งเราคงต้องการการลงทุนอีก แต่ก็ไม่มาก" อาจารย์คนเดียวกันกล่าว

"ขณะเดียวกันเราก็พาเขาไปดูโรงเรียนนานาชาติที่ภูเก็ต และโรงเรียนสาธิตฯ ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ส่วนหนึ่งที่ ม.รังสิตทำขึ้นมาจากภาพของ ดร.อาทิตย์ที่ว่า ธุรกิจด้านการศึกษา หลักการคือไม่ได้มุ่งหวังผลทางธุรกิจเป็นหลัก แต่มุ่งสร้างคนในสังคม"

นักธุรกิจทั่วไปมักมองผลกำไรที่เป็นกอบเป็นกำมาเป็นที่ตั้งในการตัดสินใจการลงทุน แต่การลงทุนสไตล์ ดร.อาทิตย์ ไม่เพียงแต่ต้องใช้ความอดทนมาเป็นแรงดลใจ แต่ยังต้องมองข้ามเรื่องผลกำไรทางธุรกิจอีกด้วย

"ธุรกิจการศึกษาเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้ไม่มาก เพราะเป็นเรื่องการทำงานเพื่อประโยชน์ ของชาติบ้านเมือง ประโยชน์ของตัวเด็กเองในอนาคต กำไรก็เอาแค่ให้พออยู่ได้ จะลงทุนหรือทำหลักสูตรใหม่อะไรต้องคิดให้ดี ค่อยๆ ทำไปเท่าที่ทุนเรามี" ดร.อาทิตย์กล่าวถึงการรักษาสมดุลต้นทุนและกำไรในมหาวิทยาลัยรังสิต

ปรัชญาการให้บริการของมหาวิทยาลัยเอกชนนั้น ถูกกำหนดไว้ว่าต้องเปิดหลักสูตรเฉพาะสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยของรัฐทำไม่ได้ หรือในสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลนในประเทศ และจำเป็นต้องผลิตเป็นการเร่งด่วน

สำหรับประเทศไทย สาขาที่เข้าข่ายต้องเร่งผลิตกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง อาจมีอยู่เพียง ไม่กี่สาขา เช่น แพทย์ บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และวิศวกร

ขณะที่เอกชนส่วนใหญ่ไม่นิยมเปิดสอนคณะแพทย์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพราะต้องลงทุนในอุปกรณ์ที่มีราคาแพง แถมยังมีเงื่อนไขของแพทยสภาเข้ามาเป็นตัวกำกับเรื่องมาตรฐานจำนวนอาจารย์ต่อจำนวนนักศึกษาวิชาการแพทย์ ที่แต่ละแห่งจะรับได้

ยกเว้นคณะวิศวกรรม ที่อาจมีบ้างประปรายในรายที่มีศักยภาพที่พอจะเปิดเป็นหลักสูตรขึ้นมาสอนได้ภายในสถาบันการศึกษาของตน แต่ก็ยังจำกัดอยู่เพียงไม่กี่สาขา ที่ผู้เรียนนิยมเลือกเรียน

หลักสูตรการเรียนการสอนของเอกชน โดยส่วนใหญ่จึงมุ่งไปที่การแข่งกันเปิดบริการ ใน 4 คณะหลักๆ คือบริหารธุรกิจ, นิเทศ ศาสตร์, ธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรม และวิศวกรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นมหาวิทยาลัย เอกชนรายเดียวที่มีจำนวนหลักสูตรการเรียนการสอนสูงสุดในประเทศ จากที่เปิดมากถึง 24 คณะ ไม่นับรวมหลักสูตรใหม่ที่กำลังจะเปิดตามมาในปีการศึกษา 2549

หากวิเคราะห์ถึงข้อดีและข้อด้อยแบบรายตัวโดยภาพรวมแล้ว จะพบว่าบริหารธุรกิจ เป็นคณะที่มีต้นทุนต่ำสุด จากข้อดีที่ว่าผู้ให้บริการไม่จำเป็นต้องลงทุนในอุปกรณ์การเรียน การสอน ส่วนผู้เข้าเรียนก็มีโอกาสเข้าสู่ตลาด แรงงานได้ในพื้นที่ที่กว้างกว่าคณะอื่นๆ จึงเป็นวิชาที่เด็กมักจะเลือกเรียนอย่างไม่ลังเลใจ

การท่องเที่ยวและโรงแรม แม้จะเป็นสาขาที่มีประโยชน์ แต่มหาวิทยาลัยหวังทำเงินได้ไม่มาก เพราะมีข้อจำกัดทั้งในแง่จำนวนนักศึกษาและจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้าน วิชาการในสาขานี้ที่มีอยู่น้อย ผู้จบมาโดยตรง จากสายนี้มักเลือกเข้าสู่ตลาดแรงงานในธุรกิจโรงแรม อย่างเช่น ดุสิตธานี ที่เสนอผลตอบแทนสูงถึงหลักหมื่นหลักแสน แทนที่จะมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ดังนั้นหากรายใดต้องการเปิดหลักสูตรนี้ขึ้นมาก็ต้อง ลงทุนสูง

นิเทศศาสตร์ แม้จะเป็นอีกหนึ่งสาขาที่ยังทำกำไรได้ไม่น้อย จากความสนใจและความต้องการมากขึ้นราว 80% ของนักเรียนที่มาจากทุกสายในโรงเรียนมัธยม แต่ตัวรายได้อาจไม่มาก เมื่อต้องหักลบต้นทุนที่ลงในอุปกรณ์การเรียนการสอนซึ่งมีราคาแพง อย่าง กล้องถ่ายภาพยนตร์ เพราะแต่ละแห่งต่างต้อง แข่งกันชูความทันสมัยในชุดอุปกรณ์ เพื่อใช้เป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาให้แก่มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในคณะนี้

ส่วนวิศวกรรมศาสตร์นั้น แม้ความต้องการยังมีอยู่มากจากฝั่งของผู้เรียนในปัจจุบันจากปัญหาข้อจำกัดจำนวนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยรัฐจะเปิดรับจริงในแต่ละปีก็ตาม แต่เมื่อเอกชนเริ่มเปิดหลักสูตรนี้กันจริงๆ มักพบปัญหาที่ตามมาอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องผลตอบแทนอาจารย์ผู้สอนที่ต้องจ่ายสูงพอจะจูงใจ เนื่องจากคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนจบปริญญาโท และยังเป็นพวกที่อยู่ในตลาดแรงงานมานานจนค่าตอบแทนที่ได้รับในแต่ละเดือนอย่างน้อยๆ ก็ต้องสูงกว่า 50,000 บาท

เมื่อพิจารณาถึงจำนวนนักเรียนที่จะเข้าเรียนในคณะนี้ แต่ละปีก็มีแนวโน้มว่าลดลงในทุกสถาบัน จากอดีตที่เคยเปิดรับได้สูงถึง 100 คน พอมาถึงช่วงนี้ก็ลดลงมาเหลือเพียง 50 คน เป็นอย่างมาก เนื่องจากค่าหน่วยกิตที่แพงกว่าเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ของรัฐที่เกิดจากการยุบรวมสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล 35 วิทยาเขตเข้าด้วยกันตั้งแต่ต้นปีก่อน ที่เปิดคณะวิศวกรรมศาสตร์ขึ้นมาแชร์ความต้องการจากตลาดไปได้มากพอประมาณ

ที่ว่าต้นทุนที่แต่ละค่ายต้องแบกจากการเปิดคณะนี้จะมีมากน้อยเท่าไร ขึ้นอยู่จำนวนสาขาที่แต่ละรายจะเปิดให้บริการ โดยส่วนใหญ่เอกชนมักนิยมเปิดสอนไม่มาก คือสาขาโยธา, ไฟฟ้า และเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเพียง 3 สาขาที่คนหมู่มากให้ความ นิยม

ยกเว้นที่มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเปิดสอนครบทั้ง 7 สาขาเท่ามหาวิทยาลัยของรัฐ คือโยธา, เคมีและวัสดุ, ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์, คอมพิวเตอร์, เครื่องกลและยานยนต์, อุตสาหการ และสิ่งแวดล้อม

"ลำพังค่าหน่วยกิตวิชาพื้นฐานร่วมสาขาวิศวกรรมศาสตร์ของเด็กปี 1 หรือปี 2 ที่ม.รังสิต ก็แพงกว่าเอกชนรายอื่นอยู่แล้ว เช่นเราอาจเก็บที่หน่วยกิตละ 3,000-3,500 บาท แต่ที่อื่นอาจคิดถูกกว่าแค่ 2,000-2,500 ถ้าเป็นวิชาปฏิบัติ ของเราจะแพงขึ้นไปอีกคือ 5,000 บาท ขึ้นไป ในแต่ละปีรวมแล้วอาจต้องจ่ายราว 500,000-600,000 บาท พอคนเห็นว่าที่ไหนถูกกว่าก็เลือกไปที่นั่นก่อน" อาจารย์คนเดิมเล่าปัญหาให้ฟัง

ขณะเดียวกันในคณะบริหารธุรกิจ ซึ่งถือเป็น 1 ในแหล่งรายได้หลักของมหาวิทยาลัย นับแต่เริ่มเปิดดำเนินการ จำนวนรับนักศึกษาโดยรวมเคยมีอยู่สูงนับเป็นพันคน มาถึงปัจจุบันเริ่มลดลงมาเหลือเพียง 500 เศษๆ

ใกล้เคียงกับนิเทศศาสตร์ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักอีกแหล่งของมหาวิทยาลัย ตัวเลขรับ นักศึกษาก็ลดลงมาทรงอยู่แถว 600 คน จากช่วงที่เคย peak สุดที่ 500-700 คน แต่ถือเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมแล้ว

"ม.รังสิตต้องอาศัยเงินจากคณะนิเทศ ศาสตร์ และบริหารธุรกิจ มาหล่อเลี้ยงอีก 20 คณะ ทำให้โอกาสในการพัฒนาหรือบริหารคน รายรับ งบประมาณ ต้องขันเกลียว กันพอสมควร กำไรเมื่อปี 2546 ของเราเลยอยู่อันดับรั้งท้าย ส่วนศรีปทุม ธุรกิจบัณฑิตย์ หอการค้า และ ม.สยาม เป็นพวกที่มีกำไรนำโด่งไล่กันมาตามลำดับ ดร.อาทิตย์ท่านมีโครงการใหม่ๆ ในหัวอีกเยอะที่จะทำ แต่ก็ยังไม่รู้เลยว่าแล้วจะไปหาเงินมาจากที่ไหน"

ส่วนอีกกว่า 20 คณะที่เหลือ เป็นคณะ ที่ไม่ทำเงิน เช่น นิติศาสตร์ ซึ่งถือเป็นวิชาพื้นฐานที่ต้องมีเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยเอกชนอื่น แต่ด้วยจุดอ่อนในเรื่องราคาค่าหน่วยกิต และความโดดเด่นในการสร้างระบบ รุ่นของมหาวิทยาลัยรังสิตที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้ ต้องทุ่มเงินจ้างอาจารย์ระดับเนติบัณฑิต หรือ ระดับดอกเตอร์ที่สามารถว่าความได้ทั่วโลกมาไว้ที่คณะนิติศาสตร์ เพื่อใช้เป็นจุดขาย

สายวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องเปิดเป็น วิชาพื้นฐานรองรับการเรียนการสอนในคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ส่วนคณะวิศวกรรม ศาสตร์ ซึ่งมีคณาจารย์ประมาณ 70 ชีวิต และ เป็นถึงระดับรองศาสตราจารย์ early retire มาจากที่อื่น ซึ่งล้วนแต่เป็นอาจารย์ที่เด่นดัง จน ดร.อาทิตย์ต้องไปเชิญให้เข้ามาสอน หากจะเชิญให้ออกก็ทำไม่ได้ เลยต้องแบกค่าใช้จ่ายไว้เอง

ด้านแพทยศาสตร์ แม้จะมีจำนวนผู้สมัครสอบมากมายนับหมื่นราย แต่จำนวนนักศึกษาจริงที่รับได้ก็มีไม่มาก จากติดเงื่อนไขสัดส่วนอาจารย์ต่อนักเรียนแพทย์ของแพทยสภากำหนดว่า มหาวิทยาลัยทุกแห่ง ที่เปิดสอนวิชาแพทย์ ต้องมีอาจารย์ต่อนักศึกษาแพทย์ 1 ต่อ 5 และ 1 ต่อ 8 สำหรับ พยาบาล

หากมหาวิทยาลัยรังสิตต้องรับนักศึกษาต่อจำนวนอาจารย์เช่นนี้ ย่อมที่จะอยู่ไม่ได้ เพราะเป็นสัดส่วนเดียวกับที่บังคับใช้ในมหาวิทยาลัยของรัฐ และหากต้องการขยาย จำนวนนักศึกษาแพทย์ซึ่งแต่ละปีก็ต้องเสียค่าเทอมสูงถึง 1,000,000 บาท ให้เพิ่มขึ้นเพื่อนำมาเฉลี่ยผลขาดทุนจากคณะอื่น อย่างเภสัช พยาบาล เทคโนโลยีชีวภาพ และกายภาพบำบัด ที่เปิดมาได้ 7-10 ปี แต่ยังขาดทุนจากอุปกรณ์การเรียน และการแบกค่าจ้างอาจารย์แล้ว มหาวิทยาลัยรังสิตต้องไปหาอาจารย์ใหม่เพิ่มในคณะแพทยศาสตร์ เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่แพทยสภากำหนด

"มันเป็นการลงทุนที่ยาวมาก แต่ได้เครดิตที่สูงมาก ภาพลักษณ์ก็ดี คนที่จบวิชาพวกนี้ จะมีใบประกอบโรคศิลป์ แต่ละปีสมัครกันล้นจนเราต้องคัดออก"

คณะสถาปัตยกรรม เป็นอีกคณะที่มีข้อจำกัดจำนวนรับนักศึกษา คือแต่ละปีรับได้ 100 คน ด้วยค่าเทอมที่แพงมาก และอาจารย์ผู้สอนต่างก็มีตำแหน่งทางวิชาการที่สูงถึงระดับรองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ ผลงานของคณะนี้จึงทำรายได้แค่เพียงเสมอตัว แต่ก็เป็นอีกคณะที่มีเครดิตสูง

ส่วนคณะศิลปกรรมซึ่งเปิดสอนอยู่ราว 7-10 สาขา มีอาจารย์กว่า 70 ท่าน แม้นักศึกษาที่เรียนอยู่จะสามารถทำผลงานออกมาได้ค่อนข้างดี แต่นักศึกษาก็มีน้อยอย่างยิ่ง คณะนี้จะกลายเป็นอีกหนึ่งคณะที่ไม่อาจจะคิดถึงการหากำไรจากการเปิดสอน

สาขาน้องใหม่อย่าง Fashion Design และ Animation ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในไทย แต่เพราะต้องแบกต้นทุนจากการลงทุนอุปกรณ์ราคาแพงที่ทันสมัยที่สุดในประเทศนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าเทอมต้องมีราคาแพงตามไปด้วย และจำนวนนักศึกษาก็มีอย่างจำกัด

ในแง่ค่าหน่วยกิตที่คนอาจมองว่ามหาวิทยาลัยรังสิตคิดแพงกว่าที่อื่น อย่างมหาวิทยาลัย กรุงเทพนั้น หากมองผิวเผินอาจเป็นจริง แต่เมื่อพิจารณาลึกถึงค่าหน่วยกิต เทียบกับสัดส่วนอาจารย์ต่อจำนวนลูกศิษย์ในแต่ละชั้นเรียนแล้ว มหาวิทยาลัยรังสิตยังต้องแบกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อยู่มากจากสัดส่วนจำนวนนักศึกษาที่ต่ำกว่า

โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยกรุงเทพกำหนดสัดส่วนในวิชาบรรยายไว้ที่ 1 ต่อ 160 และ 1 ต่อ 180 ในรายวิชาทฤษฎี ส่วนมหาวิทยาลัยรังสิตจะกำหนดไว้ที่ 1 ต่อ 50 สำหรับวิชาบรรยายในสายสังคมวิทยา แต่จะเหลือ 1 ต่อ 20 ถึง 1 ต่อ 25 สำหรับสาขาปฏิบัติ ขณะที่ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาในคณะเทคนิคการแพทย์ รวมถึงคณะวิศวกรรมศาสตร์อยู่ที่ 1 ต่อ 8 ในภาคบรรยาย และ 1 ต่อ 5 ในภาคปฏิบัติ

มหาวิทยาลัยรังสิตมีกำไรจากการเปิดให้บริการด้านการศึกษาเฉลี่ยประมาณกว่า 100 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม ดร.อาทิตย์ยังมีนโยบายลงทุนเพิ่มอีกหลายร้อยล้านบาทในหลาย รายการ เช่น การสร้างหอพักใหม่รองรับนักศึกษาต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาเรียนหลักสูตรอินเตอร์ที่มหาวิทยาลัยรังสิตจะเปิดให้บริการในปีการศึกษา 2549 และสนามฟุตบอลภายในมหาวิทยาลัย ฯลฯ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.