เอกรัฐวิศวกรรม กำลังพยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาอัตราการเติบโตของยอดขายและผลกำไรไว้ให้ได้ในปีนี้ทั้งที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาไม่เอื้อให้สามารถทำได้
ผู้บริหารกำลังซบเซาไม่เอื้อให้สามารถทำได้ ผู้บริหารกำลังหันเหทิศทางเพื่อมุ่งสู่การส่งออก
โดยเฉพาะในตลาดยุโรปที่น่าสนใจยิ่ง
ในอดีตอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ของประเทศไทยสามารถผลิตส่งออกในแต่ละปีเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างปี 2537 ส่งออกมูลค่า 3,197 ล้านบาท ปี 2538 ส่งออกมูลค่า 4,682 ล้านบาท
และปี 2539 สามารถส่งออกได้สูงถึง 15,110 ล้านบาท แต่หลังจากเจอมรสุมภาวะเศรษฐกิจในปี
2540 คาดว่าอัตราการเติบโตจะลดลงอย่างมาก
"โดยเฉลี่ยแล้วอุตสาหกรรมนี้จะโตปีละประมาณ 25-30% แต่ปีนี้จะโตเหลือไม่ถึง
10% เนื่องจากโตตามภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นช่วงนี้การขยายการลงทุนไม่ดีความต้องการใช้หม้อแปลงไฟฟ้าก็ลดลงตาม"
เกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ ประธานกรรมการ บมจ.เอกรัฐวิศวกรรม กล่าวถึงความเสียหายของอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าที่เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจโดยตรง
จากปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าเจ็บตัวไปตามกันไม่เว้นแม้แต่เอกรัฐฯ
ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่และมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศสูงสุด คือ ประมาณ 30-35%
ก็พลอยได้รับความเสียหายเนื่องจากลูกค้าหดหายไปมากพออสมควร
"เห็นได้ชัดว่าลูกค้าซื้อลดลงตั้งแต่เดือนมิถุนายน ทำให้ยอดขายเราลดลง
โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นรายย่อยที่ตกไปประมาณ 20% แต่ก็ยังมีลูกค้าในโครงการขนาดใหญ่
ซึ่งเป็นนักลงทุนต่างประเทศที่ยังสั่งสินค้ากับเราอยู่อย่างต่อเนื่อง"
เกียรติพงศ์ กล่าว
ผลที่ตามมาคาดว่าผลประกอบการปี 2540 จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะในอดีตที่ผ่านมาบริษัทมีผลประกอบการโตอย่างดีมาตลอด
โดยในปี 2536 มียอดขาย 783 ล้านบาท กำไรสุทธิ 47 ล้านบาท ปี 2537 มียอดขาย
689 ล้านบาท กำไรสุทธิ 39 ล้านบาท ปี 2538 มียอดขาย 910 ล้านบาท กำไรสุทธิ
58 ล้านบาท และปี 2539 มียอดขาย 1,197 ล้านบาท กำไรสุทธิ 75 ล้านบาท
ซึ่งเอกรัฐฯ แก้ปัญหาด้านยอดขายด้วยวิธีหาตลาดแห่งใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยขณะนี้ตลาดต่างประเทศยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน
ซึ่งตลาดใหม่ที่เอกรัฐฯ เล็งไว้ คือ แถบตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย ยุโรป อเมริกา
ส่วนตลาดในญี่ปุ่นกำลังหาช่องทางเพิ่มปริมาณการส่งออกให้มากขึ้น
"เรากำลังพยายามไม่ให้ผลประกอบการตกต่ำหรือขาดทุน เพราะไม่อยากเสียสถิติว่าที่ผ่านมาเราเติบโตดีมาก
ซึ่งเราแก้ปัญหาด้วยการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ และยังประกาศเพิ่มทุนขึ้นไปอีกจากเดิมมีทุนจดทะเบียน
220 ล้านบาท เป็น 540 ล้านบาท คาดว่าเราจะได้เงินเข้ามาประมาณ 300-400 ล้านบาท
ซึ่งวิธีนี้ก็เป็นทางออกสำหรับเศรษฐกิจเช่นนี้"
นอกจากนี้เอกรัฐฯ ยังเจอปัญหาเรื่องค่าเงินบาทด้วยเนื่องจากวัตถุดิบประมาณ
60% จะเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นประมาณ
27% อย่างไรก็ตาม ยังโชคดีอยู่ที่ว่าเมื่อช่วงเงินบาทยังไม่ลอยตัวบริษัทได้ทำการสั่งซื้อวัตถุดิบสต็อกไว้ผลดีที่ตามมา
คือ บริษัทไม่ต้องแบกภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นหลังจากลดค่าเงินบาทมากนัก
แต่โดยภาพรวมแล้วคาดว่าปีนี้เอกรัฐฯ ยังต้องรับรู้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่พอสมควร
เนื่องจาก ณ สิ้นปี 2539 ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 2.65 ล้านบาท และยังมีเงินกู้ยืมจากต่างประเทศอยู่อีกจำนวน
155.92 ล้านบาท
นอกจากนี้เอกรัฐฯ ยังเจอกับปัญหาด้านการทุ่มตลาดจากต่างประเทศ ซึ่งผู้ผลิตจากจีนและไต้หวันได้นำหม้อแปลงไฟฟ้าระบบกำลังเข้ามาจำหน่ายแข่งขันกับเอกรัฐฯ
เป็นจำนวนสูงถึง 50% โดยจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่าแต่คุณภาพก็ต่ำตามไปด้วย
เป็นการสูญเสียโอกาสที่เอกรัฐฯ พึงจะได้ อีกทั้งยังต้องเผชิญกับผู้ผลิตรายเล็กๆ
ในประเทศซึ่งดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้ากลายเป็นแฟชั่นไปแล้ว เพราะปัจจุบันมีโรงงานผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายสูงเกือบ
20 แห่ง
"ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วน่าจะมีประมาณ 8 แห่งก็เพียงพอแล้ว เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ต้องมีคุณภาพสูง
ซึ่งคาดว่าในอนาคตโรงงานเหล่านี้จะลดลงเรื่อยๆ เหลือเพียงเฉพาะมืออาชีพและโรงงานที่มีสายป่านด้านการเงินยาวเท่านั้น
เพราะโดนบีบคั้นจากภาวะเศรษฐกิจ ส่วนโรงงานผลิตหม้อแปลงระบบกำลังยิ่งต้องใช้มืออาชีพ
เห็นได้จากขณะนี้มีโรงงานเพียง 2 แห่ง คือเรากับ ABB" เกียรติพงศ์ กล่าว
ปัจจุบันเอกรัฐฯ เป็นผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย (Distribution Transformer)
ที่ใช้สำหรับแปลงกระแสไฟฟ้าแรงสูงจากระดับ 33,000 โวลต์ ลงมาเป็นกระแสไฟฟ้าแรงต่ำ
380 หรือ 220 โวลต์ ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารที่พักอาศัยโดยมีกำลังการผลิต
8,000 เครื่องต่อปี ซึ่งยังไม่เต็มกำลังการผลิตที่สามารถผลิตได้ 12,000 เครื่องต่อปี
และผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบกำลัง (Power Tansformer) ที่ใช้สำหรับหม้อแปลงกระแสไฟฟ้าแรงสูงจากระดับ
115,000 โวลต์ ลงมาให้เหลือ 33,000 โวลต์ หรือ 22,000 โวลต์ มีกำลังการผลิต
50 เครื่องต่อปี และปี 2541 จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 70 เครื่องต่อปี
"ปัจจุบันหม้อแปลงไฟฟ้าทั้ง 2 ชนิดสร้างรายได้ให้เราประมาณ 75% โดยมีสัดส่วนลูกค้าเป็นเอกชน
55% อีก 45% เป็นรัฐบาล แต่ปีนี้ลูกค้ารัฐบาลจะเพิ่มเป็น 55% อีก 45% เป็นเอกชน
ส่วนรายได้ที่เหลืออีก 25% จะเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รับจ้างสร้างไฟฟ้า"
เกียรติพงศ์ กล่าว
ส่วนแผนการลงทุนในปีนี้ เกียรติพงศ์กล่าวว่า ภาวะเช่นนี้จะไม่ขยายการลงทุนอะไรเลย
แต่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักรและระยะเวลาการทำงานของพนักงานให้มากขึ้น
ซึ่งความจริงแผนการขยายการลงทุนในอดีตของเอกรัฐฯ มีถึง 5 โครงการ แต่เมื่อภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยจึงชะลอออกไป
เหลือเพียงโครงการเดียวที่ลงทุนสร้างโรงงานผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าในพม่า โดยจะร่วมลงทุนกับกระทรวงอุตสาหกรรมหนักของพม่าถือหุ้นฝ่ายละ
50% ใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2542
"ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นเรามีแผนจะเข้าไปลงทุนในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย
เวียดนาม และจีน เพราะเรามองว่าต่อไปการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าจะเติบโตในเอเชียมากที่สุด
ดังนั้นถ้าเรามีกำลังการผลิตมากและมีคุณภาพก็สามารถครองส่วนแบ่งตลาดโลกได้มากขึ้น
และถ้าเราทำตามแผนได้เราจะติด 1 ใน 10 ของโลกด้านการผลิตได้" เกียรติพงศ์กล่าว
ซึ่งความเป็นไปได้นั้นมีสูงพอสมควร เนื่องจากขณะนี้ต้นทุนการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าแถบยุดรปและอเมริกาสูงกว่าแถบเอเชียประมาณ
30-40% ดังนั้นผู้ผลิตแถบนี้จะลดกำลังการผลิตลงและหันมาสั่งซื้อแทน
"เรามั่นใจว่าจะเป็นจริงได้เพราะโรงงานขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรปยังมีกำลังการผลิตแค่
7,000 เครื่องต่อปี จะเหลือแต่จีนและอเมริกาเท่านั้นที่เป็นคู่แข่งของเรา"
เกียรติพงศ์ กล่าวตบท้าย