บทเรียนทีโอทีพ่ายทรูหมื่นล.เกมยืดเยื้อสะดุดแผนเข้าตลาดฯ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(27 กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ศึกฟ้องร้องหมื่นล้านทีโอที-ทรู คอร์ปอเรชั่น บานปลาย สถานการณ์เกมยืดเยื้อ สะดุดแผนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ของทีโอทีแน่ พร้อมสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับภาคเอกชนที่มีสัญญาสัมปทานผูกมัดกับภาครัฐเดินหน้าฟ้องร้องอีกเพียบ

จากกรณีผลการพิจารณาคำวินิจฉัยคดีของอนุญาโตตุลาการ ที่ ทรู คอร์ปอเรชั่น ยื่นฟ้อง บริษัท ทีโอที ที่มีการเรียกเก็บค่าเชื่อมโยงโครงข่ายจากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากผู้ให้บริการที่เป็นคู่สัญญากับบริษัท กสท โทรคมนาคม เลขหมายละ200 บาทต่อเดือนโดยไม่มีการแบ่งรายได้ให้กับทรู ซึ่งอนุญาโตฯได้มีเสียงเห็นชอบ 2 ใน 3 ตัดสินให้ ทีโอที ชำระค่าเสียหายแก่ทรู เป็นมูลค่ากว่า 9,175 ล้านบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจากวันที่ 22 สิงหาคม 2545 และทีโอทีจะต้องดำเนินการชำระภายใน 60 วันนับจากที่ผลชี้ขาดผลการพิจารณาดังกล่าวทำให้เกิดปะทะคารมระหว่างสองฝ่าย คือทีโอทีและทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งแต่ละฝ่ายออกมาแสดงความชอบธรรมในการฟ้องร้องครั้งนี้ และกลายเป็นประเด็นที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของทั้งสองบริษัท

หากสถานการณ์ของการฟ้องร้องที่ทางทีโอทีเตรียมขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตฯ ต่อศาลปกครอง หรือการฟ้องร้องเพื่อให้เกิดผลบังคับใช้ตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตฯ ของทรู คาดว่าความยืดเยื้อที่ต้องใช้ระยะเวลาในการตัดสิน ย่อมส่งผลกระทบต่อแผนการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ของทีโอทีอย่างแน่นอน

"งานนี้คงใช้เวลาเป็นปีในการพิจารณา ซึ่งกระทบกับแผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯของทีโอที และทีโอทีคงต้องรอการประชุมของคณะกรรมการระดมทุนว่าจะมีทางออกอย่างไร"

เป็นคำกล่าวของธีรวิทย์ จารุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที ซึ่งได้จัดประชุมบอร์ดผู้บริหารทีโอทีด่วน หลังจากที่ได้รับทราบผลการวินิจฉัยของอนุญาโตฯ

ทั้งนี้ จากการประชุมบอร์ดทีโอทีได้มีมติให้ดำเนินการ 2 เรื่อง คือ เรื่องแรกให้ทำเรื่องขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตฯ ยื่นไปยังศาลปกครอง โดยที่ฝ่ายกฎหมายของทีโอทีจะประสานงานกับอัยการเพื่อให้เหตุผลถึงการร้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตฯ ซึ่งตามหลักการต้องยื่นภายใน 90 วัน แต่คาดว่าทีโอทีจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากรับทราบคำวินิจฉัย 20 ก.พ.ที่ผ่านมา

"คดีที่มีมูลค่าความเสียหายมากขนาดนี้ และเป็นกิจการของรัฐที่มีผลกระทบกับประชาชน เราเชื่อว่าศาลปกครองคงรับเรื่อง 100% เราไม่เห็นด้วยกับอนุญาโตฯในเรื่องวิธีคำนวณ แนวคิดและหลักการ"การยื่นเรื่องดังกล่าวสู่ศาลปกครอง มีความเป็นไปได้ที่ศาลปกครองจะรื้อคดีด้วยการตรวจเอกสารเดิมที่ทั้งสองฝ่ายได้เคยยื่นไปเป็นหลัก เพื่อทำความเข้าใจในวิธีการตีความ ตลอดจนการประเมินมูลค่าความเสียหาย เพื่อพิสูจน์คำตัดสินของอนุญาโตฯ โดยอาจขอเอกสารเพิ่มบางส่วนขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของคดี

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการชี้ขาดเขตอำนาจของศาล หลังจากที่อนุญาโตฯชี้ขาดมาแล้ว ทรูคงต้องฟ้องศาลเพื่อบังคับคดีภายใน 60 วันให้ทีโอทีปฏิบัติตามผลการชี้ขาดของอนุญาโตฯ โดยสามารถฟ้องได้ทั้งศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ซึ่งหากฟ้องศาลปกครองก็สามารถรวมเข้าเป็นคดีเดียวกันเพื่อพิจารณาได้ แต่ถ้าทรูฟ้องศาลยุติธรรม คงต้องพิจารณาว่าอำนาจชี้ขาดจะอยู่ที่ศาลไหน

สำหรับเรื่องที่สองคือบอร์ดทีโอทีให้ฝ่ายบริหารทีโอทีร่วมกับอัยการบอกเลิกสัญญากับทรูโดยเร็ว เพราะเชื่อว่ามีเหตุผลเพียงพอในการเลิกสัญญา โดยผลการเลิกสัญญา คือทีโอทีจะซื้อกิจการทรูในราคา Book Value ประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาทและยึดอำนาจการบริหารงานทั้งหมด โดยที่ทรูยังมีสัญญาเหลืออีกประมาณ 10 ปี 8 เดือน หรือสิ้นสุดสัญญาวันที่ 29 ต.ค.2560

การเพิกถอนสัญญาสัมปทานของทรู เนื่องจากที่ผ่านมาทรูผิดเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญในสัญญาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้บริการวายเทล 1234 และการเปิดให้บริการ ADSL โดยไม่ได้แจ้งทีโอทีก่อน แต่ทีโอทีไม่ได้ใช้อำนาจตามสัญญาอย่างเข้มงวด

ทรูชนะแล้ว

ด้านอธึก อัศวานันท์ รองประธานกรรมการ และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกฎหมาย ทรู กล่าวว่า หากทีโอที ต้องการที่จะเรียกร้องเรื่องดังกล่าวจนถึงที่สุด ก็ต้องฟ้องศาลปกครองเกี่ยวกับผลการตัดสินของอนุญาโตฯว่าผิด ซึ่งขึ้นอยู่กับ ทีโอที ว่าจะดำเนินการหรือไม่ แต่สำหรับคำตัดสินครั้งนี้หากพิจารณาตามข้อสัญญาร่วมการงานที่ตกลงร่วมกันไว้ ทีโอที นั้นไม่สามารถดำเนินการฟ้องร้องเพื่อหามูลเหตุให้ชนะได้อีก เนื่องจากสัญญาร่วมการงานที่เขียนตกลงร่วมกันไว้นั้น ทีโอที ได้เขียนระบุถึง หากมีข้อพิพาท หากไม่สามารถหาข้อยุติได้ ให้อนุญาโตฯเป็นผู้ชี้ขาดและเป็นที่สิ้นสุด

สำหรับการที่บอร์ดทีโอทีต้องการเลิกสัญญา ต้องดูว่าอัยการมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร แต่ในส่วนผู้ถือหุ้นของกลุ่มทรูคงไม่ขาย แต่ท่าทีของทีโอทีเป็นสิ่งที่ทรูโดนกระทำมาตลอด เวลาที่ทีโอทีเพลี่ยงพล้ำมักจะต้องหาเหตุอะไรมากระทำกับทรู

ฟ้องร้องกันเพียบ

ทั้งนี้คดีที่ทรูฟ้องร้องทีโอทีมีทั้งหมด 4 คดีโดยยื่นฟ้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ 3 คดีและฟ้องต่อศาลปกครองกลาง 1 คดีเรียกร้องในวงเงิน 23,065 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ข้อกล่าวหาทีโอทีนำบริการพิเศษ (โทรศัพท์เคลื่อนที่) มาผ่านโครงข่ายทรูโดยไม่ได้ตกลงกับทรู เรียกร้อง 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งอนุญาโตฯได้มีคำพิพากษาให้ทีโอทีแพ้คดีดังกล่าวแล้ว

2.กล่าวหาทีโอทีไม่ประสานงานกับบริษัท กสท โทรคมนาคมเพื่อแยกข้อมูลการเรียกเข้าจากต่างประเทศและคำนวณส่วนแบ่งรายได้ไม่ถูกต้อง เรียกร้อง 8,400 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างคัดเลือกประธานอนุญาโตฯ

3.กล่าวหาทีโอทีไม่ชำระส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการโทรศัพท์สาธารณะในส่วนที่ทรูให้บริการก่อนลงนามในบันทึกข้อตกลง จำนวน 6 พันเลขหมาย ฟ้องต่ออนุญาโตฯเรียกร้อง 43 ล้านบาทซึ่งปรากฏว่าอนุญาโตฯเสียงข้างมากชี้ขาดให้ทีโอทีจ่ายให้ทรูตั้งแต่ 8 เม.ย.48 ที่ผ่านมา แต่ทีโอทีร้องต่อศาลปกครองเมื่อ 14 ก.ค. 48 ว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตฯไม่อยู่ในขอบข่ายสัญญาร่วมการงาน ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ซึ่งเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง

4.กล่าวหาทีโอทีลดค่าโทรศัพท์ทางไกลภายในประเทศ Y-tel 1234 โดยไม่ตกลงกับทรู ฟ้องต่อศาลปกครองกลางเรียกร้อง 622 ล้านบาท ซึ่งศาลปกครองกลางพิพากษาให้ทีโอทีชนะคดี ทรูยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ครบกำหนดทีโอทีแก้อุทธรณ์ 17 ก.พ.49

สำหรับคดีที่ทีโอทีฟ้องทรู 5 คดี โดยยื่นต่ออนุญาโตฯทั้งหมดเรียกร้อง 19,371 ล้านบาท และอยู่ระหว่างดำเนินการฟ้องอีก 3 คดีเรียกร้องไม่น้อยกว่า 81.8 ล้านบาทประกอบด้วย

1.กล่าวหาทรูผิดข้อตกลงโทรศัพท์สาธารณะโดยปิดตราสัญญลักษณ์ทรู บนเครื่องและตู้โทรศัพท์สาธารณะเรียกร้อง 433 ล้านบาท อยู่ระหว่างนัดสืบพยาน

2.กล่าวหาทรูผิดสัญญาร่วมการงานพิมพ์ชื่อและสัญญลักษณ์ทรูบนใบแจ้งหนี้/ใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน เรียกร้อง 1,922 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอยื่นคำให้การ เอกสารต่างๆ

3.กล่าวหาทรูค้างชำระค่าเช่าท่อร้อยสาย (เมืองทองธานี) เรียกร้อง 6 ล้านบาท อยู่ระหว่างเลือกประธานอนุญาโตฯ

4.กล่าวหาทรูลดค่าใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลภายในประเทศ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากทีโอที เรียกร้อง 1.5 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างยื่นคำคัดค้านของทรู

และ5.กล่าวหาทรูให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL) โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากทีโอที เรียกร้อง 2,010 ล้านบาท อยู่ระหว่างยื่นคำคัดค้านของทรู

นอกจากนี้ยังมีคดีอยู่ระหว่างดำเนินการกรณีทรูผิดสัญญาร่วมการงานอีก 3 คดีคือ 1.ทรูค้างชำระค่าใช้บริการ PCT และบริการพิเศษ SPC เรียกร้อง 72 ล้านบาท 2.ทรูต่อเชื่อมวงจรทางไกลระหว่างประเทศโดยตรงกับกสท โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทีโอทีเรียกร้อง 9.8 ล้านบาทและ3.ทรูให้บริการโทรศัพท์สาธารณะPCT Buddyโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากทีโอที


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.