|
พงส์ สารสิน : Connection Symbol
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ชื่อพงส์ สารสิน เงียบหายไปนาน เพิ่งมาถูกกล่าวถึงอีกครั้ง หลัง deal อื้อฉาว 7.3 หมื่นล้านบาท ที่เทมาเซคซื้อหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) จากตระกูลชินวัตร และพงส์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคนใหม่ของ SHIN
"...พงส์ สารสิน เกิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2470 เป็นบุตรคนโตของพจน์ สารสิน อดีตนายกรัฐมนตรี กับท่านผู้หญิงสิริ สารสิน ความเป็นลูกคนโตที่แม่รัก จึงได้รับการตั้งชื่อตามมารดาว่า "พงส์สิริ" เพื่อนเก่าสมัยเรียนวชิราวุธจึงติดปาก เรียกว่า "พงส์-หริ" แต่ต่อมาในยุคสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ห้ามมิให้ชื่อเป็นหญิง ชื่อ "พงส์สิริ" จึงถูกตัดทอนให้สั้นลงเป็น "พงส์"
(จากล้อมกรอบ "พงส์ สารสิน บนเส้นทางธุรกิจการเมือง" ประกอบเรื่องหลัก "สปอร์ตคลับ ฤาเป็นสารสินสโมสร?!" นิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนธันวาคม 2533)
ในสังคมธุรกิจการเมืองแล้ว พงส์เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของสายสัมพันธ์ระหว่าง "อำนาจ" ที่หมายรวมทั้งอำนาจการเมือง ตั้งแต่ระบอบเผด็จการทหารมาถึงประชาธิปไตย อำนาจของทุนทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าเป็นกลุ่มทุนเก่า หรือการเกิดขึ้นของกลุ่มทุนใหม่ ที่ได้พัฒนากลายเป็นพลังของระบบทุนนิยม ซึ่งกำลังมีอิทธิพลอยู่ในปัจจุบัน
"พงส์มีน้องร่วมสายเลือดเดียวกันอีก 5 คน คือ พล.ต.อ.เภา สารสิน อดีตอธิบดีกรมตำรวจ บัณฑิต บุณยะปานะ หรือปุ๋ย ซึ่งใช้นามสกุลของป้าที่ขอไปเลี้ยงเพราะไม่มีลูก ปัจจุบันเป็นอธิบดีกรมสรรพากร พิมพ์สิริ สารสิน หรือ "แป๋ว" (ภรรยา พ.อ.จินดา ณ สงขลา อดีตเลขาธิการ ก.พ.) อาสา สารสิน หรือปุ๊ก (สามี ม.ร.ว.กิติคุณ กิติยากร) อาสาเคยเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทผาแดงอินดัสทรี
น้องคนสุดท้องคือ พลตรีสุพัฒร์ สารสิน หรือ "เปี๊ยก" (สามีสุมพร ยิบอินซอย) ปัจจุบันสบายที่สุด ประจำกองบัญชาการทหารบก... (เนื้อหาอีกตอนจากเรื่องเดียวกัน)
ปัจจุบัน อาสาเป็นราชเลขานุการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ส่วนบัณฑิตเสียชีวิตแล้วด้วยอาการหัวใจวายบนเครื่องบินของการบินไทย ขณะที่มีตำแหน่งเป็นประธานบริษัทการบินไทย
"ชีวิตส่วนตัวของพงส์ สมรสกับมาลินี วรรณพฤกษ์ เมื่อ 15 สิงหาคม 2496 มีบุตร 3 คน คนโตได้แก่ พาสินี แต่งกับดร.สุเมธ ลิ่มอติบูลย์ คนต่อมาคือ วัลลิยา สารสิน และพรวุฒิ สารสิน
การศึกษาขั้นต้น พงส์เรียนอนุบาลที่โรงเรียนสุรศักดิ์ ต่อที่วชิราวุธวิทยาลัย จนจบ ม.6 แล้วเรียนเตรียมจุฬาฯ แต่ไม่จบเดินทางไปเรียนต่อเมืองนอกตามความประสงค์ของบิดา จนกระทั่งจบปริญญาตรีทางบัญชีจากมหาวิทยาลัยบอสตัน กลับมาทำงานครั้งแรกที่แบงก์ชาติได้ครึ่งปี ก็ลาออกไปอยู่กรมประมวลข่าวกลาง ปี 2495-2500 จึงลาออกมาอยู่บริษัทไทยน้ำทิพย์ เริ่มในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ
ความที่เป็นทายาทคนโต ทำให้พงส์ต้องกระโดดลงไปเล่นการเมืองควบคู่ไปกับการดูแลธุรกิจของตระกูลสารสิน นับ 101 บริษัท ตั้งแต่บริษัทไทยน้ำทิพย์ผู้ผลิตน้ำอัดลม 'โค้ก' ซึ่งทำให้สปอร์ตคลับมีเพียง 'โค้ก' บริการเท่านั้น ไม่อาจมี 'เป๊ปซี่' ได้..."
พื้นฐานครอบครัวพงส์มาจากตระกูลที่มั่งคั่ง และอยู่ในแวดวงข้าราชสำนัก ปู่ของเขาคือพระยาสารสินสวามิภักดิ์ หรือเทียนฮี้ สารสิน เป็นแพทย์ด้านศัลยกรรมคนแรกของไทย และเป็นประธานคนแรกของธนาคารไทยพาณิชย์
เลยไม่แปลกที่ในยุคเผด็จการ ที่โอกาสธุรกิจเปิดไว้สำหรับคนที่มีทุน และสามารถเข้าถึงสายสัมพันธ์วงใน พงส์ในฐานะพี่ใหญ่ของสารสินรุ่นที่ 3 จึงมักได้รับการเชิญชวนจากนักธุรกิจหลายราย ทั้งคนไทยและต่างชาติ ให้เป็น 1 ในผู้ร่วมก่อตั้งกิจการ โดยอาศัยทุน ชื่อเสียงวงศ์ตระกูล และสายสัมพันธ์ของเขาเป็นเสมือนใบเบิกทาง
สายสัมพันธ์ยุคแรกๆ คือสายสัมพันธ์ระหว่างพงส์ กับจุติ บุญสูง และวรรณ ชันซื่อ "...สำหรับสารสินกับบุญสูง เขาก็รู้จักกันดีมานาน ในการก่อตั้งบริษัทไทยน้ำทิพย์เพื่อผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มโคคา-โคล่า เขาก็ร่วมทุนด้วยกัน ก็มีพวกเคียงศิริเข้าร่วมด้วยรวมเป็น 3 กลุ่ม โดยทางสารสินเป็นหุ้นใหญ่ พงส์กับจุติจึงสนิทกันเหมือนๆ กับพงส์สนิทกับวรรณ..." คนรุ่นเก่าเล่าให้ฟัง
พงส์ สารสิน จึงเป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกชักชวนให้เข้าร่วมก่อตั้งบริษัทที่จุติและวรรณร่วมทุนกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มอีซูซุทุกบริษัท ไม่ว่าจะเป็นอีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) อีซูซุ บอดี้ (ประเทศไทย) หรือตรีเพชรอีซูซุ
และก็เป็นที่มาของฉายา "3 สิงห์" ซึ่งหมายถึงกลุ่มนักธุรกิจใหญ่ที่ประกอบด้วยจุติ บุญสูง วรรณ ชันซื่อ และพงส์ สารสินนั่นเอง..." (จากเรื่อง "วรรณ ชันซื่อ...ทำงานเงียบๆ รวยเงียบๆ" นิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2528)
สายสัมพันธ์ที่ดูมีสีสันที่สุด น่าจะเป็นกรณีที่พงส์ได้เป็นแบ็กอัพคนสำคัญของเถลิง เหล่าจินดา ที่ตั้งบริษัทสุราทิพย์ขึ้นมาแข่งประมูลโรงงานสุราบางยี่ขันที่ใช้ผลิตเหล้าแม่โขง กับกลุ่มสุรามหาราษฎร์ของกลุ่มเตชะไพบูลย์ในปี 2523 ที่เป็นเสมือนมหากาพย์สงครามของกลุ่มทุนในสังคมไทยเมื่อ 20 กว่าปีก่อน
พงส์เริ่มรู้จักกับเถลิงตั้งแต่ตอนที่เถลิงเข้าไปซื้อโรงงานผลิตธาราวิสกี้ ของประสิทธิ์ ณรงค์เดช ซึ่งกำลังประสบปัญหาทางการเงิน เมื่อปี 2519 โดยพงส์คือหุ้นส่วนคนสำคัญของประสิทธิ์ในโรงงานนี้
"และนี่คือจุดแรกที่พงส์เริ่มเข้ามาพัวพันในยุทธจักรเหล้าอย่างเต็มตัว" (จากล้อมกรอบ "20 ปีของธุรกิจที่ใช้กระบอกปืนเป็นเสาค้ำ" ประกอบเรื่องจากปก "แม่โขงสีเลือด" นิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนเมษายน 2527)
การเข้ามาสู่ธุรกิจเหล้าครั้งนั้น ทำให้พงส์ได้รู้จักกับเจริญ สิริวัฒนภักดี ตั้งแต่ครั้งเจริญยังใช้นามสกุลศรีสมบูรณานนท์ และเป็นลูกน้องคนสนิทของเถลิง ต่อมาทั้งพงส์และเจริญก็มีสายสัมพันธ์ต่อกันที่แน่นแฟ้นยิ่ง
"...เรื่องก็ไม่มีอะไรมาก นอกจากบริษัทพงส์เจริญได้ไปซื้อที่แถวๆ ซอยปราโมทย์ สุรวงศ์ ประมาณ 900 กว่าวา ในจำนวนเงินประมาณ 90 กว่าล้านบาท หรือวาละ 80,000 บาท
ที่นี้เป็นกองมรดกของตระกูลกรัยวิเชียร ซึ่งมีอาจารย์ธานินทร์ องคมนตรี และพี่สาวท่านดูแลอยู่...
ที่ตรงนั้นปัจจุบันเป็นของบริษัทซิโนบริติชจำกัด พงส์เจริญ มาซื้อไว้เป็นศูนย์บัญชาการของโรงเหล้าขาวทั้งหมดที่ประมูลได้..." (จากเรื่อง "บริษัทพงส์เจริญ พงส์ สารสิน+เจริญ ศรีสมบูรณานนท์" รายงานผู้จัดการ นิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนธันวาคม 2526)
นอกจากสายสัมพันธ์ทางธุรกิจแล้ว ในทางสังคมพงส์ยังเป็นคนไทยคนที่ 3 ที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานสปอร์ตคลับ และดำรงตำแหน่งดังกล่าวต่อเนื่องถึง 18 ปี (2521-2538) และเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยบอสตันในประเทศไทยคนแรก และเป็นต่อเนื่องถึง 10 ปี (2526-2535)
ในทางการเมือง สายสัมพันธ์ของพงส์ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน
พงส์เริ่มเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติในปี 2516 ที่เรียกกันว่า สภาสนามม้า หลังจากนั้นจึงได้ร่วมกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตั้งพรรคกิจสังคม แต่บทบาทส่วนใหญ่อยู่เบื้องหลัง จนได้เป็นเลขาธิการพรรคในปี 2527 และเป็นรองนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลชาติชาย 1 ก่อนจะวางมือโดยลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค เมื่อพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ปรับคณะรัฐมนตรีเป็นชาติชาย 2
"...ที่สำคัญกว่านั้น ในพรรคกิจสังคมบุรุษหมายเลข 1 ตัวจริง ก็คือพงส์ สารสิน เขาผู้นี้มีภาพปรากฏต่อสังคมในบทของนักธุรกิจมากกว่านักการเมือง นักข่าวที่เคยพบกับพงส์ต่างผิดหวังเพราะมองไม่เห็นความแหลมคมอันใดจากตัวเขาผู้นี้
แต่สำหรับคนที่สัมผัสใกล้ชิดนั้น ต่างรู้ดีว่าพงส์เป็นนักการเมืองมือระดับ "เซียนเหนือเซียน" แค่ไหน
พงส์เป็นนักเดินเกมมากกว่าเป็นนักประกาศปรัชญาและอุดมการณ์ งานการเมืองในหัวของพงส์ไม่ใช่งานการเมืองที่ต้องการชูธงของพรรควิ่งไปปักยังเป้าหมาย พร้อมตีฆ้องร้องป่าว และประกาศเปรี้ยงปร้างโครมคราม
พงส์เป็นบุคคลในสังกัดพรรคการเมืองก็จริง แต่ในสายตาของเขานั้น พรรคการเมืองก็คือหนึ่งในดุลกำลังทางการเมืองอีกหลายๆ ดุล ว่ากันว่าที่ผ่านมาตลอดเวลานั้น พงส์เป็นผู้เดินเกมการเมืองในฐานะผู้เดินเกมวงกว้างมากกว่าตัวแทนจากพรรคกิจสังคมที่เดินเกมต่อสู้กับดุลกำลังอื่นๆ
หนังสือพิมพ์บางฉบับเคยเขียนถึงพงส์ในประเด็นนี้ ในทำนองว่า "พงส์เป็นคนของกิจสังคม หรือเป็นคนของฝ่ายอื่นที่มาอยู่ในกิจสังคมกันแน่"
หลายๆ ครั้ง คนในพรรคกิจสังคมแสดงความไม่พอใจที่พงส์ไม่ทำพรรคให้ฮือฮา และมีบรรยากาศทางการเมืองเหมือนที่พิชัยกำลังทำอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์
ที่แน่นอนนั้น พงส์ไม่เคยเคร่งเครียด ไม่ชอบเรื่องที่ต้องเหน็ดเหนื่อย ทำตัวสนุกสนาน นอนตื่นสาย ไม่ชอบขวางลำ และมีสัมพันธ์อันดีกับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ..."
(จากล้อมกรอบ "มีใครบ้างที่ไม่ต้องการพลเอกเปรม" ประกอบเรื่องหลัก "ใครจะโค่นพลเอกเปรมได้?" นิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนตุลาคม 2529)
ตระกูล "สารสิน" ถูกขนานนามมาตลอดว่าเป็น "เคเนดี้เมืองไทย" ด้วยภาพลักษณ์นี้ ทำให้แม้ทุกวันนี้ที่พงส์ทิ้งบทบาททางการเมืองมาแล้วเกือบ 20 ปี แต่เชื่อว่าเขายังติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกยกให้เป็นตัวแทนของกลุ่มทุนใหม่ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับการขยายตัวของตลาดหุ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ที่เรื่องของธุรกิจกับการเมืองมีการผสมผสานกันอย่างซับซ้อน
ในรัฐบาลที่แล้ว พรวุฒิลูกชายคนเล็กของเขาก็เป็น ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคประชาธิปัตย์
น้องชายของเขา พล.ต.อ.เภา ปัจจุบันเป็นรองประธาน ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งมีซีอีโอชื่อบัณฑูร ล่ำซำ ที่เคยปะทะคารมกับ พ.ต.ท.ทักษิณผ่านทางสื่อเป็นระยะ
หลานชายของเขา พาทีเป็นซีอีโอของนกแอร์ สายการบินต้นทุนต่ำ ที่มีคู่แข่งสำคัญคือไทยแอร์เอเซีย ที่ถือหุ้นใหญ่โดย SHIN
ตัวพงส์เองก็เคยเป็นทั้งกรรมการของธนาคารกสิกรไทย และไทยพาณิชย์ ซึ่งมีส่วนสำคัญใน deal ซื้อหุ้น SHIN ครั้งนี้ด้วย
เมื่อปี 2538 ครั้งที่เจริญ สิริวัฒนภักดี กำลังจะนำ บงล.มหาธนกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เจริญได้เชิญพงส์มาเป็นประธานบริษัท พงส์ซึ่งขณะนั้นอายุ 68 ปี รับปากทั้งๆ ที่ในใจกำลังคิดอยากจะทำงานให้น้อยลง
"ปีนี้ทั้งปีผมจะประชุมเยอะมาก พรุ่งนี้ก็ต้องไปประชุมอีกวันพฤหัสบดีก็ประชุม ตามปกติตอนหนุ่มๆ จะมีเวลาทำงานทั้งวัน แต่ตอนนี้อายุ 68 แล้ว ผมจะทำงานแค่ครึ่งวัน พอเที่ยงผมก็จะเลิก แล้วกลับไปกินข้าวกับคุณพ่อ เพราะเป็นโอกาสเดียวที่จะพบกันก็คุยเรื่องงานบ้าง พอตกบ่ายผมจะเล่นกอล์ฟที่สปอร์ตคลับ ตกกลางคืนถ้ามีงานก็ไป แต่ถ้าไม่มี ผมจะดูหนังวิดีโอหนังจีน" พงส์เล่าให้ฟังถึงความสุขจากการตีกอล์ฟฝีมือแฮนดิแคป 14 ที่เคยฟลุกทำโฮลอินวันได้ถ้วยรางวัล
(จากเรื่อง "พงส์ สารสินกับงานเบาๆ ประธานกรรมการ "อันดับที่ครึ่งร้อย" รายงานผู้จัดการ นิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนกันยายน 2538)
แต่เมื่อถึงวันนี้สำหรับคนที่กำลังจะมีวัยครบ 79 ปีในอีกไม่ถึง 6 เดือนข้างหน้า พงส์น่าจะวางมือจากงานประจำต่างๆ ไปมากแล้ว
การเข้ามารับตำแหน่งประธาน SHIN ครั้งนี้ จึงน่ามีที่มาที่ไปมากกว่าแค่การที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้ไปทาบทามด้วยตัวเองตามที่เป็นข่าว รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้จาก www.gotomanager.com
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|