“ทีโอที”ฉีกสัญญาทรูยึดอำนาจบริหาร ร้องศาลปกครองถอนคำชี้ขาดอนุญาโตฯ


ผู้จัดการรายวัน(22 กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ทีโอทีแลกหมัดทรู ไม่รับคำชี้ขาดอนุญาโตฯ เดินหน้าฟ้องศาลปกครอง พร้อมถกอัยการเลิกสัญญาทรูที่เหลืออีก 10 ปี ด้วยการซื้อกิจการ 2.6 หมื่นล้านบาทยึดอำนาจบริหารเบ็ดเสร็จ ส่วนแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ รอคณะกรรมการระดมทุนพิจารณา

เมื่อวานนี้(21 ก.พ.) บอร์ดทีโอที มีการประชุมนัดพิเศษเพื่อหารือกรณีผลการพิจารณาคำวินิจฉัยคดีของอนุญาโตตุลาการ ที่ ทรู คอร์ปอเรชั่น ยื่นฟ้อง บริษัท ทีโอที ที่มีการเรียกเก็บค่าเชื่อมโยงโครงข่ายจากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากผู้ให้บริการที่เป็นคู่สัญญากับบริษัท กสท โทรคมนาคม เลขหมายละ200 บาทต่อเดือนโดยไม่มีการแบ่งรายได้ให้กับทรู ซึ่งอนุญาโตฯได้มีเสียงเห็นชอบ 2 ใน 3 ตัดสินให้ ทีโอที ชำระค่าเสียหายแก่ทรู เป็นมูลค่ากว่า 9,175 ล้านบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ให้นับจากวันที่ 22 สิงหาคม 2545 ซึ่งทีโอทีจะต้องดำเนินการชำระภายใน 60 วันนับจากที่ผลชี้ขาด

นายธีรวิทย์ จารุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ทีโอที กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ดว่าบอร์ดมีมติให้ดำเนินการ 2 เรื่องคือเรื่องแรกให้ทำเรื่องขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตฯ ยื่นไปยังศาลปกครอง โดยที่ฝ่ายกฎหมายของทีโอทีจะประสานงานกับอัยการเพื่อให้เหตุผลถึงการร้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตฯ ซึ่งตามหลักการต้องยื่นภายใน 90 วัน แต่คาดว่าทีโอทีจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากรับทราบคำวินิจฉัย 20 ก.พ.ที่ผ่านมา

“คดีที่มีมูลค่าความเสียหายมากขนาดนี้ และเป็นกิจการของรัฐที่มีผลกระทบกับประชาชน เราเชื่อว่าศาลปกครองคงรับเรื่อง 100% เราไม่เห็นด้วยกับอนุญาโตฯในเรื่องวิธีคำนวณ แนวคิดและหลักการ”

เขาย้ำว่ามีความเป็นไปได้ที่ศาลปกครองจะรื้อคดีด้วยการตรวจเอกสารเดิมที่เคยยื่นไปเป็นหลัก เพื่อทำความเข้าใจในวิธีการตีความ ตลอดจนการประเมินมูลค่าความเสียหาย เพื่อพิสูจน์คำตัดสินของอนุญาโตฯว่าชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งอาจขอเอกสารเพิ่มบางส่วนขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของคดี

“คงใช้เวลาเป็นปีในการพิจารณา ซึ่งกระทบกับแผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯของทีโอที ซึ่งคงต้องรอการประชุมของคณะกรรมการระดมทุนว่าจะมีทางออกอย่างไร”

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการชี้ขาดเขตอำนาจของศาล หลังจากที่อนุญาโตฯชี้ขาดมาแล้ว ทรูคงต้องฟ้องศาลเพื่อบังคับคดีภายใน 60 วันให้ทีโอทีปฏิบัติตามผลการชี้ขาดของอนุญาโตฯ โดยสามารถฟ้องได้ทั้งศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ซึ่งหากฟ้องศาลปกครองก็สามารถรวมเข้าเป็นคดีเดียวกันเพื่อพิจารณาได้ แต่ถ้าทรูฟ้องศาลยุติธรรม คงต้องพิจารณาว่าอำนาจชี้ขาดจะอยู่ที่ศาลไหน

นายธีรวิทย์กล่าวว่าเรื่องที่สองคือบอร์ดให้ฝ่ายบริหารทีโอทีร่วมกับอัยการบอกเลิกสัญญากับทรูโดยเร็ว เพราะเชื่อว่ามีเหตุผลเพียงพอในการเลิกสัญญา โดยผลการเลิกสัญญา คือทีโอทีจะซื้อกิจการทรูในราคา Book Value ประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาทและยึดอำนาจการบริหารงานทั้งหมด โดยที่ทรูยังมีสัญญาเหลืออีกประมาณ 10 ปี 8 เดือน หรือสิ้นสุดสัญญาวันที่ 29 ต.ค.2560

“ทรูผิดเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญในสัญญาอย่างต่อเนื่อง แต่ทีโอทีไม่ได้ใช้อำนาจตามสัญญาอย่างเข้มงวด แต่ต่อไปเราคงจะต้องฟ้องให้หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ”

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวก่อนรู้ผลบอร์ดทีโอทีต้องการเลิกสัญญากับทรูว่าผลชี้ขาดของอนุญาโตฯจะส่งผลให้ ทีโอที ตัดสินใจให้มีการแปรสัญญาร่วมการงานได้เร็วยิ่งขึ้นเพราะหากยังให้ ทรู อยู่ภายใต้สัญญาร่วมการงานทีโอที ก็จะต้องแบกรับภาระในการจ่ายค่าแอ็คเซ็สชาร์จให้กับทรู จนกว่าจะหมดสัญญาร่วมการงานและในขณะเดียวกันมูลค่าที่ทีโอทีจะต้องแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันนั้นจะมีมูลค่าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปัจจัยการเติบโตจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่

สำหรับผลประโยชน์จากการเก็บค่าบริการที่ทีโอที จะต้องแบ่งให้กับทรู นั้น ในระหว่างนี้ ยังไม่สามารถตอบได้ว่ามีจำนวนเท่าไร เนื่องจากจะต้องนำไปคำนวนตามสูตรที่อนุญาโตฯให้นับจากวันที่ 23 สิงหาคม 2545 จนถึงปัจจุบันโดยจะคำนวณจากเลขหมายทรู คูณด้วยผลตอบแทนทีโอทีได้รับ แล้วนำไปหาร จากจำนวนเลขหมายทั้งหมดจากทีโอที ทรู ทีทีแอนด์ที เมื่อได้ตัวเลขแล้วจากนั้น หารด้วย 2

“ผลการพิจารณาครั้งนี้ ก็เหมือนกับการบอกถึงการเปลี่ยนแปลง ที่อาจจะนำไปสู่การแปรสัญญา และการสร้างกลไกในการเก็บค่าเชื่อมโยงโครงข่ายให้เร็วขึ้น”

ทั้งนี้ในส่วนของทรูนั้นไม่มีความเดือดร้อนมากนัก ต่อการที่จะเปลี่ยนแปลงหรือแปรสัญญา แต่สำหรับทีโอทีนั้นอาจจะมีผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ซึ่งทางออกที่ดีสำหรับทีโอที คือ การแปรสัญญาร่วมการงานหรือการที่แก้ข้อสัญญาบางส่วนออกไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ

อย่างไรก็ตามการที่จะก้าวไปสู่การแข่งขันเสรีภาครัฐควรจะเห็นถึงปัญหาของข้อสัญญาที่ยังข้อเหลื่อมล้ำ บางเรื่องมีความคุ้มค่า และไม่คุ้มค่าจากสิ่งที่จะต้องรับ ซึ่งในจุดนี้หากมีการเจรจาหาทางออกที่ดีร่วมกัน ก็จะสามารถหาทางจบลงด้วยดีทุกฝ่ายได้และจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยรวมและการเข้าสู่การแข่งขันเสรีตามข้อตกลง WTO

นายอธึก อัศวานันท์ รองประธานกรรมการ และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกฎหมาย ทรู กล่าวว่า หากทีโอที ต้องการที่จะเรียกร้องเรื่องดังกล่าวจนถึงที่สุด ก็ต้องฟ้องศาลปกครองเกี่ยวกับผลการตัดสินของอนุญาโตฯว่าผิด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ ทีโอที ว่าจะดำเนินการหรือไม่ แต่สำหรับคำตัดสินครั้งนี้หากพิจารณาตามข้อสัญญาร่วมการงานที่ตกลงร่วมกันไว้ ทีโอที นั้นไม่สามารถดำเนินการฟ้องร้องเพื่อหามูลเหตุให้ชนะได้อีก เนื่องจากสัญญาร่วมการงานที่เขียนตกลงร่วมกันไว้นั้น ทีโอที ได้เขียนระบุถึง หากมีข้อพิพาท หากไม่สามารถหาข้อยุติได้ ให้อนุญาโตฯเป็นผู้ชี้ขาดและเป็นที่สิ้นสุด

สำหรับการที่บอร์ดทีโอทีต้องการเลิกสัญญา ก็ต้องดูว่าอัยการมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร แต่ในส่วนผู้ถือหุ้นของกลุ่มทรูก็คงไม่ขาย แต่ท่าทีของทีโอทีเป็นสิ่งที่ทรูโดนกระทำมาตลอด เวลาที่ทีโอทีเพลี่ยงพล้ำมักจะต้องหาเหตุอะไรมากระทำกับทรู


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.