อาทิตย์ อุไรรัตน์ The Last Hero?

โดย สุจินดา มหสุภาชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ครั้งหนึ่งเขาเคยได้รับการขนานนามว่าเป็นอัศวินม้าขาวที่กอบกู้สถานะของการประปานครหลวงไม่ให้ตกเป็นแหล่งหาประโยชน์ของเหล่านักการเมือง และครั้งหนึ่งเช่นกัน ที่เขาฉีกธรรมเนียมปฏิบัติของกระทรวงการต่างประเทศ โดยไปเจรจากับซาอุดีอาระเบีย ทั้งๆ ที่เพิ่งรับตำแหน่งอย่างไม่เป็นทางการ ท่ามกลางความคุกรุ่นของสงครามอ่าวครั้งที่ 1 แต่ฉายา "วีรบุรุษประชาธิปไตย" ที่เขาได้รับหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ดูจะเป็นปฏิบัติการที่แสดงถึงตัวตนของเขาได้ดีที่สุด

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นนักบริหาร นักการเมืองคนหนึ่ง ที่กล้าตัดสินใจโดยยึดเอาผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง แม้บางครั้งการตัดสินใจของเขาอาจกระทบกับกิจการที่เขาและครอบครัวถือหุ้นอยู่ ในบางมุมของชีวิตทำให้ดูเหมือนว่า เขาไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก ทั้งในเรื่องการเมือง และธุรกิจ แต่โมเดลชีวิตของเขาก็เป็นเรื่องที่น่าศึกษา โดยเฉพาะในยามที่สังคมไทยต้องเผชิญหน้ากับ "วิกฤติผู้นำ" อย่างที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้

หากสมัคร สุนทรเวช ไม่ตั้งข้อหาโจมตีสำนักงานพัฒนาข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ฐานริเริ่มแนวคิดปฏิรูประบบราชการ จน ก.พ.ต้องส่ง ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ไปออกทีวีโต้วาทีกับสมัคร และเข้าตาของคนในพรรคพลังใหม่ ซึ่งกำลังมองหาคนลงสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2518 แล้ว ก็คงไม่มีเหตุให้ดร.อาทิตย์ต้องรีบร้อนลาออกจากราชการ เพื่อมาเริ่มต้นชีวิตนักการเมือง

พรรคพลังใหม่ยุคนั้นเป็นพรรคการเมืองที่เกิดจากรวมตัวกันของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่มีการศึกษา หัวก้าวหน้าอย่าง ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์, น.พ.กระแส ชนะวงศ์, น.พ.ประสาน ต่างใจ, สืบแสง พรมบุญ และโอฬาร ไชยประวัติ ที่ต้องมามีชีวิตอยู่ท่ามกลางการปกครองระบอบเผด็จการทหาร และมักถูกกล่าวหาอยู่เป็นนิตย์ว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ เพราะมีความคิด ทางการเมืองที่ไม่ตรงกับรัฐบาล จนถูกตั้งฉายาว่า พรรคแตงโม-เขียวนอกแดงใน

"ผมไม่รู้หรอกว่า ไอ้คอมมิวนิสต์นี่มันเป็นยังไง แต่ก็ยอมรับว่า ตอนนั้นความคิดของพวกเราอาจจะค่อนไปทางสังคมนิยม อยู่บ้าง เพราะเห็นว่าคนรวยควรลงมาช่วยคนจน ส่วนคนรวยก็ไม่ควรต้องมีใครเข้าไปช่วย ซึ่งมันก็น่าจะถูก" ดร.อาทิตย์บอกถึงแนวคิดทางการเมืองของเขาที่มีในเวลานั้นกับ "ผู้จัดการ"

ช่วงปี 2515-2518 ขณะที่ ดร.อาทิตย์ หัวหน้ากองวิชาการของ ก.พ. กำลังทำงานอย่างขะมักเขม้นเพื่อใช้ทุนหลวงอยู่นั้น เขามี หน้าที่ดูแลงานการวางระบบกำลังพลแบบที่ครอบคลุมสาขาวิชาชีพที่กำลังขาดแคลนอยู่ ในประเทศเวลานั้น เช่น แพทย์และพยาบาล

ทั้งยังต้องดูแลงานปฏิรูปโครงสร้างระบบราชการในหลายประเด็น เช่น การเปลี่ยนระบบเลื่อนขั้นข้าราชการจากชั้นตรี โท เอก มาเป็นการใช้ซี ที่ประเมินตามผลงานอย่างที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นัยว่า ก.พ. อยากจะแก้ภาพลักษณ์ข้าราชการที่ดูไม่ดีในสายตาผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท่าทีที่เย่อหยิ่งราวกับเจ้าขุนมูลนาย ไม่ใส่ใจความต้องการของประชาชน และมีการคอร์รัปชั่นกันอย่างมากในหน่วยงานของรัฐ

แต่การปฏิรูปโครงสร้างนี้ดูจะไม่เป็นที่ถูกอกถูกใจสมัคร สุนทรเวช ที่กำลังเป็นนักการเมืองวัยฉกรรจ์ จึงเปิดฉากโจมตี ก.พ.มาตั้งแต่ปี 2517 ด้วยข้อกล่าวหาว่าหน่วยงาน ก.พ.นั้นเองที่มีข้าราชการเต็มไปด้วยระบบเจ้าขุนมูลนาย มากมายด้วยปัญหาคอร์รัปชั่นภายในองค์กร

หลังจากโดนโจมตีอยู่นาน หนักเข้าผู้บริหาร ก.พ.เริ่มทนไม่ไหว เกรงว่าคนจะไม่เข้าใจ จึงส่ง ดร.อาทิตย์ออกมาเป็นปากเป็นเสียงโต้วาทีกับสมัครบนหน้าจอทีวี เพื่อเสนอแนวคิดการปฏิรูประบบราชการแทน ก.พ.

หลังกลับจากการทำหน้าที่นี้ได้เพียงไม่นาน ก็ถึงเวลาที่ กทม.จัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ และสมาชิกสภา กทม.ในเดือนสิงหาคม 2518 พรรคพลังใหม่ที่กำลังจัดโผรายชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็ติดต่อทาบทาม ดร.อาทิตย์ไปลงเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. แม้เขาจะปฏิเสธ แต่พรรคพลังใหม่ยังอุตส่าห์ใส่ชื่อเขาเอาไว้ในโผ พร้อม น.พ.เสม พริ้งพวงแก้ว, คุณหญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ และประสิทธิ์ ณรงค์เดช ที่อยู่ในทีม

"พอเขามาชวน ผมก็บอกว่าไม่เอา เพราะตอนนั้นผมยังใช้ทุนไม่หมด ผมได้ทุนไปเรียน ต่อ 5 ปี จนจบดอกเตอร์ สมัยผมต้องกลับมาทำงานใช้คืน 10 ปี ผมเพิ่งอยู่ ก.พ.มา 8 ปีเอง เหลือตั้ง 2 ปี ถ้าให้ผมออกก่อนก็ตายสิ แล้วผมจะเอาเงินที่ไหนไปคืนเขา ผมก็เลยไม่เอาด้วย" ดร.อาทิตย์เล่าให้ฟัง

แต่ท้ายที่สุดไม่มีใครเอาจริงสักราย พรรคพลังใหม่จึงต้องมาจัดทำโผรายชื่อชุดที่ 2 ชื่อของ ดร.อาทิตย์ ยังคงถูกเขียนลงไว้ในโผนี้ เพียงแต่คราวนี้มีสืบแสง พรมบุญ เป็นหนึ่งในตัวรอง พร้อมสมาชิกร่วมทีมอีก 25 คน

"เขาโทรมาหลอกล่อให้ผมไปที่ กทม. บอกว่ามาให้กำลังใจเพื่อนฝูงหน่อย ไม่ต้องไปอะไรมาก ตอนนั้น 2-3 โมง วันนั้นเป็นวันสุดท้าย กทม.จะปิดรับสมัคร ผมก็ไป แต่พอไปถึงผมก็ตะลึงเลย เขาพร้อมกันหมดแล้วนี่ ขาดแต่ตัวผู้ว่าฯ คนเดียว คือ เขากะให้ผมตกกระไดพลอยโจน ผมก็เป็นคนที่ทำอะไรเพื่อคนอื่นอยู่เรื่อย ที่สุดก็เลยตัดสินใจตรงนั้น เขียนใบสมัครเลย ยังไม่ได้ลาออกจากราชการด้วย ทีมเขาก็ครบ เย็นนั้นผมก็ต้องไปเรียนเลขาธิการ ก.พ. ท่านก็โกรธและเสียใจมากที่ผมออก ก็เริ่มต้นชีวิตการเมืองตรงนั้น"

การเลือกตั้งครั้งแรกที่ต้องแข่งกับธรรมนูญ เทียนเงิน จากพรรคประชาธิปัตย์นั้น แม้ ดร.อาทิตย์จะพ่ายคะแนนในเขตพื้นที่รอบนอก กทม. เช่น หนองแขม มีนบุรี ซึ่งมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์โดยรวมสูงถึง 80% ก็ตาม แต่กับพื้นที่ในเขต กทม.ถือว่าเป็นการเริ่มต้นออกตัวที่ดีเพราะ เขาสามารถกวาดคะแนนเสียงมาได้เกือบหมด

แม้จะพ่ายศึกเลือกตั้งในสนามเล็กก็ตาม แต่ก็เข้าตา พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร (ยศในขณะนั้น) หัวหน้าพรรคชาติไทย และ ส.ส.สระบุรี ซึ่งสนิทสนมคุ้นเคยกับคนในครอบครัวอุไรรัตน์มาตั้งแต่เมื่อครั้งประสิทธิ์ บิดาของ ดร.อาทิตย์ ยังเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี จึงได้ติดต่อให้เขาเข้าร่วมกับพรรคชาติไทย เพื่อลงเล่นในสนามใหญ่ แต่ดร.อาทิตย์ปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า เขาและพรรค ชาติไทยมีแนวคิดทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน

เมื่อไม่ได้ตัวมาเป็นสมาชิกพรรคชาติไทย พล.ต.ประมาณเลยเสนอให้ ดร.อาทิตย์กลับเข้ารับราชการใหม่ ในตำแหน่งรองเลขา ธิการ สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.) เพื่อรอเวลาขึ้นเป็นเลขาธิการ แทนที่ ดร.พร้อม พานิชภักดิ์ ที่จวนจะเกษียณ อายุในอีก 4-5 เดือนข้างหน้า

ทว่า ดร.อาทิตย์นั่งอยู่ในตำแหน่งรอง เลขาธิการ สวล.เพียงไม่นาน ก็มีเหตุให้รัฐบาลต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เวลานั้นพรรคพลังใหม่ต้องการให้เขากลับมาเป็นหัวหน้าทีม ส.ส.ที่จะลงเลือกตั้งในเขตปทุมวัน ซึ่งเป็นพื้นที่ของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะลงร่วมกับรุ่นพี่ของ ดร.อาทิตย์จากรั้วจุฬาฯ อย่างกมล สมวิเชียร และพิภพ อักษีตรีลักษณ์

เวลานั้น สื่อเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ดร.อาทิตย์ซึ่งโดดขึ้นมาจากตำแหน่งซี 6 เมื่อครั้งยังอยู่ ก.พ.มาเป็นซี 9 ใน สวล. แล้ว ว่าเป็นนักการเมืองชักเข้าชักออก ไม่มีอุดมการณ์ อยู่ในตำแหน่งซี 9 แล้วคง ไม่ลงมาเล่นการเมือง เพราะไม่กล้าลงมาชนกับ ม.ร.ว.เสนีย์ เจ้าของพื้นที่ปทุมวัน จนที่สุดเขาจึงตัดสินใจสละตำแหน่งใน สวล. มาลงเลือกตั้งแข่งกับ ม.ร.ว.เสนีย์

"ตอนนั้นผมคิดว่า ถ้าผมไม่ลงเขตอาจารย์เสนีย์เอง ก็เท่ากับคนอื่นต้องมาลงให้ถูกเชือด จะให้ลูกน้องถูกเชือด แล้วเราเอาตัวรอดนี่ มันไม่ใช่ผม ผมเลยลงชนเสียเอง แล้วก็แพ้ท่านไม่มาก แค่ 500 คะแนน แต่ก็ไม่ได้เสียอกเสียใจอะไร เพราะเชื่อว่าได้ทำหน้าที่ในแนวทางส่วนรวมแล้ว ช่วงนั้นโรงพยาบาลพญาไทก็มีแล้ว ผมเลยกลับไปดูแลโรงพยาบาล"

แต่เพียงไม่นาน เขาต้องกลับมาสู่แวดวงการเมืองอีกครั้ง ในฐานะรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตามคำชักชวนจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินภายใต้การนำของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้ทำรัฐประหารรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อปี 2520

หลังเหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่พัฒนามาจน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากนายทหารกลุ่ม "ยังเตอร์ก" ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมทางการเมืองครั้งใหญ่แล้ว ยังมี ดร.อาทิตย์อีกคนที่ช่วยอ้อนวอนให้นายกรัฐมนตรีปล่อยคนที่ถูกคุมขังไว้จำนวนมาก รวมถึงสุธรรม แสงปทุม ที่ถูกทางการจับตัวไปขังคุกด้วยข้อหามีพฤติการณ์อันเป็นคอมมิวนิสต์

ระหว่างที่เขาทำงานร่วมกับ พล.อ.เกรียงศักดิ์อยู่นั้น ก็เกิดเหตุการณ์กลุ่มครูประชาบาล รวมตัวก่อม็อบประท้วงอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อเรียกร้องขอแยกตัวออกจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพราะไม่อยากทนอยู่ภายใต้การดูแลของกรมการปกครอง ส่วนทางการก็พยายามสลายกลุ่มผู้ประท้วง ด้วยการนำรถดับเพลิงมาน้ำฉีดเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม จนทำให้ต้องเจ็บเนื้อเจ็บตัวไปตามๆ กัน บางรายหนักหนาถึงขั้นหูฉีก

ผู้นำครูประชาบาลอย่างสุชน ชาลีเครือ, ชิงชัย มงคลธรรม และวิวัฒนไชย ณ กาฬสินธุ์ ที่กำลังสับสนจนหาทางออกไม่ได้อยู่ในเวลานั้น จึงตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อขอให้ ดร.อาทิตย์ยื่นมือเข้าช่วย

เมื่อ ดร.อาทิตย์รู้เหตุแห่งความอัดอั้นนี้ เขาก็รับปากว่าจะช่วยแก้ปัญหาให้ โดยควักเงิน ส่วนตัวจำนวน 8,000 บาท ให้ทั้ง 3 ไปจัดสัมมนาเพื่อนำข้อสรุปจากการสัมมนากลับมายืนยัน ว่าต้องการแยกตัว หลังจากนั้นเขาจึงนำข้อสรุปดังกล่าวเสนอให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์สั่งย้ายให้ครูประชาบาลมาอยู่ใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมตั้งสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ ขึ้นมาดูแลครูกลุ่มนี้แทน

แต่มาถึงปัจจุบันในรัฐบาลที่มี ดร. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี กลับมีความเคลื่อนไหวที่จะให้ครูกลับไปขึ้นอยู่กับองค์การบริหารท้องถิ่นอีกครั้ง ซึ่งเป็นการย้อน ยุคการศึกษากลับไปสมัยเมื่อกว่า 20 ปีก่อน!!!

ตลอดช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ถือเป็นช่วงที่ ดร.อาทิตย์ ได้ทำงานอย่างเต็มที่ ทั้งในหน้าที่ทีมทำงานด้านนโยบายเศรษฐกิจ และในฐานะที่เป็นประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาระเบียบบริหาร นายกรัฐมนตรี เพื่อปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม จนทำให้เขาเข้าไปมีส่วนสำคัญในการผลักดันนโยบายปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงาน ราชการ ที่ได้รับการผลักดันต่อๆ กันมาในรัฐบาลแต่ละยุค

หลายโครงการที่ริเริ่มแนวคิดในยุคนั้น เมื่อเวลาผ่านมาแล้วถึงกว่า 20 ปี ยังถือ ว่าเป็นโครงการที่ทันสมัย และมีหลักการที่คล้ายคลึงกับโครงการที่เกิดขึ้นในยุคนี้ เพียงแต่มีรายละเอียดที่แตกต่างออกไปตามแต่สถานการณ์

กระทรวงวิทยาศาสตร์ เป็นอีกหน่วยงานที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว เช่นเดียวกับกรมการศึกษานอกโรงเรียน จากที่ดร.อาทิตย์เห็นว่าการศึกษาที่จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียน แม้จะช่วยให้เด็กเข้าเรียนได้จริงก็ตาม แต่จำนวนห้องเรียนที่มีอยู่สามารถ รองรับเด็กได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะแต่ละปีจะมีเด็กเกิดใหม่จำนวนมาก เมื่อรัฐบาลตั้งกรมการศึกษานอกโรงเรียนขึ้นแล้ว สำนักงานเยาวชนแห่งชาติ และสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติจึงเกิดตามมา

แนวคิดปรับโครงสร้างกรมตำรวจที่เห็นควรต้องยกกรมตำรวจเป็นทบวงตำรวจ ขึ้นตรงสำนักนายกรัฐมนตรี กระจายอำนาจอธิบดีกรมตำรวจที่มีเพียง 1 ตำแหน่ง แต่ต้องดูแลตำรวจนับแสนทั่วประเทศ ด้วยการแตกตำแหน่งอธิบดีออกเป็นหลายๆ ตำแหน่ง มีทั้งอธิบดีกรมตำรวจนครบาล, อธิบดีกรมตำรวจภูธร 1, 2 และ 3 มีอธิบดีกรมสอบสวน กลาง และปลัดทบวงกรมตำรวจ

การปรับโครงสร้างการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยย้ายต้นสังกัดจากกรมการปกครองมาขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เพิ่มอำนาจผู้ว่าฯ ในการสั่งงานเจ้าหน้าที่ในทุกกระทรวง ที่มีในแต่ละจังหวัด โดยกำหนดให้ผู้ว่าฯ ต้องมาจากคนในทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่ได้สอบผ่านขั้นตอนนักบริหารระดับสูง เพื่อจะเข้าสู่การฝึกอบรมในโรงเรียนผู้บริหาร ก่อนย้ายลงจังหวัด ต่างๆ โดยมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการวางงบประมาณจังหวัด ในฐานะตัวแทนนายกรัฐมนตรี

เป็นอีก 2 แนวคิดที่เกิดขึ้นในยุคนั้น แต่ไม่อาจทำได้สำเร็จเนื่องจากปัจจัยหลายประการ แต่มาเป็นจริงเป็นจังในยุคนี้ เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ "ผู้ว่าซีอีโอ"

การผลักดันโครงการใหม่ เช่น โครงการปีเกษตรกรแห่งชาติ โดย ดร.อาทิตย์เป็นผู้อำนวยการคนแรก รวมถึงวางโครงการตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์แห่งชาติที่บ้านพิษณุโลก หลังจาก ที่เขาและ ดร.อาณัติ อาภาภิรม เดินทางไปดูงานศูนย์ operation center ในมาเลเซีย เพื่อ นำกลับมาใช้เป็นแนวทางสร้างศูนย์รวมจัดเก็บฐานข้อมูลเศรษฐกิจที่มีมาตรฐานและใหญ่สุดจากทุกกระทรวงในไทย

แต่โครงการนี้ยังไม่ได้เริ่ม เพราะ พล.อ.เกรียงศักดิ์ประกาศลาออกจากตำแหน่งทั้งน้ำตากลางสภา จากวิกฤติราคาน้ำมันเสียก่อน ในขณะที่บริษัทไอบีเอ็มก็ยังไม่ได้ส่งใบเสนอราคาให้รัฐบาลพิจารณา ทำให้โครงการนี้ถูกเก็บเงียบไปจนถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันอีกครั้งในรัฐบาลชุดนี้ เพียงแต่แนวคิดเปลี่ยนไป เพราะจะย้ายศูนย์กลางจากบ้านพิษณุโลก มายังห้องประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลแทน

ส่วน ดร.อาทิตย์ หลังจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2522 ก็ตัดสินใจกลับไปดูแลโรงพยาบาลพญาไท ขณะที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์เอง ด้วยแรงยุจาก ดร.อาทิตย์ ก็ออกมาตั้งพรรคชาติประชาธิปไตยในปี 2524 เพื่อลงสมัครเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ผู้สร้างตำนาน "โรคร้อยเอ็ด" ที่ดังกระฉ่อนอยู่ในยุคนั้น โดย ดร.อาทิตย์โดดเข้ามาช่วยเป็นช่วงๆ สลับกับการออกไปดูแลกิจการโรงพยาบาลพญาไท

การเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคชาติประชา ธิปไตยมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะเอาชนะพรรคกิจสังคมที่มีบุญชู โรจนเสถียร เป็นแม่ทัพคุม การเลือกตั้งในเขตนี้อยู่ ดังนั้นหากต้องการพิชิตศึกในสนามเลือกตั้งครั้งนั้นให้ได้แผนการเลือกตั้งก็ต้องถูกวางไว้เป็นอย่างดี

ผลจากที่เคยช่วยครูประชาบาลก่อนหน้านี้ ทำให้เขาได้ครูประชาบาลมาเป็นสายสืบและผู้เก็บข้อมูลเชิงลึกแทรกซึมอยู่ในพื้นที่ เพื่อส่งข้อมูลแต่ละวันกลับมายังศูนย์บัญชา การที่เขาไปตั้งไว้ที่ร้อยเอ็ด คอยวิเคราะห์สถานการณ์ แยกแยะจุดอ่อนจุดแข็งในแต่ละ พื้นที่ของพรรคชาติประชาธิปไตยเทียบกับพรรคกิจสังคม

"ผลเลือกตั้งเราชนะ แต่ก่อนหน้า ผมไม่รู้หรอกว่าคุณบุญชูส่งคนมาสอดแนมถึง ในที่ทำงานของผม เพื่อดูว่าผมมีวิธีทำงานยังไง ซึ่งท่านก็ชอบวิธีนี้ของผมมาก อยากให้ ไปทำแบบนี้ให้ท่านหน่อย" ดร.อาทิตย์บอก

โดยส่วนตัว ดร.อาทิตย์กับบุญชูรู้จักกันมาก่อนหน้านี้แล้ว ตั้งแต่สมัยบุญชูยังอยู่ตึกดำของกลุ่มพีเอสเอ แต่ยังไม่เคยร่วมงานทางการเมืองกันอย่างเป็นทางการ

เมื่อเสร็จการเลือกตั้ง ดร.อาทิตย์ก็กลับไปช่วยดูแลโรงพยาบาลพญาไทจนปลายปี 2526 สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ จากพรรคกิจสังคม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เกิดปัญหาการเมืองในการประปานครหลวง (กปน.) ดร.นิวัตต์ ดารารัตน์ อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยื่นใบลาออกจากบอร์ด ครม.จึงมีมติเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ตั้ง ดร.อาทิตย์เป็นกรรมการในตำแหน่งที่ว่าง

ท่ามกลางข่าวลือหนาหูว่าประชา ตันศิริ ผู้ว่า กปน.กำลังจะโดนปลด และ ดร.อาทิตย์ จะขึ้นมาแทน สหภาพแรงงาน กปน.ก็จัดแจงทำโพลสำรวจคุณสมบัติผู้ว่าฯ ที่ชาว กปน.ต้องการ ซึ่งมาหล่นลงตรง ดร.อาทิตย์ราวกับถูกล็อกสเป็กยังไงยังงั้น

"ผมก็ไม่รู้ว่าเขาอคติกันหรือเปล่านะ ตอนนั้นผมไปญี่ปุ่น มีคนโทรไปหาผมกลางดึกขอให้ผมกลับมา จะให้ไปทำงานที่การประปาฯ ผมก็บอกว่าขอให้ทำเป็นขั้นตอนก่อน อย่าเพิ่ง แน่ใจ ตอนเริ่มแรกผมไปเป็นประธานกรรมการปรับปรุงการประปาก่อน และก็มาเป็นบอร์ดไม่นาน แค่ 1-2 เดือน ก่อนจะได้รับตำแหน่งผู้ว่าฯ ในปี 27"

แม้จะเข้าไปช่วยประสานรอยร้าวให้เกิดความกลมเกลียวในการประปาฯ ฟื้นฟูกิจการที่เคยขาดทุนทุกปีให้เริ่มมีกำไรได้ภายใน 1 ปี ซึ่งผลงานครั้งนี้ ทำให้เขาได้รับการยอมรับจากพนักงาน กปน.ว่าเป็นเสมือนฮีโร่

แต่ท่าลงจากตำแหน่งของเขากลับสวยหรูนัก เพราะถูกการเมืองเล่นงานจนต้องยื่นใบลาออก

(รายละเอียดอ่าน "อะแมนคอลล์ อาทิตย์ อุไรรัตน์ แบบฉบับนักบริหารธุรกิจการเมือง" นิตยสาร "ผู้จัดการ" กุมภาพันธ์ 2530 หรือ www.gotomanager.com)

จากนั้นจึงไปวางศิลาฤกษ์เพื่อก่อสร้าง มหาวิทยาลัยรังสิตในปี 2528 หลังจากก่อน หน้านั้นเขาเคยมองหาที่ดินมาทำมหาวิทยาลัย รังสิต ตั้งแต่ช่วงปี 2527 แล้ว ด้วยอนาคตหวังจะใช้ประสบการณ์จาก ก.พ.เมื่อครั้งเข้าไปปรับปรุงกระทรวงสาธารณสุข มาจัดเป็นโมเดลธุรกิจโรงพยาบาลพญาไท ที่จะเกื้อหนุนให้มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นโรงเรียนแพทย์ โดยมีโรงพยาบาลพญาไทเป็นแหล่งฝึกงานของแพทย์ฝึกหัดที่มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นผู้ผลิตขึ้นมา (รายละเอียดอ่านล้อมกรอบ "มหาวิทยาลัยรังสิต ไม่รู้จะเอาเงินหรือกล่อง")

ชีวิตการเมืองของ ดร.อาทิตย์ช่วงนี้เริ่มเข้มข้นขึ้น เมื่อบุญชูลาออกจากพรรคกิจสังคมเพื่อมาตั้งพรรคกิจประชาคม บุญชูชวนเขาให้มาเป็นเลขาธิการพรรค ผลเลือกตั้งในปี 2529 ที่เป็นที่มาของรัฐบาล "เปรม 5" พรรคกิจประชาคมได้รับเลือกมา 15 คน สูงเป็นอันดับ 8 แต่ก็ไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาล จน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประกาศยุบสภา ในปี 2531

ในปี 2533 ขณะที่ยังเป็นเลขาธิการพรรคกิจประชาคมอยู่นั้น คนในพรรคก็เกิดแนวคิดขึ้นว่าควรทำตัวให้ใหญ่ขึ้น ด้วยการจับพรรคเล็กอื่นๆ ที่เคยเป็นฝ่ายค้านในรัฐบาลเปรม 5 มารวมกัน เมื่อเห็นตรงกันอย่างนี้แล้ว ดร.อาทิตย์จึงเป็นหัวหอกในเรื่องนี้

โดยนำพรรคประชาชนของเฉลิมพันธุ์ ศรีวิกรม์, พรรคก้าวหน้าของอุทัย พิมพ์ใจชน และพรรครวมไทยของณรงค์ วงศ์วรรณ รวมเข้ากับพรรคกิจประชาคมของบุญชู จนเกิดเป็น พรรคใหม่ชื่อว่าเอกภาพ โดยมี ดร.อาทิตย์เป็นโฆษกพรรค

เมื่อเป็นพรรคใหญ่ขึ้นมา รัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ 2 ที่กำลังฟอร์มรัฐบาลในปี 2533 เลยมาดึงพรรคเอกภาพให้เข้าร่วมรัฐบาล ดร.อาทิตย์ถูกเสนอชื่อในครั้งแรกให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะด้วยเหตุผลใดนั้นเจ้าตัวบอกไม่รู้

"แต่พอวิเคราะห์ได้ว่าอาจเป็นความคิดตื้นๆ ที่เห็นว่าเป็นเจ้าของโรงพยาบาลพญาไท จึงคิดว่าน่าจะเหมาะกับตรงนี้"

แต่ยังไม่ทันตัดสินใจรับตำแหน่ง พล.อ.ชาติชายก็มีปัญหาขึ้นมาว่า ยังหาคนไปอยู่กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้ จึงเสนอ ให้ ดร.อาทิตย์ย้ายมานั่งตรงนี้แทน และยังไม่ทันที่รัฐบาลจะได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ดร.อาทิตย์ก็โดนฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อน เพราะเขาไปแหวกธรรมเนียมการเมือง โดยการเดินทางไปยังซาอุดีอาระเบียก่อนที่รัฐบาลจะแถลงนโยบาย

เขาจำได้ว่าวันที่ 15 ธันวาคม 2533 เป็นวันที่เขาเริ่มรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศ รัฐบาลจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 6 มกราคม 2534 ซึ่งถือเป็นวันเริ่มต้นการทำงานอย่างเป็นทางการ แต่สงครามอ่าวเปอร์เซียระหว่างอเมริกากับอิรัก ที่ติดพันมาตั้งแต่ต้นปี 2533 ซึ่งอเมริกาได้ประกาศขู่ไว้ว่า หากในวันที่ 15 มกราคม 2534 อิรักยังไม่ถอนกำลังออกจากคูเวตแล้ว อเมริกาจะเริ่มบอมม์อิรักทันที

ตอนนั้นยังไม่มีใครคิดว่าสงครามนี้จะเกี่ยวกับเมืองไทย แถมอ่าวเปอร์เซียอยู่ห่างออกไปตั้งไกล ดร.อาทิตย์เฝ้ามองสถานการณ์นี้ด้วยความวิตกว่าผลประโยชน์ของประเทศไทยอาจติดอยู่ในวังวนของสงครามครั้งนี้จากหลายปัจจัยในขณะนั้น ไม่ว่าจะเรื่องการติดตามตัวผู้สังหารเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีอาระเบีย ประจำประเทศไทยที่ยังไม่คืบหน้า แถมยังมีนักธุรกิจจาก ซาอุฯ หายตัวไปอีกคน หลังถูกเจ้าหน้าที่ไทยพาตัวไปสอบสวน และมีเพชรของเจ้าชายซาอุฯ ที่ถูกขโมยมา

นอกจากนี้ยังมีรัฐมนตรีคนหนึ่งของคูเวต ที่พลัดถิ่นไปพำนักอยู่ในเมืองเจดาห์ ซาอุดี อาระเบีย และได้เดินทางมายังเมืองไทย แต่กลับไม่มีตัวแทนรัฐบาลยอมไปพบ นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังเคยละเมิดคำสั่งสหประชาชาติ ที่ประกาศ sanction รัฐบาลอิรักฐานบุกคูเวต ด้วยการลอบส่งข้าวไปขายให้อิรัก พอรัฐบาลสหรัฐฯ รู้เข้าก็ไม่พอใจ

"ผมเห็นว่าประโยชน์ประเทศมันอยู่ตรงนี้ เราต้องซื้อน้ำมันจากแถบนั้น และไม่มีใครที่จะซึ้งใจกับประเทศหนึ่งประเทศใดได้มากเท่ากับในเวลาที่เขากำลังเดือดร้อน ตกทุกข์ได้ยาก เมื่อประเทศกำลังเกิดวิกฤติ เราไม่มีอาวุธอะไรจะไปช่วยเขาได้ แต่ผมก็คิดในหลักปรัชญาน้ำใจ ก็เดินทางไปหาเขา คุยกันจนมีข้อตกลง ร่วมมือกันมากมาย เช่นขอให้มหาวิทยาลัยเขาช่วยรับมุสลิมจากไทยด้วย ขอโควตาให้ชาวมุสลิมไทยที่แต่ละปีต้องไปแสวงบุญที่เมืองเมกกะ เขาก็ตกลง แต่กลับมาผมโดนสภาเปิดอภิปรายว่า ผมทำผิดที่ไปตกลงกับทางนั้นทั้งที่รัฐบาลยังไม่ได้แถลงนโยบาย" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบายความในใจ

ดร.อาทิตย์บอกว่า การทำงานในตำแหน่งนี้แม้จะไม่โด่งดังมากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นอีกช่วงหนึ่งที่เขาภูมิใจมากที่สุด เนื่อง จากเป็นครั้งแรกที่เขาได้ใช้ความรู้ทางการทูต ที่เขาได้เคยร่ำเรียนมาในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาใช้ดำเนินนโยบาย ทางการทูตในยามวิกฤติ

แต่รัฐบาลชาติชาย 2 อยู่เพียงไม่กี่วัน เพราะถูกรัฐประหารโดยคณะ รสช. ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 และต่อเนื่องบานปลายกลายเป็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535

หลังการปฏิวัติของ รสช. ดร.อาทิตย์ย้ายพรรคถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกจากพรรคเอกภาพมาอยู่สามัคคีธรรมที่มีณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และมีฐิติ นาครทรรพ เป็นเลขาธิการ โดยเขาได้รับตำแหน่งประธาน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นประธานรัฐสภาที่มีบทบาทสำคัญในการเสนอชื่อบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันเป็นที่มาของฉายา "วีรบุรุษประชาธิปไตย" เมื่อเขาตัดสินใจเสนอชื่อ อานันท์ ปันยารชุน ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ลาออกหลังเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

การตัดสินใจดังกล่าว แม้ว่าเขาจะถูก ตราหน้าจาก ส.ส.ในพรรคว่าเป็นผู้ทรยศ เพื่อนเพราะไม่ยอมเสนอชื่อ พล.อ.อ. สมบุญ ระหงส์ แต่เขาก็ยืนยันโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง และเพื่อไม่ให้สถานการณ์บ้านเมืองวุ่นวายไปมากกว่าที่เป็นอยู่

จากนั้นเมื่อหมดยุครัฐบาลอานันท์ 2 จึงออกมาตั้งพรรคเสรีธรรมร่วมกับพินิจ จารุสมบัติ และได้เข้าร่วมรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ โดยเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จนปี 2538 รัฐบาลชวน 1 ประกาศยุบสภา เพื่อเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยผลการเลือกตั้งพรรคชาติไทยได้เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล ชื่อของ ดร.อาทิตย์ ในช่วงนี้จึงเงียบหายไป

ก่อนจะกลับมารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรัฐบาลชวน 2 เมื่อปี 2542 หลังเหตุการณ์วิกฤติค่าเงินบาทกลางปี 2540 ซึ่งในครั้งนี้เขาสังกัดอยู่พรรคประชาธิปัตย์และตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตการเมืองของ ดร.อาทิตย์

รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์หมดวาระลงในต้นปี 2544 พร้อมกับการเริ่มต้นบทบาทภารกิจใหม่ของ ดร.อาทิตย์ คือการตามเคลียร์หนี้ของกิจการครอบครัวที่เกิดปัญหาขึ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ ระหว่างที่เขาไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ดร.อาทิตย์อาจเป็นเหมือนกับนักการเมืองคนอื่นอีกหลายคน ที่สวมหมวกหลายใบคือ เป็นทั้งนักธุรกิจ เจ้าของกิจการ ขณะที่เจ้าตัวออกไปเล่นการเมือง แต่เขาแตกต่างจากนักธุรกิจ การเมืองเหล่านี้เพราะเขาแยกแยะเรื่องของการเมืองกับเรื่องธุรกิจออกจากกันได้เด็ดขาด

ในขณะที่ลูกจ้างในบริษัทที่มีเจ้าของออกไปเล่นการเมืองหลายคน ต้องทำงานหนักขึ้น เพราะนอกจากงานประจำแล้ว ยังต้องคอยเจรจาหรือคอยเทคแคร์นักการเมือง เพราะเจ้าของ กิจการนำผลประโยชน์ทางธุรกิจกับผลประโยชน์ทางการเมืองมาเอื้อให้แก่กันและกัน

สุดท้ายแล้ว เจ้าของธุรกิจนั้นมีแต่รวยขึ้น บางคนรวยล้นฟ้า แต่ผลประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับกลับยังคงเท่าเดิม

แต่สำหรับลูกจ้างในกิจการของ ดร.อาทิตย์หาเป็นเช่นนั้นไม่

ลูกน้องหลายคนของเขาที่มหาวิทยาลัยรังสิต รู้สึกดีใจที่รู้ว่าเขาจะวางมือทางการเมือง เพราะเขาจะได้มีเวลามาบริหารงานที่นี่อย่างเต็มที่เสียที

ตลอดเวลา 30 ปีในชีวิตนักการเมือง ดร.อาทิตย์มิได้รวยขึ้นหรือจนลงอย่างมีนัยสำคัญ

ที่สำคัญ เขาไม่เคยเอาความเป็นวีรบุรุษประชาธิปไตยที่เคยได้รับเมื่อ 14 ปีก่อน มาเป็นเหตุผลทวงบุญคุณจากสังคมเหมือนที่นักการเมืองบางคนชอบทำ

ชีวิตของ ดร.อาทิตย์ทำให้ความเชื่อของนักธุรกิจการเมืองหลายคนที่คิดว่า ทั้ง 2 อย่างสามารถเอื้อประโยชน์ให้กันและกันอย่างลงตัว ไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริงเสมอไป

แต่จะมีสักกี่คนที่คิดและทำได้อย่าง ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.