ทักษิณกินรวบประเทศไทย!


ผู้จัดการรายสัปดาห์(27 กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

นักวิชาการรุมจวก"ทักษิณ " บริหารภายใต้ Conflict of interest ใช้อำนาจรัฐออกกฎหมายเอื้อธุรกิจส่วนตัว และกลุ่มพวกพ้อง แต่ละเลยกฎหมายบางฉบับ โดยเฉพาะกม.เกี่ยวกับการแข่งขันเสรี อุ้มธุรกิจผูกขาด แถมเข้าข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ชำแหละกฎมายสำคัญที่แก้เพื่อกลุ่มก๊วน จี้หมดเวลานั่งนายกฯ เหตุขาดจริยธรรม!

สารพัดม๊อบขับไล่รัฐบาลทักษิณ ต่างดาหน้ากันออกมาแสดงพลังซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันคือ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีลาออกไป เนื่องจากรัฐบาลหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นของความเป็นผู้นำประเทศของนายกรัฐมนตรีที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันมากที่สุดโดยเฉพาะที่ทำให้ทุกคนที่ออกมาขับไล่ทนไม่ได้ก็คือการใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนตัวเอง และพวกพ้อง!

ครอบงำการเมือง-ดันกม.เอื้อธุรกิจ

ผศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่ารัฐบาลชุดนี้มีความชัดเจนแล้วว่ามีการใช้อำนาจรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนตัวเองและพวกพ้อง ทั้งภาคการเมือง ภาคธุรกิจ

ภาคการเมือง มีลักษณะการอาศัยพรรคไทยรักไทยในการสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจต่าง ๆ เนื่องจากรัฐบาลประกอบด้วยพรรคการเมืองเดียว ถือเป็นเผด็จการรัฐสภา ซึ่งอาศัยช่องว่างของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในเรื่องการทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ทางการเมืองและผลประโยชน์ทางธุรกิจ

"นี่คืออำนาจรัฐ ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญที่นายกรัฐมนตรีสามารถใช้ในการเพิ่มต้นทุนให้แก่บริษัทในเครือกลุ่มชินวัตรทั้งทางตรงและทางอ้อม"

ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ อาศัยช่องว่างของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ใน 2 มาตรา ในเรื่องการทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ทางการเมืองกับผลประโยชน์ทางธุรกิจ ด้วยคือ

มาตรา 110 ที่ห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องไม่รับสัมปทานจากรัฐหรือไม่รับประโยชน์ใดๆจากรัฐ

มาตรา 209 ที่ห้ามมิให้รัฐมนตรีเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือห้ามไม่ให้รัฐมนตรีกระทำการใดอันมีลักษณะเข้าไปบริหารหรือจัดการใด ๆ เกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท

"ทั้ง 2 มาตรามีช่องว่าง เพราะห้ามเฉพาะตัวรัฐมนตรี แต่ไม่ได้ห้ามบุตร และภรรยา ด้วยเหตุนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงโอนหุ้นและกิจการทั้งหลายให้ภรรยาและบุตร ทำให้ตัวเองกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ทางการเมือง แต่ในความเป็นจริง พ.ต.ท.ทักษิณ คือหัวหน้าครอบครัวของตระกูลชินวัตร ที่มีบริษัทในกลุ่มเครือชินวัตรมากมายเกี่ยวโยงกับการได้รับสัมปทานต่าง ๆจากรัฐ"

ภาคธุรกิจ กลุ่มชินวัตรมีบริษัทในเครือที่สำคัญคือ บริษัทชินคอร์ปเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจที่จำแนกเป็นสายธุรกิจได้ 4 สาย และมีบริษัทสำคัญในแต่ละสายธุรกิจ คือ สายธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมไร้สาย ได้แก่บริษัทแอดวานว์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

สายธุรกิจสื่อสารดาวเทียมและธุรกิจต่างประเทศ ได้แก่ บริษัท ชินแชทเทลไลท์ จำกัด(มหาชน) สายธุรกิจสื่อและโฆษณา บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และสายธุรกิจอิเลคทรอนิกส์และธุรกิจอื่น ๆ ได้แก่ บริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จำกัด(เดิมชื่อชินวัตร ไดเร็คทอรี่ส์ จำกัด) ทำธุรกิจพิม์และเผยแพร่สมุดโทรศัพท์หน้าขาวและเหลือง,บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ดำเนินธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ และบริษัท แคปปิตอล โอเค จำกัด ในส่วนของธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภค

ที่ผ่านมามีความชัดเจนแล้วว่าในการเข้าสู่การเป็นนายกรัฐมนตรี ของ พ.ต.ท.ทักษิณ แท้จริงแล้วคือการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจแทบจะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะอาศัยอำนาจในการออกกฎหมาย ในการตราพระราชบัญญัติ การออกพระราชกำหนด การออกพระราชกฤษฎีกา มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) มติคณะกรรมการต่าง ๆ รวมถึงอาศัยคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม เพื่อเอื้อผลประโยชน์ต่อกลุ่มตนเอง ซึ่งมีทั้งการใช้อำนาจรัฐในประเทศและในการทำข้อตกลงกับต่างประเทศ

ชี้ชัดๆ แก้กฎหมาย.เอื้อกลุ่มชิน

สำหรับการใช้อำนาจรัฐภายในประเทศนั้น มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเพื่อยืนยันว่านายกรัฐมนตรีมีผลประโยชน์ทับซ้อนดังนี้

21 ม.ค.46 ครม.มีมติออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรสามิต พ.ศ.2537 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตกับผู้รับสัมปทานโทรคมนาคม แทนการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้แก่รัฐ ทำให้บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ได้รับผลประโยชน์จากการแปรค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต

19 พ.ย.46 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มีมติส่งเสริมการลงทุนโครงการดาวเทียม "ไอพีสตาร์" ของบริษัทชินแซทฯ โดยให้การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เฉพาะรายได้ที่ได้รับจากต่างประเทศ เป็นระยะเวลา 8 ปี ทำให้ชินแซทฯ ได้รับการยกเว้นภาษีครั้งนี้สูงถึง 16,459 ล้านบาท

14 ธ.ค.46 กระทรวงคมนาคมให้สิทธิการใช้สนามบินแก่สายการบินราคาถูกและเลิกการคุมค่าโดยสารขั้นต่ำ 3.8 บาทต่อกิโลเมตร ทำให้บริษัทไทยแอร์เอเชียได้ผลประโยชน์ต่อนโยบายนี้

30 ม.ค. 47 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี (สปน.) ปรับลดค่าสัมปทานกับไอทีวี เป็นเงิน 20 ล้านบาท พร้อมมีคำสั่งให้ สปน.ปรับลดค่าสัมปทานให้ไอทีวี เหลือปีละ 230 ล้านบาท ทำให้ไอทีวีได้ประโยชน์ไปไม่น้อยกว่า 17,000 ล้านบาท

กลางปี 2547 ครม.มีมติอนุมัติให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า ออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้รัฐบาลพม่า เพื่อมาทำสัญญาขอใช้บริษัทดาวเทียมไทยคมกับ ชินแซทฯ ซึ่งนอกจากรัฐบาลไทยต้องค้ำประกันความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ให้กับพม่าซึ่งถือเป็นการโอนภาระของ ชินแซทฯ ในฐานะคู่สัญญาโดยตรงมาให้กระทรวงการคลังด้วย

20 ม.ค.2549 ประกาศใช้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 โดยแก้ไขให้คนต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% ซึ่งเดิมระบุว่าให้ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 25% เท่านั้น อีกทั้งมีการตัดเงื่อนไขเรื่องสัดส่วนกรรมการบริษัทที่ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ออกทั้งหมด โดยกม.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 ม.ค. 2549 ก่อนที่ครอบครัวชินวัตรและดามาพงศ์จะขายหุ้นให้กับเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ของสิงคโปร์เพียงแค่ 2 วัน คือวันที่ 23 ม.ค.49

นี่คือการแก้กฎหมายในประเทศเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มชินวัตรที่เห็นได้เด่นชัดเท่านั้น ไม่รวมกฎหมายลูกอื่น ๆ ที่ออกมาเป็นดอกเห็ด และไม่รวมการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มพวกพ้อง

FTA เอื้อนายทุน-ฝังเกษตรกร

นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังได้ใช้อำนาจรัฐในการทำข้อตกลงกับต่างประเทศที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มด้วย โดยเฉพาะกรณีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA)

โดยในการทำ FTA ไทย-จีน มีกลุ่มทุนที่ได้ผลประโยชน์จากที่ไทยต้องลดภาษีผักและผลไม้ให้เหลือ 0% คือกลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ที่เชี่ยวชาญด้านตลาดจีน ส่วนกลุ่มเกษตรกรได้รับผลกระทบทางลบทั้ง เกษตรที่ปลูกหอม กระเทียม ผัก และผลไม้เมืองหนาว

การทำ FTA ไทย-ออสเตรเลีย และ การทำ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ มีสาระสำคัญให้ไทยลดภาษีเนื้อและผลิตภัณฑ์นม ขณะที่ออสเตรเลียเปิดรับการลงทุนคมนาคม และลดภาษีชิ้นส่วนยานยนต์ให้ไทย ทำให้กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์คือกลุ่มผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ บริษัทผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก (ตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ) กลุ่มธรกิจนำเข้าสินแร่ กลุ่มบริษัทนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นม กลุ่มธุรกิจดาวเทียม และบริษัทโทรคมนาคมฯ ขณะที่กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงโคนมและโคเนื้อได้รับผลกระทบ

คุมองค์กรอิสระเบ็ดเสร็จ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังมีการขยายอำนาจเข้าไปครอบคลุมวุฒิสภา และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการปราบปรามการทุจริต คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน รวมไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้อำนาจรัฐในการเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจ

"สภาพการณ์ทั้งหมด พ.ต.ท.ทักษิณ คือผู้ที่มีความขัดแย้งในทางผลประโยชน์ระหว่าง ความเป็นผู้นำครอบครัวตระกูลชินวัตร กับการเป็นนายกของประเทศไทย ความขัดแย้งดังกล่าวได้ทำลายความชอบธรรมในฐานะที่เป็นนายกของประเทศไทย คงเหลือแต่พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวตระกูลชินวัตรเท่านั้น"

ปิดเส้นทางแข่งขันโทรคมนาคม

นิพนธ์ พัวพงศธร นักวิจัยอาวุโส มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า นอกจากรัฐบาลจะมีการแก้กฎหมายเพื่อเอื้อธุรกิจแล้ว กฎหมายหลายตัวที่ควรจะมีการแก้ไข แต่ก็ไม่มีการแก้ไข หรือออกกฎระเบียบเพิ่ม เนื่องจากจะเป็นการขัดขวางการทำธุรกิจส่วนตัวด้วย ประกอบด้วย การไม่เปิดเสรีโทรคมนาคมในการเจรจาการค้าเสรี หรือ FTA และไม่แก้กฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม แต่มีการแก้กฎหมายเปิดเสรีก่อนขายชินคอร์ปขึ้นภายหลัง ถือเป็นการเอื้อประโยชน์กับเอไอเอส ดีพีซี และชินแซท และบริษัทอื่น ๆ ในธุรกิจเดียวกันในการปกป้องธุรกิจจากการแข่งขันจากต่างประเทศ และสามารถทำกำไรได้ในระดับสูงต่อไป

นอกจากนี้ยังไม่ออกกฎระเบียบเพื่อบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า ทำให้บริษัทเอไอเอส ชินแซทฯ ตลอดจนธุรกิจผูกขาดอื่น ๆ มีพฤติกรรมกีดกันการแข่งขันและควบรวมกิจการเพื่อเพิ่มอำนาจทางตลาดได้โดยไม่ขัดกฎหมายด้วย

บ.ข้ามชาติไทยขอแจมสิทธิพิเศษ WTO

จักรชัย โฉมทองดี กลุ่มเอฟทีเอวอซ์ท (FTA WATCH) กล่าวว่าในการเจรจา FTA ของรัฐบาลนั้น ขอให้ดูประสบการณ์จากข้อตกลง WTO เรื่องกฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศ ที่เปิดกลไกให้ทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย และไม่ต้องทำตามเงื่อนไขของกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งตอนแรกเข้าใจว่าเอื้อประโยชน์เฉพาะทุนต่างชาติ แต่เมื่อทุนในชาติไทยได้กลายเป็นทุนข้ามชาติเช่นกรณีชินคอร์ปแล้ว ก็เลยเห็นได้ว่าต่อไปกลุ่มทุนข้ามชาตินี้จะได้ประโยชน์ในข้อตกลง WTO ไปอย่างเต็ม ๆ ซึ่งน่าเป็นห่วงมากว่ารัฐบาลไทยในอนาคตจะไม่มีสิทธิควบคุมดูแลในด้านการลงทุนทั้งหมด ตั้งแต่ด้านแรงงาน ไปจนถึงเรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผูกแขนผูกขาตัวเอง

ยุคแห่งการฝ่าฝืนกม.-ทำลายความมั่นคงชาติ

นอกจากนายกรัฐมนตรีจะถูกกังขาว่าได้ใช้อำนาจรัฐในการออกกฎหมายเพื่อเอื้อต่อประโยชน์ทางธุรกิจกลุ่มชินวัตรแล้ว เดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือนายกฯ ยังมีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายโดยชัดแจ้งด้วย โดยเฉพาะการขายหุ้นชินคอร์ปให้กลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์

โดยกิจการโทรคมนาคมถือ เป็นเรื่องของความมั่นคงของชาติ เพราะควบคุมการติดต่อสื่อสารของทุกคนในชาติโดยเสรี และจะต้องรักษาไว้เป็นสมบัติชาติไม่ให้รัฐบาลต่างประเทศมาครอบงำ ฉะนั้นนายกรัฐมนตรีไม่ควรนำธุรกิจเกี่ยวกับโทรคมนาคมไปขายให้กับต่างชาติ โดยเฉพาะ สิงคโปร์ ที่มีนโยบายที่ชัดเจนมาตลอดว่าจะเป็นคู่แข่งกับประเทศไทยในการผู้นำ และเป็นฮับต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ ซึ่งสื่อมวลชนของสิงคโปร์ก็มีการลงข่าวที่เป็นข่าวร้ายของประเทศไทยตลอด ทั้งสถานการณ์การเดินขบวน และไข้หวัดนก ถือเป็นการร่วมมือกันของรัฐบาลและสื่อมวลชนในการดันประเทศสิงคโปร์เป็นผู้นำภูมิภาค

"กลุ่มผู้บริหารบริษัทโทรคมนาคมต้องรู้ดีว่าการทำ Due Diligence คือการตรวจสอบทรัพย์สิน หนี้สิน สถานะของบริษัท ฯลฯ ผู้ซื้อจะได้สิทธิล่วงรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายละเอียดการจัดส่งดาวเทียมทุกดวง รวมทั้งผังโคจรดาวเทียมของประเทศ สถานีภาคพื้นดิน ฯลฯ ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานของการสื่อสารของไทยไปทั้งหมด"

จับตากทช.ไฟเขียว 3G-เทมาเส็กรวย!

แหล่งข่าวในแวดวงโทรคมนาคม กล่าวว่า ประเด็นที่น่าจับตามองคือประเด็นการออกใบอนุญาติให้ใช้ระบบ 3G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ของโทรศัพท์มือถือ ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทช.กำลังจะอนุมัติเร็ว ๆ นี้ โดยคณะกรรมการกทช.ชุดนี้กล่าวกันว่าเป็นคนที่ได้รับไฟเขียวจากบ้านจันทร์ส่องหล้า และทันทีที่ประกาศใช้ บริษัทเอไอเอส จะสามารถเก็บค่าธรรมเนียมกับ 15 ล้านเลขหมายที่ได้รับสัมปทานทันที ซึ่งหากเก็บเลขหมายละ 100 บาท ก็จะทำให้มีรายได้ 1,500 ล้านบาทต่อปี ในระยะเวลา 10 ปี จะมีรายได้ 15,000 ล้านบาท

"เชื่อว่าจุดนี้ทำให้เทมาเส็กตัดสินใจซื้อหุ้นชินคอร์ปได้ง่ายขึ้น เพราะรายได้ที่เขาจะได้รับจากคนไทยใน 10 ปี สูงถึง 15,000 ล้านบาท"

อย่างไรก็ดีพฤติกรรมในการบริหารประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ถูกบรรดานักวิชาการ กลุ่มพลังต่าง ๆ ที่ได้ทำการศึกษา ค้นคว้า ออกมาเปิดโปงและเคลื่อนไหวที่จะขับไล่ให้ นายกรัฐมนตรี ประกาศ "ลาออก"....เพราะพวกเขาเชื่อว่า นายกฯทักษิณ หมดความชอบธรรมหากปล่อยให้บริหารประเทศต่อไป ผู้ที่จะร่ำรวยและมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจากการเป็นผู้นำ ก็คงมีแต่คนในตระกูลและพวกพ้องเท่านั้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.