|
กรณี รพ.พญาไท บทเรียนธุรกิจ-การเมือง
โดย
สุจินดา มหสุภาชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ครั้งหนึ่งในปี 2527 ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เคยได้รับการยกย่องให้เป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จยิ่ง จากการเข้าไปแก้ปัญหาการขาดทุนอย่างมโหฬารในการประปานครหลวง (กปน.) จนคนใน กปน.ที่เคยต้องทนอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรี เริ่มกลับมามีหน้ามีตาได้อีกครั้ง
แต่กับความพยายามของเขาในช่วง 1-2 ปีหลังมานี้ ที่ต้องดิ้นรนแก้ไขวิกฤติจากการสูญเสียอำนาจการบริหารกิจการในโรงพยาบาลพญาไท ธุรกิจแรกของครอบครัวอุไรรัตน์ ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการเมื่อปี 2519 และต้องล้มลงหลังลอยค่าเงินบาทเมื่อกลางปี 2540 นั้น ดูเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง!!!
โมเดลการทำธุรกิจของโรงพยาบาลพญาไทในอดีตนั้น ถูกวางไว้ให้เกี่ยวพันกับมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นกิจการแห่งที่ 2 ของตระกูลอุไรรัตน์ ที่เกิดขึ้นตามมาในราวปี 2533 ด้วยหวังว่าจะพัฒนาให้มหาวิทยาลัยรังสิตก้าวขึ้นเป็นโรงเรียนทางการแพทย์ของเอกชนแห่งแรก โดยมีโรงพยาบาลพญาไทเป็น ที่ฝึกปฏิบัติงาน
แต่โครงการนี้ อย่างไรก็ไม่สำเร็จ เพราะคนไข้ของโรงพยาบาลพญาไทเป็นกลุ่ม ผู้มีอันจะกิน ซึ่งรักความเป็นส่วนตัว และจะอึดอัดทุกครั้ง หากต้องเห็นอาจารย์หมอเดินนำหน้ากลุ่มแพทย์อินเทิร์น ผ่านประตูห้องเข้ามายืนมุงดูอยู่รอบเตียง เพื่อศึกษาพัฒนา การของโรค และวิธีตรวจรักษา
ยังมีปัญหาว่าชนิดโรคของคนไข้ที่มานอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น ไม่หลากหลายพอที่นักเรียนหมอจะเห็นถึงทุกระดับขั้น ในอาการเจ็บป่วย แถมแพทยสภา สื่อมวลชน ยังตั้งวงวิพากษ์ถามหามาตรฐานว่าที่คุณหมอ ที่ร่ำเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนจนจบจากการฝึกงานในโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นเจ้าของ มหาวิทยาลัยที่พวกตนศึกษาอยู่ด้วย
ดร.อาทิตย์จึงหันมาเดินตามแนวทางการฝึกงานนิสิตแพทย์ใน Harvard Medical University โรงเรียนแพทย์อันโด่งดังแห่งสหรัฐฯ ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของโรงพยาบาล แต่อาศัยความร่วมมือกับ Massachusetts General Hospital โรงพยาบาลของรัฐ เพื่อขอใช้โรงพยาบาลเป็นแหล่งฝึกงานของนักศึกษาก่อนที่จะนำวิธีนี้เข้ามาใช้ที่มหาวิทยาลัย รังสิต โดยผูกความร่วมมือกับโรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเด็ก
ในช่วงแรกนั้นโรงพยาบาลราชวิถีไม่เต็มใจกับโครงการนี้นัก เพราะไม่อยากแบก รับภาระการฝึก นศ. แพทย์จากมหาวิทยาลัยรังสิตเพิ่มจากที่ต้องทำงานประจำในการรักษาคนไข้ในโรงพยาบาล ที่แต่ละวันก็เหน็ดเหนื่อย มากพออยู่แล้วและงานสอน นศ.แพทย์นั้นใช่ว่าหมอทุกคนจะทำได้ เพราะต้องผ่านการฝึกอบรมมาก่อน
ความพยายามที่จะอาศัยโรงพยาบาลของรัฐมาเป็นเครือข่ายในการฝึกงานนี้ได้เกิดขึ้นจริงหลัง ดร.อาทิตย์ขนทีมแพทย์ 20 ชีวิตจาก โรงพยาบาลรามาธิบดี เดินทางไปดูงานและเข้ารับการอบรมใน Harvard Medical University แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน หลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ข้อหาใช้ตำแหน่งทางการเมืองเอื้ออำนวยธุรกิจให้เอกชน
Harvard Medical University ยังได้เข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมของโรงพยาบาลพญาไท เพื่อช่วยพัฒนาโรงพยาบาลแห่งนี้ให้มีความเชี่ยวชาญในการรักษาผู้ป่วยเฉพาะทาง ซึ่งเริ่มต้นด้วยการจัดตั้งศูนย์โรคหัวใจขึ้นมา ก่อนทั้ง 2 จะเริ่มพูดจากันถึงแผนขยายความร่วมมือในการจัดตั้งห้องแล็บแบบก้าวหน้า เพื่อใช้วิเคราะห์ วิจัยโรคซับซ้อนต่างๆ รวมถึงแผนจัดตั้งศูนย์รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง
แต่การเจรจาความร่วมมือนี้ต้องหยุดชะงักลงจากการล้มของโรงพยาบาลพญาไท ในปี 2540
เมื่อปีที่แล้ววิชัย ทองแตง ซึ่งก้าวเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโรงพยาบาลพญาไท ประกาศ ว่าเขาจะกลับไปเริ่มต้นเปิดการเจรจาความร่วมมือต่างๆ ที่โรงพยาบาลพญาไทเคยมีกับ Harvard Medical University อีกครั้ง หลังจากทิ้งช่วงความร่วมมือมานานเป็นเวลา 9 ปี
สาเหตุการล้มของกิจการโรงพยาบาลพญาไทครั้งนี้ ไม่แตกต่างไปจากการล้มละลาย ของกิจการอีกจำนวนมาก หลังรัฐบาลประกาศลอยค่าเงินบาท แต่ที่ดูแตกต่างคือระดับความมั่นใจของเจ้าหนี้ ที่จะมีต่อฝีไม้ลายมือของผู้บริหารกิจการแต่ละแห่ง
เช่นกรณีของ ดร.อาทิตย์ที่ได้รับบทเรียนนี้ ภาพความเป็นวีรบุรุษประชาธิปไตยในอดีต ของเขา ไม่มีน้ำหนักในการเจรจากับเจ้าหนี้เลยแม้แต่น้อย!!!
หลังจากใช้เวลานับสิบปี สั่งสมชื่อเสียงและขยายกิจการจนเติบใหญ่ จนกลายมาเป็น ต้นแบบโรงพยาบาลเอกชนที่ครบครันไปด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเครื่องมือทางการแพทย์ใน การรักษาโรคเฉพาะทางอย่างโรคหัวใจ ซึ่งเป็นตัวอย่างการพัฒนาธุรกิจโรงพยาบาลของกลุ่มที่มาทีหลัง
การล้มของโรงพยาบาลพญาไท เป็นการล้มในลักษณะเดียวกับธุรกิจขนาดใหญ่อื่นๆ ที่อาศัยเงินกู้ยืมทั้งจากตลาดทุนและตลาดเงิน ในยามเศรษฐกิจเฟื่องฟูมาลงทุนในกิจการหนี้สินที่เคยมี 5,000 ล้านบาท เมื่อรวมเงินต้นและดอกเบี้ย ยอดหนี้ก็พุ่งขึ้นเป็น 13,500 ล้านบาท หลังการประกาศลดค่าเงินบาท จนเป็นเหตุให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูในศาลล้มละลายกลาง
เป็นที่มาของการว่าจ้างบริษัทไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ (PWC) มาทำหน้าที่เป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและปรับโครงสร้างทางการเงิน ตามคำแนะนำของไกรวิน ศรีไกรวิน หนึ่งในอดีตเจ้าหน้าที่ บล.ธนชาติ ซึ่งเข้ามาทำหน้าที่ที่ปรึกษาทางการเงินอีกรายในโรงพยาบาลพญาไทในเวลานั้น
ปัจจุบันไกรวินลาออกจาก บล.ธนชาติมานั่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ โรงพยาบาลพญาไทร่วมกับ PWC
การเข้ามาจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของ PWC เริ่มในปี 2542 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ ดร.อาทิตย์ ต้องทิ้งโรงพยาบาลพญาไทเพื่อไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เป็นเรื่องที่ ดร.อาทิตย์เองก็ยอมรับว่าการเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น ทำให้เขาต้องใช้เวลาทำงานในกระทรวงอย่างเต็มตัว จนไม่มีเวลาดูแลโรงพยาบาลพญาไทที่กำลังอยู่ในกระบวนการทำแผน
เขาไว้วางใจ PWC มากจนเกินไป
ระหว่างการทำแผน PWC ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของโรงพยาบาลพญาไท อ้างว่าเจ้าหนี้ต่างประเทศของโรงพยาบาล ต้องการให้ PWC เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่ทางกลุ่มเจ้าหนี้ด้วย ดร.อาทิตย์ไม่ปฏิเสธคำขอนี้ เนื่องจากเห็นว่าการยอมให้ PWC เป็นที่ปรึกษาทางการเงินไปพร้อมกันทั้งฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ น่าจะเป็นผลดีกับทางโรงพยาบาลพญาไทในแง่การลดต้นทุนการจ้าง เพราะเจ้าหนี้และลูกหนี้จะได้ไม่ต้อง มาต่อสู้กันมากนัก
"ไอ้ความซื่อและเซ่อของผม ก็คิดว่าจะเป็นอะไรไปล่ะ ก็ให้ไพร์ซฯ ทำทั้ง 2 ฝ่าย เราไม่มีอะไรซ่อนเร้น เอาอะไรกันอย่างแฟร์ๆ เราเปิดเผยอยู่แล้ว ก็ไม่ขัดข้องให้เขาเป็น" ดร.อาทิตย์เล่า
อย่างไรก็ตาม กระบวนการปรับโครง สร้างหนี้โรงพยาบาลพญาไทได้สิ้นสุดลงเมื่อ ปี 2544 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่รัฐบาลชวน หลีกภัย หมดวาระ และดร.อาทิตย์ประกาศยุติบทบาททางการเมืองและตั้งใจจะกลับมาบริหารกิจการโรงพยาบาลพญาไทอีกครั้ง
แต่ไม่ทันกาล เนื่องจาก PWC ได้ยื่นขอเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการเองเสียก่อน โดยใช้ทุนราว 1-2 ล้านบาท ตั้ง Price Water House Coppers Restructuring Company บริษัทลูกเข้าทำหน้าที่ดังกล่าว ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากกลุ่มอุไรรัตน์ที่ต้องการให้ PWC ทำตามกฎหมายโดยคืนกิจการให้แก่ผู้บริหารเดิม
ท่ามกลางความพยายามของกลุ่มผู้บริหารแผนจาก PWC ที่กีดกันไม่ให้กลุ่มอุไรรัตน์เข้ามารับรู้เรื่องราวภายในกิจการโรงพยาบาลพญาไท การต่อสู้เพื่อชิงอำนาจการบริหารกิจการโรงพยาบาลพญาไทระหว่าง 2 กลุ่มนี้ ได้ขยายวงกว้างจนถึงปี 2546 ที่ PWC สั่งปลดประสิทธิ์ อุไรรัตน์ บิดา ดร. อาทิตย์ ออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทประสิทธิ์พัฒนา หลังประสิทธิ์ได้ส่งจดหมายลาออกไปยังผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 1, 2 และ 3
กลุ่มอุไรรัตน์ไม่ปฏิเสธว่าประสิทธิ์เป็นผู้ส่งจดหมายลาออกนั้นจริง เพราะไม่อาจทนเห็นเจตนารมณ์ในการก่อตั้งโรงพยาบาล ต้องถูกทำลายลงจากการขูดรีดค่ารักษาพยาบาลเพื่อนำมาใช้หนี้เจ้าหนี้ แต่เมื่อลูกหลานอุไรรัตน์รู้ข่าวในภายหลัง ก็ได้เรียกจดหมายคืนจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกแห่ง เว้นโรงพยาบาลพญาไท 2 ที่ไม่ยอมส่งจดหมายคืน โดยอ้างว่าทำจดหมายหายไปแล้ว
ความขัดแย้งนี้จึงขยายตัวต่อ โดยกลุ่มอุไรรัตน์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอให้การกระทำของ PWC ขัดต่อกฎหมาย ที่กำหนดห้ามไม่ให้มีการออกคำสั่งปลดผู้บริหาร ในระหว่างแผนฟื้นฟูกิจการ แต่ PWC กลายเป็นฝ่ายชนะจากการแสดงจดหมายลาออกของประสิทธิ์ที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 อ้างว่าทำหาย เป็นหลักฐานต่อศาลว่าประสิทธิ์ลาออกเอง สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มอุไรรัตน์จนต้องฟ้อง PWC ในคดีอาญาข้อหาปลอมแปลงเอกสาร
แม้กลุ่มอุไรรัตน์จะยื่นคำร้องไปยังศาลชั้นต้นพิจารณาคำตัดสินของศาลล้มละลายกลางในกรณีนี้ใหม่ แต่ PWC ก็ยังเป็นฝ่ายชนะอีก
โดยตั้งแต่ปี 2544 PWC และกลุ่มอุไรรัตน์ มีปัญหากระทบกระทั่งกันเป็นทุนเดิมอยู่หลายเรื่อง เช่นการเรียกเก็บค่าจ้างบริหารแผนในราคาแพงถึง 140 ล้านบาทภายใน 7 เดือน จากการกำหนดค่าจ้างให้แก่คนจาก PWC ในอัตรา 12,000 บาทต่อคนต่อชั่วโมง
แม้ดร.อาทิตย์จะแก้เกม โดยเสนอตัวเข้าบริหารแผนฟื้นฟูกิจการแบบไม่คิดค่าจ้างในโรงพยาบาลพญาไทแทน PWC ทำให้ PWC ต้องยอมลดราคาค่าจ้างลงมาเหลือ 1.2 ล้านบาท ต่อเดือนต่อโรงพยาบาล 1 แห่ง แต่เจ้าหนี้ก็ยังคงเห็นชอบให้ PWC บริหารกิจการต่อไป เนื่อง จากเห็นว่าเป็นมืออาชีพที่มีชื่อเสียงระดับโลก
จุดสูงสุดของความขัดแย้งเกิดขึ้นหลังวันที่ 30 กันยายน 2546 เมื่อ PWC ยื่นขอศาลล้มละลายพิจารณาอนุมัติการออกจากแผนปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทประสิทธิ์พัฒนา จากมูลหนี้ 1.35 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นคงหนี้เดิมไว้ 4.8 พันล้านบาท โดยพักดอกเบี้ยจำนวน 1.1 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังได้กู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงไทยเพื่อรีไฟแนนซ์หนี้อีกราว 4 พันล้านบาท โดย บล.ฟินันซ่าเป็นผู้จัดหาเงินกู้เพื่อการรีไฟแนนซ์ครั้งนี้
เจ้าหนี้ได้ hair cut หนี้ลงอีก 6 พันล้านบาท พร้อมแปลงหนี้เป็นทุน 520 ล้านบาท ในราคาหุ้นละ 1.50 บาท ซึ่งทำให้เจ้าหนี้กลายเป็นผู้ถือหุ้นข้างมาก 80% ส่วนหุ้นของกลุ่มอุไรรัตน์ลดลงเหลือเพียง 3-4% จากเดิมที่เคยถืออยู่ 17.5% ส่วนหนี้ที่เหลือเป็นการตีทรัพย์ชำระหนี้ในหลายรายการ
โดยโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยากลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 15.76%, West-deutsche Landesbank Girozentrale, si 15.04%, กลุ่ม Health Care Capital Investments Limited จากสิงคโปร์ 12.90%, บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท 8.50% และธนาคารกรุงเทพ 8.45%
อย่างไรก็ตาม หลังออกจากแผนฟื้นฟูฯ แล้ว เจ้าหนี้ได้พยายามหาพันธมิตรใหม่เข้ามาบริหารกิจการโดยเชิญกลุ่มวิชัย ทองแตง ผู้บริหารในเครือโรงพยาบาลเปาโล มาเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นในกลุ่มธนาคารต่างประเทศ โดยตั้งเงื่อนไขว่าหากบริหารประสบ ความสำเร็จและสร้างผลการดำเนินงานเป็นที่พอใจก็จะยอมขายหุ้นให้บางส่วน
ในที่สุดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็ปรากฏชื่อวิชัย ทองแตง เข้าซื้อหุ้นประสิทธิ์ พัฒนาจาก westlb ag, singapore branch ทำให้ถือครองหุ้นในสัดส่วนกว่า 25% จนนำไป สู่การนำไปสู่การตั้งโต๊ะเพื่อทำ tender offer จากนักลงทุนรายย่อยในราคาหุ้นละ 0.357 บาท โดยมี บล.ซีมิโก้เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
วิชัย ทองแตง เป็นทนายความผู้โด่งดัง จากคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เริ่มต้นลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลครั้งแรกเมื่อปี 2542 จากการซื้อโรงพยาบาลศิครินทร์ ซึ่ง เป็นโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยประกันสังคมของกลุ่มจุลดิศที่กำลังขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยเข้าไปนั่งเป็นประธานเพื่อบริหารโรงพยาบาลจนกิจการเริ่มดีขึ้น และเขาก็ขายหุ้น คืนให้แก่เจ้าของเดิมในปี 2545
ในปี 2543 เขายังได้เข้าซื้อหุ้นโรงพยาบาลเปาโล 70% ก่อนรุกต่อไปยังโรงพยาบาลวชิรปราการ และโรงพยาบาลอุดรปัญญาเวช ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล ประชาเวช ก่อนจะมาทำข้อตกลงซื้อหุ้นโรงพยาบาลพญาไทจากเจ้าหนี้ต่างประเทศ 20% หลังกิจการนี้ออกจากแผนฟื้นฟูแล้ว
"ผมเพิ่งมารู้ทีหลังว่าคุณวิชัยมีหุ้นที่ซื้อเก็บในนามตัวเอง 25% และในนาม Health Care 12-13% ตอนนี้คนที่ Health Care ที่ถือไว้ ก็กำลังจะโอนไปให้คุณวิชัยโดยตรง เพราะถ้าเผื่อถือในนาม Health Care เอง มันต้องไปเสียภาษีในนามบริษัท คุณวิชัยจึงมีหุ้นทั้งหมด 38% เราเคยลดหุ้นจาก 10 บาท เหลือ 1 บาท ผู้ถือหุ้นเดิมก็เจ็บตัวอยู่แล้ว ทางแบงก์ต้นทุนที่ได้มา ก็ราว 1.50 บาท จะให้มาขาย 37 สตางค์ ก็ไม่มีใครขายเท่าที่ผมรู้ แต่คุณวิชัยเขาก็มีอยู่แล้ว 38% ผมว่าเขาก็คงไม่ care เท่าไร" ดร.อาทิตย์กล่าว
ขณะที่กลุ่ม ดร.อาทิตย์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อคัดค้านคำสั่งศาลล้มละลายกลางที่อนุมัติให้โรงพยาบาลพญาไทออกจากแผนฟื้นฟูฯ ใน 2 ประเด็นคือ 1. กระบวนการออกจากแผนฟื้นฟูนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจาก PWC ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาทำแผนฟื้นฟูฯ ยังทำหน้าที่ ไม่ครบถ้วน จากการที่ไม่ส่งกิจการคืนให้แก่ผู้บริหารเดิม
และ 2. ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกระทำการทุจริต โดยปลอมแปลงเอกสารจดหมายลาออก ของประสิทธิ์ และยังได้กระทำการที่ขัดต่อกฎหมายล้มละลายในการสั่งปลดผู้บริหารระหว่างการฟื้นฟูกิจการ
แต่ศาลชั้นต้นมีคำตัดสินยืนตามผลการพิจารณาอนุมัติการออกจากแผนฟื้นฟูฯ ของศาล ล้มละลายกลาง ต่อมากลุ่มอุไรรัตน์ได้ยื่นคำร้องต่อยังศาลฎีกา จนกระทั่งเมื่อราวปลายเดือนพฤศจิกายนปีก่อน ศาลฎีกาได้พิจารณารับคำร้องสั่งให้ยกเลิกคำสั่งของศาลชั้นต้นทั้งหมด
โดยให้ศาลล้มละลายกลางกลับไปไต่สวนตามคำร้องของกลุ่มอุไรรัตน์ใหม่ทั้ง 2 กรณี เนื่องจากคำคัดค้านของผู้ร้องฟังขึ้น เพราะยังมีประเด็นที่ว่า ผู้ร้องได้มีการชี้แจงด้วยวาจาต่อศาลล้มละลายในหลายประเด็น แต่ระหว่าง การพิจารณาในศาลชั้นต้นนั้น กลับไม่มีการเปิดเทปวิดีโอที่ใช้บันทึกคำชี้แจงอันเป็นสาระสำคัญในการคัดค้านความไม่ถูกต้องของ พยานปากสำคัญ
"ช่วงที่เกิดปัญหาเมื่อ 2-3 ปีก่อน ผมไม่มีโอกาสได้คุยกับเจ้าหนี้ เพิ่งจะมีโอกาส ตอนที่ศาลตัดสินแล้ว ก่อนหน้านี้เราจะไปคุย ก็ไม่รู้จะไปคุยอะไร เราก็ไม่มี back up ให้ไปคุยทางเจ้าหนี้ก็รู้ว่าทางโน้นเขาชนะ ทางโน้นเขา run กิจการอยู่ ผมไปพูดลมๆ แล้งๆ เขาก็ไม่พูดด้วย แม้กระทั่งเดี๋ยวนี้ เขาก็คิดว่า มันจบแล้ว เขาได้หนี้คืนไปแล้ว เขาก็ไม่อยาก จะยุ่ง ตามความรู้สึกของผมนะ" ดร.อาทิตย์กล่าวถึงท่าทีจากฝั่งธนาคารเจ้าหนี้
สำหรับการนัดไต่สวนข้อพิพาทในศาลล้มละลายนัดแรก เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากกลุ่มอุไรรัตน์ยังตระเตรียมเอกสารไม่พร้อม
โดยศาลนัดให้เปิดการไต่สวนของกลุ่มอุไรรัตน์ตลอดทั้งวันในวันที่ 8 มีนาคม และ 21 มีนาคมที่จะถึงนี้ ขณะที่การไต่สวนในฝ่าย PWC จะเกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 23 มีนาคม และตลอดทั้งวันในวันที่ 28 มีนาคม
ขณะเดียวกัน แผนการถอนกิจการโรงพยาบาลพญาไทออกจากหุ้นในกลุ่มฟื้นฟูกิจการ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีอันต้องเลื่อนยืดยาวออกจากกำหนดในวันที่ 27 มีนาคม เช่นเดียวกับ แผนทำ tender offer ของกลุ่มวิชัย ที่จะต้องถูกเลื่อนออกไปจนกว่าข้อพิพาทนี้จะจบสิ้นลง
ดร.อาทิตย์บอกว่าการยื่นคำคัดค้านต่อศาลในครั้งนี้ เขาไม่ได้มุ่งประเด็นที่จะกลับเข้า ไปเป็นผู้บริหารกิจการเป็นประเด็นแรก เพียงแค่ต้องการพิสูจน์ให้เกิดบรรทัดฐานที่ถูกต้องว่า PWC ไม่สามารถดำเนินการในแบบที่ตัวเองเคยกระทำได้ และการฟื้นฟูกิจการโรงพยาบาลพญาไท ควรต้องกลับไปสู่การเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่
ต้นทุนความพยายามในการสร้างเนื้อสร้างตัวของครอบครัวอุไรรัตน์ในโรงพยาบาลพญาไท นั้น มีที่มาจากหลายแหล่งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเงินจากการลงขันตามกำลังทรัพย์ที่มีจากบรรดา เพื่อนๆ ของประสิทธิ์ เงินที่มาจากการขายที่ดินสวนยางจำนวน 80-90 ไร่ ที่ ดร.อาทิตย์ได้รับเป็นมรดกโดยตรงจากปู่ของเขา รวมถึงเงินที่มาจากการกู้ยืมธนาคารกรุงไทย โดยใช้บ้านที่ดร.อาทิตย์อาศัยอยู่ในปัจจุบันเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่นับรวมถึงความผูกพันทั้งหมดของคนในตระกูลที่มีต่อคำว่าประสิทธิ์พัฒนา ที่มาจากชื่อพ่อและแม่ของ ดร.อาทิตย์
"พวกเราเอาชีวิตทั้งชีวิตมาฝังอยู่ในนี้ ชื่อบริษัทก็ชื่อพ่อชื่อแม่ผม พูดถึงว่า เสียดายไหม ที่มันเป็นทรัพย์สมบัติ ผมไม่ได้เสียดายในทรัพย์สมบัติมากไปกว่าความถูกต้อง นี่มันโจรนะ มันปล้นกันชัดๆ พูดกันดีๆ มาเจรจากันดีๆ แค่นี้ ผมไม่ได้ยึดติดอะไร เพราะหุ้นเราก็นิดเดียว และมันก็เป็นกิจการที่ไม่ใช่ว่าเราต้องเป็นเจ้าของใหญ่ หุ้นใหญ่ ถึงจะเป็นผู้บริหาร แต่มันเป็นอะไรที่ไม่เหมือนเพื่อน" ดร.อาทิตย์บรรยายความผูกพันที่เขามีต่อโรงพยาบาลพญาไท และท่าทีในการเข้ามาเทกโอเวอร์กิจการจากคนในตระกูลทองแตง
ตลอดชีวิตของ ดร.อาทิตย์ เขาเคยถูกฟ้องร้องในคดีโกงการเลือกตั้งมาแล้วถึง 2 ครั้งแพ้ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ก่อนไปชนะทุกคดีที่ศาลฎีกา ทำให้เขาพอมีความหวังอยู่บ้าง กับคดีที่กำลังเป็นความอยู่ในขณะนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|