|
“รัฐสิงคโปร์” ยึดอาณาจักรการเงิน เติมทุนแทรกซึมพื้นที่ทุกตารางนิ้ว
ผู้จัดการรายสัปดาห์(27 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
“เทมาเส็ก โฮลดิ้ง” ตัวแทนผลประโยชน์ฝ่ายรัฐบาล“สิงคโปร์” อาจไม่ใช่รายแรกและรายสุดท้าย ที่ถูกมองเป็นกลุ่มทุนระดับประเทศ ซึ่งกำลังรุกเข้ายึดครองธุรกิจต่างๆหลากหลายในไทยอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ สายการบินหรือแม้แต่ธุรกิจโทรคมนาคม ดาวเทียมและธุรกิจสื่อสาร แต่ถ้าสังเกตุให้ดีจะเห็นว่า “สิงคโปร์” เริ่มขยายอาณาเขตเข้ามานับจากวิกฤตเศรษฐกิจเป็นต้นมา ก็กำลังจดจ้องตาเป็นมันจะเข้ายึดครองอาณาจักรภาคการเงิน พื้นที่ทำรายได้ที่ตนเองถนัดและเชี่ยวชาญอย่างรวดเร็ว ชนิดที่หลายคนก็คาดไม่ถึง...
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา “ดีลชินคอร์ป-เทมาเส็ก โฮลดิ้ง” ที่เพิ่งจบลงแบบไม่สวยสดงดงามในสายตาผู้คนทั่วไป พร้อมกับการเข้ามาถือครองหุ้นส่วนใหญ่บริษัทในเครือชินคอร์ปแทบทุกอุตสาหกรรมอาจจะเป็นดีลหนึ่งที่มีเม็ดเงินมหาศาล จนน่าตื่นตะลึง
แต่ถ้าย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่า ทุนจากสิงคโปร์ ที่ผ่านเข้ามาในนามตัวแทนรัฐบาลสิงคโปร์ หรือภาคเอกชน ได้พยายามเข้ามาถือครองกรรมสิทธิ์ โดยเฉพาะธุรกิจภาคการเงินในช่วงต้นๆ
เห็นได้ชัดจากช่วง“วิกฤตต้มยำกุ้ง” ที่สถาบันการเงิน รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ ถูกนำมาวางขายลดราคายิ่งกว่า โปรโมชั่นลดกระหน่ำของบรรดาห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในฤดูล้างสต็อก...
เวลานั้นชื่อของดีบีเอส แบงก์ของรัฐบาลสิงคโปร์ได้กลายมาเป็นคู่แต่งงานกับแบงก์ไทยทนุของตระกูล “ตู้จินดา” ไม่นานนักก็ปรากฎการเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรระหว่าง “กลุ่มยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์” แบงก์พาณิชย์เพื่อนร่วมเกาะเดียวกัน กับรัตนสิน จนเปลี่ยนมาเป็น ยูโอบีรัตนสิน
ในเวลาเหลื่อมกันไม่มากนัก แบงก์ลูกครึ่งไทย-สิงคโปร์ทั้งสองกลุ่มก็ขยายธุรกิจเข้าไปในธุรกิจใกล้เคียงกันคือ บริษัทหลักทรัพย์ และที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและร้อนแรงก็คือ การกระโดดเข้ามาจับธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์
เมื่อทุนเติมผ่านเข้ามาในแบงก์ ธุรกิจที่แบงก์ถือหุ้นอยู่ก็ต้องมีกิจกรรมที่เคลื่อนไหวไปพร้อมกัน ดีบีเอสไทยทนุเดินหน้าไปพร้อมกับการเปิดธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ โดยมี ดีบีเอส วิคเคอร์ส คือตัวแทนขยายพื้นที่ทำกินในตลาดหลักทรัพย์
ขณะที่ ยูโอบีหรือ ยูไนเต็ดโอเวอร์ซีย์ แบงก์กิ้ง ในชื่อของ ยูโอบีรัตนสิน ก็กำลังเพิ่มพื้นที่ทำรายได้ผ่านช่องทางตลาดหลักทรัพย์ควบคู่ไปกับการเปิดตลาดแบงก์พาณิชย์ ถ้ากลุ่ม ดีบีเอส มีดีบีเอส วิคเคอร์ส เป็นตัวตายตัวแทน ยูโอบีก็มี ยูโอบี เคย์เฮียน ทำหน้าที่เป็นแหล่งทำเงินในตลาดหลักทรัพย์ได้ไม้แพ้กัน
แต่ถ้าไม่นับ 2 รายนี้ นักลงทุนรายย่อยหรือแม้แต่ธุรกิจที่ต้องการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็จะคุ้นเคยกับชื่อของ “กิมเอ็ง” โบรกเกอร์จากสิงคโปร์ที่เข้ามากอบโกยรายได้การธุรกิจนายค้าหลักทรัพย์ จนไต่ชั้นจากโบรกเกอร์ไร้อันดับ เลื่อนขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่ง กวาดรายได้มากมายมหาศาล
เป็นที่รู้กันว่า การเข้ามาของกลุ่มทุนขนาดใหญ่จากเกาะสิงคโปร์ ยังเป็นเพียงแค่การเริ่มต้น เพราะถัดจากนั้นไม่นาน แบงก์ลูกครึ่งขนาดเล็กก็เริ่มขยายขนาดจากการควบรวมกิจการ
ดีบีเอส เข้าไปเป็นพันธมิตรกับแบงก์ทหารไทย และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือ (IFCT) กลายมาเป็น TMB BANK หรือแบงก์ทหารไทย
ในขณะที่ร่างหนึ่งของดีบีเอส คือพันธมิตรกับ TMB BANK ในอีกร่างหนึ่งดีบีเอสก็ยังเป็นพันธมิตรกับ แคปปิตอล โอเค สถาบันการเงินที่ไม่ใช่แบงก์ ธุรกิจให้บริการสินเชื่อบุคคล ที่มีคนในตระกูลชินวัตรถือหุ้นใหญ่อยู่ด้วย
อีกมุมหนึ่งยูโอบีรัตนสินก็กำลังแปรสภาพมาเป็น แบงก์ยูโอบีไทย ภายหลังเอบีเอ็มแอมโร จากเนเธอร์แลนด์ยกธงขาวถอนทัพไปจากแบงก์เอเชีย ดังนั้นการเปิดตัวยูโอบีไทยหรือ UOBT จึงมาพร้อมกับการลบชื่อ ยูโอบีรัตนสินและแบงก์เอเชียออกไปจากทำเนียบสถาบันการเงินในไทย
การเข้ามาในเวลาไล่เลี่ยกันของกลุ่มทุนสิงคโปร์ทั้งสองเจ้า พร้อมกับการควบรวมเป็นแบงก์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น นอกจากจะทำให้แบงก์พันธมิตรไม่กังวลเรื่องของเม็ดเงินที่เข้ามาซัพพอร์ตแล้ว สิงคโปร์ก็ยังมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาช่วยสนับสนุนการตลาดและการขายของพันธมิตรด้วย
นอกจากนั้นก็ยังเป็นที่รู้กันว่า ทุนสิงคโปร์ โดยเฉพาะทุนจากภาคสถาบันการเงิน มีความถนัดและเชี่ยวชาญการบุกเบิกธุรกิจ “รีเทล แบงกิ้ง” มากเป็นพิเศษ หากเทียบกับแบงก์ในประเทศ ถือว่าเดินล่วงหน้าไปหลายก้าว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล
การเข้ามาถือครองกรรมสิทธิ์เกือบจะทุกอุตสาหกรรมในตลาดเมืองไทยของทุนรัฐบาลสิงคโปร์ ส่วนสำคัญก็เพราะไทยเป็นตลาดขนาดใหญ่ อุดมไปด้วยทรัพยากร วัตถุดิบ พลังงาน พ่วงกับภาพของสะพานที่จะเชื่อมไปยังภูมิภาคเอเชียในทุกจุดได้อีก
ขณะที่สิงคโปร์ “เกาะมหัศจรรย์” ในสายตาผู้คนทั่วโลก ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับตลาดภายในที่มีขนาดเล็ก และคับแคบ จนต้องขนทุนออกไปซื้อกิจการและลงทุนในตลาดอื่นๆ ที่เห็นชัดเจนก็คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม จีน อินเดีย พม่า และไทย
เมื่อย้อนกลับมาดูเรื่องราวของ กลุ่มดีบีเอส ที่อาจจะซาลงไปในระยะหลังๆ ภายหลังกระบวนการการควบรวมเป็น TMB BANK เสร็จเรียบร้อย ตรงกันข้าม การเปิดตัวของ UOBT ของกลุ่มยูโอบี ที่เข้ามาครอบครองกรรมสิทธิ์ของแบงก์เอเชีย ก็กำลังเริ่มต้นขึ้น
ในสิงคโปร์ แบงก์ส่วนใหญ่จะมีบริษัทในเครือทำธุรกิจหลากหลาย ครบวงจร ไม่ต่างจากแบงก์พาณิชย์ไทยที่กำลังยกฐานะตัวเองขึ้นเป็นแบงก์พาณิชย์เต็มรูปแบบหรือ UNIVERSAL BANKING
แต่การเปิดตัวหนล่าสุดของ UOBT ก็เพิ่งเริ่มต้น ในสิงคโปร์ อาจจะมี UOI หรือยูไนเต็ด โอเวอร์ซีย์ อินชัวรันส์ ทำธุรกิจประกันวินาศภัย มี UOA ยูไนเต็ดโอเวอร์ซีย์ แอสชัวรันส์ ทำธุรกิจประกันชีวิต มีบริษัทจัดการลงทุนและบริษัทหลักทรัพย์ในเครือครบถ้วน
ขณะที่ UOBT ยังต้องอาศัยพันธมิตรเพื่อเปิดช่องทางให้กับธุรกิจที่มองว่าจะทำรายได้ให้กับองค์กร ซึ่งการควบรวมและเข้าไปถือหุ้นใหญ่ทั้ง 97.45% ยังทำให้บลจ.บีโอเอในเครือแบงก์เอเชีย เปลี่ยนมาเป็น บลจ.ยูโอบี
ส่วนธุรกิจประกันชีวิต ก็มีพันธมิตรกลุ่มเอไอจี บริษัทแม่เอไอเอ ร่วมเปิดช่องทางธุรกิจแบงแอสชัวรันส์หรือขายกรมธรรม์ผ่านสาขาแบงก์ ซึ่งเป็นการโอนความสัมพันธ์มาตั้งแต่ เอไอเอใช้ช่องทางสาขาแบงก์เอเชียเปิดตลาดธุรกิจประกันชีวิต ดังนั้นก็ไม่แน่นักว่า ในอนาคต UOBT อาจจะขยายธุรกิจกว้างขวางเต็มเหยียด
หากดูจากตัวเลขสัดส่วนนักลงทุนสิงคโปร์ในสถาบันการเงินไทย นอกจากดีบีเอสและยูโอบีที่ถือหุ้นเป็นสัดส่วนที่สูง โดยยูโอบีถืออยู่ 97.51% และดีบีเอสถืออยู่ในสัดส่วน 19.84% แล้วก็จะเห็นการเข้ามาจับจองพื้นที่ในสถาบันการเงินของแต่ละแบงก์ในสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป
ไล่กันทีละแบงก์ก็จะพบว่ามีนักลงทุนสิงคโปร์ถือหุ้นอยุ่เกือบทุกแบงก์ เริ่มตั้งแต่แบงก์น้องใหม่หมาดๆอย่าง สินเอเซีย ที่มีทุนสิงคโปร์ถือหุ้นอยู่ 2.6879% โดยฝั่งไทยถืออยู่ 66.4126%
แบงก์กรุงศรีอยุธยา มีทุนสิงคโปร์ถือหุ้น 3.1725% ฝั่งไทยถือในสัดส่วน 68.5301% แบงก์กรุงเทพ มีทุนสิงคโปร์ถือสูงถึง 10.35% โดยมีฝั่งไทยถืออยู่ 53.143%
แบงก์ไทยธนาคาร มีทุนสิงคโปร์ 5.1325% ฝั่งไทย 94.1062% แบงก์กสิกรไทยหรือเคแบงก์ มีสิงคโปร์ถือหุ้นเกือบจะเท่าแบงก์กรุงเทพคือ 9.07% ฝั่งไทย 51.8617%
แบงก์น้องใหม่เกียรตินาคิน มีสิงคโปร์ถือหุ้น1.4691% ฝั่งไทย 56.71% แบงก์กรุงไทย สิงคโปร์ถืออยู่ 3.8034% ฝั่งไทย 84.2141% แบงก์ธนชาต สิงคโปร์ลงทุนอยู่ที่ 0.0441% ฝั่งไทย 99.93% แบงก์ไทยพาณฺชย์มีหุ้นสิงคโปร์ค่อนข้างสูงคือ 12.4877% ฝั่งไทย 47.5482% สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) สิงคโปร์ถืออยู่ 0.0039 ไทยถืออยู่ 0.1931%
แบงก์นครหลวงไทย มีทุนสิงคโปร์ 3.3082% ขณะที่ฝั่งไทยถืออยู่ 75.1423% แบงก์ทิสโก้ สิงคโปร์ถือหุ้นในสัดส่วน 7.4152% ฝั่งไทย 55.8388%
ขณะที่ในแวดวงธุรกิจประกันชีวิต ก็กำลังเฝ้าจับตาทุนจากสิงคโปร์กลุ่มใหม่ที่จะกระโดดเข้าจับจองพื้นที่ธุรกิจประกันชีวิตในประเทศ ว่ากันว่าประกันชีวิตรายใหญ่จากสิงคโปร์คือ เกรท อีสเทอร์น ไลฟ์ แอสชัวรันส์ ก็กำลังศึกษาการรุกสู่ตลาดเมืองไทย ไล่หลังกลุ่มทุนสถาบันการเงินในเร็วๆนี้เช่นกัน
ถ้าไล่เรียงลำดับมาอย่างนี้แล้ว ดีลระหว่างเทมาเส็ก โฮลดิ้ง กับชินคอร์ป ก็คงไม่ใช่รายแรก และรายสุดท้าย เพราะการกระโดดเข้ามาของทุนจากเกาะเล็กๆแต่ทรงพลังอย่างสิงคโปร์ เท่าที่ผ่านมา เพิ่งจะวิ่งออกจากจุดสตาร์ทเท่านั้น
จนกว่าจะวิ่งเข้าสู่เส้นชัยเท่านั้น ก็อาจจะพบว่า พื้นที่ทุกตารางนิ้วในประเทศนี้จะมีทุนรัฐบาลสิงคโปร์เข้าไปแทรกซึมอยู่ในทุกจุด จนแทบจะแยกไม่ออกจากชีวิตประจำวันของผู้บริโภคคนไทย....
เป็นการตอบคำถามว่า รัฐสิงคโปร์กำลังจะกลืนทุกประเทศที่เข้าไปลงทุนจริงหรือ?...
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|