หมดยุคคุณนายแดง


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

เกือบ 16 ปีเต็ม ที่สุรางค์ เปรมปรีด์ นั่งบริหารงานเคียงบ่าเคียงไหล่ กับ ชาติเชื้อ กรรณสูต ผู้เป็นพี่ชายในสถานีโทรทัศน์ช่อง 7

เป็นเวลา 16 ปีเต็มที่สองพี่น้องคู่นี้ได้สร้างให้ช่อง 7 สี ครอบครองเรตติ้งคนดูสูงสุด ส่งผลให้งบโฆษณาทางโทรทัศน์มูลค่ามหาศาลตกอยู่ในมือของช่อง 7 มากที่สุด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จของช่อง 7 มาจากฝีไม้ลายมือของสุรางค์ ในฐานะผู้จัดการฝ่ายรายการที่มองเห็นโอกาสของตลาดสามารถนำเสนอรายการได้จับใจกลุ่มผู้ชมในระดับชาวบ้าน อันเป็นฐานคนดูขนาดใหญ่ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งช่อง 7 ยึดเรตติ้งคนดูไว้ได้มากที่สุด และทำให้ช่วงไพรม์ไทม์ของช่อง 7 สี กลายเป็นช่วงเวลาทองที่ทำเงินรายได้มหาศาล

สุรางค์จึงได้รับความไว้วางใจอย่างมากจากชาติเชื้อ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการและผู้ถือหุ้น ซึ่งมีชวน รัตนรักษ์ เจ้าของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ผู้ถือหุ้นใหญ่ ให้มีอำนาจในการรับผิดชอบงานด้านรายการทั้งหมด ซึ่งถือเป็นหัวใจของธุรกิจสถานีโทรทัศน์

ฉายาเจ้าแม่ช่อง 7 ตกเป็นของสุรางค์ไปโดยปริยาย

แต่แล้วสัจธรรมที่ว่า ไม่มีผู้ใดแพ้หรือชนะตลอดไปยังใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย

ปีที่แล้วช่อง 7 โดนท้าทายอย่างหนักจากคู่แข่ง ทีวี ช่อง 3 และช่อง 5 ที่พยายาม
เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเวลาสำหรับผังรายการในช่วงไพรม์ไทม์ใหม่ เพื่อช่วงชิงเวลาไพรม์ไทม์ของช่อง 7 สี คือช่วง 18.30-20.00 ที่เคยยึดหัวหาดมาตลอด ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสถานีโทรทัศน์ ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับช่อง 7 อย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรุกอย่างหนักของช่อง 3 ที่มีการปรับผังรายการเป็นระลอกเพื่อขยายช่วงไพรม์ไทม์ การนำเสนอรายการข่าว 2 ช่วง ชิงออกข่าวก่อนในช่วง 18.00 น. ตามด้วยภาพยนตร์จีน และละคร ในขณะที่ช่อง 5 นำละครมาออกในช่วงข่าวของช่อง 7 เพื่อสร้างจุดขายใหม่

การท้าทายในครั้งนั้นจากช่อง 3 และช่อง 5 ทำให้ช่อง 7 และสุรางค์ถูกจับตามองอย่างมากว่าจะแก้เกมอย่างไร แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ออกมาให้เห็น

จนกระทั่งเมื่อปัญหาเศรษฐกิจทนุดต่ำลงอย่างหนักตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบมาถึงธุรกิจทีวีอย่างจังเมื่อสินค้าต่างๆ ตัดงบโฆษณา บรรดาผู้จัดรายการบอกคืนเวลาช่วงไพรม์ไทม์ ซึ่งเคยถูกจับจองจากทุกเอเยนซีเริ่มหดหายไป

ตัวเลขยอดโฆษณาของสื่อทีวีที่เคยครองอันดับ 1 ซึ่งพุ่งสูงขึ้นถึง 2 หมื่นล้านบาทกลับลดต่ำลงมาเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี

การปรับกลยุทธ์ของสถานีโทรทัศน์ทุกช่องมีขึ้นครั้งใหญ่ กลยุทธ์ด้านการตลาด ที่สถานีโทรทัศน์แทบไม่เคยนำมาใช้มาก่อนถูกนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการลดแลกแจกแถมค่าโฆษณา การโอบอุ้มบรรดาผู้จัดรายการที่เคยแย่งชิงเวลาให้อยู่รอดได้

ในที่สุดศูนย์ผลิตรายการของช่อง 7 ก็คลอดออกมา ซึ่งนับได้ว่าเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างครั้งสำคัญของช่อง 7 เพื่อรับมือกับภาวะที่เกิดขึ้น

ศูนย์ส่งเสริมการผลิตรายการนี้รับผิดชอบโดย ชลอ นาคอ่อน ผู้จัดการฝ่ายขายเวลา ลูกหม้ออีกคนของช่อง 7 ที่ได้รับมอบหมายให้มารับผิดชอบศูนย์แห่งนี้โดยเฉพาะ

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการผลิตรายการ เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบทางด้านรายการเสริมให้กับสุรางค์ ซึ่งจะมีแผนกต่างๆ อยู่ในศูนย์นี้ อาทิ แผนกประชาสัมพันธ์

"ไม่ได้ลดบทบาทคุณสุรางค์ เพราะคุณสุรางค์ยังคงเป็นผู้จัดการฝ่ายรายการ ยังคงทำหน้าที่เหมือนเดิมทุกอย่าง การตัดสินใจทุกอย่างยังอยู่ที่บอร์ดของบริษัทเหมือนเดิม เพียงแต่ศูนย์นี้จะมาช่วยคุณสุรางค์ในการออกความคิดเห็นทางด้านรายการช่วยให้ช่อง 7 มีความรวดเร็วในการแข่งขันกับช่องอื่นๆ ได้มากขึ้น" แหล่งข่าวในช่อง 7 ชี้แจงกับ "ผู้จัดการ"

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของช่อง 7 และสุรางค์ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมารายการของช่อง 7 อยู่ภายใต้การบริหารของสุรางค์แต่เพียงผู้เดียวมาตลอด แต่เม่อดูจากภาระหน้าที่ของศูนย์ส่งเสริมการผลิตรายการ บทบาทในด้านของรายการจะตกอยู่กับศูนย์การผลิตรายการที่จะเป็นทัพหน้าแทนที่สุรางค์ ซึ่งจะหันมาอยู่ทัพหลัง

"ถึงยุคที่ช่อง 7 จะต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว คุณสุรางค์เล่นบทบาทนี้มานาน จนคู่แข่งรู้เกมดีอยู่แล้ว ดังนั้นช่อง 7 จึงต้องพยายามสร้างโปรเฟสชั่นแนลออกมา เพราะตลาดทีวีมันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่เหมือนกับสิบปีที่แล้ว แต่ในยุคนี้ตลาดเปลี่ยนเป็นของผู้ดู การแข่งขันรุนแรงมากขึ้น"

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือการปลดรายการสี่ทุ่มสแควร์ ของวิทวัส สุนทรวิเนตร ซึ่งเป็นรายการที่มีเรตติ้งสูงสุดรายการหนึ่ง เพียงเพราะต้องการให้เปลี่ยนพิธีกรหญิง ดวงตา ตุงคมณี ซึ่งว่ากันว่า เป็นเพียงเพราะดวงตาแต่งตัวไม่เหมาะสม แต่วิทวัสไม่ยอม การปลดรายการสี่ทุ่มสแควร์ในครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของสุรางค์ไม่น้อยในเรื่องของความเข้มงวดในการควบคุมผู้ผลิตรายการ ที่บางครั้งก็ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของตลาด มากไปกว่าความเหมาะสมในสายตาของสุรางค์

สไตล์การบริหารของสุรางค์ที่เน้นความละเอียดลออ ควบคุมผู้รับจ้างผลิต และผู้เช่าเวลาอย่างเข้มข้น ตัดสินใจอย่างเฉียบขาด ซึ่งเคยสร้างช่อง 7 สีให้เป็นอันดับ 1 ในอดีต อาจใช้ไม่ได้กับช่อง 7 ในยุคนี้อีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรุกหนักของช่อง 3 ที่มีทั้งเงินทุนและการตลาดกำลังวิ่งไล่ช่อง 7 มาติดๆ ทำให้ช่อง 7 ไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้อีกต่อไป

ไม่เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในช่อง 7 เท่านั้นแต่ช่อง 7 ก็ตัดสินใจลดบทบาทการลงทุนในไอบีซีเคเบิลทีวี ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นกลยุทธ์การลงทุนครั้งสำคัญของช่อง 7 ที่เชื่อว่าเคเบิลทีวีจะเป็นสื่อใหม่ ที่จะเป็นคู่แข่งสำคัญของฟรีทีวีในอนาคต จึงทำให้ช่อง 7 กระโดดร่วมเป็นพันธมิตรกับชินวัตร และแกรมมี่ เพื่อเรียนรู้ธุรกิจนี้ และยังเป็นการเปลี่ยนศัตรูเป็นมิตร

แต่ช่อง 7 ในเวลานี้ไม่ใช่ช่อง 7 ในอดีต ในขณะที่ธุรกิจทีวีได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเศรษฐกิจ และการแข่งขัน การนำเงินมาทุ่มกับธุรกิจเคเบิลทีวีที่ยังขาดทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ยังต้องใช้เงินทุนอีกมหาศาลไม่ใช่เรื่องที่คุ้มค่ากับการลงทุน

ในการเพิ่มทุนครั้งล่าสุดของไอบีซีจาก 810 ล้านบาท เป็น 2,430 ล้านบาท ช่อง 7 ก็ตัดสินใจไม่เพิ่มทุน ทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นของช่อง 7 ลดลงจาก 16.3% เหลืออยู่แค่ 5%

สัดส่วนการถือหุ้นที่ลดลงเหลือแค่ 5.03% ส่งผลต่อโครงสร้างการบริหารต้องเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน โควตากรรมการ 2 คนในบอร์ดคณะกรรมการ และตำแหน่งประธานกรรมการบริหารในบอร์ดบริหาร ที่สุรางค์ เปรมปรีด์ เคยนั่งอยู่คงต้องถูกยกไปให้ผู้ถือหุ้นใหญ่รายอื่น

อันที่จริงแล้วบทบาทของสุรางค์ในไอบีซีก็เริ่มลดน้อยลงมาตั้งแต่ชินวัตรดึงเอา MIH 1 ใน 3 ยักษ์ใหญ่ธุรกิจเปย์ทีวีจากเนเธอร์แลนด์มาถือหุ้น การบริหารงานในไอบีซี ซึ่งสุรางค์เคยมีบทบาทในการชี้นำการบริหาร ก็ถูกเปลี่ยนมือไปให้ MIH ซึ่งมีประสบการณ์อย่างโชกโชนมาบริหารงานแทน

ถึงเวลาแล้วที่สุรางค์ เปรมปรีด์ ต้องเปลี่ยนบทบาทของตัวเองเสียที !



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.