Mittal ทำอุตสาหกรรมเหล็กกล้ายุโรปสะท้าน


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อผู้ผลิตเหล็กกล้ารายใหญ่สุดในโลกคิดฮุบกิจการเหล็กกล้าใหญ่สุดของยุโรป ทำให้ยุโรปสะเทือนไปครึ่งทวีป

การเสนอซื้อ Arcelor บริษัทเหล็กกล้าที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปของ Lakshmi N. Mittal มหาเศรษฐีชาวอินเดีย ซึ่งเป็นบุคคลที่จัดว่าร่ำรวยมากที่สุดคนหนึ่งในโลก และเจ้าของ Mittal กิจการเหล็กกล้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยมูลค่า 22,600 ร้อยดอลลาร์ เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา นับเป็นความพยายามครอบครองกิจการแบบปรปักษ์ครั้งใหญ่ที่สุด ครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของยุโรป

ในสายตาของชาวยุโรปจำนวนมาก ความพยายามของ Mittal ครั้งนี้ คือความพยายามของอินเดีย "ใหม่" ที่คิดจะฮุบยุโรป อัน "เก่าแก่" และเผชิญการต่อต้านทันที

Thierry Breton รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศสบอกว่า Mittal "มีปัญหาด้านไวยา กรณ์" ส่วนนายกรัฐมนตรี Jean-Claude Juncker แห่งลักเซมเบิร์ก ซึ่งเป็นฐานประกอบการของ Arcelor ประกาศว่า ปฏิกิริยาที่ Mittal จะได้รับจากยุโรป จะ "เป็นปฏิปักษ์ในระดับเดียวกัน"

ส่วน Guy Dolle ผู้บริหารสูงสุดของ Arcelor ซึ่ง Mittal บอกว่า Dolle ได้แสดง ท่าทีปฏิเสธการเสนอซื้อ Arcelor ของเขาในทันที ก็กำลังกระตุ้นให้สาธารณชนในยุโรปสนับสนุนการต้าน Mittal โดยระบุว่า Mittal เป็นบริษัท "เกรดต่ำที่เชี่ยวชาญแต่การกว้านซื้อสถาบันเก่าแก่พ้นสมัยด้วยการกดราคาต่ำ"

ทั้งนี้ Lakshmi Mittal วัย 55 ปีก่อตั้ง Mittal Steel เมื่อทศวรรษก่อนด้วยการซื้อและควบรวมกิจการเป็นการใหญ่ ซึ่งในครั้งนั้นได้ทำกำไรให้แก่เขาประมาณ 25,000 ล้านดอลลาร์

ส่วน Arcelor ถือกำเนิดขึ้นในปี 2002 จากการรวมกิจการเหล็กกล้าของ 4 ชาติใหญ่ของยุโรปคือ ฝรั่งเศส เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และสเปน

แต่ Mittal พยายามยืนยันว่า การเสนอซื้อของเขาเทียบเท่ากับ การควบรวมกิจการของบริษัท 2 แห่งของยุโรปเท่านั้น (ฐานประกอบ การของ Mittal อยู่ในเนเธอร์แลนด์)

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นโอกาสที่ชาวยุโรปจะได้พินิจพิจารณาถึงผลกระทบต่อยุโรปที่เกิดขึ้นจากโลกาภิวัตน์ ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของระบบเศรษฐกิจของพวกเขา และเคลื่อนย้ายสมดุลแห่งอำนาจ ไม่เพียงจากตะวันตกไปสู่ตะวันออก จากคนรวยไปสู่คนจน เท่านั้น แต่ยังเคลื่อนย้ายอำนาจจากกฎเกณฑ์ของรัฐบาลไปสู่กิจการ ธุรกิจของเอกชนซึ่งเป็นอิสระ

"ความสามารถของรัฐบาลที่จะต่อต้านการฮุบกิจการครั้งนี้มีอยู่เพียงจำกัด" แม้แต่ Patrick Ollier ประธานคณะกรรมาธิการกิจการเศรษฐกิจแห่งรัฐสภาฝรั่งเศสยังยอมรับ

นอกจากภาคเกษตรแล้ว อุตสาหกรรมเหล็กกล้าคืออุตสาห-กรรมที่เป็นการเมืองมากที่สุดในยุโรป และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการควบคุมคุ้มครองมายาวนาน

ย้อนหลังไปในช่วงทศวรรษ 1950 สหภาพยุโรป (European Union : EU) ในปัจจุบัน ได้ถือกำเนิดขึ้นในครั้งนั้นบนพื้นฐานของการรวมตัวกันเพื่อบริหารจัดการกับผลผลิตและราคาของเหล็กกล้าและถ่านหิน ในนาม "ประชาคมเหล็กกล้า และถ่านหิน"

และเมื่ออุตสาหกรรมเหล็ก กล้าประสบปัญหาอย่างหนักในช่วงทศวรรษ 1980 รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วยุโรป ต่างทุ่มเทเงินช่วยเหลือหลาย พันล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยให้อุตสาห-กรรมเหล็กอยู่รอดต่อไปได้

แต่ขณะนี้ การให้ความช่วยเหลือของภาครัฐได้กลายเป็นสิ่งต้องห้ามไปแล้ว ประกอบกับการผงาดขึ้นมาของประเทศอย่างจีน อินเดีย บราซิล และรัสเซีย ซึ่งมีพลังทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นในโลก ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการใช้วัตถุดิบพื้นฐานในการผลิตทุกอย่าง ตั้งแต่น้ำมันจนถึงแพลทินัมพุ่งสูง ขึ้นตามไปด้วย

ราคาเหล็กกล้าได้พุ่งขึ้นถึง 2 เท่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และผลผลิตเหล็กกล้า ทั่วโลก ซึ่งเคยอยู่ในสภาพร่อแร่ ก็พุ่งขึ้นมาก กว่าร้อยละ 30 นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา

ในโลกยุคใหม่นี้ สถานที่ตั้งมีความสำคัญน้อยกว่าประสิทธิภาพการจัดการต้นทุน และนักลงทุนซึ่งเป็นทั้งผู้ประกอบการ ที่ไม่เคยอยู่กับที่อย่าง Mittal ชาวอินเดียซึ่งอยู่ในลอนดอน แต่มีสำนักงานใหญ่ของบริษัทอยู่ในเมืองรอตเตอร์ดัม ได้กลายเป็นผู้ที่วางกฎเกณฑ์ ไม่ใช่รัฐบาลอีกต่อไป

แม้แต่ในกรุงปารีส ในขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสแสดงความไม่พอใจ Mittal และเรียกร้องให้ขัดขวางการเสนอซื้อของ Mittal ก็ยังมีหลายคนยอมรับว่า ทิศทางของประวัติ ศาสตร์ได้เปลี่ยนไปจากการมองดูธุรกิจจากแง่มุมของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือจากแง่มุมของยุโรป

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของ Mittal ก็ยังอาจไม่สำเร็จ ตลาดการเงินยุโรป ตื่นเต้นเมื่อมีข่าวลือว่า Arcelor อาจหาทาง ต่อกรด้วยการหาผู้ช่วยเหลือ ซึ่งอาจเป็นบริษัทญี่ปุ่น ที่จะเสนอซื้อในราคาที่สูงกว่า แต่แล้วก็ไม่มีอัศวินม้าขาวปรากฏตัวขึ้นแต่อย่างใด

Mittal ยังจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนว่า การเสนอซื้อ Arcelor ซึ่งใช้หุ้นของ Mittal Steel เป็นส่วนใหญ่บวกด้วยเงินสดจำนวนหนึ่ง เป็นการลงทุน ที่ดี เพราะ Mittal Steel มีจุดอ่อนทางการเงินจุดหนึ่งคือ โครงสร้างผู้บริหาร ซึ่งถูกกุม อำนาจโดยตระกูล Mittal

Aditya วัย 29 ปี บุตรชายของ Lakshmi เป็น president และ CEO ขณะที่บุตรสาวของเขา Vanisha วัย 24 ปี ก็อยู่ ในคณะกรรมการบริหาร สัดส่วนการถือครอง หุ้นใน Mittal Steel ของตระกูล Mittal อยู่ที่ร้อยละ 88 ซึ่งแม้จะลดลงเหลือมากกว่าร้อยละ 50 เล็กน้อย หากการซื้อ Arcelor สำเร็จ แต่ตระกูล Mittal ก็จะยังคงครองหุ้นส่วนใหญ่ รวมทั้งอำนาจการควบคุมบริษัทไว้ได้อยู่ดี

กว่าจะมีวันนี้ Lakshmi ไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด แต่สร้างตัวขึ้นมาจากศูนย์ เขาเกิดในครอบครัวที่ยากจน และเติบโต ในเมือง Sadulpur เมืองเล็กๆ ในรัฐ Rajastan ในภาคตะวันตกของ อินเดีย ครอบครัวที่มีถึง 20 ชีวิต อาศัยอยู่ในบ้านที่สร้างโดยปู่ของเขา ซึ่งมีพื้นเป็นปูนเปล่าๆ

แต่ครอบครัว Mittal เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว พวกเขาเป็น คนในวรรณะ Marwari ซึ่งเป็นชนชั้นพ่อค้าและผู้ให้กู้ยืมเงิน ซึ่งมีอยู่ เป็นจำนวนมากในบริษัทชั้นนำของอินเดีย ครอบครัว Mittal ได้อพยพ ไปยัง Calcutta ซึ่งเป็นศูนย์กลางของวรรณะ Marwari ที่ซึ่ง Mohan Mittal บิดาของ Lakshmi ได้กลายเป็นหุ้นส่วนในบริษัทเหล็กกล้าแห่งหนึ่ง

ส่วนตัว Lakshmi จบการศึกษาด้านธุรกิจจากโรงเรียนชั้นนำ St. Xavier's College ในปี 1969 และได้เข้าทำงานในบริษัทของบิดา ก่อนจะแยกตัวออกไปตามลำพัง เขาเก่งเรื่องตัวเลขอย่างหาตัวจับยาก ต่อมา Lakshmi ก็แยกตัวจากบิดาและน้องชายอีก 2 คนอย่างเด็ดขาด ในปี 1994 ด้วยเหตุผลที่พวกเขาไม่ยอมเปิดเผย

Lakshmi ได้รับมอบธุรกิจในส่วนที่เป็นการค้ากับต่างประเทศ ซึ่งมีการทำธุรกิจในอินโดนีเซีย ตรินิแดด และโทบาโก ขณะที่กิจการ ส่วนที่เหลือซึ่งอยู่ภายในอินเดีย ตกอยู่กับสมาชิกที่เหลือของตระกูล Mittal

นับตั้งแต่นั้นมา Lukshmi Mittal ก็ไม่เคยเกี่ยวข้องกับคนในตระกูลเดียวกันอีก และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เขาซื้อกิจการถึง 20 ครั้ง และในที่สุดก็สามารถกว้านซื้อเครือข่ายการผลิตเหล็กกล้าในอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ไว้ได้ ซึ่งรวมถึงคาซัคสถาน โรมาเนียและยูเครน และรุกเข้าสู่สหรัฐฯ ในปี 2004 ด้วยการซื้อ International Steel Group ด้วยเงิน 4.5 พันล้านดอลลาร์

อาณาจักรของเขาในขณะนี้ มีพนักงานมากกว่า 175,000 คน และมีธุรกิจครอบคลุมทั่วโลก เมื่อปีก่อน เขาได้กลับไปตั้งบริษัทในอินเดียเป็นครั้งแรก และตกลงจะสร้างโรงงานใหม่แห่งหนึ่งในรัฐ Jharkhand ซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

ความสำเร็จทางธุรกิจนำมาซึ่งความมั่งคั่ง เมื่อ 2 ปีก่อน Mittal ซื้อคฤหาสน์ที่ Kensington Palace Gardens ในกรุงลอนดอน ซึ่งมีมูลค่า 128 ล้านดอลลาร์ และกล่าวกันว่าเป็นบ้านที่มีราคาแพงที่สุดในโลก

และในปี 2004 เขาและครอบครัวก็ ได้สร้างข่าวหน้าหนึ่งทั่วโลก เมื่อเขาทุ่มเงิน 50 ล้านดอลลาร์ จัดงานแต่งงานสุดหรูหรา อลังการให้แก่ลูกสาว Vanisha ซึ่งได้แก่พิธีหมั้นที่จัดขึ้นที่ Tuileries Gardens ในกรุงปารีส ซึ่งเป็นสวนเสือและนกแก้ว และงานเลี้ยงฉลองสมรสที่มีการแสดงโอเปร่าในพระราชวัง Versailles ของฝรั่งเศส รวมทั้งคอนเสิร์ตของนักร้องดัง Kylie Minogue และงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ปราสาท Vaux le Vicomte Chateau ที่มีความเก่าแก่ย้อนหลังไปถึงยุคศตวรรษที่ 17 ซึ่งใช้เชฟจาก Calcutta ทำอาหารต้อนรับแขก 1,000 คน เสิร์ฟในภาชนะที่เป็นเครื่องกระเบื้องอย่างดีที่สลักชื่อย่อของบ่าวสาว

แม้จะได้รับการยกย่องดุจวีรบุรุษจาก คนในประเทศบ้านเกิดของเขา แต่สำหรับในยุโรป Mittal ถูกมองว่าเป็นผู้ร้าย หลังจากประกาศการเสนอซื้อ Arcelor ไปแล้ว Mittal ต้องบินไปบินมาในหลายส่วนของยุโรป ด้วยเครื่องบินเจ๊ตส่วนตัว เพื่ออธิบาย แรงจูงใจในการเสนอซื้อของเขาและสัญญา ว่าจะไม่มีการลอยแพพนักงานชาวยุโรป

แม้รัฐบาลยุโรปจะมีอำนาจจำกัดในการยับยั้งการฮุบ Arcelor เนื่องจากร้อยละ 85 ของหุ้นของบริษัทดังกล่าว ซื้อขายกันอย่างเสรีอยู่ในตลาดหุ้น แต่รัฐบาลและสหภาพแรงงานยุโรปยังสามารถทำตัวเป็นก้างชิ้นใหญ่ ที่จะสร้างความยากลำบากให้แก่ Mittal ได้

รัฐบาลฝรั่งเศสเคยใช้อำนาจทาง การเมืองขัดขวางการพยายามซื้อ Alstom ซึ่ง เป็นบริษัทฝรั่งเศส ของบริษัท Siemens แห่ง เยอรมนีสำเร็จมาแล้วในปี 2004 อย่างไรก็ตาม ในรายชื่ออุตสาหกรรม 11 ประเภท ที่ฝรั่งเศสเพิ่งประกาศว่าจะให้ความคุ้มครอง จากการถูกควบรวมกิจการ กลับไม่มีอุตสาห-กรรมเหล็กกล้ารวมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ Mittal จะต้องผ่านการตรวจสอบเรื่องการผูกขาด จากเจ้าหน้าที่ต่อต้านการผูกขาดทางการค้าของสหภาพยุโรป ซึ่งอาจ ใช้เวลานานหลายเดือน แต่ดูเหมือนว่า เรื่องนี้อาจไม่เป็นปัญหาใหญ่ สำหรับเขา

แม้ว่าบริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้น หากสามารถรวม Mittal กับ Arcelor ได้สำเร็จ จะมีขนาดใหญ่กว่าคู่แข่งที่ใกล้เคียงที่สุดถึง 3 เท่า โดยจะครองส่วนแบ่งในตลาดเหล็กกล้าโลกถึงร้อยละ 10 แต่ก็ไม่ปรากฏว่า Mittal กับ Arcelor มีการทับซ้อนกันในด้านผลิตภัณฑ์และสถานที่ตั้ง ซึ่งจะเข้าข่ายการผูกขาดได้

Hermann Reith นักวิเคราะห์จาก BHF-Bank ในแฟรงก์เฟิร์ต ทำนายว่า โอกาสที่ดีลนี้จะสำเร็จมีมากกว่าร้อยละ 50 ส่วน Neelie Kroes กรรมาธิการต่อต้านการผูกขาดของ EU กล่าวว่า อำนาจของเธอ ในการตรวจสอบการควบรวมกิจการใดๆ มีเพียงเรื่องเดียวคือการแข่งขัน และเสริมว่าเธอสนับสนุนธุรกิจระดับโลกที่มีฐานอยู่ในยุโรป

และนั่นก็เป็นจุดยืนและวิสัยทัศน์ของทั้ง Mittal และ Dolle แห่ง Arcelor ที่มีต่ออนาคตของอุตสาหกรรมเหล็กกล้าโลกด้วย ทั้งสอง ต่างพยายามสร้างบริษัทของตนให้เติบโตเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับ โลกที่มีฐานอยู่ในยุโรป โดยต่างเชื่อเช่นเดียวกันว่า การควบรวมกิจการ ไปทั่วโลกเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อสร้างเสถียรภาพและความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมที่มีความผันผวนสูง Mittal ยืนยันเสมอว่า อนาคตของอุตสาหกรรมเหล็กกล้าจะสดใส หากผู้ผลิตรายย่อยๆ รวมกิจการกัน และสร้างผู้ผลิตรายใหญ่หลายๆ ราย

Mittal กล่าวว่า เหล็กกล้าจะยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่มีวัฏจักร ขึ้นลงต่อไป แต่ถ้าหากบริษัทมีฐานการเงินที่แข็งแกร่ง และยึดมั่นในหลักการและวิสัยทัศน์ของตนอย่างไม่คลอนแคลน ก็จะสามารถลดผลกระทบจากความผันผวนนั้นได้

แปลและเรียบเรียงจาก ไทม์ 13 กุมภาพันธ์ 2549
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.