|
เคทีซีโชว์ กำไรปี 48ทะลุ 653 ล้านบาท เน้นแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
ผู้จัดการรายวัน(24 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
"เคทีซี" โชว์ผลประกอบการปี 2548 กำไรสุทธิ 653 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.6% ผลจากความสำเร็จของแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายได้ผลดีเกินคาด ดันฐานสมาชิกพุ่งทั้งธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อเจ้าของกิจการเพิ่มขึ้น พร้อมเน้นรักษาคุณภาพหนี้และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้ลดลง ประกาศเดินหน้ากลยุทธ์สร้างความแตกต่างในการออกแคมเปญทางการตลาด รักษาความเป็นผู้นำธุรกิจบัตรเครดิตของไทย
นายนิวัตต์ จิตตาลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)หรือเคทีซี เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2548 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 ว่า บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 653 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.6% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิในช่วงเดียวกันของปี 2547 และคิดเป็นกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐานเท่ากับ 2.55 บาทต่อหุ้น
การเพิ่มขึ้นของรายได้รวมในปี 2548 เท่ากับ 5,883 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.6% เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมที่ยังคงรักษาระดับการเติบโตอย่างต่อเนื่องถึง 57% และ 39% ตามลำดับ
โดยรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อเจ้าของกิจการ มีบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้เพิ่มให้แก่บริษัทฯ เป็นอย่างมาก คือ มีอัตราการเติบโตสูงสุดถึง 488 ล้านบาท คิดเป็น 8.3% ของรายได้ดอกเบี้ยรวม อย่างไรก็ตาม บัตรเครดิตยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำรายได้สูงสุดให้กับบริษัท คิดเป็น 72%ของรายได้รวม รองลงมาคือ รายได้จากธุรกิจสินเชื่อบุคคล"
ในส่วนของค่าใช้จ่ายรวมมีจำนวน 4,187 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2547 เท่ากับ 42.4% โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนั้นเกิดจากปริมาณหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญรวม ที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายในการบริหารรวมที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการที่บริษัทฯ ขยายพื้นที่สำนักงานบางส่วนไปที่ตึกไทยซัมมิท และเพิ่มศูนย์บริการ KTC Boutique Branch เป็น 16 สาขา และ KTC Touch เป็น 35 สาขา เพื่อให้บริการลูกค้าได้สะดวกและทั่วถึงยิ่งขึ้น
สำหรับฐานะทางการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 เคทีซีมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 29,601 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.2% จากสิ้นปี 2547 โดยสินทรัพย์หลักของบริษัทฯ ประกอบด้วย ยอดลูกหนี้จากธุรกิจบัตรเครดิต 19,494 ล้านบาท ธนวัฏบัตรเครดิต 708 ล้านบาท สินเชื่อบุคคล 3,705 ล้านบาท และสินเชื่อเจ้าของกิจการ 3,975 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 27,881 ล้านบาท หรือ 94.19% ของสินทรัพย์รวม และมีจำนวนบัตรเครดิต ณ สิ้นปี 2548 เท่ากับ 1,205,316 บัตรเคทีซีได้สร้างปรากฏการณ์แปลกใหม่ ในการออกแคมเปญทางการตลาดที่ดึงดูดความสนใจลูกค้าเป็นอย่างดีและต่อเนื่องตลอดปี 2548 ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญน้ำมัน แคมเปญ KTC Make Sense ที่มอบสิทธิพิเศษให้สมาชิกมีโอกาสได้รับสิทธิ์ใช้จ่ายผ่านบัตรฟรี หรือแคมเปญสุดท้ายของปี "ใช้ชีวิตที่น่าอิจฉากับเคทีซี" ซึ่งสมาชิกบัตรจะได้รับสิทธิประโยชน์มากมายจากการใช้จ่ายผ่านบัตร
โดยเป้าหมายสำคัญของเคทีซีคือ มุ่งเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงใจผู้บริโภคทุกกลุ่ม ครอบคลุมทุกรูปแบบไลฟ์สไตล์ และทุกกิจกรรมการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (Everyday Usage) เพื่อสร้างความสะดวกสบายในการจับจ่าย โดยเน้นการสร้างแบรนด์เคทีซีให้เป็นแบรนด์ในใจลูกค้า (Most Preferred Brand) และมุ่งผูกใจสมาชิกด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสมาชิกในระยะยาว (Brand Experience) ผนวกเข้ากับการรวบรวมสิทธิประโยชน์มากมายในด้านต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันในบัตรเดียว ภายใต้คอนเซ็ปท์การเป็น Membership Company" ตลอดจนการควบคุมต้นทุนโดยใช้บริการงานบางด้านจากบริษัทภายนอก (Outsource) อาทิ งานด้านการติดตามหนี้ งานด้านจัดหาสมาชิก มีผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้ในปี 2547 ลดลงจาก 60% เหลือเพียง 55% ณ สิ้นปี 2548"
ในด้านธุรกิจสินเชื่อบุคคล มียอดลูกหนี้ KTC Cash สุทธิจำนวน 3,705 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% จากสิ้นปี 2547 เนื่องจากบริษัทได้ปรับแผนการดำเนินงานของธุรกิจนี้ โดยต้องการคุมมาตรฐานคุณภาพของลูกหนี้ KTC CASH ให้ชะลออัตราการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้ ตามภาวะเศรษฐกิจรวมที่มีอัตราการเติบโตน้อยกว่าที่ประมาณการไว้ ประกอบกับการที่บริษัทเน้นให้ความสำคัญด้านคุณภาพหนี้เป็นหลัก โดยมีจำนวนบัญชีของลูกหนี้ KTC CASH ในสิ้นปี 2548 เท่ากับ 136,810 บัญชี เพิ่มขึ้น 11.2%
ธุรกิจสินเชื่อเพื่อเจ้าของกิจการ KTC Million และได้ฉลองครบรอบหนึ่งปีในเดือนกันยายน 2548 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งได้จัดตั้ง KTC Million Club ให้เป็นสื่อกลางของกลุ่มผู้ประกอบการที่อาจจะเอื้อประโยชน์ในธุรกิจระหว่างกัน มีโอกาสได้พบปะสังสรรค์เพื่อต่อยอดทางธุรกิจซึ่งกันและกัน โดยมียอดลูกหนี้สุทธิ KTC Million ณ สิ้นปี 2548 เท่ากับ 3,975 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,107 ล้านบาท จากจำนวน 1,868 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2547 และมีจำนวนบัญชีของ KTC Million ทั้งสิ้น 2,786 ราย ณ สิ้นปี 2548 เพิ่มขึ้นจาก 909 รายในปี 2547"
สำหรับการจัดการดูแลด้านความเสี่ยงของลูกหนี้ บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในทุกธุรกิจสินเชื่อที่ให้บริการ โดยมีฝ่ายงานด้านวิเคราะห์คุณภาพของพอร์ตลูกหนี้และอนุมัติสินเชื่อ เป็นผู้คอยควบคุมดูแลบริหารความเสี่ยงในการให้สินเชื่อ รวมทั้งฝ่ายติดตามหนี้ที่คอยดูแลด้านการผิดนัดชำระหนี้ ตลอดจนตรวจสอบสถานภาพการใช้เงินทั้งจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (National Credit Bureau) และระบบฐานข้อมูลลูกค้าของบริษัทฯเอง โดยพิจารณาถึงความเสี่ยงรวมของลูกค้าแต่ละราย จึงมีผลให้บริษัทฯ มีอัตราการค้างชำระ 30-179 วัน (Delinquency Rate) อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม"
ผลประกอบการข้างต้นสามารถวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญได้ดังนี้ บริษัทฯ มีหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) เท่ากับ 4.18 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีการออกหุ้นกู้ระยะยาวเพิ่มขึ้นในระหว่างปี แต่บริษัทฯยังคงสภาพคล่องทางการเงินและคงความสามารถในการชำระหนี้คืนได้ โดยมีอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) เท่ากับ 2.5% และมีอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เท่ากับ 12.0% เพิ่มสูงขึ้นเทียบกับ ณ สิ้นปี 2547 ทั้งนี้ เกิดจากผลกำไรของบริษัทฯ ที่เพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่มากกว่าการเพิ่มขึ้นของส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นจากการใช้สิทธิของ ESOP และจากการที่บริษัทฯสามารถขยายธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงการส่งเสริมการตลาดประเภทต่างๆที่เพิ่มรายได้ให้กับบริษัทฯ แสดงว่าบริษัทฯมีความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้นด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|