"ชีวิตต้องสู้ อัมพร ศิริจินดากุล"

โดย จารุสุดา เรืองสุวรรณ
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

"บ้างาน" ดูจะเป็นคำจำกัดความที่บ่งบอกถึงบุคลิกของอัมพร ศิริจินดากุล ผู้หญิงเก่งที่แกร่ง ผู้ที่พร้อมจะเผชิญกับความลำบากทุกรูปแบบเพื่อที่วันหนึ่งลูกน้อยของเธอจะมีอนาคตสดใส แม้บางครั้งจะต้องอกสั่นขวัญหายไปกับไฟสงครามที่ยังคุกรุ่นในเขมร

ในงานเปิดตัวโครงการโรงเรียนนานาชาติของบริษัท Northbride Communities เมื่อไม่นานมานี้ที่พนมเปญ ประเทศกัมพูชา พลันสายตาก็ต้องสะดุด ตรงหญิงสาวร่างบอบบางนางหนึ่งอายุอานามอยู่ในวัยกลางคน เธอดูปราดเปรียวคล่องแคล่วว่องไว ไม่ปรากฏแววแห่งความอ่อนล้าให้เป็นบนใบหน้าและแววตา ในฐานะที่เธอเป็นแม่งาน ต้อนรับแขก ดูแลอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่มาร่วมงานไม่ให้ขาดตกบกพร่องจึงเป็นหน้าที่หลักของเธอในวันนั้น

อัมพร ศิริจินดากุล Administrative Manager ของบริษัท Northbridge Communities ประจำสำนักงานตัวแทน พนมเปญ กัมพูชา คือบุคคลที่ได้กล่าวถึง

"เรื่องของเรื่องก็คือว่าพี่มาช่วยงานนายคนหนึ่งจะว่าตามนายมาก็ได้ คือนายเก่าสมัยทำอยู่ที่ GE นั้นเขากลับมารับตำแหน่งเป็น รมว. กระทรวงการคลังที่กัมพูชา เขาก็เรียกพี่มาช่วยงาน ก็ตามมาเพราะพี่สนิทกับครอบครัวเขาอยู่แล้ว คือนายเป็นเขมร แต่ไปเติบโตที่อเมริกาก็เลยตามเขามาด้วย แล้วพอดีเพื่อนของนายทำงานทางด้านโฆษณาก็เลยถูกจับให้ทำซึ่งจริง ๆ แล้วพี่ไม่มีความรู้ทางด้านโฆษณาเลย จับให้ทำก็ต้องทำ แล้วหลังจากนั้น บริษัทที่ทำอยู่นี้เขาก็ joint venture กับแม็คแคน ก็เลยไปอยู่กับแม็คแคน เสร็จแล้วพอทำกับแม็คแคน ทาง Northbridge เขาเปิดโปรเจ็กต์ก็เข้าไปบอกเขาว่าสนใจถ้าเกิดมีงานที่เหมาะก็สนใจ ทางนี้เขาก็เลย propose ให้ก็เลยเข้ามาทำตรงนี้" อัมพร หรือ เม่ ชื่อที่เพื่อนร่วมงานทั้งหลายคุ้นเคยและเรียกเธอจนติดปาก ย้อนรำลึกถึงที่มาที่ต้องโยกย้ายครอบครัวออกมาเผชิญชีวิตในต่างแดนระลอก 2 ท่ามกลางกระแสการคัดค้านจากทางบ้านอย่างแข็งขันด้วยห่วงใยในเรื่องของความปลอดภัยเป็นสำคัญ

ฯพณฯ จันโทล ซัน (H.E. Chanthol Sun) คือนายเก่าที่เป็นผู้ชักชวนเธอมาและยังเป็นผู้ช่วยให้เธอได้เข้าร่วมงานกับ Northbridge บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สัญชาติไทย ที่มีเป้าหมายการลงทุนเฉพาะในอินโดจีน ทั้งนี้เพราะบิดาของภรรยานายเก่าถือหุ้นในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนท้องถิ่น

"local partner ที่ถืออยู่ 10% เป็นพ่อตาของนายเก่า คือภรรยานายเก่าเป็นลูกสาวของเขา ก็เลย link กันมาแล้วพอดีเป็นฟิลด์ที่เคยทำงานมาด้วย ก็ไหนๆ เคยทำด้านนี้มาบ้างแล้ว ทางด้านโฆษณาก็พอจะทำได้เพียงแต่เราไม่มีประสบการณ์ที่ดี เพราะฉะนั้นบางจุดอาจจะ lost และอาจจะเป็นงานที่ตัวเราเองไม่ถนัดด้วย ไม่ค่อยชอบเท่าไร คือมันต้องออกต่างจังหวัดด้วย เขาไปฉายหนังกลางแปลงก็ต้องไปกับเขาด้วย ไปกลางคืนทหารถือปืนอาก้ามาเอาตังค์ก็ต้องให้เขา ก็รู้สึกกลัวเหมือนกัน ก็บอกเขาว่ามีลูกสาวต้องรับผิดชอบนะ ถ้าเกิดเป็นอะไรขึ้นมาจะลำบาก"

ด้วยความคะยั้นคะยอของผู้เป็นนายอย่างหนัก เธอจึงต้องเดินทางมาดูสภาพความเป็นอยู่ ดูบรรยากาศของที่นี่ด้วยตัวเองเพื่อประกอบการตัดสินใจซึ่งเธอก็ใช้เวลานานร่วมปีในที่สุดก็ตอบตกลง เพราะเมื่อไตร่ตรองถี่ถ้วนแล้ว ที่นี่เป็นเสมือนโอกาสทองของทั้งเธอและลูกน้อย ที่นี่เธอสามารถทำงานและให้เวลากับลูกได้เต็มที่ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางบนท้องถนนเหมือนตอนที่อยู่กรุงเทพฯ ในเวลาเดียวกันโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ที่นี่ก็มีสูงมาก ซึ่งเวลานี้เธอก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเธอคิดไม่ผิด เพราะตอนนี้เธออยู่ในฐานะผู้บริหารของบริษัทดูแลงานบริหารในสำนักงาน North bridge Cam bodia ขณะเดียวกันก็รับผิดชอบด้านการ พัฒนาธุรกิจให้กับโรงเรียนนานาชาติ International School Cambodia ที่มีฤกษ์จะเปิดในวันที่ 8 กันยายนนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นมือขวาของ Superintendent ของโรงเรียนทีเดียว

"ถ้าถามพี่ว่ากลัวมั้ย พี่ไม่กลัวนะ พอบินมาดูแล้วนี่กลับชอบเสียอีก เพราะสภาพบ้านเมืองเขาไม่เหมือนกับของเรา ยอมรับว่าถ้าจะหาที่ชอปปิ้งที่นี่ไม่มี แต่ที่ดีที่สุดคือมันมีเวลาที่จะให้ลูกสาว ไม่ต้องตื่นตี 4 ครึ่ง เพื่อที่จะไปทำงานให้ทัน 8.00 น. แต่ที่นี่เข้างาน 7.30 น. ออกจากบ้าน 7.20 น. ก็ยังทัน นี่คือสิ่งที่ชอบหลักใหญ่จริง ๆ คืออยู่ที่ลูกสาว ที่มีเวลาให้เขามากขึ้น และโอกาสของงานที่นี่จะดีกว่า เพราะที่นี่ในด้านของคุณสมบัติของพนักงานยังเป็น short supply เพราะฉะนั้นโอกาสของเราที่จะไปได้ไกลมันมีมากกว่าที่จะอยู่กรุงเทพฯ เพราะตลาดในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดของเรามันจะแข่งขันกันมาก แต่อย่างกรณีของพี่จะเป็นอีก case หนึ่งและจะเป็น high grade มากกว่า โอกาสในการทำงานก็มากกว่าโอกาสที่จะอยู่กับลูกก็มากกว่าถ้าถามว่าอันตรายมั้ยก็คิดว่าไม่อันตราย เพราะไม่ได้ไปไหนกับใครเขาสักเท่าไร คือถ้ามีบอมบ์แม่ก็จะโทร. มาถามแล้วว่าเป็นอย่างไร" เธอเล่าให้ฟังถึงแง่มุมหนึ่งของความรู้สึกที่มีต่อเขมร โดยครั้งแรกมีแผนที่จะอยู่เพียง 5 ปีเท่านั้น

ก่อนที่จะมรถึงวันนี้ เธอเริ่มสั่งสมความรู้ความสามารถจากเด็กอัสสัมกระโปรงแดง หลังจากนั้นเธอเบนเข็มชีวิตเข้าสู่วัยแห่งการทำงานทันที ีโดยเริ่มต้นการทำงานที่บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งต่อจากนั้นก็ข้ามไปทำงานโรงแรมที่ Royal Orchid Sheraton ในยุคบุกเบิกจากนั้นไม่นานความคิดที่ต้องการจะไปศึกษาต่อต่างประเทศเริ่มแวบเข้าในสมอง ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจลัดฟ้าไปซิดนีย์ ออสเตรเลีย โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาต่อในปี 2527

ประสบการณ์ 6 ปีที่ออสเตรเลียได้สร้างให้ชีวิตของเธอแกร่งขึ้นทั้งในเรื่องความคิดทัศนคติและการทำงาน เพราะเธอต้องเรียนและทำงานไปในเวลาเดียวกัน "พี่เป็นประเภทพวกบ้างานเขาให้ทำ 20 ช.ม. ต่ออาทิตย์ ดังนั้นตอนสมัยอยู่ซิดนีย์พี่เป็นเศรษฐีเพราะที่นั่นเขาจ่ายค่าแรงเป็นอาทิตย์ พี่ได้อาทิตย์ละประมาณ 400 เหรียญออสเตรเลียถือว่าเยอะมาก ทำงานเป็นทั้งคนเสิร์ฟและแคชเชียร์ช่วงเช้าเริ่มงานตี 5 ครึ่งถึงบ่าย 2 จะทำอยู่ที่โรงแรมเมนชี่ส์ ฮอลิเดย์อินน์ ที่โน้น เป็นแคชเชียร์ แล้วหลังจากนั้นกลับมาบ้านเปลี่ยนเสื้อผ้าพอ 4 โมงกว่าๆ ก็ไปห้องอาหารไทย 5 โมงเริ่มงานก็จะเลิกเอาตี 1-2 ก็มานอนสัก 2 ชั่วโมงก็จะกลับไปทำที่โรงแรมตอน ตี 5 ครึ่งก็ออกไปทำงานอีก จะเป็นอย่างนี้ช่วงศุกร์-เสาร์-อาทิตย์-จันทร์แล้วอังคาร-พุธ-พฤหัสบดีก็จะไปเรียนหนังสือ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม" อัมพรรำลึกถึงความหลังสมัยที่ใช้ชีวิตอยู่ในซิดนีย์เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว

จนกระทั่งปี 2533 เธอตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองไทยด้วยแรงกดดันจากทางบ้าน มาคราวนี้เธอหอบหิ้วเอาความรู้ทางด้านการบริหาร และบัญชีมาด้วย โดยได้รับประกาศนียบัตรด้านการบัญชีเมื่อปี 2529 จาก Sydney Technical College และปริญญาตรีการบัญชีเชี่ยวชาญด้านกฎหมายธุรกิจจาก Institute Technology of New South Wales วิทยาเขต Kuring Gai ซิดนีย์เมื่อปี 2532

ช่วงชีวิตหลังกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอน เธอเริ่มต้นการทำงานอีกครั้งที่บริษัท วอลต์ ดีสนีย์ โดยเป็นล่ามทางด้านการบัญชีแต่เป็นลักษณะ part time (Auditing Interpreter) ในเวลาเดียวกันเธอก็วิ่งรอกรับงานเป็นล่ามด้านบัญชี ให้กับโรงแรมฮิลตัน และโอเรียนเต็ลด้วย หลังจากนั้นจึงได้ย้ายมาทำงานประจำกับบริษัทในเครือยักษ์ใหญ่อย่าง GE โดยรั้งตำแหน่งเลขานุการบริหารในบริษัท General Electric International Operations Company,Inc. ต่อมาก็ได้ย้ายมาดูแลงานทางด้านบริหารที่บริษัท GE Hospitech Medical Systems Ltd. ประจำสำนักงานกรุงเทพฯ หลังจากนั้นก็เข้ามาร่วมงานกับบริษัทโฆษณาชื่อ KGS Advertising ก่อนที่บริษัทนี้จะเข้าร่วมทุนกับบริษัทโฆษณาชั้นนำของอเมริกา McCann-Erickson ในตำแหน่งผู้จัดการด้าน Business และ Administration ซึ่ง ณ จุดนี้เองที่นำพาให้เธอต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับกัมพูชาจนถึงทุกวันนี้

จวบจนถึงวันนี้ แม้จะล่วงเลยเข้าสู่ปีที่ 3 ในเขมรแล้ว อัมพร ยังยืนหยัดที่จะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไม่มีกำหนดไม่หวั่นแม้จะมีภัยสงคราม เพราะที่ที่ยังเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นแห่งอนาคตที่ดีของลูกสาวจอมแก่นซึ่งตอนนี้สามารถสื่อสารได้ 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และเขมร

"ก่อนมา คิดว่าประเทศดูแล้วไม่ค่อยจะทันสมัยเท่าไร แต่พอมาอยู่ได้สัก 6 เดือนนี้จะเริ่มเห็นว่าบ้านเมืองมีการตกแต่งเพิ่มขึ้น ภาพตึกเก่าเริ่มทำใหม่ ก็คิดว่าบ้านเมืองนี้ไม่เลว แล้วแค่ช่วงปีที่แล้วนักลงทุนที่คล้าย ๆ Northbridge อย่างบริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลี ก็มาลงทุนที่นี่ด้วย ความก้าวหน้าของประเทศไปได้เร็วมาก คือดูแล้วจะเร็ว เพียงแต่ว่าด้านการเมืองไม่แน่นอน แต่ก็คิดว่าคงไม่ถึงขนาดต้องวิ่งหนีกระสุน คือ อาจจะมีคนโทร. มาบอกว่าอาทิตย์นี้อย่าไป มันอันตราย หรือเต็มที่ของที่สุดก็คือประกาศเคอร์ฟิวส์ แต่คงไม่ต้องวิ่ง" และเมื่อคราวเกิดปะทะกันของ 2 นายกฯ เธอต้องหลบมาลี้ภัยที่กรุงเทพฯ ถึง 1 อาทิตย์ก่อนที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ต่อเพราะโรงเรียนที่เคยทำงานกลายเป็นสนามรบ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.