"ทายาท S&P "พรวิช ศิลาอ่อน" เติมเต็มประสบการณ์ด้วยงานราชการ"

โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

กระแสการไหลย่าเข้าสู่ภาคราชการของคนในวัยทำงานนับวันจะมีมากขึ้น แต่ด้วยเหตุผลเพื่อความมั่นคง และสวัสดิการต่าง ๆ ที่อาจจะไม่สามารถรับภาระในยามฉุกเฉิน อาทิ ค่ารักษาพยาบาลฟรีในโรงพยาบาลของรัฐเป็นต้น แต่หากเป็นทายาทของเจ้าของธุรกิจต่าง ๆ เช่น 'พรวิช ศิลาอ่อน' ทายาทของอมเรศและภัทรา ศิลาอ่อน เจ้าของธุรกิจ ร้านอาหารชื่อดังอย่างเอสแอนด์พี ที่เข้ามาในวงการราชการ เพียงเพื่อรับเงินเดือนตามวุฒิไม่กี่พันบาท ก็คงจะมีข้อสงสัยกันบ้างว่า เพราะอะไร ทำไม

พรวิช ศิลาอ่อน เป็นลูกชายคนสุดท้องในจำนวนลูกชาย 3 คนของอมเรศ และภัทรา ศิลาอ่อน เจ้าของธุรกิจร้านอาหารชื่อดังเอสแอนด์พี จบปริญญาตรีด้านปรัชญาจากบอสตันคอลเลจ ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาโทด้านมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน

หลังจากเรียนจบปริญญาโท เมื่อ พ.ศ.2537 พรวิช เริ่มต้นฝึกงานที่กรมสรรพากร โดยอมเรศเป็นคนพาไปฝากงานกับคนรู้จักในกรมสรรพากร ซึ่งเป็นช่วงรอผลวิทยานิพนธ์

ปัจจุบันพรวิช เป็นข้าราชการประจำสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ตำแหน่งนักวิเคราะห์ 4 ฝ่ายสาธารณูปการกองโครงการพื้นฐาน หน้าที่รับผิดชอบของกองฯ คือ การดูเรื่องนโยบายแผนงานและโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทางด้านสาธารณูปการ ประกอบด้วย น้ำประปา ที่อยู่อาศัย น้ำเสีย การจัดการขยะ

ที่สภาพัฒน์ พรวิช เริ่มต้นจากการเป็นลูกจ้างชั่วคราวเมื่อ พ.ศ.2538 และคราวนี้เป็นการทำงานที่เกิดจากการแนะนำของฝ่ายภัทรา ผู้เป็นแม่

"ตอนสาว ๆ คุณแม่เคยทำงานที่สภาพัฒน์มาก่อน ก็เลยรู้จักกับท่านเลขาฯ สุเมธ (สุเมธ ตันติเวชกุล) พาผมมาแนะนำกับท่านแล้วให้คุยกันเฉย ๆ โดยไม่ได้บอกว่าที่นี่ดีอย่างไร หลังจากคุยแล้วผมก็ติดใจตรงที่ว่างานของสภาพัฒน์กว้างขวางครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจและสังคม และตอนนั้นก็ยังไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองชอบอะไรในการทำงาน เลยคิดว่าที่นี่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะทำให้เรามองเห็นถึงปัญหารอบด้าน" พรวิช เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำงานกับสภาพัฒน์ ซึ่งทำให้เขาบรรจุเป็นข้าราชการในเวลาต่อมา

เป็นลูกจ้างชั่วคราวได้ 1 เดือนพรวิชก็ผ่านการทดสอบ ก.พ. (สำนักงานข้าราชการพลเรือน) และได้บรรจุเป็นข้าราชการประจำซึ่งก่อนที่จะทราบผลว่าผ่านการสอบ ก.พ. หรือไม่ทางสภาพัฒน์ซึ่งพรวิชได้ทำงานอยู่แล้วได้ติดต่อกับทาง ก.พ. ไว้ก่อนว่าถ้าเขาสอบได้ขอโอนมาให้ทำงานกับสภาพัฒน์ พรวิช จึงไม่ได้มีตัวเลือกอื่นเข้ามาเสนอ

เพราะตามระเบียบที่ ก.พ. ปฏิบัติอยู่ คือ ภายหลังที่ผู้สอบเข้ารับราชการสอบผ่าน ทาง ก.พ. จะมีหนังสือแจ้งพร้อมส่งรายการมาให้เลือกว่าจะไปบรรจุที่กรมไหน การะทรวงไหนที่เหมาะสม สำหรับคนที่ยังไม่ได้ไปฝึกงานหรือเป็นลูกจ้างชั่วคราวมาก่อน หรือไม่ได้มีการติดต่อกับทางราชการเลย

เรียกได้ว่าการเข้ามารับราชการของพรวิช เกิดจากการสนับสนุนของครอบครัวอย่างเต็มที่ โดยที่ไม่ต้องมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการทางบ้านในปัจจุบัน ด้วยเหตุผลเพื่อให้พรวิชได้มีโอกาสเรียนรู้การทำงาน และได้ประสบการณ์จากโลกภายนอกเสียก่อน

"ผมก็เห็นด้วยที่จะได้หาประสบการณ์จากโลกภายนอก ซึ่งก็ไม่กำหนดว่าต้องเป็นงานภาครัฐ หรือเอกชนแต่ผมมองว่าผมมี พี่ชาย 2 คน และทั้ง 2 คน ก็เข้าไปในภาคเอกชนแล้ว สำหรับผมก็ออกมาทำราชการ" พรวิช กล่าวถึงความคิดในการหาประสบการณ์ที่ตรงกับบุพการี พร้อมทั้งพูดถึงความเหมาะสมของตนเองกับสภาพัฒน์ว่า

สิ่งที่เขาได้เรียนมาค่อนข้างเป็นวิชาเฉพาะไม่ใช่วิชาชีพ และโดยธรรมชาติเขาเป็นคนมองอะไรกว้าง ๆ ชอบมองความคิดและความประพฤติของคน ทำให้การเข้ามารับราชการในสภาพัฒน์ ตรงกับความสนใจของตนเอง ในแง่ที่ว่าสภาพัฒน์เป็นหน่วยงานที่มองอะไรกว้าง ๆ ปัญหากว้าง ๆ เป็นการแก้ปัญหาภาพรวมของชาติในหลาย ๆ ด้านทำให้ชอบการทำงานที่สภาพัฒน์ไปโดยปริยาย รวมทั้งชอบการวางแผนการวางนโยบาย

สาขาวิชาที่พรวิช เรียนมาหากมองไปแล้วอาจจะไม่ตรงทีเดียวกับงานที่ทำอยู่ แต่เขาก็ให้มุมมองกับสิ่งที่เรียนมากับการทำงานได้น่าฟังว่า ถ้าเรามองว่าเราได้ประโยชน์จากการเรียนในมหาวิทยาลัยจริง เราจะทำอะไรได้ทุกอย่างเพราะในการเรียนมหาวิทยาลัย ไม่ได้ขึ้นกับว่าเราไปเรียนข้อมูลอะไรมา เพราะข้อมูลในโลกนี้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาสิ่งที่เราได้จากการเรียนในมหาวิทยาลัยคือเราควรจะได้ความคิด รู้ว่าเราคิดอย่างไร เพราะถ้าคิดไม่เป็น ทำอะไรก็ไม่ได้ แต่ถ้าคิดเป็น เจอปัญหาอะไร เราแก้ไขได้ ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เพราะไม่มีใครในโลกที่รู้ทุกอย่างได้

"สิ่งที่ผมเรียนมาแน่นอนว่าได้นำมาใช้ในงานที่ทำ เพราะว่าวิธีที่อยู่ในสภาพัฒน์มีหลายอย่างที่เราต้องมองให้กว้าง หรืออย่างเวลาคิดเราก็จะได้จากที่เรียนปรัชญาและมนุษยศาสตร์มาตัวอย่างผมเรียนเกี่ยวกับว่า เพลโตคิดอย่างไร แน่นอนเราเอามาใช้บอกคนอื่นไม่ได้ว่าเพลโตคิดอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะมันไม่เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แต่สิ่งที่ผมเอามาใช้ได้คือ วิธีการคิดของเพลโตวิธีการมองของแต่ละปราชญ์ที่ได้เรียนมา วิธีเถียง วิธีแก้ปัญหา และจากการที่เราเอาสิ่งเหล่านี้มาผสมกันได้ ก็จะเป็นระบบการคิดของตัวเองได้"

ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องของความชอบก็มีกันได้หลายแบบเพราะครั้งหนึ่งระหว่างปิดภาคเรียน พรวิช ได้เคยมีโอกาสฝึกงานกับบริษัทโฆษณา ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในเมืองไทย เขาก็รู้สึกชอบเช่นกัน

ทำให้พรวิช ยังไม่สามารถเลือกได้ว่าในอนาคตการงานของเขาจะเป็นอย่างไร หลังจากแผนที่เขาเตรียมตัวจะลาไปเรียนต่อปริญญาเอกด้านความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศที่อเมริกาในปีหน้าว่าจะมาลงเอยกับอาชีพราชการต่อไปหรือการทำงานกับภาคเอกชน หรือทำงานกับธุรกิจที่ครอบครัวมีอยู่

มันเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจในตอนนี้ สำหรับคนหนุ่มวัยไม่เกินเบญจเพส

"ตอนนี้ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเรียนเฉพาะไปในทางด้านไหน รอให้เข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการได้ก่อน ถ้าคิดว่าอนาคตจะรับราชการต่อ ก็อาจจะเลือกเรียนด้านกฎหมายระหว่างประเทศ หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือการทูต แต่ถ้าเลือกเรียนทางด้านการค้าระหว่างประเทศธุรกิจระหว่างประเทศอนาคตก็อาจจะไม่รับราชการ ยังไม่ตัดสินใจตอนนี้ จึงยังไม่มีเป้าหมายใดในการรับราชการ" พรวิช กล่าว

และจากประสบการณ์การทำงานบางเสี้ยวที่ผ่านมา ซึ่งพรวิชได้สัมผัสกับการทำงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้เขาได้เห็นสิ่งแตกต่างที่มักจะพบเห็นได้ง่ายเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ นั่นคือ

ความแตกต่างในแง่ของการกระจายอำนาจ ในภาคเอกชน คนที่เข้าไปทำงานใหม่ ๆ หรือพวกจูเนียร์ จะมีอำนาจในการตัดสินใจน้อย แต่ก็ยังมีอำนาจในการตัดสินใจในการดำเนินการมากกว่าคนที่อยู่ในระบบราชการ เพราะการทำงานของภาคเอกชน จะไม่ยึดเหนี่ยวกับขั้นตอน และระบบอาวุโสมากเท่ากับราชการ

ทั้งนี้ การยึดระบบอาวุโสในภาครัฐ ก็ต้องถือว่ามีส่วนดี แต่บางทีก็ทำให้งานช้า ซึ่งพรวิชคิดว่าอุปสรรคการทำงานนี้จะค่อย ๆ ลดลง หลังจากที่มีการตื่นตัวและมีความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและราชการ ที่จะจัดระบบการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ

เป็นเรื่องธรรมดาอยู่เอง ที่การทำงานของพรวิช จะมีเรื่องอึดอัดบ้างแต่เขาก็ได้เพื่อนร่วมงานที่ดีมาก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเขาบอกว่าไม่ว่าการทำงานที่ไหน องค์กรรัฐหรือเอกชน ถ้าเราไม่สามารถเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ ถึงงานจะสนุกขนาดไหน ก็คงจะอยู่ไม่ได้

แต่พรวิช ยังสามารถสนุกกับการทำงานที่นี่ได้ เพราะเพื่อนร่วมงานดีและค่อนข้างกลมเกลียวกันมาก ประกอบกับคำสั่งสอนที่สำคัญจากพ่อและแม่ของเขาว่า ให้อดทนกับการทำงาน และต้องยอมรับในบางอย่างว่าระบบราชการยังมีข้อบกพร่อง และจะเปลี่ยนได้ยากกว่าของเอกชน เพราะเป็นองค์กรใหญ่ ต้องมีความอดทนสูงเป็นที่ตั้ง

แม้จะมีปัญหาเล็กน้อยในการทำงาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งหนึ่งที่พรวิชเชื่อว่าจะได้แน่นอนจากประสบการณ์การทำงานในสภาพัฒน์ ก็คือความสัมพันธ์ที่มีกับภาครัฐจะช่วยในการดำเนินธุรกิจได้มากแน่นอน ด้วยเหตุผลว่า

"ไม่ว่าจะต้องดำเนินธุรกิจใดภาคใด เป็นนักธุรกิจ ตำรวจ ทหาร หรืออาชีพใด ทุกคนจะต้องมีการติดต่อกับภาครัฐ โดยเฉพาะประเทศไทย จะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีภาคราชการ และถ้าใครสามารถเข้าใจระบบการทำงานของราชการ คน ความคิดของคนในภาครัฐ การรู้จักคนที่อยู่ในภาครัฐ สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์แน่นอน แต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปในทางมิชอบเสมอไป"

เป็นเรื่องธรรมดา หากจะมีใครมองว่าการสร้างสัมพันธ์ที่แนบแน่นไว้ระหว่างภาครัฐกับองค์กรเอกชนใด ๆ จะเป็นการนำไปสู่เหตุผลที่ไม่ดี เพราะการที่นักธุรกิจพึ่งพาภาครัฐในทางมิชอบที่เห็นได้ชัดและมีอยู่ทั่วโลก

พรวิช ให้ความเห็นกับสิ่งนี้ว่าขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ความมียางอายของแต่ละบุคคล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนักธุรกิจฝ่ายเดียว เพราะตบมือข้างเดียวย่อมไม่ดังต้องทั้งสองฝ่ายร่วมมือกัน ถ้าทั้งสองฝ่ายมีความรู้ผิดรู้ชอบก็จะไม่ทำในสิ่งผิดเพราะฉะนั้นอาจจะมีบ้างที่มองเป็นดำกับขาว คือภาครัฐดี ภาคเอกชนไม่ดี เพราะมายื่นใต้โต๊ะให้ภาครัฐทำให้ภาครัฐไม่ดีไปด้วย

"ผมเชื่อว่าในที่สุดการขึ้นคืออยู่กับการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีในแต่ละบุคคล"

ปัญหาดังกล่าว เป็นเรื่องที่พรวิชเห็นว่ามีราชการหลายฝ่ายที่เห็นข้อบกพร่องเหล่านี้ และมีการร่วมมือกันแก้ไขให้ดี อย่างไรเสียในอนาคตเมื่อมีการตรวจสอบและแก้ไขเข้มงวดขึ้น พวกความประพฤติมิชอบ ก็จะค่อย ๆ น้อยลงไป

แต่หากสมมุติว่าพรวิชมีอำนาจแก้ไขอะไรได้ในตอนนี้สิ่งแรกที่เขาจะแก้ไข เขาบอกว่า เป็นเรื่องการปรับปรุง เรื่องการลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานต่าง ๆ เพราะถ้าลดความซ้ำซ้อนของงานได้ ก็จะมีกำลังคนมากขึ้น ทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการที่มี 2 หน่วยงาน ทำหน้าที่คล้ายกันมาก เงินที่ลงทุนไปกับ 2 หน่วยงานที่ทำหน้าที่เหมือนกัน ก็จะไม่คุ้มค่า แต่ถ้าลดได้นอกจาก เกิดประสิทธิภาพแล้ว ยังจะสามารถใช้เงินได้คุ้ม และทำให้คนส่วนใหญ่มีเงินพอที่จะทำอย่างอื่นมากขึ้นด้วย

ข้อจำกัดอีกด้านของงานราชการก็คือ เรื่องเงินเดือน ซึ่งเป็นเหตุผลใหญ่ที่คนพูดถึงกันมาก และเลือกที่จะไปทำงานในภาคเอกชนแทน

พรวิช กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ถ้าเงินเดือนข้าราชการใกล้กับเอกชนในระดับเดียวกัน หรือน้อยกว่าสัก 10% ก็เชื่อว่าจะมีคนเก่ง ๆ เข้ามาในระบบราชการมากขึ้น

ตัวอย่างการแก้ปัญหาที่ดีในเรื่องนี้ จากที่อมเรศเคยเล่าให้พรวิชฟังว่าในประเทศสิงคโปร์ ระบบราชการจะสามารถเก็บคนเก่ง ๆ ไว้ได้มาก เพราะจะมีการย้อนดูเงินเดือนของข้าราชการในระดับเดียวกับเอกชนทุกปี เพื่อดูว่ามีความแตกต่างกันมากเท่าไรถ้ามากรัฐบาลจะปรับเงินเดือนให้กับข้าราชการทันที แต่ไทยยังไม่สามารถทำได้ เพราะประเทศใหญ่กว่าสิงคโปร์ และยังไม่มีความมั่งคั่งเท่ากับสิงค์โปร์ ยิ่งเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยยิ่งเป็นเรื่องลำบากมากที่จะทำเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวพรวิช ถ้าเขาเป็นบุคคลที่เข้ามารับราชการ แล้วต้องสนับสนุนตัวเองในด้านการเงิน เขาจะมารับราชการไหม ก็เป็นเรื่องที่เขาบอกว่าพูดยากเหมือนกันว่าจะรับราชการไหม แต่สภาพที่เป็นอยู่ตอนนี้ พรวิชยังได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากครอบครัว

ในด้านหนึ่งเขามองว่า แม้เงินเดือนภาคเอกชนจะมากกว่าราชการ ถึงเท่าตัว หรือมากกว่า ทำให้คนส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกไปทำงานกับภาคเอกชนที่หาได้ง่าย และยิ่งถ้าบุคคล นั้นเป็นคนที่ต้องเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ก็ย่อมจะต้องเลือกทางเลือกให้ตัวเองและครอบครัวมีความสุขสบายมากขึ้นไว้ก่อน

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เขายังเห็นว่ามีข้าราชการอีกจำนวนมาก ไม่ได้มีฐานะทางการเงินที่ดีมาก แต่ก็ยังพร้อมจะรับราชการ เพราะรัฐมีส่วนช่วยในเรื่องของสวัสดิการ ที่ช่วยเหลือไปถึงครอบครัวของผู้รับราชการได้ ถ้าคนไม่เคยรับราชการอาจจะมองไม่เห็นตรงจุดนี้

"ผมยังอยากเห็นคนเก่ง ๆ ดี ๆ มาทำงานราชการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนที่ต้องเลี้ยงตัวเอง หรือมีครอบครัวสนับสนุนด้านการเงินอยู่ เพราะผมเชื่อว่าคนยังเห็นความสำคัญของงานราชการ"

ความสำคัญในสิ่งที่พรวิชพูดถึงก็คือ ความรู้สึกของการทำงานที่ได้ช่วยชาติ คนที่รับราชการจะรู้สึกได้ถึงการช่วยชาติโดยตรง เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาโดยตรง และส่วนหนึ่งก็คือได้ความภาคภูมิใจ เพราะการเป็นข้าราชการก็คือการทำงานให้รัฐให้ชาติ และพระมหากษัตริย์ แต่ถ้าทำงานกับเอกชนความภูมิใจก็ต่างกัน คนทำงานบริษัทที่ทำให้บริษัทกำไรมากขึ้น บริษัทก็ช่วยให้ประเทศโตขึ้นได้ประโยชน์เหมือนกัน ซึ่งพรวิชสรุปถึงผลการทำงานในตอนท้ายว่า

"ไม่ว่าจะทำงานภาครัฐหรือเอกชนผลลัพธ์เหมือนกัน แต่ขั้นตอนต่าง ๆ ก็เป็นทางตรง ทางอ้อม ผลลัพธ์ก็ต่างกันนิดหน่อย แต่ถ้าเราตั้งใจทำงาน ผลลัพธ์ไม่ต่างกันหรอกว่าเราทำงานที่ไหน"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.