"ทนง พิทยะ"ช่วย"ชินวัตร"รวย 1.7 หมื่นล้าน บริการหลังการขายรับประกันความถูกต้อง


ผู้จัดการรายสัปดาห์(27 กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ทนง พิทยะ สร้างบันทึกประวัติศาสตร์อีกครั้งในฐานะขุนคลัง ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มหุ้น SHIN กว่า 1.7 หมื่นล้านบาทก่อนขายเทมาเส็ก แถมบริการหลังการขายออกรับถูกต้องทุกกรณี หน่วยงานอย่างสรรพากร-ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ล้วนอยู่ใต้อาณัติแทบทั้งสิ้น อย่างมากเสียค่าปรับแค่ 20 ล้านบาท

การเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นครั้งที่ 2 ในชีวิตของทนง พิทยะ โดยครั้งแรกสร้างผลงานที่ทุกคนจะต้องจดจำไปตลอดนั่นคือระหว่าง 21 มิถุนายน-24 ตุลาคม 2540 และเป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมพลึกโฉมค่าเงินบาทของไทยที่เปลี่ยนจากระบบคงที่มาเป็นลอยตัว สร้างความเสียหายให้กับภาคธุรกิจมากมายและลามมาถึงภาวะเลิกจ้างงานของมนุษย์เงินเดือนในภาคต่าง ๆ

ภายใต้รัฐบาลไทยรักไทย 2 ทนง พิทยะ เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก่อนสลับตำแหน่งกับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทนเมื่อ 2 สิงหาคม 2548 นับเป็นการนั่งเก้าอี้เจ้ากระทรวงคลังเป็นครั้งที่ 2 แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในระยะแรกแต่เหตุการณ์ในอดีตไม่ได้บั่นทอนกำลังใจของรัฐมนตรีคลังคนปัจจุบันแม้แต่น้อย

โฆษกตระกูลชินอีกคน

สิ่งที่น่าจับตาอย่างยิ่งสำหรับการเข้ามานั่งเก้าอี้ขุนคลังครั้งที่ 2 กำลังจะกลายเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของประเทศไทย จากกรณีการขายหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น เมื่อ 23 มกราคม 2549 มูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาทให้กองทุนจากสิงคโปร์ ไม่เสียภาษีสักบาท โดยได้รับการยกเว้นภาษีรายได้บุคคลธรรมดาตามประกาศกระทรวงฉบับที่ 126 ที่ออกตามประมวลรัษฎากร (23)

แม้กระทั่งความไม่ชอบมาพากล จากรายการโอนหุ้นชิน คอร์ปในบริษัท Ample Rich Investment Ltd. ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างพานทองแท้ และพิณทองทา ชินวัตร ลูกชายและลูกสาวนายกรัฐมนตรี ที่ซื้อขายกันที่ราคา 1 บาทเมื่อ 20 มกราคมก่อนวันขายจริงเพียง 1 วัน ทนงย้ำว่าถูกต้องไม่มีอะไรผิดปกติ

กระทั่งการตอบโต้กับพรรคการเมืองฝ่ายค้านว่าบริษัท Ample Rich มีสถานที่ตั้งอยู่จริง และอยู่ในเกาะบริติช เวอร์จิ้น เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมาทำหน้าที่ยืนยันความบริสุทธิให้กับหัวหน้ารัฐบาลทุกขั้นตอน และกระทำทันทีหลังจากถูกสังคมตั้งคำถาม ก่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตรวจสอบความถูกต้อง เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาจะตัดสินต่างไปจากคำยืนยันของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปได้อย่างไร

คุมสรรพากร-ก.ล.ต.-ตลท.

หน่วยงานแรกภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรง และเป็นจุดใหญ่ของปมสงสัยเรื่องการซื้อขายหุ้นครั้งประวัติศาสตร์แต่กลับไม่เสียภาษีสักบาทนั้น ศิโรตน์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมสรรพากร ได้ยกข้อกฎหมายต่าง ๆ ออกมาชี้แจงต่อประชาชน แต่ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ และกลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนในวงกว้าง และก่อให้เกิดการเข้าร่วมชุมนุมเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาต่อเนื่องถึง 11 กุมภาพันธ์และ 26 กุมภาพันธ์น่าจะมีผู้ร่วมชุมนุมมากกว่า 2 ครั้งที่ผ่านมา หลังจากกลุ่มของพลตรีจำลอง ศรีเมือง ประกาศเข้าร่วมชุมนุมเพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก

กรณีการซื้อขายหุ้นชิน คอร์ป ผ่าน Ample Rich อยู่ภายใต้การตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่เบื้องต้นมีแนวโน้มจะมีความผิดเกี่ยวกับการรายงานการถือหุ้น ซึ่งจะต้องมีการลงโทษโดยวิธีการเปรียบเทียบปรับ และที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครต้องโทษถึงจำคุก

เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างของ ก.ล.ต.จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานโดยตำแหน่ง แม้ที่ผ่านมาจะไม่มีการเข้าไปแทรกแซงการทำงาน แต่คนในก.ล.ต.ก็ทราบดีว่าตำแหน่งดังกล่าวมีบทบาทสำคัญ แถมคนที่เข้ามาร่วมเป็นกรรมการใน ก.ล.ต.เองก็มาจากองค์กรของรัฐ บางท่านเกี่ยวพันกับรัฐบาลชุดนี้

อีกหน่วยงานหนึ่งที่เกี่ยวข้องคือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) แม้จะดูว่าไกลจากอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่การเยี่ยมตลาดหุ้นทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีคลังก็เป็นเครื่องยืนยันได้ประการหนึ่งว่า ตลาดหลักทรัพย์ก็ต้องฟังกระทรวงการคลังเช่นกัน คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ก็มีคนใกล้ชิดของนายกรัฐมนตรีเข้ามาร่วมเป็นกรรมการด้วย บางคนเพิ่งได้รับตำแหน่งให้ดูแลหน่วยงานภาครัฐ

ประเด็นเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน (Insider Trading) ที่ตลาดหลักทรัพย์ต้องตรวจสอบ โดยเฉพาะกรณีของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ขายหุ้น ADVANC ออกมาอย่างต่อเนื่องได้ข้อสรุปแล้วว่าเป็นการขายตามปกติหลังจากได้รับหุ้นจากการจัดสรรให้พนักงานและกรรมการ เช่นเดียวกับการขายหุ้นชิน คอร์ป ของ Ample Rich ที่เดิมแจ้งว่าขายผ่านตลาดหลักทรัพย์แต่สุดท้ายก็พลิกมาเป็นซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์

จะเห็นได้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีการขายหุ้นชิน คอร์ป ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้อำนาจของทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมทั้งสิ้น ดังนั้นดีลประวัติศาสตร์จากการขายชิน คอร์ป จนเกิดกระแสสังคมทั่วบ้านทั่วเมือง ทนง พิทยะ จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะตอบได้ชัดเจนที่สุดว่าดีลนี้เป็นดีลที่ชอบธรรมหรือไม่ และถ้าการขายครั้งนี้จะมีอะไรผิดพลาดไปบ้างอย่างมากก็แค่เสียเงินค่าปรับแค่ 20 ล้านบาท ถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับ 7.3 หมื่นล้านบาท

เจ้านาย-ลูกน้อง

ย้อนกลับไปช่วงต้นเดือนธันวาคม 2548 ทนง พิทยะ ได้ออกกล่าวในเชิงตำหนิการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นในงานสัมมนาวันตลาดนัดนักลงทุนไทย(3ธ.ค.2548)ว่า อัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรสุทธิ (P/E RATIO) ของตลาดหุ้นไทยต่ำกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศที่ควรจะเป็น เพราะเชื่อว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยนั้นดีกว่าอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ แข็งแกร่งกว่ามาเลเซีย แต่ทำไมพี/อี ของตลาดหุ้นยังต่ำกว่าประเทศเหล่านั้น เป็นโจทย์สำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นต้องตอบ โดยเฉพาะผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม

ช่วงดังกล่าวราคาหุ้นชิน คอร์ป (SHIN) ปิดตลาด(2 ธ.ค.2548) ราคา 37.75 บาท ที่ดัชนี 659.91 จุด เมื่อเปิดตลาดวันที่ 6 ธันวาคม 2548 ตลาดหุ้นไทยก็พุ่งทะยานด้วยแรงซื้อของนักลงทุนต่างประเทศอย่างหนาตา ต่อเนื่องข้ามปีถึงมกราคม 2549 กระทั่ง 23 มกราคม 2549 ดัชนีปิดที่ 750.28 จุด หุ้น SHIN ปิดที่ 48.25 บาท ขณะที่ราคาที่กลุ่มเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ รับซื้อที่ 49.25 บาท

ไม่มีใครจะคิดว่าความปรารถนาดีของขุนคลังแค่ 30 กว่าวัน จะช่วยให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 90.37 จุด คิดเป็น 13.69% แถมราคาหุ้น SHIN เพิ่มขึ้น 10.5 บาท ก่อนที่จะขายได้ที่ 49.25 บาท ช่วยให้ผู้ถือหุ้นที่ขายไม่ว่าจะเป็นพานทองแท้ พิณทองทา ชินวัตรและบรรณพจน์ ดามาพงศ์ กำไรเพิ่มกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท

พร้อมด้วยบริการหลังการขายที่ออกมาการันตีว่าดีลการขายครั้งนี้ถูกต้องด้วยกระบวนการทางกฎหมาย ไม่ว่าทางด้านภาษีหรือที่มาที่ไปของ Ample Rich ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าเมื่อครั้งที่เคยดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ (ก่อนเป็นชิน คอร์ปอเรชั่น) ที่มีทักษิณ ชินวัตร เป็นนาย กระทั่งเมื่อเป็นผู้บริหารในธนาคารทหารไทยแล้วแบงก์แห่งนี้มีปัญหาเรื่องเพิ่มทุน กลุ่มชินวัตรก็เข้าไปช่วยซื้อหุ้น ที่มีชื่อของพานทองแท้ ชินวัตร ติดอันดับผู้ถือหุ้นใหญ่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะขายออกไป

จึงไม่แน่ใจว่าความช่วยเหลือเกื้อกูลที่เคยมีกันมา จะส่งผลมาถึงปัจจุบันหรือไม่ ที่ท่านหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีและอีกท่านหนึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.