FedEx เพิ่มเที่ยวบินในไทยหวังเศรษฐกิจฟื้น


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ในวงการธุรกิจขนส่งพัสดุภัณฑ์หรือขนส่งเอกสารของภาคเอกชน (air express) ปัจจุบันอยู่ในช่วงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่ผ่านมาอัตราการเติบดตของภาคธุรกิจดังกล่าวทั่วโลกอยู่ที่ระดับ 20% โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียซึ่งมีการคาดกันว่าการเติบโตจะอยู่ในอัตราที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ คือประมาณ 20-30% ส่วนธุรกิจนี้ในประเทศไทยอัตราการเติบโตก็คงจะอยู่ที่ระดับการเติบโตเฉลี่ยของโลก

ดังนั้น ในขณะนี้บริษัทที่ให้บริการด้านนี้จึงหันมาสนใจตลาดในเอเชียกันมากขึ้น โดยเฉพาะ Federal Express (FedEx) ที่เริ่มบุกตลาดเอเชียเพื่อขยายบริการสู่ตลาดโลกด้วย การเริ่มจากการซื้อกิจการ "เกลโค่" ซึ่งเป็นบริษัทจัดส่งพัสดุภัณฑ์ด่วนขนาดเล็กที่มีสาขาในยุโรปและเอเชียในปี 2527 และถัดมาในปี 2530 FedEx ได้จัดตั้งสำนักงานภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกขึ้นที่ฮาวาย เพื่อเชื่อมต่อเครือข่ายของ FedEx และเกลโค่ในอเมริกากับเอเชีย ส่งผลให้บริการลูกค้าในแถบเอเชียได้ดียิ่งขึ้น และเปิดบริการขนส่งสินค้าด่วนตรงสู่ญี่ปุ่นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ปี 2532 FedEx ได้ซื้อกิจการ "ฟลายอิ้ง ไทเก้อร์" ซึ่งเป็นสายการบินขนส่งสินค้าและมีสิทธิการบินสู่ 21 ประเทศ และในปีเดียวกัน FedEx ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลอเมริกาให้เปิดเที่ยวบินประจำเพื่อขนส่งเอกสาร พัสดุภัณฑ์ และสินค้า สู่จุดหมายจำนวนมากในเอเชีย นับจากนั้นเป็นต้นมา FedEx มีเครือข่ายและปริมาณการขนส่งในเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับการเติบโตและความมั่งคั่งของภูมิภาคนี้ ดังนั้น FedEx จึงได้ย้ายสำนักงานจากฮาวายมาประจำที่ฮ่องกงในปี 2535 เพราะมั่นใจว่าภูมิภาคเอเชียจะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของบริษัทในอนาคต

"การเติบโตในเอเชียจะมีมากกว่าในอเมริกาเพราะอเมริกาค่อนข้างอิ่มตัวแล้วแต่ในเอเชียยังมีศักยภาพอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นในเอเชียกันเอง หรือว่าจากเอเชียไปอเมริกาหรือไปยุโรป และแน่นอนขณะนี้สัดส่วนรายได้จากเอเชียจะมากกว่า" แก้วใจ นาคสกุล สุวรรณวาณิช ผู้จัดการการตลาดและลูกค้าสัมพันธ์ ประจำประเทศไทย กล่าวถึงความสำคัญของตลาดในเอเชีย

นอกจากนี้ในปี 2538 FedEx ได้เริ่มเปิดเที่ยวบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกสัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน รวมทั้งจัดตั้งศูนย์เครือข่ายการบริการในเอเชียที่อ่าวซูบิค ประเทศฟิลิปปินส์ ที่เรียกว่า "เอเชียวัน" เพื่อให้บริการขนส่งด่วนถึงผู้รับในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นระบบการให้บริการกับเครือข่ายขนส่งรอบดลก FedEx ทั้งในอเมริกาเหนือและใต้ แอฟริกา และยุโรป ด้วยเหตุนี้ทำให้รายได้ปีล่าสุดมีสูงถึง 11.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจุบันเรามีฝูงบินให้บริการ 584 ลำ ให้บริการถึง 212 ประเทศ นอกจากนี้เรากำลังจัดหาเครื่องบินอีก 113 ลำ ซึ่งเราเป็นบริษัทที่มีจำนวนฝูงบินที่ใหญ่ที่สุดของโลกในธุรกิจนี้" แก้วใจ กล่าว

สำหรับการทำธุรกิจของ FedEx ในประเทศไทยแก้วใจ เล่าว่าในอดีตเคยให้บริการ 1 เที่ยวต่อสัปดาห์ ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น FedEx จึงได้เพิ่มเที่ยวบินเป็น 5 เที่ยวต่อสัปดาห์ ซึ่งเริ่มให้บริการได้เมื่อต้นเดือนกันยายน 2540

"การบริการในไทยจะเป็นลักษณะบินตรงมาเลย ซึ่งจะเชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยจะเริ่มจากอเมริกา บินตรงเข้าฝรั่งเศส จากนั้นจะมุ่งสู่ดูไบ บอมเบย์ กรุงเทพฯ ฟิลิปปินส์ โอซากา และเมมฟิส"

สาเหตุที่ FedEx ตัดสินใจเพิ่มเที่ยวบินในครั้งนี้เนื่องจากเล็งเห็นว่าการทำการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศในแถบเอเชียมีศักยภาพมาก เพราะเป็นคู่ค้าที่สำคัญต่อกัน สังเกตได้จากปริมาณการนำเข้าและส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นการเพิ่มเที่ยวบินก็จะสามารถบริการลูกค้าในเอเชียได้มากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทให้บริการได้ในลักษณะเพียงข้ามคืนได้ถึง 14 เมือง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งจะกระทบต่อธุรกิจของ FedEx พอสมควร เรื่องนี้แก้วใจเปิดเผยว่า เมื่อปริมาณการส่งออกของผู้ประกอบการไทยลดลง จำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการกับบริษัทจะลดตามไปด้วย แต่ขึ้นอยู่กับว่าสินค้านั้นเป็นอะไร เช่น วัตถุดิบที่ลูกค้านำเข้ามาผลิต หรือประเทศคู่ค้าคือใคร ซึ่งอาจจะกระทบบ้าง ในทางกลับกันก็มีผลในแง่ดีด้วย เช่น สินค้าบางชนิดตามสายตาตลาดโลกจะมีราคาถูกลง ดังนั้นก็จะมีลูกค้ามาใช้บริการกับ FedEx เพิ่มมากขึ้น

"อัตราการสางออกลดลงกว่าช่วงก่อนๆ มาก แต่เราก็เชื่อมั่นว่าตลาดของไทยยังมีศักยภาพอยู่สูงเพราะเป็นประเทศที่ส่งออกรายใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง เช่น สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์" แก้วใจ กล่าว

และสิ่งที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งที่ FedEx หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ธุรกิจ air express ในประเทศไทยไม่ใช่มีเฉพาะ FedEx เท่านั้น ยังมีทั้ง DHL Worldwide Express (Thailand), TNT Express Worldwide (Thailand) ซึ่งแต่ละบริษัทต่างก็มีการให้บริการลูกค้าในลักษณะที่คล้ายๆ กัน เพราะโดยพื้นฐานการบริการ คือ รวดเร็ว สะดวกสบาย หรือการบริการแบบถึงที่ ที่เรียกว่า door to door

"จุดเด่นของเราในการแข่งขัน คือ การบริการที่มี value มากกว่า นอกจากส่งด่วนแล้วเรายังมีการรับประกันด้านอื่นๆ เช่น ประกันความเร็ว การตรงต่อเวลาหรือรับประกันคืนเงิน และที่สำคัญความเชื่อถือเพราะเรามีเครื่องบินเอง ดังนั้นการควบคุมสินค้าจะดีกว่า" แก้วใจ เล่า

นอกจากนี้ค่าเงินบาทหรือการเรียกเก็บค่าภาษีศุลกากรเพิ่มสูงขึ้นก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งของธุรกิจนี้ เนื่องจากจะต้องแบกรับกับต้นทุนที่นับวันสูงขึ้นเรื่อยๆ ทางออกของผู้ประกอบการ นอกจากการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว หนทางหนึ่งที่นิยมกันมาก คือ การเพิ่มราคาค่าขนส่ง ซึ่ง FedEx เองก็แบกรับต้นทุนไม่ไหว ดังนั้นทางผู้บริหารคาดว่าจะต้องปรับราคาค่าบริการเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 8%

นอกเหนือจากการเพิ่มเที่ยวบินแล้ว ล่าสุด FedEx ยังให้ความสนใจต่อโครงการศูนย์กลางผลิตและขนส่งทางอากาศยานนานาชาติ (Global Transpark : GTP) ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการเพื่อพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางอากาศ โดยจะทำการพัฒนาที่สนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี ซึ่งแผนแม่บทของ GTP จะต้องดำเนินการ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางขนส่งทางอากาศ การสร้างอาคารที่พักสินค้า ทำคาร์โก ซึ่งจะแยกว่าจุดไหนเอกชนจะเข้าไปลงทุน และการดำเนินการบริเวณรอบสนามบินว่าส่วนไหนบ้างที่เหมาะสำหรับการสร้างอาณานิคมอุตสาหกรรม ซึ่ง FedEx กำลังพิจารณาว่าจะเข้าร่วมถือหุ้นในโครงการนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน FedEx ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นที่ปรึกษาของโครงการ GTP เพื่อดูแลด้านการตลาดโดยตรง

แต่โครงการนี้อยู่ในช่วงเตรียมการ และสิ่งแรกที่จะเริ่มลงมือได้นั้นคาดว่าจะเป็นปีหน้า ดังนั้นในช่วงนี้ FedEx ก็ร้องเพลงรอไปก่อน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.