"IMF-วาระแห่งชาติ" = ความหวังของคนไทย"

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

5 สิงหาคม 2540 "วันกู้ชาติ" ด้วยการยอมรับเงื่อนไขของ IMF และการประกาศ วาระแห่งชาติของรัฐบาล เพื่อเยียวยาปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ แต่กว่าจะถึงวันที่เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาดีดังเดิมนั้น ทั้งผู้ที่อยู่ในวงการสถาบันการเงิน ผู้ที่ประกอบการรวมทั้งประชาชนจะต้องแบกรับผลกระทบที่เกิดจากเงื่อนไขดังกล่าวในระยะสั้น แม้จะเป็นผลดีในระยะยาวก็ตาม

นับตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมาภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยต้องประสบปัญหาอย่างรุนแรง ในที่สุดรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ต้องตัดสินใจปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวในต้นเดือนกรกฎาคมหลังจากที่เกิดการโจมตีค่าเงินถึง 3 ครั้ง (พฤศจิกายน 2539, กุมภาพันธ์และพฤษภาคม 2540) อย่างไรก็ตามการตัดสินใจปล่อยค่าเงินบาทลอยตัวในขณะที่ยังไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบที่ตามมา ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องจนลงไปต่ำกว่าระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ ในระยะเวลาเพียง 2-3 สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งหากรัฐบาลปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป คาดว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะยิ่งเลวร้ายลงไปอีกทั้งนี้เพราะพื้นฐานของการอ่อนตัวลงของค่าเงินบาท คือการขาดความมั่นใจในการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาล

จากสาเหตุดังกล่าวทำให้เกิดกระแสเรียกร้องจากผู้ประกอบการต่าง ๆ รวมทั้งการประกาศเตรียมลดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือหนี้ระยะยาวของประเทศไทย มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody) และแสตนดาร์ด แอนด์พัวร์ (S&P) ทำให้รัฐบาลต้องยอมรับความช่วยเหลือ และคำแนะนำในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากกองทนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) ด้วยการกู้เงินในวงเงิน 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 480,000 ล้านบาท) พร้อมยอมรับเงื่อนไขที่เข้มงวด โดยการปรับลดระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจช่วง ปี 2540-2541 ให้อยู่ในระดับ 3-4%, ลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลงเหลือ 5%ของ GDP ในปี 2540 และเหลือ 3% ของ GDP ในปี 2541, ควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้เกิน 8-9%, ตัดรายจ่ายงบประมาณปี 2541 ในวงเงิน 1 แสนล้านบาท, ปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 10%, รักษาเงินสำรองทางการไม่ให้ต่ำกว่า 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐและสร้างความเชื่อมั่นระบบสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรงที่สั่งปิด 42 แห่ง

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ออก 7 มาตรการ "วาระแห่งชาติ" เพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของ IMF ซึ่ง ดร. ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องออกมาตรการมาเพื่อผ่าตัดระบบเศรษฐกิจ และการเงินการคลังของประเทศว่าเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจให้กลับคืนมาโดยเร็ว โดยสรุปได้ดังนี้

มาตรการที่ 1 ฟื้นฟูความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินไทยเพื่อกอบกู้ความมั่นใจ ระบบสถาบันการเงิน

มาตรการที่ 2 มาตรการคลังที่เน้นความสมดุลความประหยัดและรักษาวินัยการคลัง

มาตรการที่ 3 การเพิ่มพูนประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจโดยการเร่งรัดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

มาตรการที่ 4 มาตรการอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างเสถียรภาพของสถาบันการเงินและเศรษฐกิจ
ของประเทศ

มาตรการที่ 5 มาตรการอัตราดอกเบี้ยและสภาพคล่อง

มาตรการที่ 6 การการปรับปรุงปัจจัยเชิงโครงสร้างเพื่อสนับสนุนการส่งออก

มาตรการที่ 7 มาตรการยกระดับความสามารถเชิงแข่งขัน

ผลจากการให้ความช่วยเหลือจาก IMF รวมทั้งมาตรการวาระแห่งชาติ นักวิเคราะห์ทั้งหลายต่างให้ความเห็นว่าจะส่งผลให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้น แม้ว่าปริมาณเงินทุนสำรองในเดือนกรกฏาคมและสิงหาคมจะลดลงไปมากจากระดับ 32.4 พันล้านเหรียญสหรัฐในเดือนมิถุนายนก็ตาม แต่วงเงินกู้จาก IMF น่าจะทำให้เชื่อมั่นว่าระบบการเงินจะไม่ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรงจากการไหลออกของเงินทุน

"เราคาดว่าจำนวนเงินกู้จาก IMF น่าจะขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นเป็นสำคัญ และถ้าเรามีภาวะค่าเงินบาทที่มีเสถียรภาพ มาตรการรักษาวินัยทางการเงิน และการคลังอย่างเข้มงวด จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีเสถียรภาพตามไปด้วย" นักวิเคราะห์กล่าวถึงผลดีจากการยอมรับความช่วยเหลือจาก IMF

และหลังจากที่ระดับราคาในประเทศเริ่มมีเสถียรภาพแล้ว การดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจก็จะกลับสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้หากรัฐบาลดำเนินการดังกล่าวอย่างเคร่งครัดซึ่งในระยะแรก ๆ เงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นจากการปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม และการปรับราคาขึ้นของค่าสาธารณูปโภคแต่ในระยะยาวอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง

"ในทางตรงกันข้ามหากรัฐบาลไม่ใช้จ่ายอย่างระมัดระวังอาจจะส่งให้เกิดการขาดดุลย์เพิ่มขึ้น ปริมาณเงินสำรองจะลดน้อยลง ในขณะที่แรงกดดันของเงินเฟ้อยังคงเพิ่มสูงขึ้น ระดับราคาก็อาจจะเพิ่มสูงจนไม่สามารถควบคุมได้" นักวิเคราะห์กล่าว

และถ้าหากอัตราเงินเฟ้อเริ่มอยู่นิ่งแล้วจะส่งผลดีต่อการส่งออก นอกจากนี้การที่นักลงทุนต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ก็จะทำให้เงินทุนไหลกลับเข้ามา โดยเฉพาะในรูปของการลงทุนทางตรง เนื่องจากต้นทุนค่าแรงและวัตถุดิบในประเทศลดลงเมื่อเทียบกลับเป็นเงินตราต่างประเทศ

"แต่ถ้าหากอัตราเงินเฟ้อยังไม่ลดลงจะทำให้ผู้ส่งออกประสบปัญหาในการแข่งขัน เพราะภาวะเงินเฟ้อทำให้ต้นทุนในประเทศปรับสูงขึ้นตาม และผลกระทบดังกล่าวจะกลับไปสู่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงเนื่องจากมีอำนาจในการซื้อลดน้อยลง (Purchasing Power Parity)" นักวิเคราะห์เล่า

ด้านมาตรการปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตและการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลจะส่งผลให้การออมในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ช่องว่างระหว่างการออมและการลงทุนลดลง และสามารถลดปัญหาการก่อหนี้ต่างประเทศ อย่างไรก็ตามการดำเนินมาตรการทางการเงิน และการคลังอย่างเข้มงวดทำให้การบริโภคลดลงและก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากนี้การตัดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อให้งบประมาณสมดุลจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการต่าง ๆ เช่นกัน

สำหรับมาตรการการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยให้เอกชนเข้ามาลงทุน จะเพิ่มประสิทธิภาพทางการคลังให้แก่รัฐบาลและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการให้แก่รัฐวิสาหกิจ ขณะเดียวกันจะทำให้ค่าบริการของรัฐวิสาหกิจปรับตัวสูงขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง และหลังจากการถูกแปรรูปแล้วรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งจะต้องมีเป้าหมายการดำเนินงานแบบเอกชนมากขึ้น เช่น การหาผลกำไรให้ได้สูงสุด ดังนั้นจะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง

สถาบันการเงินรับไปเต็ม ๆ

หลังจาก IMF ได้เข้ามาวางเงื่อนไขในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจแล้ว เงื่อนไขหนึ่งที่นำมาปฏิบัติ คือ การไม่ให้อุ้มสถาบันการเงินที่กำลังประสบปัญหาดังนั้นหลังจากที่รัฐบาลยอมขอความช่วยเหลือจาก IMF แล้วจึงนำไปสู่การประกาศรายชื่อบริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ที่จะต้องปิดกิจการเพิ่มอีก 42 แห่ง จากเดิมที่มีการประกาศไปแล้ว 16 แห่ง สาเหตุของการสั่งปิดกิจการสถาบันการเงินเหล่านี้ เนื่องจากการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง จนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินต้องนำเงินเข้าไปอัดฉีดให้แต่ละบริษัทถึง 1-11 เท่าของเงินกองทุนของสถาบันการเงินเหล่านี้ หรือกว่า 4 แสนล้านบาท ทั้งที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่ามีเพียง 2 แสนล้านบาทเท่านั้น

"สาเหตุหลักมาจากการขาดความมั่นใจจากประชาชนและนักลงทุนต่างประเทศจากการที่ประกาศรายชื่อสถาบันการเงินที่มีปัญหาในรอบแรก และหลังจากการประกาศนโยบายค่าเงินบาทลอยตัวทำให้ประชาชนแห่ไปถอนเงินออกจากสถาบันต่าง ๆ นอกจากนี้เจ้าหนี้ต่างประเทศยังไม่ยอมปล่อยเงินกู้โดยเฉพาะเงินกู้ระยะสั้นให้กับสถาบันการเงินเหล่านี้" นักวิเคราะห์กล่าว

ทางออกที่ดีที่สุดของไฟแนนซ์ที่ถูกสั่งปิดกิจการ นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่าจะต้องหาพันธมิตรจากต่างประเทศเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ อย่างไรก็ตามวิธีดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แม้ว่าจะเป็นโอกาสเหมาะสำหรับนักลงทุนต่างประเทศในการซื้อหุ้นราคาถูก แต่ขณะนี้นักลงทุนเหล่านั้นยังขาดความเชื่อมั่นในสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และความไม่แน่นอนทางการเมือง ดังนั้นคาดว่าวิธีที่เป็นทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ การรวมกิจการด้วยวิธี P&A (Purchase and Assumption) กับไฟแนนซ์ที่เป็นแกนนำหรือธนาคารพาณิชย์ ซึ่งวิธี P&A เป็นวิธีการรับซื้อสินทรัพย์และหนี้สินที่มีคุณภาพของไฟแนนซ์ที่ถูกสั่งปิดกิจการ ดังนั้นจึงเหลือแต่ส่วนผู้ถือหุ้นและสินเชื่อที่ไม่มีคุณภาพ และบริษัทจะกลายสภาพเป็นบริษัทติดตามหนี้สินแทนไม่สามารถประกอบธุรกิจเดิมได้

"เห็นได้ว่าวิธี P&A ผู้ถือหุ้นของไฟแนนซ์ที่ถูกสั่งปิดจะได้รับผลกระทบมากที่สุดและคาดว่าคงไม่มีไฟแนนซ์ใดต้องการใช้วิธี P&A แน่นอน เพียงแต่ว่าเป็นทางเลือกเท่านั้น"

สำหรับความช่วยเหลือจากทางการ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องรีบเข้ามาช่วย โดยการเปลี่ยนสถานภาพจากกองทุนฟื้นฟูฯ ไปเป็นสถาบันประกันเงินฝากแทน เพราะจากปัญหาที่เกิดขึ้น ธปท. ต้องกลับมาทบทวนบทบาทของกองทุนฟื้นฟูฯ ใหม่ว่า เหมาะสมขนาดไหน เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขสถานการณ์ได ้และแนวคิดเรื่องสถาบันประกันเงินฝากก็เป็นแนวคิดหนึ่งของ IMF

"สถาบันประกันเงินฝากจะมีหน้าที่รับผิดชอบต่อผู้ฝากเงินเท่านั้นและจะไม่มีการอุ้มสถาบันการเงินแต่อย่างใด เรามองว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ให้สถาบันการเงินต่าง ๆ มีความรอบคอบในการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น" นักวิเคราะห์ กล่าว

การประกาศรายชื่อสถาบันการเงินที่มีปัญหาเพิ่มในครั้งนี้เป็นแค่ตัวอย่างบางตอนเท่านั้น เนื่องจากเงื่อนไข IMF ต้องการให้ปัญหาทุกอย่างปรากฏออกมาเพื่อที่จะหามาตรการมาแก้ไข ดังนั้นจึงคาดว่า IMF จะวางเงื่อนไขใหม่ในการประกาศตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) ของสถาบันการเงินเพราะจากเดิมที่สถาบันการเงินมีการตกแต่งบัญชีทั้งจากการแปลงหนี้ให้เป็นทุน การตั้งบริษัทลูกมารับซื้อหนี้เสียหรือแม้กระทั่งการให้ลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยให้ทันก่อนที่หนี้นั้นจะจัดชั้นเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งคาดว่าเมื่อ IMF เข้ามาทำให้การประกาศตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีความโปร่งใสมากขึ้น ดังนั้นคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะสูงกว่าที่ ธปท. เคยให้ตัวเลขไว้ที่ระดับ 7.73% ของสินเชื่อรวม

นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการวางกฎเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ใหม่ โดยการลดระยะเวลาจากเดิมที่ลูกหนี้ไม่จ่ายดอกเบี้ยเกิน 6 เดือนและ 12 เดือนสำหรับหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่คุ้มและคุ้มตามลำดับ โดยที่หนี้ก่อนหน้านั้นจะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และลูกหนี้ถ้าไม่จ่ายดอกเบี้ยเกิน 6 เดือนหรืออาจจะเป็น 3 เดือน ถือว่าหนี้ก้อนนั้นเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยไม่สนใจว่าจะมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คุ้มหรือไม่คุ้ม

"ถ้าหากกฎเกณฑ์ดังกล่าวถูกนำมาใช้จริงจะส่งผลให้ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอีกมาก และเรามองว่าการประกาศตัวเลขดังกล่าวออกมาอย่างชัดเจนมากขึ้นจะส่งผลดีต่อความมั่นคงของสถาบันการเงินในอนาคต และจะหาแนวทางการแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้นแต่ในระยะสั้นอาจจะมีผลกระทบต่อสถาบันการเงินบ้าง" นักวิเคราะห์กล่าว

ส่วนทางด้านไฟแนนซ์ที่เหลือซึ่งยังไม่ถูกสั่งปิดกิจการอีก 33 แห่ง แม้ว่าจะไม่มีการประกาศรายชื่อที่มีปัญหาแล้วก็ตาม แต่ไม่ได้หมายถึงว่าจะไม่มีปัญหาในเรื่องสภาพคล่อง เพียงแต่ว่าไฟแนนซ์เหล่านี้สามารถหาเงินมาเสริมสภาพคล่องได้ จากบริษัทแม่จึงไม่มีความจำเป็นมากนัก ในการขอความช่วยเหลือจากกองทุนฟื้นฟูฯ โดยกลุ่มที่เป็นบริษัทแม่ขนาดใหญ่จะเป็นสถาบันการเงินต่างประเทศและธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีสถานะการเงินมั่นคง อย่างไรก็ตามบริษัทไฟแนนซ์ที่ไม่ถูกสั่งปิดกิจการเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากไฟแนนซ์ที่ถูกสั่งปิด เนื่องจากการถอนเงินของผู้ฝากเงินจากความไม่มั่นใจว่าจะมีการประกาศรายชื่อเพิ่มขึ้นหรือไม่ แม้ว่าทางการจะประกาศยืนยันว่าจะไม่มีการสั่งปิดอีกแล้วก็ตาม สถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ไฟแนนซ์และแบงก์ขนาดกลางและเล็ก ส่วนที่ได้รับผลกระทบน้อยจะเป็นแบงก์ขนาดใหญ่และไฟแนนซ์ที่เป็นแกนนำ รวมทั้งไฟแนนซ์ที่มีสถาบันการเงินต่างประเทศสนับสนุน

"อย่างไรแล้วเราคิดว่าผลกระทบดังกล่าวอาจจะไม่รุนแรงมากนักเพราะทางการได้สั่งให้สถาบันการเงินระงับการถอนเงินของประชาชน และหากเงินฝากดังกล่าวยังไม่ครบกำหนดหรือทางการสามารถเรียกความมั่นใจของประชาชนกลับมาได้โดยเร็ว แม้ในระยะแรกทั้งผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้อาจจะตกใจบ้าง แต่เราเชื่อว่านี่คือวิธีการรักษาวินัยทางการเงิน การคลังซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินในระยะยาว" นักวิเคราะห์ อธิบาย

อสังหาฯ อ่วมอรทัย

จากการปิดกิจการของสถาบันการเงินครั้งนี้ส่งผลให้เงินฝากจำนวนประมาณ 5.4 แสนล้านบาทไม่สามารถเบิกออกมาได้ ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือลูกค้าที่นำเงินจากสถาบันการเงินเหล่านี้เพื่อบริหารสภาพคล่องนั้นจะประสบปัญหาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากสถาบันการเงินมีการปล่อยสินเชื่อเป็นสัดส่วนถึง 25% ของสินเชื่อรวม จึงมีความเป็นไปได้ที่ว่าบริษัทอสังหาฯ อาจจะทำการขายทรัพย์สินออกมาเพื่อปรับสภาพคล่อง แต่การขายทรัพย์สินดังกล่าวมีความจำเป็นมากที่จะต้องขายในส่วนลด เพราะราคาปัจจุบันอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ดังนั้นเมื่อราคาสินทรัพย์ในตลาดมีการปรับลดลง สินทรัพย์ที่ลูกหนี้นำมาค้ำประกัน (Collateral) กับสถาบันการเงินก็จะปรับมูลค่าลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้หนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐานกลายมาเป็นหนี้สงสัยจะสูญมากขึ้น จากมูลค่าสินทรัพย์ค้ำประกันต่ำกว่ามูลค่าหนี้ และจะส่งผลให้สถาบันการเงินต้องมีการสำรองหนี้สงสัยจะสูญมากขึ้น สุดท้ายจะทำให้ไปกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท

"และถ้าบริษัทอสังหาฯ ประสบปัญหาจนไม่สามารถจ่ายหนี้ให้กับสถาบันการเงินได้ ก็จะส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นทันทีปัญหาสภาพคล่องเหล่านี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะอสังหาฯ เท่านั้น เพียงแต่กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านั้นเป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดผลผลิตในประเทศซึ่ง IMF ยืนยันที่จะอัดฉีดเงินช่วยเหลือ ทำให้ผลกระทบไม่รุนแรงเท่ากับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์" นักวิเคราะห์ กล่าวตบท้าย

นับต่อนี้ไปคงจะต้องพิสูจน์ฝีมือของรัฐบาลว่าจะสามารถสร้างความเชื่อถือและแก้ไขปัญหาของประเทศได้มากน้อยแค่ไหน เพราะการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องชี้เป็นชี้ตายในการอยู่รอดของภาคเอกชนและรวมถึงรัฐบาลชุดนี้ด้วย !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.