เซ็นทรัลกรุ๊ปทุ่ม1.6หมื่นล.ลุยแผนบุกตปท.ไม่คืบ-ปี49หวังรายได้โต11%


ผู้จัดการรายวัน(22 กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

กลุ่มเซ็นทรัลไม่หวั่นไฟปัญหาการเมือง ยันไม่ปรับแผนลงทุน เผยปีนี้ทุ่มงบเฉพาะในประเทศ 1.6 หมื่นล้านบาท รุกหนัก 5 กลุ่มธุรกิจ ไม่ขยายกลุ่มใหม่ ส่วนแผนบุกต่างประเทศยังไม่คืบ ปี 48 โกยรายได้ 8.7 หมื่นล้านบาท คาดปีนี้เติบโต 11% สู่ 9.6 หมื่นล้านบาท

นายสุทธิชัย จิราธิวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เปิดเผยว่า ทางกลุ่มเซ็นทรัลยังไม่มีการปรับแผนการลงทุนของเครือทั้งหมดในปี 2549 นี้ แม้ว่าจะมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นในขณะนี้ก็ตาม ซึ่งเชื่อมั่นว่าปัญหาทางการเมืองดังกล่าวจะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น

“ความวุ่นวายทางการเมืองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจไม่ดี แต่ว่าการชุมนุมต่างๆถ้าอยู่ในกรอบกติกา ก็ไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นถ้าไม่มีเหตุรุนแรง แต่เชื่อว่าระยะยาวแล้วเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งอยู่ คงไม่จำเป็นต้องปรับแผนตอนนี้ อย่างไรก็ตามทางกลุ่มเซ็นทรัลเองยังไม่มีแผนที่จะขยายกลุ่มธุรกิจเพิ่มขึ้นในไทย”

ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศนั้น ทางกลุ่มให้ความสนใจ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและได้มีการเจรจากับทั้งเจ้าของที่ดินและกลุ่มที่สนใจด้วย โดยรูปแบบการลงทุนนั้นคาดว่าจะเป็นการร่วมทุน และสนใจโครงการประเภทศูนย์การค้าเป็นหลักรองมาคือโรงแรม ประเทศเป้าหมายตอนนี้มี 2 ที่คือ เวียดนามและอินโดนีเซีย ทำเลคงอยู่ในเมืองหลวงแน่นอน

นายสุทธิชัยกล่าวต่อว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คาดว่าจะมีการขยายตัวของเศรษฐกิจประมาณ 5% สูงกว่าปีที่แล้วที่มี 4% ส่วนเงินเฟ้อมีประมาณ 4% โดยพิจารณาจากปัจจัยหลักคือ การค้าขายและการลงทุนมีต่อเนื่อง ทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศ การเร่งรัดลงทุนในภาครัฐเช่นโครงการเมกกะโปรเจ็คต์ การจ้างงานและการปรับเงินเดือนที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อที่จะมีส่วนในการจับจ่ายของผู้บริโภค การเพิ่มเงินออมในระบบการเงินของประเทศ การเร่งรัดจ่ายงบประมาณของรัฐ

ปี 49 ทุ่ม 1.6 หมื่นล้าน

สำหรับแผนการลงทุนของกลุ่มเซ็นทรัลในปี 2549 นี้ จะใช้งบประมาณลงทุนรวม 16,000 ล้านบาท เฉพาะในประเทศเท่านั้นโดยแบ่งสัดส่วนการลงทุนในแต่ละกลุ่มธุรกิจดังนี้
1.กลุ่มธุรกิจค้าปลีกหรือซีอาร์ซี ลงทุน 5,350 ล้านบาท สัดส่วนลงทุน 33.4% จากงบลงทุนทั้งหมด หลักๆเช่น ลงทุน เซน เซ็นทรัลเวิลด์ เพาเวอร์บาย ซูเปอร์สปอร์ค โฮมเวิร์ค บีทูเอส เป็นต้น

2.กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือซีพีเอ็น ลงทุน 7,750 ล้านบาท สัดส่วนมากที่สุดคือ 48.5% หลักๆเช่นลงทุนต่อเนื่องโครงการเซ็นทรัลเวิลด์ โครงการที่แจ้งวัฒนะ พระรามเก้า พัทยา และรีโนเวตสาขาเก่าอีกหลายแห่ง

3.กลุ่มธุรกิจค้าส่งหรือซีเอ็มจี ใช้งบลงทุน 250 ล้านบาท สัดส่วน 1.6%

4.กลุ่มธุรกิจโรงแรมหรือซีเอชอาร์ ลงทุน 2,250 ล้านบาท สัดส่วน 14% หลักๆเช่น โครงการที่หาดวงศ์อมาตย์ และโรงแรมที่เซ็นทรัลเวิลด์ ที่กระบี่ เป็นต้น

5.กลุ่มธุรกิจเซ็นทรัลเรสเตอรองส์หรือซีอาร์จี ลงทุน 400 ล้านบาท สัดส่วน 2.5%

สำหรับเงินลงทุนนั้น จะมีทั้งการกู้จากสถาบันการเงินและเงินหมุนเวียนภายในกลุ่มเป็นหลัก ซึ่งในส่วนของซีพีเอ็นนั้น อาจจะมีการออกพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ขึ้นมาอีก 1 กองในปีนี้หรือไม่อยู่ระหว่างการศึกษา วงเงินกองทุนอาจจะประมาณ 6,000 ล้านบาท หรืออาจจะใช้กองทุนเดิมก็ได้ แต่การออกบอนด์คงไม่น่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ รวมทั้งการเพิ่มทุนด้วย

ทั้งนี้กลุ่มเซ็นทรัลคาดว่าในปี 2549 นี้จะมีผลประกอบการทั้งเครือรวมกันประมาณ 96,000 ล้านบาท ซึ่งเติบโตจากปี 2548 ประมาณ 11% ที่มียอดขายรวม 87,000 ล้านบาท

โดยผลประกอบการของกลุ่มเซ็นทรัลย้อนหลังตั้งแต่เมื่อช่วงปี 2542 มีการเติบโตขึ้นตลอดกล่าวคือ ปี 2542 รายได้ 33,750 ล้านบาท, ปี 2543 รายได้ 37,343 ล้านบาท, ปี 2544 รายได้ 41,960 ล้านบาท, ปี 2545 รายได้ 47,033 ล้านบาท, ปี 2546 รายได้ 53,199 ล้านบาท, ปี 2547 รายได้ 76,933 ล้านบาท

ขณะที่ปี 2548 นั้น ทางกลุ่มได้ตั้งงบลงทุนไว้ประมาณ 13,400 ล้านบาท แต่ได้ลงทุนจริงประมาณ 10,200 ล้านบาท เนื่องจากบางโครงการโดยเฉพาะของกลุ่มซีพีเอ็นนั้นมีการเลื่อนออกไปจึงยังใช้งบประมาณไม่เต็มที่ โดยสรุปแล้วปีที่แล้วใช้เงินลงทุนต่ำกว่าเป้าหมาย และเงินส่วนที่เหลือจะนำมาใช้ลงทุนในปี 2549 นี้

โดยเมื่อแยกการลงทุนในแต่ละกลุ่มธุรกิจปี 2548 พบว่า 1.กลุ่มธุรกิจค้าปลีก ใช้เงินลงทุนไปประมาณ 2,900 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 28.40% ของเงินลงทุนทั้งหมด 2.กลุ่มพัฒนอสังหาริมทรัพย์ ใช้เงินลงทุน 5,000 ล้านบาท สัดส่วน 49% 3.กลุ่มธุรกิจค้าส่ง ใช้เงินลงทุน 170 ล้านบาท สัดส่วน 1.7% 4. กลุ่มธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต ลงทุน 1,730 ล้านบาท สัดส่วน 17% 5.กลุ่มธุรกิจอาหาร ลงทุน 400 ล้านบาท สัดส่วน 3.9%

ทั้งนี้ผลการดำเนินธุรกิจของแต่ละกลุ่มในปี 2548 นั้น พบว่า กลุ่มธุรกิจโรงแรมนั้นมีอัตราการเติบโตเพียง 2.1% ซึ่งต่ำที่สุดในเครือ เนื่องจากผลกระทบทางด้านคลื่นยักษ์สึนามิเป็นหลัก ส่วนกลุ่มธุรกิจอาหารนั้นเติบโตสูงที่สุดด้วยอัตรา 20.8% กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เติบโต 14.2% กลุ่มค้าปลีก เติบโต 12.6% กลุ่มค้าส่งเติบโต 5.3%

“ในปีที่แล้วภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศมีการขยายตัว 4.7% แม้จะมีเงินเฟ้อสูง 4.5% และตลอดปีก็มีมรสุมทางเศรษฐกิจมากมายทั้ง ผลบกระทบต่อเนื่องของคลื่นยักษ์สึนามิ ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไข้หวัดนก การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ปัยหาภัยธรรมชาติต่างๆ ซึ่งกระทบกับการทำธุรกิจในภาพรวมอย่างมาก” นายสุทธิชัยกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.