|

เปิดสมุดปกขาวสภาการหนังสือพิมพ์ แฉดีลขายชินคอร์ปกระทบความมั่นคง
ผู้จัดการรายวัน(22 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เปิดสมุดปกขาวสภาการหนังสือพิมพ์-สภาทนายความชี้ชัด ดีลขายชินคอร์ปกระทบความมั่นคง ผลประโยชน์ทับซ้อน จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ชี้นิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาทนายความ ได้ออกสมุดปกขาวการศึกษาและวิเคราะห์เรื่อง การทำธุรกรรมซื้อขายหุ้น และหลักทรัพย์ กรณีของ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีการแปลความให้ขัดกับหลักการจัดเก็บภาษีที่ชอบด้วยกฎหมาย และ เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายความมั่นคงของชาติ
สำหรับสาระสำคัญเกี่ยวกับการ วิเคราะห์ธุรกรรมการโอนหุ้นกับความรับผิดชอบทางภาษีอากร กรณีการซื้อขายหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในหนังสือปกขาวสรุปว่า ไม่ว่าจะเป็นกรณี "ซื้อ" หุ้นนอกตลาดตามเหตุผลความผิดทางภาษีอากรตอนซื้อหุ้น หรือกรณี "ขาย" "หุ้น" เมื่อมอบให้ตัวแทนก่อนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์จะต้องเสียภาษีเงินได้ทั้ง 2 กรณี การที่กรมสรรพากรจะแปลความข้อเท็จจริงตามธุรกรรมนี้ให้เป็นไปทำนองที่จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้เลยทั้งขณะเมื่อ "ซื้อ" หรือ ขณะเมื่อ "ขาย" นั้น ไม่มีข้ออ้างใดตามเหตุผลทางกฎหมายจะอ้างได้เลย การทำหน้าประเมินภาษีในทั้งสองกรณีนี้จึงไม่อาจหลีกเลี่ยง หรือปฏิเสธความรับผิดชอบได้
ส่วนผลการ วิเคราะห์ธุรกรรมการโอนหุ้นกับประเด็นความมั่นคงของชาติ กรณีการซื้อขายหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผลการศึกษาพบว่า
1.กรณีการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงของชาติไว้เป็นข้อสงวนสิทธิ์ของรัฐวิสาหกิจในสัญญาสัมปทานทุกฉับข้างต้นเป็นเอกสิทธิ์ของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันรับผิดชอบให้มีการบังคับกฎหมายได้เสมอ ซึ่งตามข้อเท็จจริงข้อสงวนสิทธิ์นี้ถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญในสัญญาผู้รับสัมปทานต้องปฏิบัติตามตลอดเวลา
2.กลุ่มทุนผู้เป็นเจ้าของบริการตามสัญญาสัมปทานทั้งหมดในกิจการโทรคมนาคมมีประสบการณ์กับปัญหาข้อสงวนสิทธิ์นี้เป็นระยะเวลามาสิบกว่าปีแล้วว่า เป็นเสมือนหนามยอกอกที่ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าของทรัยพ์สินในบริษัทของตนได้ เพราะติดขัดข้อสัญญาสำคัญนี้ โดยเฉพาะในสายตาของการตรวจสอบทรัพย์สิน ของผู้ที่จะมาร่วมทุนจากต่างประเทศ ดังนั้น การเข้าสู่การเมืองเพื่อลดความเสียเปรียบในข้อสัญญาดังกล่าวจึงเริ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยประสบกับวิกฤติทางเศรษฐกิจการเงินอย่างร้ายแรง เพราะรัฐบาลในขณะนั้นทำผิดพลาดเรื่อง Currency Swap จนเป็นเหตุฐานะทางการเงินของประเทศง่อนแง่น แม้จะมีผู้กระทำผิด และมีคำพิพากษาไปแล้ว แต่ยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องอีกหลายรายมาเป็นที่ปรึกษา และทำงานให้กับรัฐบาลชุดนี้
3.อาศัยความบอบช้ำทางเศรษฐกิจและใช้นโยบายประชานิยมด้วยการพักชำระหนี้ แจกเงินให้กองทุนหมู่บ้าน สร้างฐานคะแนนเสียง ทำให้ประชาชนสำคัญผิดว่า เมื่อผู้มีฐานะทางการเงินที่ดีแล้วมาเล่นการเมืองไม่แสวงหาประโยชน์อื่นใดอีก นั่นเป็นภาพที่ขายได้ดีทีเดียวสำหรับคนยากจนในชนบทที่ยังไม่เข้าใจดี
เพราะในอีกภาพหนึ่งที่ซ่อนอยู่ตลอดเวลาก็คือ ความพยายามลดบทบาทของรัฐวิสาหกิจผู้เป็นเจ้าของสัมปทาน และเมื่อนำนโยบายการค้าเสรีขององค์การค้าโลกเข้ามา จึงสามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ได้เข้าช่องทางการลดบทบาทเจ้าของสัมปทานทันที
ดังนั้น เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 จึงได้มีการแปรสภาพขององค์การการโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2545 แปรสภาพการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ของการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547 ได้แปรสภาพองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2548 ได้มีการแปรสภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ด้วย
4.ความพยายามดังกล่าวนั้นสัมฤทธิ์ผลทำให้มูลค่าหุ้นเพิ่มสูงขึ้นทุกคั้งทั้งก่อนและหลัง แล้วแต่ที่มีการวางแผนกันในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพราะสภาพขององค์กรที่เป็นรัฐวิสาหกิจทั้งหมดได้ถูกแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด และมีสถานภาพไม่แตกต่างกันกับบริษัทผู้รับสัมปทาน ยิ่งไปกว่านั้น ยังนำบริษัทในเครือที่ลงทุนด้านกิจการโทรคมนาคมทางดาวเทียมไปขอรับการส่งเสริมการลงทุน ทำให้ได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้จากเงินปันผลให้แก่เจ้าของหุ้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 8 ปี ซึ่งเมื่อรวมผลประโยชน์ที่ได้รับการลดแลกแจกแถมเช่นนี้ ทำให้มูลค่าหุ้นของชินคอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ถืออยู่ในทุกบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
5.นอกจากนั้น เพื่อสงวนความมั่นคงของชาติที่มีอยู่ในสัญญาลดน้ำหนักลง คณะรัฐมนตรีโดยนายกรัฐมนตรีได้ออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546 เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจเดิมในสัญญาสัมปทานที่มีอยู่ โดยอ้างเรื่องการค้าเสรี และให้มีการจัดเก็บภาษีเพื่อความทัดเทียมกัน ซึ่งทำให้รัฐวิสาหกิจในรูปแบบของบริษัทจำกัด (มหาชน) ตกอยู่ในฐานะการเสียภาษีด้วย แต่ในความเป็นจริงนั้นเป็นประโยชน์แก่บริษัทผู้รับสัมปทานเป็นอย่างมาก ที่สามารถลดบทบาทของรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทธรรมดาได้ ทั้งๆที่รัฐวิสหากิจนั้นโดยข้อเท็จจริงไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว เพราะจะนำกำไรทั้งหมดให้กับรัฐบาลตามกฎหมายเสมอ
6.เมื่อมีความมั่นใจในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างขององค์การรัฐวิสาหกิจดังกล่าวแล้วจึงได้ออกพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 โดยมีความมั่นใจคณะกรรมการกทช.ที่จะมีการคัดสรรผ่านการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฏร์ และวุฒิสภานั้นจะอยู่ภายใต้การชี้นำได้พอสมควร จึงมีการใช้กฎหมายฉบับนี้ทั้งๆ ที่ควรจะใช้มาก่อนนี้ตั้งนานแล้ว
นอกจากนั้นเมื่อสบโอกาสที่จะปรับปรงและเพิ่มมูลค่าหุ้นของตัวเองที่จะขายเป็นหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมากขึ้นก็ได้ออกพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 ขยายการถือหุ้นของต่างชาติจาก 25% เป็น 49%
7.นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติย่อมไม่อาจจะปฏิเสธความรับผิดของตนเองตามมาตรา 4 ของพ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2502 ไปได้ว่ากิจการที่เกี่ยวด้วยโทรคมนาคม โดยเฉพาะสถานีส่ง บรอดแบรนด์ รายละเอียดต่างๆ เป็นความลับของชาติ ซึงกลุ่มผู้บริหารบริษัทโทรคมนาคมต้องรูดีว่าการทำ Due Diligence คือการตรวจสอบทรัพย์สิน หนี้สิน สถานะของบริษัทสัญญา คดีความของบริษัทผู้ขายและบริษัทในเครืออย่างละเอียดของฝ่ายผู้ซื้อ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลต่างประเทศที่มาลงทุนในกิจการจะได้สิทธิล่วงรู้ถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายละเอียดการจัดส่งดาวเทียมทุกดวง รวมทั้งผังวงโคจรดาวเทียมของประเทศ รวมทั้งสถานีก่อสร้าง สถานีภาคพื้นดินตลอดจนอุปกรณ์ที่สำคัญสำหรับการดำเนินการรวมทั้งระบบที่ใช้ในการสื่อสารของประเทศได้ทั้งหมด ถ้าไม่เช่นนั้นองค์กรรัฐวิสาหกิจที่เป็นหน่วยลงทุนของรัฐบาลต่างประเทศจะไม่เข้ามาซื้อหุ้นในราคามากมายมหาศาลเช่นนี้
8.นอกจากจะได้พยายามลดบทบาทเงื่อนไขข้อสงวนสิทธิ์เกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งเป็นข้อสัญญาที่สำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติไปได้แล้ว เพราะทำให้องค์กรรัฐวิสาหกิจที่เป็นเจ้าของสัมปทานหมดสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ ยังได้ทำการให้รัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทจำกัด (มหาชน) ใหม่ที่แปรสภาพมาจัดสรรให้บริษัทในเครือรวมทั้งบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันนนี้มีเลขหมายโทรศัพท์ได้มากกว่าเจ้าของสัมปทาน ซึ่งไม่น่าเกิดขึ้นได้เลย หากไม่มีการวางแผนร่วมมือกันไว้
9.การกระทำที่สำคัญและถือได้ว่า เป็นการเปิดเผยความลับของประเทศโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติของความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักรตามมาตร 124 ประมวลกฎหมายอาญา เพราะถือได้ว่าผู้ที่เป็นตัวการ ผู้สนับสนุนทุกคนมีส่วนกระทำความผิดในด้านของการเปิดเผยความลับทางด้านโทรคมนาคมอันเป็นความลับและความปลอดภัยของชาติให้กับหน่วยงานรัฐบาลต่างประเทศอย่างชัดแจ้ง เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงขึ้นจะทำให้ประเด็นนี้มีความกระจ่างว่าการดำเนินงานดังกล่าวของบริษัทถูกขั้นตอนดังที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาทนายความได้นำเสนอข้างต้นมีข้อเท็จจริงที่ควรจะต้องดำเนินการกับผู้หนึ่งผู้ใดหรือคณะบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้บ้าง
10.อย่างไรดี ความสง่างามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยเฉพาะในฐานะของนายกรัฐมนตรีแห่งประทศ และเป็นผู้รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาทนายความเห็นว่า ได้หมดสิ้นไปแล้วโดยสิ้นเชิงนับตั้งแต่วันที่ท่านได้ตัดสินใจจะขายกิจการสัมปทานทั้งหมดใหกั้บองค์กรรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งเป็นคู่แข่งในด้านการสื่อสาร
สภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาพทนายความเห็นว่าธุรกรมการซื้อ และขายหุ้นดังกล่าวข้างต้นเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายโดยชัดแจ้ง จึงต้องถือว่ามีผลทำให้นิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ เป็นการกระทำให้เกิดการสูญเสียอธิปไตยเรื่องความมั่นคงของราชอาณาจักร อันเป็นการขัดต่อกฎหมาย จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายช่วยกันรักษาผลประโยชน์ และทรัพยากรที่สำคัญของชาติไว้ให้ตกเป็นของคนไทย ทั้งหมดตามเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญกฎหมายและสัญญาต้นแบบที่มีเงื่อนไขกำหนดโดยชัดแจ้ง
****************
หมายเหตุ: สรุปสาระสำคัญของสมุดปกขาวสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และ สภาทนายความรายงานการศึกษาและวิเคราะห์เรื่อง การทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นและหลักทรัพย์ กรณีของ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีการแปลความให้ขัดกับหลักการจัดเก็บภาษีที่ชอบด้วยกฎหมาย และ เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายความมั่นคงของชาติ
1.นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติต้องรู้ดีว่าสถานที่ซึ่งประกอบไปด้วยสถานีวิทยุหรือโทรเลขหรือสถานีส่งหรือรับอาณัติสัญญาณ กล่าวคือสถานีและผังของสถานีภาคพื้นดินของระบบวงจรดาวเทียมและคลื่นของดาวเทียมนั้นเป็นความลับของชาติ ซึ่งไม่อาจเปิดเผยให้กับตัวแทนของรัฐบาลต่างประเทศ ดังนั้นการที่ครอบครัวของนายกรัฐมนตรีได้ยินยอมให้มีการทำการขายหุ้นและให้ตัวแทนของรัฐบาลต่างประเทศเข้ามาทำการตรวจสอบรายละเอียด (Due Diligence) ถึงทรัพย์สินหนี้สินของบริษัทในเครือทั้งหมดซึ่งต้องได้รู้ถึงสภาพสถานะของทรัพย์สินเช่นว่านั้น ซึ่งเท่ากับว่ามีการกระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 124 ในการเปิดเผยความลับให้กับหน่วยงานของรัฐบาลต่างประเทศ มีผลทำให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงนี้ให้กระจ่างและดำเนินคดีกับตัวการและผู้สนับสนุนทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขายหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปฯ ในครั้งนี้โดยด่วน
2.จากรายละเอียดที่ทำธุรกรรมเกี่ยวกับการขายหุ้นและเปลี่ยนเป็นหลักทรัพย์ กรณีตามข้อเท็จจริงไม่ว่าจะพิเคราะห์ในตอนซื้อหุ้นของนายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร หรือตอนขายหุ้นนั้น ทั้งสองกรณีมีความรับผิดในทางภาษีอากรทั้งสิ้น เพราะถือว่าบริษัท Ample Rich มีภูมิลำเนาเพื่อการเสียภาษีในประเทศไทย เนื่องจากนายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร เป็นกรรมการตัวแทนของบริษัทในประเทศไทย การที่ผู้แทนหน่วยราชการมีหน้าที่จัดเก็บภาษีมาชี้แจงแทนผู้เสียภาษีย่อมถือได้ว่าเป็นกรณีที่ไม่ถูกต้องเพราะควรที่จะตรวจสอบให้มีความแน่ชัดและประเมินภาษีอากรกับผู้ที่ต้องเสียภาษีอากรตามเหตุผลที่ได้ชี้แจงไว้ในสมุดปกขาว
3.การร่วมลงทุนของกลุ่มบริษัทในเครือญาติของนายกรัฐมนตรีในสายการบินแอร์เอเชียนั้นเป็นการร่วมลงทุนกับนิติบุคคลสัญชาติลาบวนซึ่งเป็นเขตพิเศษที่รัฐบาลมาเลเซียตั้งขึ้นบนเกาะลาบวนที่ตั้งอยู่ระหว่างเกาะบอร์เนียวและเกาะโกตากินาบารูให้เป็นเขตปลอดภาษีอากรในทำนองเดียวกันกับที่นายกรัฐมนตรีได้ไปจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท Ample Rich ที่ British Virgins Islands ซึ่งเป็นเขตปลอดภาษีของรัฐบาลอังกฤษ นายกรัฐมนตรีเองได้เคยกล่าวเรื่องนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2545 ว่าใครที่ไปจัดตั้งบริษัทบนเกาะ British Virgins Islands จะต้องถือว่าเป็นคนไม่รักชาติ ในขณะที่นายกรัฐมนตรีทราบดีอยู่แล้วว่าตนเองก็ตั้งบริษัท Ample Rich มาตั้งแต่ปี 2542 และในขณะเดียวกันก็ไปร่วมลงทุนกับบริษัทสายการบินซึ่งมีภูมิลำเนาและสัญชาติอยู่บนเกาะลาบวนทำกิจการปลอดภาษีอีก ความสง่างามของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวนี้จึงเป็นพฤติกรรมที่น่าสงสัยอย่างยิ่ง
4.กรณีที่ได้มีการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) การออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546 และกรณีแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 ทั้ง 3 กรณีนี้เป็นการลดคุณค่าทางทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจลงอย่างเห็นได้ชัด โดยลดสถานะของความเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีศักดิ์ศรีในด้านของการให้สัมปทานเหนือกว่าบริษัทธรรมดาและต่อมาให้รัฐวิสาหกิจเสียภาษีในทำนองเดียวกับบริษัทผู้รับสัมปทานรวมทั้งการขยายฐานการถือหุ้นของคนต่างด้าวจาก 25% เป็น 49% เป็นการเพิ่มมูลค่าหุ้นให้กับบริษัททั้งสิ้น
นายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นหัวหน้าครอบครัวและหัวหน้ารัฐบาลย่อมไม่อาจปฏิเสธได้ว่าได้มีการกำหนดวางแผนซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์โดยทางอ้อมจากการดำรงตำแหน่งสร้างความถดถอยให้กับรัฐวิสาหกิจตามขั้นตอนคือ 1) การแปรสภาพรัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกชน 2) การออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546 และ 3) การออกพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 ได้ทำให้ศักดิ์ศรีและความแข็งแกร่งที่เหนือกว่าบริษัทเอกชนในสัญญาสัมปทานของรัฐวิสาหกิจให้เสื่อมคุณค่าลงเป็นลำดับ ซึ่งในทางตรงกันข้ามเป็นการสร้างมูลค่าของหุ้นของบริษัทในเครือของครอบครัวตนให้สูงขึ้น ทำให้สามารถขายได้ในราคาสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 73,000 ล้านบาท ตามขั้น ตอนที่วิเคราะห์ไว้ในสมุดปกขาวฉบับนี้ จึงเห็นได้ชัดว่า กรณีเป็นผลประโยชน์ขัดกันอย่างชัดแจ้งและไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและบทกฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่น สมควรที่หน่วยราชการผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการให้มีการสอบสวนและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
***************
ปชป.จับโกหกทักษิณอ้าง"ไม่เกี่ยววินมาร์ค"
ปชป. จับโกหก”ทักษิณ” อ้างไม่เกี่ยววินมาร์ค แต่กลับใช้ที่อยู่เดียวกับแอมเพิลริช “อภิสิทธิ์” ยันให้ลูกพรรคเดินหน้าคุ้ยข้อมูล พร้อมกระตุ้นกระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบต่อ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการประชุมพรรคว่า ที่ประชุมได้มีการพูดถึงการทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นกับ บริษัทวินมาร์ค ลิมิเตด ที่ตั้งอยู่บนเกาะบริติช เวอร์จิ้น ซึ่งมีพฤติกรรมที่น่าสงสัย และเป็นบริษัท ซึ่งนายกรัฐมนตรีเคยยืนยันว่าไม่ใช่เจ้าของ แต่กลับปรากฏว่า มีพฤติกรรมคล้าย ๆ กับบริษัทแอมเพิล ริช ในแง่ของการที่รับหุ้นจากบริษัทในเครือของครอบครัวไปแล้ว สุดท้ายก็ถ่ายกลับมา และในหลายบริษัทที่เข้ามาเกี่ยวข้องตรงนั้นยังมีกองทุนซึ่งตั้งขึ้นมา เพื่อถือหุ้นตรงนี้โดยเฉพาะ และยังมีการสละสิทธิการซื้อหุ้นเพิ่มทุนให้กับครอบครัวชินวัตร และที่สำคัญก็คือ เหตุใดบริษัทวินมาร์คฯ กับบริษัทแอมเพิล ริช ใช้ที่อยู่เดียวกัน
“ทำไมบริษัทวินมาร์ค กับแอมเพิล ริชใช้ที่อยู่เดียวกัน นายกฯ บอกว่าแอมเพิล ริช เป็นของตัวเอง วินมาร์คไม่เกี่ยวข้องเลย เป็นบริษัทที่ไหนไม่รู้มาซื้อหุ้น และยังบอกว่า เอาเงินเข้ามาในประเทศไทย แต่ทำไมบริษัทนี้กับแอมเพิล ริชใช้ที่อยู่เดียวกันที่บริติชเวอร์จิ้น”
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังยืนยันที่จะติดตามในเรื่องการซื้อขายหุ้นของคนในตระกูลชินวัตรต่อ ในส่วนการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะกรรมการที่ดูแลในเรื่องการประกอบธุรกิจของต่างชาติ เพราะมีเหตุที่ทำให้เชื่อว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมาย
สำหรับการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กลต.จะต้องสอบถามจากทางทามาเส็กว่าการเจรจาเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไร กับใคร จะได้เป็นการตรวจสอบชัดเจนว่า ข้ออ้างทั้งหลายของผู้เกี่ยวข้องที่บางคนบอกว่า ไม่รู้ บางคนบอกว่า ไม่เกี่ยวนั้น เป็นจริงหรือไม่
นายศิริโชค โสภา กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในคณะทำงานติดตามการซื้อขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์เปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)ของตระกูลชินวัตร กล่าวว่า คณะทำงานฯ ได้สรุปการซื้อขายหุ้นในส่วนของบริษัท แอมเพิล ริช อินเวสเมนท์ และบริษัท วินมาร์ค จำกัด พบว่า ทั้ง 2 บริษัทมีหลักฐานที่แสดงเชื่อมโยงกัน โดยนายกฯโอนหุ้น 5 บริษัทเป็นมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาท ให้กับบริษัท วินมาร์ค ลิมิเต็ดที่ก่อตั้งที่เกาะบริติชเวอร์จิ้น ในปี 2543 และต่อมาในเดือนตุลาคม 2547 บริษัท วินมาร์ค ก็โอนหุ้นคืนให้น.ส.พิณทองทา ชินวัตร จำนวน 4 บริษัท
ส่วนอีกหนึ่งบริษัทนั้น โอนให้กับกองทุนแวลู แอสเสท ฟันด์ จำกัด ที่ต่อมาอีก 2 เดือน บริษัทดังกล่าวก็ได้โอนหุ้นให้กับอีก 2 กองทุน คือ กองทุนโอเวอร์ซี โกรธ ฟันด์ และออฟชอร์ ไดนามิค ฟันด์ เมื่อเราได้ไปดูหลักฐานที่อยู่ทั้ง 3 บริษัท พบว่าใช้ที่อยู่เดียวกันทั้งหมด คือที่เกาะลาบวน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นเกาะที่คล้ายกับเกาะเคย์แมน และบริติชเวอร์จิ้น
นายศิริโชค ตั้งข้อสังเกตถึงการโอนหุ้นไปมาจากบริษัท วินมาร์คไปสู่กองทุนทั้ง 3 แห่ง โดยตรวจสอบจากทะเบียนหุ้นว่า ต้องการเปลี่ยนชื่อจากวินมาร์ค เป็นกองทุนอื่น เนื่องจาก บริษัท วินมาร์คมีปัญหาภาพลักษณ์ว่า อาจจะเป็นของครอบครัวนายกฯ และต้องการอำพรางการถือหุ้นของแวลู แอสเสท ฟันด์ ไปให้อีก 2 กองทุน โดยโอนหุ้นมาเพียง 1 วันก่อนจะประชุมผู้ถือหุ้น บ.เอสซีแอสเสทเพื่อมีมติเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพียง 1 วันเท่านั้น
จากการตรวจสอบในเอกสารรายการการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 46 ซึ่งมีนางบุษบา ดามาพงศ์ เป็นประธานในที่ประชุม พบว่า มีการเพิ่มทุน โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่ม 71 ล้านหุ้น เป็นเงิน 710 ล้านบาท โดยประธานได้อ้างว่าผู้ถือหุ้นทุกรายแสดงเจตนาขอสละสิทธิการซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วนที่ตนเองมีอยู่ และประสงค์ให้นางสาวพิณทองทา และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องแปลก เนื่องจาก บริษัทกำลังเตรียมตัวจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว และหากตีค่าหุ้นในราคา IPO (ราคาเสนอขายให้ประชาชนครั้งแรก) 15 บาท ก็เท่ากับผู้ถือหุ้นทุกคนได้สละสิทธิ์ของตัวเอง ซึ่งมีมูลค่ารวมถึง 355 ล้านบาท
ส่วนกรณีที่นายกฯปฏิเสธไม่มีความสัมพันธ์กับบริษัทวินมาร์ค แต่จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท วินมาร์คใช้ที่อยู่จดทะเบียนเป็นที่เดียวกันกับ บริษัท แอมเพิลริช คือ ตู้ป.ณ.3151 โรดทาวน์ ทอร์โตลา เกาะบริติชเวอร์จิน จึงอยากให้นายกฯ ออกมาชี้แจงเรื่องนี้ และหากในที่สุดพบว่าเป็นของนายกฯจริง นายกฯ ก็จะมีความผิดปกปิดทรัพย์สิน และขาดคุณสมบัติตามมาตรา 209 ของรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการห้ามรัฐมนตรีถือครองหุ้นเกิน 5% และเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ
พาณิชย์จี้ชินคอร์ปแจงข้อมูล
นางสาวอรจิต สิงคาลวณิช อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ได้ขอให้บริษัทในเครือชินคอร์ปและบริษัทที่ตกเป็นข่าวในกรณีซื้อหุ้นชินคอร์ป จัดส่งข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้น และการดำเนินการทั้งภายในบริษัทเองและการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทอื่นๆ มายังกรมฯ ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อกรมฯจะได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาตรวจสอบตามประเด็นที่ได้มีการตั้งข้อสังเกตไว้ เช่น ยังคงสถานการณ์เป็นบริษัทคนไทย หรือต่างด้าว หรือมีการถือหุ้นไขว้ (นอมินี) หรือไม่
นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กระทรวงฯตรวจสอบตามหน้าที่ เพราะกรณีดังกล่าวเป็นเหตุผิดปกติ
“คงไปห้ามต่างด้าวจดทะเบียนทำธุรกิจไม่ได้ แต่ดูเรื่องสัญชาติว่าจำนวนผู้ถือหุ้นถึง 50% หรือไม่ ต่อให้แค่ 49.99% ก็ยังถือว่าเป็นคนไทย และถ้าเป็นบริษัทต่างด้าว ก็ต้องมาดูว่าประกอบธุรกิจอะไรได้ โดยมีคณะกรรมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเป็นผู้พิจารณา”นายการุณกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|