|
ยุโรปกำลังแตกแยกเพราะโลกาภิวัตน์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
โลกาภิวัตน์กำลังสร้างความแตกแยกระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในยุโรป ซึ่งมีนัยสำคัญไม่เฉพาะต่ออนาคตของยุโรป แต่ยังรวมไปถึงอนาคตของโลกาภิวัตน์เองด้วย
ขณะนี้กำลังเกิดการแตกแยกที่แปลก ประหลาดขึ้นในยุโรป โดยผู้นำการเมืองและ ผู้นำธุรกิจของยุโรปกำลังขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของยุโรปกำลังเฉลิมฉลองผลกำไรที่พุ่งสูงทำสถิติใหม่ แต่นักการเมืองกลับร้องเตือนด้วยความไม่พอใจ ถึงความกลัวที่กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของคนงานในยุโรป
สิ่งที่แปลกประหลาดก็คือ แหล่งที่มา ของความสุขและความกลัวนั้นเป็นแหล่งเดียวกันนั่นคือ โลกาภิวัตน์ การที่สหภาพยุโรป (EU) กลายเป็นกลุ่มของประเทศที่เติบโตอย่างเชื่องช้าและล้าหลัง ในขณะที่บริษัทของยุโรปกลับมีพลวัตสูง ทำให้ยุโรป กำลังกลายเป็นทวีปแห่งบริษัทข้ามชาติที่มีความสามารถในการแข่งขัน ในขณะเดียวกัน ก็เป็นกลุ่มที่รวมของประเทศที่ไร้ความสามารถในการแข่งขัน
ในยุโรป บริษัทอย่าง BASF และ Alcatel มีการส่งออกพุ่งขึ้น จนทำให้ยอดขายและผลกำไรพุ่งสูงขึ้น ในขณะที่ตลาดหุ้นในชาติต่างๆ ของยุโรปก็เติบโตขึ้นตามไปด้วยในช่วงปีที่ผ่านมา โดยตลาดหุ้นเยอรมนีเติบโตขึ้นร้อยละ 28 ขณะที่ตลาดหุ้นฝรั่งเศสเติบโตร้อยละ 23 และตลาดหุ้นอังกฤษร้อยละ 16 บริษัทต่างๆ ในยุโรปต่างมีผลกำไรพุ่งทำลายสถิติกันทั่วหน้า รวม ทั้งราคาหุ้นของบริษัทก็พุ่งสูงจนเทียบเท่ากับบริษัทในสหรัฐฯ
ทว่า นักเศรษฐศาสตร์ในยุโรปต่างยังคงชี้ว่า อัตราการเติบโต ทางเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดของยุโรป น่าจะยังคงอยู่ที่เพียงร้อยละ 2 เท่านั้น หรือเติบโตช้ากว่าสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 1 อันเนื่องมาจากตลาด แรงงานที่ไม่ยืดหยุ่นและระบบราชการที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง แม้ว่าเศรษฐกิจของเยอรมนีจะมีสัญญาณว่าจะฟื้นตัวก็ตาม
ความขัดแย้งระหว่างบริษัทยุโรปที่เติบโตอย่างรวดเร็ว กับเศรษฐกิจของประเทศยุโรปที่เติบโตอย่างเชื่องช้า คือเหตุผลที่มาของ สัญญาณทางเศรษฐกิจแปลกๆ หลายอย่างที่ขัดแย้งกันเอง ที่เราได้เห็นจากชาติต่างๆ ในยุโรป
อย่างเช่นตัวเลขเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ของเยอรมนีเมื่อเร็วๆ นี้ ทั้งๆ ที่ความเชื่อมั่นของธุรกิจพุ่งสูงขึ้น แต่อัตราการว่างงานในเยอรมนีกลับยังคงอยู่ในระดับสูง และยอดขายปลีก ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสก็ลดลง
ในขณะที่ความท้าทายของโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของจีนและอินเดียเป็นตัวแทนสำคัญ กำลังหลอนหลอก นักการเมืองในยุโรป แต่ศักยภาพมหาศาลของตลาดจีนและอินเดียกลับสร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้แก่ CEO ของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ ในยุโรป
ในเยอรมนี แม้จะมีการพูดกันถึงสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ก็คาดกันว่า การฟื้นตัวคงจะอยู่ในอัตราที่ต่ำมากเพียงร้อยละ 1.4 เท่านั้น ซึ่งน้อยเกินกว่าที่จะส่งผลช่วยลดอัตราการว่างงาน ของเยอรมนี ที่อยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 12 ลงได้ (ในขณะที่อัตราการ ว่างงานทั่วยุโรปโดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 8.3)
นายกรัฐมนตรี Angela Merkel ของเยอรมนี ถึงกับเรียกร้องให้ออกกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เพื่อควบคุมโลกา ภิวัตน์ ซึ่งกำลังคุกคามและอาจก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคมเยอรมนีครั้งใหญ่ได้
แต่ขณะเดียวกัน Siemens บริษัทยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีเอง กลับกำลังได้รับผลดีจากโลกาภิวัตน์ หลังจากยอมเจ็บปวดทรมานมานานหลายปีในการปรับโครงสร้าง บริษัท ยอดขายและคำสั่งซื้อก็ได้พุ่งพรวดขึ้น จนทำให้ Klaus Kleinfeld CEO หนุ่มคนเก่งของบริษัทดังกล่าว ซึ่งใช้วิธีตัดลดค่าใช้จ่ายอย่างแข็งกร้าว ได้รับการยกย่องจากสื่อว่าจะเป็น "Jack Welch คนต่อไป"
ส่วนในลอนดอน นักการเมืองกำลังวิตกว่า เศรษฐกิจของอังกฤษซึ่งเคยแข็งแกร่ง กำลังชะลอตัวลงจนใกล้จะเป็นเหมือนเยอรมนี ในขณะที่นักค้าหุ้นและวาณิชธนกิจ เพิ่งจะสร่างจากปาร์ตี้ฉลองโบนัสก้อนโตทำลายสถิติ ส่วนในปารีส การเข้ามาครอบครองกิจการบริษัทฝรั่งเศสของบริษัทต่างชาติกำลังกลายเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมากขึ้นทุกที
ในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว เกิดความ ไม่พอใจอย่างมากในฝรั่งเศส เมื่อมีข่าวลือว่า PepsiCo จะครอบครอง Danone (แต่ต่อมาก็เป็นเพียงข่าวลือ) ส่วนเมื่อเร็วๆ นี้ นายกรัฐมนตรี Dominique de Villepin แห่งฝรั่งเศส ก็เพิ่งกล่าวสนับสนุน "ความรักชาติทางเศรษฐกิจ" และให้ความเห็นข้ามพรมแดนไปถึงกรณี Mittal Steel ในเนเธอร์แลนด์ ที่กำลังเสนอซื้อ Arcelor ผู้ผลิตเหล็กกล้ารายใหญ่สุดของยุโรปว่า การเสนอซื้อดังกล่าวมีปัญหา เพราะไม่มีการเสนอโครงการด้านอุตสาหกรรม
การเข้ามายุ่มย่ามของนักการเมืองเช่นนี้ สร้างความกังวลให้แก่ผู้นำธุรกิจของฝรั่งเศส ซึ่งกำลังเรียกร้องให้ฝรั่งเศสปฏิรูประบบตลาดเสรีอย่างเร่งด่วน Laurence Parisot ผู้นำ Medef สมาคมนายจ้างของฝรั่งเศส กำลังผลักดันให้รัฐบาลฝรั่งเศสออกกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ ที่จะทำให้การจ้างงาน และการเลิกจ้างกระทำได้ง่ายขึ้น และเสนอระบบการให้เงินโบนัสแก่ผู้ว่างงานที่สามารถหางานใหม่ได้ และยังตำหนิประธานาธิบดี Jacques Chirac เกี่ยวกับข้อเสนอด้านภาษีของเขาว่า เป็นข้อเสนอ ที่ขัดแย้งกันในตัวเอง
เยอรมนีอาจจะเป็นตัวอย่างที่เห็นได้อย่างเด่นชัดที่สุด ถึงทัศนคติของผู้นำการเมืองและผู้นำธุรกิจของยุโรป ที่นับวันจะแตก แยกไปคนละทิศละทางมากยิ่งขึ้น แม้จะส่งสัญญาณการฟื้นตัว แต่เยอรมนีดูเหมือนจะไม่มีทางที่จะกลับไปเติบโตในอัตราร้อยละ 4.4 เหมือนในช่วงทศวรรษ 1960 ได้อีกต่อไป ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ระบบรัฐสวัสดิการจะฉุดลากศักยภาพทางเศรษฐกิจของเยอรมนีให้ลดต่ำลง
แต่ฝ่ายที่ฟื้นตัวจริงๆ กลับเป็นบรรดาบริษัทชั้นนำของเยอรมนี ซึ่งหลายปีมานี้ ได้ปฏิรูปตัวเองอย่างจริงจัง โดยมีการทำข้อตกลงใหม่ กับสหภาพแรงงาน ซึ่งช่วยลดค่าจ้างแรงงานที่สูงลิ่วลง และย้ายโรงงาน ผลิตบางส่วนไปยังฮังการีและจีน ผลก็คือ เมื่อปีที่แล้ว เยอรมนีสามารถ เอาชนะสหรัฐฯ ในการเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก และดัชนี DAX ของเยอรมนีก็พุ่งขึ้นเกือบร้อยละ 30 ในปีที่แล้วเปรียบเทียบกับการเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3 ของดัชนี S&P 500 ขณะที่ Deutsche Bank ก็ประกาศผลกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเยอรมนีโดยรวมกลับไม่สดใสอย่างบริษัทในประเทศตน เนื่องจากความเจริญรุ่งเรืองของบริษัทเยอรมนีเริ่มไม่ขึ้นอยู่กับตลาดในประเทศ ความจริงแล้ว บริษัทชั้นนำของเยอรมนี 23 ใน 30 แห่งที่มีหุ้นซื้อขายอยู่ในตลาดหุ้น ถูกควบคุมโดย ชาวต่างชาติ ซึ่งไม่รู้สึกถูกผูกมัดโดยกฎหมายแรงงานที่เข้มงวดของเยอรมนีแต่อย่างใด และมุ่งสร้างยอดขายในตลาดโลกมากกว่าในตลาดเยอรมนี เนื่องจากตลาดโลกมีอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 3
อย่างเช่น Adidas บริษัทเครื่องกีฬาชื่อดังในรัฐบาวาเรียของเยอรมนี มีรายได้ร้อยละ 90 จากยอดขายในต่างประเทศ และว่าจ้าง พนักงานร้อยละ 80 จากประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่เยอรมนี ซึ่งมีค่าจ้างแรงงานสูงลิ่ว นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs ชี้ว่าบริษัทส่วนใหญ่ ของเยอรมนีที่อยู่ในกลุ่ม DAX 100 ทำธุรกิจประมาณร้อยละ 50 หรือ มากกว่านั้นนอกเยอรมนี และบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมของเยอรมนี ซึ่งมักเป็นธุรกิจในครอบครัว (ซึ่งในภาษาเยอรมันเรียกว่า Mittelstand และเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจเยอรมนี) ก็เป็นผู้ส่งออกที่มีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกด้วย
ผลสำรวจล่าสุดของ Ifo ในเยอรมนีพบว่า ความเชื่อมั่นของธุรกิจในเยอรมนีเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 12 ปี และยังมีความหวังว่าจะเติบโตต่อไปในอนาคต ในระดับที่เทียบเท่ากับในประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจถึงร้อยละ 3 ซึ่งแสดงว่า ความเชื่อมั่นของบริษัทเยอรมนี ได้ฟื้นคืนกลับมาในระดับที่แข็งแกร่งแล้ว ซึ่งเป็นผลดีที่ได้รับมาจากโลกาภิวัตน์ แต่ไม่ใช่เพราะมีสาเหตุจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเยอรมนี
ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวเยอรมันกลับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และล้าหลังความเชื่อมั่นของธุรกิจมาถึง 10 ปีแล้ว สภาวะที่ความเชื่อมั่นระหว่างธุรกิจและผู้บริโภคขัดกันเช่นนี้ กำลังเห็นได้ทั่วไป ในยุโรป บริษัทวิจัยทางเศรษฐกิจ Global Insight ชี้ว่า นักธุรกิจยุโรปส่วนใหญ่มองภาพรวมเศรษฐกิจในแง่ดีมาตั้งแต่ปี 1996 แต่ผู้บริโภคกลับมองในแง่ลบ
ปรากฏการณ์เช่นนี้สะท้อนว่า ผู้บริโภคในยุโรปยังคงคิดจากมุมมองในประเทศ ในขณะที่ธุรกิจกลับมองไปที่ตลาดโลกและตลาดแรงงานโลก และยังสะท้อนให้เห็นในมูลค่าของตลาดหุ้นทั่วโลกที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รายงานของ Baring Asset Management ชี้ว่า อัตรา ส่วนกำไรต่อหุ้น (P/E ratio) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษและญี่ปุ่น รวมถึงตลาดหุ้นในประเทศอื่นๆ ล้วนเดินไปในทิศทางเดียวกันในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ความแตกแยกระหว่างผู้บริโภคและธุรกิจกำลังเริ่มลุกลามจากยุโรปไปสู่ระดับโลก ตามปกติแล้ว ผู้บริโภคจะออมเงิน และบริษัทจะกู้ยืมเงินออมเหล่านั้น (ผ่านสถาบัน การเงิน) มาลงทุน แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ กฎทองข้อนี้กำลังเริ่มพลิกกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ
ขณะนี้ผู้บริโภคในยุโรปและสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนมาเป็นผู้กู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้จ่าย ในขณะที่ธุรกิจในยุโรปและสหรัฐฯ กลับลดขนาด บริษัท และสะสมเงินออมที่สูงเป็นประวัติการณ์ ถึงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
การที่บริษัทในชาติตะวันตกต้องปรับโครงสร้างขนานใหญ่ เพื่อจะแข่งขันกับเอเชีย ซึ่งทำให้เกิดแรงกดดันในการลดค่าจ้างแรงงานที่สูงลิ่วในชาติตะวันตกลงนั้น ได้ส่งผลดีต่อผลกำไรของบริษัท แต่ขณะเดียวกันก็ยิ่งสร้างความแตกแยกระหว่างธุรกิจฝ่ายหนึ่ง และแรงงานกับนักการเมืองซึ่งได้รับเลือกตั้งให้เป็นตัวแทนของพวกเขาอีกฝ่ายหนึ่ง
แรงกดดันต่อค่าจ้างแรงงานเห็นได้อย่างเด่นชัดในชาติยุโรปต่างๆ เช่นเยอรมนี ซึ่งมีค่าแรงขั้นต่ำที่สูงลิ่ว แต่ค่าแรงในเยอรมนีตะวันตกที่นับว่าสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกนี้ ได้อยู่ในสภาพชะงักงันตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ค่าแรงงานในชาติอื่นๆ ยังคงสูงขึ้น (ค่าจ้างแรงงานโดยเฉลี่ยในยุโรปกลางขณะนี้เท่ากับประมาณร้อยละ 70 ของค่าแรงในเยอรมนี)
แต่บริษัทข้ามชาติในทุกวันนี้มีทางเลือกมากมาย มีอำนาจต่อรองสูงกว่า และมีอำนาจอิทธิพลมากกว่า โดย Laura Tyson คณบดี London Business School และอดีตหัวหน้าคณะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ชี้ว่า อำนาจของเงินทุนได้เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับอำนาจของแรงงาน และอาจเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกหลายปี
ความแตกแยกครั้งใหญ่ระหว่างผู้บริโภคและนักการเมืองกับธุรกิจ ยิ่งเห็นได้ชัดเจนในการถกเถียงกันถึงวิธีที่จะทำให้ยุโรปมีความ สามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ยิ่งผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่ของประเทศ วิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตการทำงานของพวกเขามากเท่าใด นักการเมืองก็ยิ่งพยายามจะเข้ามาแทรกแซงตลาดมากขึ้นเท่านั้น
แทนที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ที่จะผลักดันให้ยุโรปแข็งแกร่งอย่างแท้จริง ในด้านเทคโนโลยีพกพาหรือวิทยาศาสตร์ กายภาพ ประธานาธิบดี Jacques Chirac แห่งฝรั่งเศส กลับเลือกที่จะทุ่มลงทุนในโครงการมูลค่าหลายล้านยูโรร่วมกับเยอรมนี เพื่อสร้างสิ่งที่จะมาเป็นคู่แข่งกับ Google ซึ่งนักธุรกิจจำนวนมากมองว่า เป็นการหว่านเงินทิ้งโดยเปล่าประโยชน์
Parisot แห่งสมาคมนายจ้างชั้นนำของฝรั่งเศสให้ความเห็นว่า ฝรั่งเศสยังคงเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของบริษัทขนาดเล็กที่ต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในกลุ่มประเทศ OECD ทั้งๆ ที่ฝรั่งเศสมีบริษัท ระดับเพชรน้ำดีอยู่มากมาย ซึ่งถ้าหากไปอยู่ในอังกฤษหรือสหรัฐฯ ก็คงจะเจริญรุ่งเรืองไปนานแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้บริโภคในยุโรปจะขัดแย้งกับธุรกิจ แต่ดูเหมือนจะมีสัญญาณว่า พวกเขายังมีความยืดหยุ่นมากกว่าบรรดาผู้นำการเมือง ในหนังสือ "The Fearful Society" ของ Christophe Lambert ผู้บริหาร Publicis บริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส และเป็นผู้สนับสนุน Nicolas Sarkozy นักการเมืองหัวปฏิรูปของฝรั่งเศส ระบุว่า คนหนุ่มสาวของฝรั่งเศส ที่มีอายุระหว่าง 15-30 ปี น้อยกว่าร้อยละ 5 ที่สนับสนุนการทำงานเพียงสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง
ส่วนในเยอรมนี ธุรกิจเริ่มสามารถเจรจาต่อรองกับคนงานได้สำเร็จ ในการลด ต้นทุนค่าแรงของธุรกิจลงได้ประมาณร้อยละ 35 ในรูปของการลดค่าจ้างแบบผสมผสาน และการยืดหยุ่นกฎการทำงาน รวมทั้งการยืดเวลาการทำงาน แม้ว่าผู้นำสหภาพและนักการเมืองในประเทศนี้ จะยังคงต่อต้านการลดค่าจ้างแรงงานอย่างดุเดือดอยู่
ส่วนผู้บริหารของ SAP บริษัทสัญชาติ เยอรมันเพียงหนึ่งเดียวของยุโรป ที่เป็นยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์ระดับโลก กล่าวว่า เขาจะยังคงว่าจ้างแรงงานเยอรมัน ถ้าหากไม่เป็นเพราะระบบราชการและกฎหมาย แรงงานที่เข้มงวด
เป็นไปได้ว่า ความแตกแยกระหว่าง ภาครัฐและเอกชนในยุโรปจะยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ รายงานของ Baring ทำนายว่า แนวโน้มที่ตลาดหุ้นทั่วโลกจะเดินไปในทิศทางเดียวกันกำลังจะจบลง เนื่องจากในขณะที่บริษัทชั้นนำทั่วโลกได้ทำให้ตลาดหุ้นในชาติของตนเติบโตขึ้นนั้น Baring เชื่อว่า บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้นจะยังคงเติบโตต่อไป แต่บริษัทที่เล็กกว่าจะล้มตายลง โดยจะเกิด ขึ้นทั้งในสหรัฐฯ ยุโรปและเอเชีย ซึ่งจะสร้าง ความแตกต่างในระดับราคาในตลาดหุ้นทั่วโลก และทำให้ความแตกแยกระหว่างภาคธุรกิจและรัฐบาลถ่างกว้างยิ่งขึ้น
แม้ว่าผู้นำการเมืองและผู้นำธุรกิจจะเห็นตรงกันถึงความจำเป็นที่จะต้องทำให้ยุโรปมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ด้วยการปรับปรุงการศึกษา เพิ่มความยืดหยุ่นของแรงงาน เปิดเสรีภาคธุรกิจบริการ และปฏิรูประบบสวัสดิการสุขภาพและบำนาญ แต่ สิ่งที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นต่างกันโดยสิ้นเชิงคือ วิธีการที่จะไปถึงจุดมุ่งหมาย เหล่านั้น
ในขณะนี้ เสียงเรียกร้องให้ลดช่องว่างดังกล่าวดูเหมือนจะดัง มาจากฟากพรรคการเมืองฝ่ายค้านเท่านั้น ในสวีเดน Frederik Reinfeldt ผู้นำพรรคฝ่ายค้านอนุรักษนิยมสายกลาง กำลังผลักดันให้ ปฏิรูปเงินอุดหนุนของรัฐบาลที่ให้แก่ผู้ว่างงาน และการเพิ่มมาตรการ จูงใจต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจขนาดเล็กเติบโต เพื่อชดเชยตำแหน่งงานที่หายไป อันเนื่องมาจากการที่บริษัทขนาดใหญ่ลอยแพพนักงาน
ส่วนในอังกฤษ ทั้งพรรคแรงงานซึ่งเป็นรัฐบาลกับพรรคอนุรักษนิยมฝ่ายค้าน ต่างกำลังพยายามขอเสียงสนับสนุนจากธุรกิจขนาดใหญ่ โดย David Cameron ผู้นำพรรคอนุรักษนิยมหรือ Tories เปรียบเทียบพรรคของเขาเป็นแบรนด์สินค้าที่ประสบความสำเร็จเหมือนอย่าง Tesco หรือ Virgin ในแง่ของความสามารถในการสร้างความเปลี่ยนแปลง
แม้ว่าพรรค Tories อาจสามารถเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกได้ แต่พรรคดังกล่าว รวมทั้งพรรคการเมืองต่างๆ ในยุโรป จะสามารถลดความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในยุโรป อันเป็นผลมา จากโลกาภิวัตน์ได้หรือไม่นั้น ยังเป็นที่กังขาและต้องรอดูกันต่อไป
แปลและเรียบเรียงจาก
นิวสวีค 13 กุมภาพันธ์ 2549
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|