|

ที่มาของฉายา ดร.ไข่ผง
โดย
สุจินดา มหสุภาชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
โรงงานไข่ผงที่ต้องปิดตัวลงไปหลังจากทำการผลิตได้เพียง 2-3 ปีนั้น เป็นผลผลิตทางความคิดร่วมของนักศึกษาจากคณะเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต และดร.อาทิตย์ โดยอาศัยเทคโนโลยีทางอาหารเข้ามาช่วยแปรรูปไข่ไก่สดให้กลายเป็นไข่ผง เพื่อขายในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ
ในเวลานั้น ดร.อาทิตย์ยังเป็น ส.ส.จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของไข่ไก่ เหตุที่เป็นแหล่งที่คนนิยมเลี้ยงไก่มากที่สุดในประเทศ โดยแต่ละวันแม่ไก่จะผลิตไข่ได้มากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเอาไปกิน หรือเอาไปขาย หรือจะขนไปทำทองหยิบทองหยอดฝอยทอง ให้มากเท่าไรก็ไม่มีหมด
ไข่ไก่เป็นเหมือนสินค้าทั่วไป ผู้ขายอาจต้องพบกับราคาขึ้น-ลงตามดีมานด์-ซัปพลาย ยามไข่ขาดตลาด ราคาขายจะเพิ่มขึ้น เกษตรกรก็มีความสุขจากการขายไข่ไก่ที่ได้ราคาดี
แต่เวลาไข่ไก่ล้นตลาด ราคาตกต่ำลงจนเกษตรกรผู้เลี้ยงก็ต้องออกมาร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพื่อประกันราคาให้ แต่จากนั้นไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ไข่ไก่จะเก็บไว้นานก็ไม่ได้ เพราะมีอายุเวลาที่ต้องเน่าเสีย แถมยังมีปัญหาความผันผวนในอาหารไก่ที่มีราคาแพง ที่ทุกรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
ดร.อาทิตย์มาได้ความคิดแก้ปัญหาจากคณะเทคโนโลยีอาหาร โดยใช้ไข่ไก่มาแปรรูปเป็นไข่ผงขาวและไข่ผงแดง โดยผงขาวจะเป็นสินค้าที่ถูกส่งไปยังโรงงานผลิตปูอัดในเมืองไทย ซึ่งจะนำไปใช้ละลายให้เป็นน้ำที่มีความเหนียวใกล้เคียงกับความเหนียวของน้ำไข่ขาว เพื่อเคลือบลงไปบนเนื้อปูอัดที่ทำมาจากเนื้อปลา แทนการนำเข้าไข่ผงขาวที่มีราคาแพงกว่าจากต่างประเทศ
ส่วนไข่ผงแดงจะส่งออกขายในญี่ปุ่น ประเทศที่คุณแม่บ้านนิยมซื้อหาสินค้านี้ไว้ติดครัว เผื่อต้องการหยิบฉวยเอามาเป็นสูตรผสมในการทำมายองเนสที่ใช้ราดบนหน้าสลัดจานโปรด
ธุรกิจก็น่าจะไปได้ดี จากยอดคำสั่งซื้อที่มีเข้ามา หาก ดร.อาทิตย์ไม่ลืมคิดถึงปัญหาที่จะตามมาอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงกดดันจากการที่รัฐบาลต้องเข้าไปประกันราคาขายสินค้าให้เกษตรกร และหากราคาไข่ไก่ถูกปรับจนสูงเกินกว่าฟองละ 1.30 บาทแล้ว จะทำให้เกิดการขาดทุนจากการส่งไข่ผงออกไปขายในต่างประเทศ
ขณะเดียวกันยังมีปัญหาความแตกต่างในรสนิยมการเลี้ยงไก่ในประเทศ และการบริโภคไข่ผงในต่างประเทศ ที่ญี่ปุ่นคนไม่นิยมบริโภคไข่แดงที่มีสีสดจนเกินไป เนื่องจากมองว่าโดยธรรมชาติแล้ว ไข่แดงควรต้องมีสีเหลือง
แต่ในเมืองไทย ความนิยมบริโภคตรงนี้ต่างกันอย่างมาก เพราะคนไทยนิยมเลือกซื้อหาไข่ที่มีไข่แดงสีสดๆ มากกว่าไข่แดงที่มีสีเหลือง เกษตรกรจึงต้องใช้ chlorophyll red มาให้แม่ไก่กิน เพื่อที่จะได้ไข่แดงในสีตามรสนิยมการบริโภคของคนในประเทศ
อีกทั้งคนไทยยังชอบไข่ที่มีเปลือกโทนสีนวลขาวๆ เพราะเนื้อไข่ขาวที่อยู่ภายในจะมีความฟูมากกว่าเนื้อไข่ขาวของไข่ ที่มีเปลือกค่อนไปทางสีแดงปนเหลืองเหมือนที่คนไทยนิยมเลือกซื้อ นอกนี้ในช่วงก่อนปิดโรงงาน ก็มีปัญหาไข่ไก่มีปริมาณไขมันมากเกินไปจนส่งผลให้ไข่ผงขาวมีกลิ่นเหม็นหืน และสีก็เปลี่ยนไปกลายเป็นสีเทา เมื่อผ่านขั้นตอนกระบวนการผลิตออกมาแล้ว ไม่สามารถหาทางแก้ได้ ยอดขายจึงลดลง ขณะที่ต้นทุนไข่มีราคาแพงขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|