ในยามที่ภาวะเศรษฐกิจไม่แน่ไม่นอน คาดเดายากเช่นนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เองแม้จะอาการดีขึ้นมานิดหน่อย
แต่ก็ยังไม่เป็นที่วางใจของนักลงทุน 1 ปีเศษที่ผ่านมาหลักทรัพย์ใหม่ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดฯ
มีน้อยมากจนไม่มีใครอยากจะกล่าวถึงด้วยว่ากล่าวไปก็ช้ำใจทั้งเจ้าของกิจการที่นำหุ้นเข้าตลาดฯ
อันเดอร์ไรเตอร์ที่รับหุ้นเหลือจากการจองซื้อไว้เต็มพอร์ต และนักลงทุนที่เผลอตัวเผลอใจไปชั่วขณะ
อย่างไรก็ดี ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงมีความหมายสำหรับธุรกิจที่ต้องการขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง
เพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากจะเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญแล้ว บริษัทต่างๆ
ที่เข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเงานี้ก็เสมือนได้รับการการันตีไปในระดับหนึ่งว่ามีคุณภาพไม่น้อยหน้าใคร
ซึ่งส่งผลให้ดำเนินธุรกิจสะดวกขึ้น มีอำนาจต่อรองดีขึ้น และการหาแหล่งเงินทุนในลักษณะของการกู้เงินได้ในต้นทุนที่ต่ำลง
สุเจนต์ ศรีสุข กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.สินบัวหลวง บริษัทในเครือบมจ.ธนาคารกรุงเทพ
ได้เล็งเห็นความสำคัญเหล่านี้จึงได้แปรสภาพ บริษัทสินบัวหลวง จำกัด ให้เป็นบริษัทมหาชนตั้งแต่เดือนเมษายน
2540
สุเจนต์ เปิดเผยว่า "เราได้มีการยื่นเรื่องไปที่ ก.ล.ต.แล้ว แต่จะเข้าตลาดฯ
ตอนไหนก็ต้องมาดูเวลาอีกทีเพราะช่วงนี้จังหวะอาจจะยังไม่ดีนัก"
กระนั้นก็ตามสินบัวหลวงได้ติดต่อกับทางอันเดอร์ไรเตอร์คาดว่าจะเป็นโบรกเกอร์ต่างประเทศ
เช่น เจพี มอร์แกน แล้ว เนื่องจากหากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จริง
บริษัทมีนโยบายจะกระจายหุ้นเพิ่มทุนนี้ไปยังนักลงทุนสถาบันในต่างประเทศประมาณ
70% ของหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดประมาณ 250 ล้านบาท สำหรับที่ปรึกษาทางการเงินคาดว่าจะเป็นบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(IFCT)
ปัจจุบันสินบัวหลวงมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นใหญ่คือตระกูลโสภณพนิช
35% บมจ.ธนาคารกรุงเทพ 10% บงล.ร่วมเสริมกิจ จำกัด (มหาชน) 10% บงล.สินเอเซีย
จำกัด (มหาชน) บมจ.กรุงเทพประกันภัย 5% อื่นๆ ดำเนินธุรกิจหลักในด้านการบริการการเงินและบริการอื่นๆ
ทั้งนี้ บมจ.สินบัวหลวงได้มีการจัดโครงสร้างการบริหารงานออกเป็น 6 บริษัทย่อย
เพื่อดูแลธุรกิจในแต่ละแขนงคือ บริษัทสินบัวหลวงลิสซิ่งซึ่งให้บริการด้านลิสซิ่งเช่าซื้อ
และบริการขายสินค้าผ่อนชำระ บริษัทสินบัวหลวงเซอร์วิส ให้บริการด้านรถเช่า
บริการทำความสะอาด และบริหารอาคารสำนักงาน บริษัทสินบัวหลวง แคปปิตอล ให้บริการด้านการเงิน
เช่น รับซื้อตั๋วการค้า รับโอนสิทธิเรียกร้องจากลูกหนี้การค้า และรับซื้อตราสารหนี้ของสถาบันการเงิน
บริษัทสินบัวหลวงแอ๊พไพรซัลให้บริการประเมินมูลค่าทรัพย์สินประเภทที่ดิน
อสังหาริมทรัพย์ เครื่องจักร และอุปกรณ์ บริษัทเอส บี อินเตอร์เนชั่นแนล
บิสซิเนส ซึ่งตั้งขึ้นใหม่เพื่อให้บริการนายหน้าซื้อขายไปจนถึงการให้เช่าและให้คำปรึกษา
ทั้งนี้รายได้หลักของบมจ.สินบัวหลวงมาจากการให้บริการลิสซิ่งและเช่าซื้อประมาณ
600 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วน 60% ของยอดรายรับรวม นอกจากนั้นมาจากบริการขายสินค้าผ่อนชำระ
20% และบริการอื่นๆ อีก 20%
อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมา บริษัทได้มีการชะลอสินเชื่อด้านลิสซิ่งและเช่าซื้อลง
เนื่องจากสินเชื่อเหล่านี้มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้
พร้อมทั้งหันไปเน้นบริการขายสินค้าผ่อนชำระในชื่อว่าโครงการสวัสดิการบัวหลวงมากขึ้น
เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพดีแม้ในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ เพราะพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปทำให้ตลาดขายสินค้าผ่อนชำระขยายตัวเร็วมากประมาณ
40% ต่อปีปัจจุบันมีมูลค่าตลาดประมาณ 25,000 ล้านบาท ทุกวันนี้มีผู้ดำเนินธุรกิจเงินผ่านทั้งในและต่างประเทศ
ให้บริการในหลายรูปแบบทั้งที่ขายสินค้าของตนเองเปิดเคาน์เตอร์รับจัดไฟแนนซ์ควบคู่กับห้างสรรพสินค้าและร้านค้า
หรือกระทั่งการขายตรงผ่านไปรณณีย์
"การแข่งขันทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้โครงการสวัสดิการสินบัวหลวง
ต้องมีการปรับกลยุทธ์การทำตลาดด้วยการเสนอสินค้าชั้นนำหลากหลายในราคาสวัสดิการแก่พนักงานของบริษัท
ซึ่งสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 4,000 แห่ง และตลาดสินค้าผ่อนชำระในประเทศร้อยละ
70 อยู่ในภูมิภาค ดังนั้นสินบัวหลวงจึงมีข้อได้เปรียบที่สามารถให้บริการครอบคลุมตลาดส่วนนี้ได้โดยผ่านทางสำนักงานสาขา
37 แห่งทั่วประเทศ และกำลังจะเปิดเพิ่มอีก 2 แห่งในเร็วๆ นี้ ซึ่งผู้ให้บริการผ่อนชำระรายอื่นๆ
ยังเข้าไม่ถึง" สุเจนต์ กล่าว พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าภายในปีนี้จะสามารถขยายจำนวนบริษัทสมาชิกได้ถึง
6,000 แห่ง
ทั้งนี้บริษัทยังมีนโยบายจะขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าว่าในปี
2543 จะมีสาขาทั้งสิ้น 75 แห่งทั่วประเทศ
สุเจนต์ กล่าวว่า "สวัสดิการสินบัวหลวง เป็นโครงการขายสินค้าราคาสวัสดิการ
ซึ่งจะถูกกว่าราคาขายผ่อนทั่วไปในท้องตลาด คืออัตราดอกเบี้ยประมาณ 1.25%
ต่อเดือน"
ธุรกิจบริการอื่นๆ ที่สุเจนต์เล็งเห็นศักยภาพในขณะนี้ก็คือ Home care service
ซึ่งเป็นธุรกิจให้บริการดูแลซ่อมแซมบ้าน เช่น ท่อน้ำเสีย ไฟเสีย กำจัดปลวก
เป็นต้น
การขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้งนี้ ทำให้บมจ.สินบัวหลวงต้องระดมทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในลักษณะของการเพิ่มทุน
และกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็ได้ทำการระดมเงินโดยการขายหุ้นกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสกุลเงินเยน
(Floating Rate Notes) มูลค่า 6,000 ล้านเยน เพื่อนำมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนภายในบริษัท
เนื่องจากรายได้หลักของบริษัทมาจากธุรกิจลิสซิ่ง เช่าซื้อและบริการขายสินค้าผ่อนชำระ
ซึ่งล้วนแล้วแต่จำเป็นต้องมีทุนหมุนเวียนสูงนั่นเอง ทำให้บริษัทมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ด้วยเหตุผลสำคัญคือต้องการเครดิตในการระดมทุนโดยเฉพาะในเรื่องของการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ
เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำลง อันจะเป็นผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว