ความตกต่ำของตลาดรถยนต์เมืองไทยในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตลาดรถยนต์นั่งระดับหรูหรานั้น
ได้สร้างปัญหาให้กับผู้ค้าในตลาดนี้อย่างมากในทุกยี่ห้อ
และดูเหมือนว่า "ยนตรกิจ" กับความเหลวแหลกของบีเอ็มดับบลิวในไทย
ได้กลายเป็นปัญหาที่ดูหนักหนาที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นความตกต่ำของภาพพจน์ ชื่อเสียง
ยอดจำหน่ายที่ถดถอยอย่างมาก
ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่อาจจะรอเวลาเพื่อการแก้ไข แต่การกำหนดทิศทางเพื่ออนาคตและการแก้เกมเฉพาะหน้า
กลับยังไม่สามารถดำเนินการได้
ปัญหาใหญ่สุดของกิจการบีเอ็มดับบลิวในไทย ก็คือ ความไม่ลงตัวของโครงสร้างองค์กรใหม่ภายใต้การร่วมทุนครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างบีเอ็มดับบลิว
เอจี แห่งเยอรมนีกับกลุ่มยนตรกิจ
ในขณะนี้ แผนงานในการทำตลาดบีเอ็มดับบลิวในไทยยังไม่รู้จะเอาอย่างไร ทุกอย่างเกือบจะกลายเป็นการขอไปทีแทบทั้งสิ้น
ยิ่งกว่านั้นการเจรจาต่อรองในเรื่องอำนาจสิทธิ์ขาดในองค์กรที่ร่วมทุนครั้งใหม่นี้ยังคงยืดเยื้อต่อไป
ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้กิจการบีเอ็มดับบลิวในไทยต้องเสียโอกาสต่อไปอีก
"การเจรจาในรายละเอียดของการร่วมทุน จะสรุปผลเสร็จสิ้นในปีนี้แน่นอน"
คาร์ล เอช. กาซกา ที่ปรึกษาฝ่ายการตลาด และการขายจากบีเอ็มดับบลิว เอจี เยอรมนี
กล่าวอย่างมั่นใจ ส่วนผู้บริหารของไทยยานยนตร์ ซึ่งยังคงรับหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์บีเอ็มดับบลิวอยู่ในขณะนี้คาดว่า
บทสรุปคงต้องเลื่อนไปเป็นต้นปี 2541 จากเดิมที่คิดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2540
"เราต้องการที่จะเข้ามาดูแลด้านการตลาดเพียงอย่างเดียว จุดประสงค์หลักในการเข้ามาของบีเอ็มดับบลิว
เอจี คือต้องการเข้ามาดูแลในส่วนของการตลาดเท่านั้น เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเครือข่ายการจำหน่าย
และการบริการหลังการขายในทุกๆ ด้านโดยเฉพาะการสร้างภาพลักษณ์ของบีเอ็มดับบลิว"
กาซกากล่าวย้ำถึงวัตถุประสงค์ในการเข้ามาร่วมทุนของบีเอ็มดับบลิว เอจี
โครงสร้างการบริหารภายหลังการร่วมทุนนั้นทางบีเอ็มดับบลิว เอจี ต้องการที่จะแบ่งภาระหน้าที่ออกอย่างชัดเจน
ระหว่างบีเอ็มดับบลิว เอจี กับกลุ่มยนตรกิจ
กล่าวคือ ฝ่ายการผลิตจะยังคงมอบหมายให้บริษัท วาย เอ็ม ซี เอสเซมบลี จำกัด
โรงงานประกอบรถยนต์ของกลุ่มยนตรกิจทำหน้าที่ต่อไป ซึ่งในส่วนของภาคการผลิตนี้
บีเอ็มดับบลิว เอจี จะเข้าไปเป็นเพียงที่ปรึกษาด้วยการส่งผู้ชำนาญเข้ามาให้มากขึ้น
เพื่อพัฒนาการผลิตร่วมกับกลุ่มยนตรกิจ
"คงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในส่วนของโรงงานประกอบเพราะกลุ่มยนตรกิจทำได้ดีอยู่แล้ว
มีพัฒนาการที่ดี ซึ่งชัดเจนมากในการประกอบบีเอ็มดับบลิว 523 ตัวใหม่นี้"
กาซกา กล่าวยอมรับถึงคุณภาพของโรงงานประกอบของกลุ่มยนตรกิจ
สำหรับการตลาดนั้น บีเอ็มดับบลิว เอจี ต้องการให้บริษัท บีเอ็มดับบลิว
(ประเทศไทย) บริษัทร่วมทุนที่ตั้งขึ้นใหม่นี้เป็นผู้ดูแลทั้งหมด ทั้งก่อนและหลังการขาย
โดยช่องทางจำหน่ายจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนของดีลเลอร์อิสระทั่วๆ ไป ทั้งที่มีอยู่เดิม
และที่บีเอ็มดับบลิว (ประเทศไทย) จะแต่งตั้งเพิ่มขึ้นใหม่
และส่วนของบริษัทไทยยานยนตร์ ซึ่งจะกลายเป็นดีลเลอร์รายหนึ่ง เพียงแต่ว่าสาขาของไทยยานยนตร์ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันก็จะยังอยู่ต่อไป
สำหรับสาขาที่จะแต่งตั้งขึ้นมาใหม่ในอนาคตคงต้องผ่านความเห็นชอบของบริษัทร่วมทุนใหม่นี้ด้วย
ที่สำคัญช่องทางการตลาดทั้ง 2 ส่วนนั้นจะต้องขึ้นตรงต่อ บีเอ็มดับบลิว
(ประเทศไทย)
กาซกา มองว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาหลังจากประเทศไทยเปิดเสรีด้านรถยนต์แล้ว
ภาพพจน์ในส่วนของงานการตลาดงานบริการและด้านช่องทางจำหน่ายของบีเอ็มดับบลิวนั้นถดถอยลงไป
ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับของลูกค้า และเรื่องต่างๆ เหล่านี้ถ้าปล่อยให้เนิ่นนานออกไปอาจกลายเป็นเรื่องภาพพจน์
ซึ่งถ้าเสียหายแล้วก็ยากที่จะแก้ไขให้กลับคืนมาได้ในเวลาอันรวดเร็ว
"ภาพพจน์การบริการหลังการขายจะต้องปรับปรุงการวางเครือข่ายดีลเลอร์จะพัฒนาให้ดีกว่านี้
ซึ่งมีรายละเอียดอีกมากที่จะต้องเร่งทำ" กาซกา กล่าว
การลดบทบาทในด้านการตลาดเป็นหัวข้อสำคัญที่ทำให้การเจรจาระหว่างบีเอ็มดับบลิว
เอจี กับกลุ่มยนตรกิจต้องยืดเยื้อ แต่กาซกาก็มั่นใจว่าแผนงานในการเข้ามาพัฒนาตลาดบีเอ็มดับบลิวในไทยเพื่อการขยายตลาดในอนาคตนั้น
ไม่ได้ทำให้กลุ่มยนตรกิจสูญเสียประโยชน์ที่เคยได้รับในอดีต
"การปรับปรุงเครือข่ายดีลเลอร์จะทำให้บีเอ็มดับบลิวขยายตัวโตขึ้นอย่างมาก
ซึ่งจะทำให้ยนตรกิจไม่ได้เล็กลงในเรื่องขนาดของธุรกิจตามที่เข้าใจ"
กระนั้นก็ตาม โครงสร้างการถือหุ้นในบริษัท บีเอ็มดับบลิว (ประเทศไทย) ที่บีเอ็มดับบลิว
เอจี ต้องการถือหุ้นข้างมากพร้อมกับอำนาจการบริหารงานสูงสุด และตำแหน่งประธาน
ต้องเป็นชาวเยอรมันเท่านั้น เหล่านี้นับเป็นเรื่องที่รับยากเหมือนกันสำหรับคนในตระกูลลีนุตพงษ์
วิทิต ลีนุตพงษ์ กรรมการบริหารกลุ่มยนตรกิจ ทายาทคนสำคัญของตระกูลลีนุตพงษ์
เคยประกาศว่าต้องการที่จะรักษาประเพณีการบริหารของกลุ่มยนตรกิจ ที่คนไทยต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ เป็นเหตุที่ทำให้กลุ่มยนตรกิจต้องแตกหักกับฟอร์ด และเลิกทำธุรกิจร่วมกับฟอร์ด
ครั้งนั้นยนตรกิจไม่อาจยอมรับการลดฐานะจากที่เคยเป็นผู้แทนนำเข้า และจำหน่ายมาเป็นเพียงดีลเลอร์รายหนึ่งจากฟอร์ดจัดตั้งบริษัทฟอร์ด
เซลส์ (ประเทศไทย) ขึ้นมาดูแลธุรกิจในไทยเอง ซึ่งการเคลื่อนไหวของบีเอ็มดับบลิว
เอจี ในครั้งนี้ก็ใกล้เคียงกับเมื่อคราวของฟอร์ดเสียเหลือเกิน
สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของตลาดบีเอ็มดับบลิวในไทยนั้นถือว่าย่ำแย่เอามากๆ
ผ่าน 7 เดือนแรก ยอดจำหน่ายมีแค่ 1,714 คัน และด้านการประกอบก็ต้องลดจำนวนเหลือเพียง
200 คันต่อเดือน จากที่เคยผลิต 400 คันต่อเดือน
"ตอนนี้รถที่เราประกอบมีเพียง 2 รุ่น คือ 523 i และ 318 i ถึงวันนี้เรายังมีการประกอบรถตามปกติ
เพียงแต่ปรับลดกำลังการผลิตต้องลดลงมาเรื่อยๆ" ผู้บริหารของไทยยานยนต์
กล่าว
บีเอ็มดับบลิวเป็นรถยนต์ในกลุ่มหรูหรา ซึ่งได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี
2539 โดยตลาดรถยนต์หรูหราโดยรวมตกลงจากปี 2538 ถึง 30% ขณะที่ในปีนี้มีการคาดการณ์ว่าตลาดจะตกต่ำลงจากปี
2539 อีกและในอัตราที่มีความรุนแรงมากขึ้นด้วย
สำหรับบีเอ็มดับบลิว แม้จะดิ้นรนทั้งเรื่องแคมเปญ และทำการแก้ไขสถานการณ์ทางด้านยอดจำหน่ายในหลายด้านโดยเฉพาะปัญหาไฟแนนซ์
โดยการใช้เงินทุนของบริษัทเองในการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าผ่านทั้งสาขาและดีลเลอร์แล้วก็ตาม
แต่ก็ไม่สามารถกระตุ้นยอดการจำหน่ายขึ้นมาได้มากนัก
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเสมือนภาพสะท้อนให้ทางบีเอ็มดับบลิว เอจี ต้องตัดสินใจที่จะเร่งเข้ามาโดยเร็วและในทางกลับกัน
ในเมื่อตลาดบีเอ็มดับบลิวเล็กลงเรื่อยๆ ขณะที่รถยนต์ตัวใหม่อย่างกลุ่มโฟล์ก
ซึ่งยนตรกิจกำลังปั้นได้อย่างเพลิดเพลิน สวยงามและดีวันดีคืนนั้น จึงทำให้เกิดกระแสข่าวที่ว่า
ยนตรกิจอาจถึงขั้นตัดสินใจทิ้งบีเอ็มดับบลิว
ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการรถยนต์เมืองไทยเคยวิเคราะห์ว่า องค์กรอย่างยนตรกิจนั้นในอนาคต
จะไม่สามารถต้านกระแสการหลั่งไหลเข้ามาของบริษัทรถยนต์ต้นสังกัดได้ และเมื่อถึงเวลานั้น
ยนตรกิจจะต้องตัดสินใจเลือกว่าจะถือรถยนต์ยี่ห้อใดไว้ในมือ ซึ่งเชื่อมั่นได้ว่า
ยนตรกิจจะถือไว้ได้ไม่มากเช่นปัจจุบัน และที่สุดแล้วจะต้องเลือกระหว่างกลุ่มโฟล์กกับบีเอ็มดับบลิว
แหล่งข่าวจากกลุ่มยนตรกิจกล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทำให้กลุ่มยนตรกิจต้องกลับมาทบทวนความสำคัญ
ในการทำตลาดระหว่างบีเอ็มดับบลิวกับกลุ่มโฟล์ก โดยเฉพาะออดี้ซึ่งนับได้ว่าเป็นคู่แข่งสำคัญ
และโดยตรงกับบีเอ็มดับบลิว
ที่สำคัญ กว่าหนึ่งปีมาแล้วที่ โฟล์ก กรุ๊ป แห่งเยอรมนี ได้พยายามทั้งกดดันและเชิญชวนให้กลุ่มยนตรกิจดำเนินกิจการของรถยนต์ในกลุ่มโฟล์กในลักษณะเชิงรุกให้มากขึ้น
ด้วยเห็นว่าตลาดของกลุ่มโฟล์กในไทยสามารถไปได้ พร้อมด้วยแผนการประกอบในประเทศที่กลุ่มโฟล์กกำลังนำขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่
ในขณะนี้ความเคลื่อนไหวในส่วนงานของรถยนต์กลุ่มโฟล์กหรือกลุ่มทีเอที่ยนตรกิจถือครองอยู่นั้น
ดูคึกคักมากในเรื่องของแผนงานการแยกโชว์รูมและศูนย์บัญชาการซึ่งกลุ่มโฟล์กต้องการให้เป็นอย่างนั้น
เมื่อสำนักงานของออดี้ ที่พระราม 9 เสร็จ สำนักงานใหญ่ของที้ง 3 ยี่ห้อในกลุ่มโฟล์กจะแยกกันชัดเจน
ซึ่งเป็นวิถีใหม่ของเครือยนตรกิจในเรื่องของการแยกยี่ห้อตามที่กลุ่มโฟล์กต้องการ
และยนตรกิจยุคใหม่ก็เห็นดีด้วย กล่าวคือ ออดี้จะอยู่พระราม 9, เซียท จะอยู่ที่ทองหล่อ
และโฟล์กจะอยู่ที่สำนักงานวิภาวดี-รังสิต ที่เดิม
การโอนอ่อนตามคำเรียกร้องของกลุ่มโฟล์ก ดูจะง่ายดายยิ่งนัก และยิ่งไปกว่านั้นในระยะหลังจะได้เห็นวิทิตเข้ามามีบทบาทในส่วนงานของกลุ่มโฟล์กมากขึ้นอย่างผิดสังเกต
ทั้งที่ก่อนหน้านั้นจะมุ่งไปที่บีเอ็มดับบลิวเป็นหลัก
ความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มยนตรกิจในส่วนงานบีเอ็มดับบลิวจะออกมาในรูปใด รุนแรงแค่ไหน
คงต้องใช้เวลา
แต่คงอีกไม่นานเกินรอ
และการร่วมทุนระหว่างยนตรกิจกับบีเอ็มดับบลิว จะเสร็จสิ้นลุล่วงหรือไม่คงต้องรอหลังจากที่วิทิตเดินทางกลับมาแล้ว
แต่ครั้งนี้ วิทิตไม่ได้กลับมาจากการเจรจากับบีเอ็มดับบลิว
การเจรจาของวิทิตครั้งล่าสุดกลับเป็นการเจรจากับกลุ่มโฟล์ก
ภาพเลยยิ่งชัดเจนเข้าไปอีก