|

“ไทยแอร์เอเชีย”หวยล็อค “นอมินี”ของ สิงคโปร์
ผู้จัดการรายสัปดาห์(27 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
14 วันหลังจากชินฯขายหุ้นให้กับสิงคโปร์แต่ไทยแอร์เอเชียยังคงบินได้โดยไม่ถูกระงับสิทธิ์
14 วันที่ไทยแอร์เอเชียทำทุกอย่างให้ลงตัวเพื่อความถูกต้องตามกฎหมาย
14 วันที่บริษัทแอร์เอเชียในมาเลเซียกลับนิ่งเฉยไม่มีปฏิกิริยาใดๆตอบโต้
14 วันเพื่อหาคนไทยที่พอมีเงิน 200 ล้านบาทเข้ามาลงทุน แต่ไม่ต้องมายุ่งกับการบริหาร CEO
และนับจากวันขายหุ้นชินฯให้สิงคโปร์จนถึงปัจจุบันไทยแอร์เอเชียยังเปิดให้บริการลูกค้าตามปกติ สวนกระแสของ “นอมินี ”อย่างสิ้นเชิง ด้วยเหตุผลสั้นๆของ CEO ไทยแอร์เอเชียว่าไม่ต้องการให้พนักงานบริษัทกว่า 1 พันคนต้องตกงาน
ธุรกิจการบินของไทยแอร์เอเชียวันนี้อาจไม่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการมากนักเพราะยังคงเดินทางได้อย่างต่อเนื่อง แต่อนาคตอันใกล้ถ้าปัญหายังไม่มีบทสรุป ในแง่ของความไม่ชัดเจนกรณีกลุ่มผู้ถือหุ้นว่าเป็นของคนไทยหรือต่างชาติอาจจะส่งผลกระทบต่อลูกค้ากับองค์กรจนเกิดความไม่มั่นใจที่จะจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้า แม้ว่าผู้บริหารของไทยแอร์เอเชียจะออกมาชี้แจงว่าทำถูกต้องตามกฎหมายแล้วก็ตามพร้อมกับออกแคมเปญใหม่ภายใต้ชื่อ “แจ่ม”ออกมากระตุ้นกลุ่มลูกค้าหวังกลบกระแสข่าวร้อนๆภายในบริษัท
การเคลื่อนไหวของกลุ่มไทยแอร์เอเชียหลังจากที่โดนกระแสสังคมว่าเป็นบริษัทอุ้มของรัฐบาลมาโดยตลอด ปัจจุบันการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับสิงคโปร์ กลับทำให้ไทยแอร์เอเชียถึงกลับตั้งตัวไม่ติดชนิดที่ผู้บริหารไทยแอร์เอเชียเอ่ยปากว่าไม่รู้เรื่องถึงการขายหุ้น... สร้างความปั่นป่วนให้กับบริษัทไทยแอร์เอเชียถึงสองสัปดาห์เต็มๆ และเป็นช่วงสองสัปดาห์ที่ไทยแอร์เอเชียถูกตั้งคำถามว่า...ทำไมถึงไม่โดนระงับสิทธิการบินทั้งที่หุ้นส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย จนเป็นที่มาของคำว่า “นอมินี” บริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด ที่เข้ามาเสียบชนิดสายฟ้าแล๊บ
การเปิดปูมบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด ที่เข้ามากอบกู้สิทธิการบินของไทยแอร์เอเชีย นับวันจะยิ่งทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยว่าเป็นบริษัทคนไทยหรือต่างชาติกันแน่...เป็นคำถามที่ยากจะหาคำตอบเพราะทุกฝ่ายทั้งกรมขนส่งทางอากาศและกระทรวงพาณิชย์ต่างยืนยันว่าไทยแอร์เอเชียทำถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง
"มันการเมืองอยู่แล้ว เขาปฏิบัติตามกฎหมายทุกอย่าง เราก็ไม่เคยเลือกปฏิบัติ แอร์เอเชียไม่เคยได้สิทธิ์มากกว่าสายการบินอื่นเลย" พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงไทยแอร์เอเชีย
ขณะที่ ชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ อธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ ออกมาตอกย้ำ "เรามีหน้าที่แค่ว่าการถือหุ้นของ บ.ไทยแอร์เอเชียถูกต้องหรือไม่ จะให้ผมไปบอกว่ากระทรวงพาณิชย์ผิด ผมจะพูดได้อย่างไร เหมือนกับว่าผู้โดยสารที่เดินทางมากับไทยแอร์เอเชียมีคนต่างด้าวเดินทางเข้ามา แล้วมาโทษว่าทำไมกรมขนส่งฯ ปล่อยมาได้อย่างไร มันก็ไม่ใช่ มันต้องไปดูเรื่องกฎหมายคนต่างด้าว เป็นหน้าที่ของตรวจคนเข้าเมือง แต่ถ้าเครื่องเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ตรงนี้ค่อยเป็นหน้าที่ของกรมการขนส่งทางอากาศ เพราะฉะนั้นไทยแอร์เอเชียต้องทำถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น"และว่า หลังจากนี้หน้าที่ของกรมการขนส่งทางอากาศคือเรื่องผลกระทบต่อผู้โดยสาร และความปลอดภัยของสายการบิน
เรื่องนี้จึงถูกโยนเป็นปัญหาของชินคอร์ปเองทั้งหมด ขณะที่ แอร์เอเชีย มาเลเซีย กลับไม่มีปฏิกิริยาใดๆตอบสนองเพราะสัดส่วนการถือหุ้นยังคงเหมือนเดิม และเป็นสัญญาที่มีการตกลงมาตั้งแต่ร่วมลงทุน
การขายหุ้นของชินคอร์ปในไทยแอร์เอเชีย ให้กับบริษัทเอเซีย เอวิเอชั่น ขายในราคา 400 ล้านบาท ทั้งชินคอร์ปและสิทธิชัย จะต้องลงทุนในเอเซีย เอวิเอชั่น ฝ่ายละประมาณ 200 ล้านบาท
เงินจำนวนกว่า 200 ล้านบาท ที่ สิทธิชัย ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด ต้องนำมาใช้ลงทุนแต่ไม่มีส่วนบริหารจัดการ ก็เป็นอีกคำถามหนึ่งที่ถูกตั้งกระทู้ถามผู้บริหารไทยแอร์เอเชียว่านำมาจากไหน...ใครคือนายทุนตัวจริง?...หรือเป็นแค่ “นอมินี”
“การที่คุณสิทธิชัย เข้ามาลงทุนได้ตามเงื่อนไขที่เราวางไว้ ว่าจะเข้ามาเป็นผู้ลงทุนอย่างเดียว ก็มีทั้งเงินที่เขานำเงินส่วนตัวมาลงทุน บางส่วนกู้เป็นเงินกู้ ผมรู้จักเขาเป็นการส่วนตัว ไม่สนว่าเขาทำอะไร ผมทำให้โครงสร้างทุกอย่างถูกต้องตามที่ขอ.กำหนด ทำให้พนักงานกว่า 1 พันคนของสายการบินไม่ต้องตกงานผมก็พอใจมากแล้ว”ทัศพล กล่าว
และด้วยระยะเวลาการตัดสินใจเพียงแค่ 2 ชั่วโมงเพื่อเข้ามาเป็นหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด ของ สิทธิชัย ที่ผู้บริหารของไทยแอร์เอเชียได้พูดคุยกันก็ขัดกับความเป็นจริงสำหรับนักธุรกิจที่จะตัดสินใจลงทุนด้วยเม็ดเงินกว่า 200 ล้านด้วยระยะเวลาเพียงสั้นๆอย่างนั้น แม้ว่าทัศพลจะแก้ต่างด้วยคำตอบที่ว่า สิทธิชัยเคยทำธุรกิจด้านขนส่งด่วนทางอากาศมาแล้วและมีข้อมูลทั้งหมดของธุรกิจการบินแถมมีความพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจ
“ดีกว่านำเงินไปฝากธนาคารเสียอีก เพราะดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 3% เท่านั้น แต่คุณลงทุนกับไทยแอร์เอเชียจะได้มากกว่า 3%”ทัศพล กล่าวเปรียบเปรย
กรณีการเป็นตัวแทนหรือตัวจริงยังคงเป็นสิ่งที่คาใจในสังคม ตราบใดที่ สิทธิชัย ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด ยังไม่ยอมเปิดปากถึงที่มาที่ไปของเงินลงทุนจำนวนมหาศาลเหล่านั้น คำว่า “นอมินี”จึงเป็นคำที่ถูกหยิบนำมาใช้กับบริษัทที่ถือหุ้นใหญ่ของสายการบินไทยแอร์เอเชียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|