"ขว้างก้อนหินถามทาง" ดูเหมือนจะใช้กับการเปิดตัวโครงการใหม่ของทริสได้เป็นอย่างดี
ไม่ว่าจะเป็นโครงการจัดอันดับการศึกษา หรือจะเป็นงานใหม่อย่าง "จัดอันดับธุรกิจประกันภัย"
ซึ่งดูแล้วอย่างหลังน่าจะไปได้สวยกว่า เพราะอย่างแรกนั้นถูก ก.ล.ต. ชะลอโครงการไปก่อน
เนื่องจากไม่ได้เป็นงานในหน้าที่ของทริสโดยตรงตามปรัชญาการก่อตั้ง
แม้ว่าจะเป็นเพียงก้อนหินเล็ก ๆ ที่ขว้างออกไป ทว่าตรงเป้าหมายอย่างเต็มที่ทั้งกลุ่มการศึกษาหรือกลุ่มประกันภัย
ทำให้แต่ละครั้งของการเปิดตัวโครงการใหม่ชาวทริสทั้งหลายพากันเจ็บตัวอยู่เสมอกับสะเก็ดหินที่กระเด็นกระดอนกลับมาโดน
ไม่เว้นแม้แต่ ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ
แม้โครงการจัดอันดับการศึกษาจะถูกพับไป ด้วยสาเหตุที่ว่าเป็นงานนอกเหนือความรับผิดชอบโดยตรงของทริสแล้ว
ส่วนหนึ่งคือ ก.ล.ต. คงเกรงว่าทริสจะมีงานเต็มมือจนรับไม่ไหว เพราะสถานการณ์การเงินของประเทศยังอยู่ในภาวะผันผวน
นัยว่าน่าจะเอาเวลามาดูแลสถาบันการเงินทั้งที่มีปัญหา ไม่มีปัญหา และอาจจะมีปัญหาในอนาคต
แต่ในความเป็นจริงแล้วงานที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นนั้นกลับไม่เป็นไปตามคาด
จนทำให้ทริสเองต้องลดตัวเลขประมาณการกำไรในปีนี้ที่เคยตั้งไว้ที่ 20 ล้านบาทเหลือเพียง
10 ล้านบาทเท่านั้น เพราะตั้งแต่ต้นปีมาจำนวนลูกค้าของทริสทั้งที่ขอยกเลิก
และไม่ต่อสัญญานั้นมีไม่ต่ำกว่า 20 ราย เผลอ ๆ อาจจะถึง 30 รายไปแล้วก็ได้
ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าสถานการณ์เช่นนี้ นอกจากแต่ละบริษัทยังไม่อยากเปลืองตัวโชว์ฐานะทางการเงินแล้วคงไม่อยากเปลืองเงินในช่วงที่ไม่จำเป็น
เพราะต่อให้เรตติ้งตราสารออกมาดีอย่างไรก็ไม่แน่ว่าจะมีคนกล้าหรือมีเงินมาซื้อ
งานใหม่ ที่ใคร ๆ ก็เห็นดีด้วย
ดังนั้นด้วยเงื่อนไขของเวลา และสถานการณ์ทริสอาจจะเข็นโครงการจัดอันดับการศึกษาให้
ก.ล.ต. พิจารณาอีกรอบซึ่งก็ต้องรอลุ้นว่า ก.ล.ต. จะมีมุมมองอย่างไร แต่โครงการใหม่อย่างจัดอันดับธุรกิจประกันภัยคงมีอนาคตที่สดใสด้วยแนวคิดที่จะสะท้อนฐานะ
และความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันภัย รวมทั้งความสามารถในการชำระคืนค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขที่ระบุในกรมธรรม์
จากการจัดสัมมนาเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ทุกฝ่ายเห็นชอบในหลักการ ไม่ว่าจะเป็นกรมการประกันภัย
ฝ่ายกำกับดูแล สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ซึ่งต้องย้ำว่าเป็นความเห็นชอบอย่างแท้จริงโดยไม่มีอาการแง่งอนให้เห็น
เริ่มจากชัย โสภณพานิช ซึ่งถูกเชิญมาในนามของนายกสมาคมประกันวินาศภัย แต่ขอพูดในนามส่วนตัวเพราะถ้าพูดในนามสมาคมแล้วเขาบอกว่า
แม้ทุกฝ่ายจะเห็นด้วยแต่คงไม่มีใครอยากเข้าร่วม "เนื่องจากคงไม่มีใครอยากให้คนอื่นได้รับเรตติ้งดีกว่าตัวเอง
เพราะจะต้องถูกผู้บริหาร คณะกรรมการ หรือผู้ถือหุ้นถามว่าบริหารงานอย่างไรทำไมคนอื่นจึงได้เรตติ้งดีกว่า
การปิดบังทุกอย่างดีที่สุดต่างคนต่างสบาย"
ทางออกที่ชัยเสนอให้คือทางกรมการประกันภัยต้องออกกฎหมายขึ้นมาบังคังอาจจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม
อาทิ ถ้าบริษัทใดไม่ทำเรตติ้งก็ไม่ต่อใบอนุญาตให้หรือประกาศให้ทราบว่าบริษัทใดเข้าร่วมทำเรตติ้ง
ส่วนบริษัทใดที่ไม่ทำก็ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าฐานะทางการเงินอาจไม่ดีจึงไม่กล้าที่จะถูกเปิดเผย
ข้อดีที่ชัยให้ความเห็นสนับสนุนต่อโครงการนี้ เขามองว่าเมื่อผลการจัดอันดับของบางบริษัทออกมาแล้วไม่ดีแม้ว่าบริษัทนั้น
ๆ จะรู้สึกไม่พอใจแต่อย่างน้อยที่สุดก็จะทราบเหตุว่าทำไมจึงถูกประเมินอย่างนั้น
รวมทั้งข้อที่ควรปรับปรุงและแนวทางการทำให้เรตติ้งของบริษัทตนเองสูงขึ้น
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เขาคิดว่าจะช่วยพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยได้ในทางอ้อม
สำหรับสุขเทพ จันทร์ศรีชวาลา นายกสมาคมประกันชีวิตไทย มองต่างมุมจากชัยในเรื่องการออกกฎหมายบังคับว่า
ในการดำเนินธุรกิจแบบเสรีควรให้เป็นไปในลักษณะที่สมัครใจ และเสนอให้กรมการประกันภัยสนับสนุนในลักษณะต่าง
ๆ อาทิ ถ้าบริษัทใดเข้าร่วมจัดเรตติ้งแล้วผลที่ได้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในคุณภาพอาจจะไม่มีการควบคุมค่าใช้จ่ายเล็ก
ๆ น้อยๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากการดำเนินงาน หรือกรณีการเปิดสาขา-ออกกรมธรรม์ใหม่โดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากกรมฯ
แต่เป็นเพียงการแจ้งให้ทราบเท่านั้น
นอกจากนี้สุขเทพยังฝากความกังวลในเรื่องความสนใจของผู้บริโภคต่อการจัดเรตติ้งดังกล่าวนี้
และที่ผ่านมาก็ยังไม่มีการจัดเรตติ้งในลักษณะเช่นนี้ จึงเป็นการยากที่จะคาดเดา
และเสี่ยงลงทุน เพราะถ้าความสนใจไม่เป็นตัวเลขที่มากพอ ย่อมจะไม่มีบริษัทอยากลงทุนตรงจุดนี้
มุมมองจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคผ่านทางสารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิฯ
ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคโดยตรงสามารถตอบข้อกังวลของสุขเทพได้ โดยสารีให้ข้อมูลว่าการทำเรตติ้งในครั้งนี้ก็คงคล้ายกับเรื่องของตู้เย็นหรือเครื่องปรับอากาศ
เบอร์ 5 ซึ่งเดิมผู้บริโภคก็เลือกจากคำบอกเล่าและการโฆษณา แต่หลังจากมีการประกาศใช้เครื่องไฟฟ้าแบบประหยัดเบอร์
5 ทุกคนก็จะแห่ไปซื้อโดยอัตโนมัติ
ด้านกรมการประกันภัย ฝ่ายกำกับดูแลซึ่งมีพิพรรธน์ อินทรศัพท์ เป็นอธิบดี
ให้การตอบรับและสนับสนุนแนวคิดอย่างแข็งขัน และแม้จะมองว่าการจัดอันดับในลักษณะนี้เป็นการวัดประสิทธิภาพการบริหารงานที่จะตอบสนองให้กับผู้เอาประกัน
โดยไม่จำเป็นที่จะต้องออกเป็นกฎหมาย แต่เมื่อมีผู้เสนอให้มีการบังคับอธิบดีพิพรรธน์ก็พร้อมที่จะผลักดันให้ถ้าทุกฝ่ายเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำ
สิ่งหนึ่งที่กรมการประกันภัยยังคงห่วงใยค่อนข้างมากในเรื่องของความเป็นกลาง
ความมั่นคงในวิชาชีพ และเลยไปถึงจรรยาบรรณของผู้ประเมินไม่ว่าจะเป็นทริสหรือผู้ที่จะเข้ามาจัดอันดับรายอื่นๆ
โดยทางกรมฯ ให้เหตุผลว่า ในหลักการและวิธีการนั้น เมื่อผลออกมาย่อมเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้
อ้างอิงได้ถึงขนาดว่าอาจจะยกประโยขน์ให้กับผู้ที่ได้เรตติ้งในระดับ A ขึ้นไปที่จะไม่มีการเข้มงวดจากทางกรมฯ
มากนักเพราะมองว่าผ่านการกลั่นกรองมาแล้วขั้นหนึ่ง
ความกังวลของกรมฯ ในเรื่องนี้มิใช่เป็นเรื่องที่เกินเลยหรือจะมองข้ามไปได้
เพราะถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ของวงการประกันภัยจะพบว่าปัญหาเรื่องการจ่ายคืนค่าสินไหมทดแทนอย่างเดียวก็เล่นเอากรมฯ
ไม่ต้องทำงานหรือพัฒนางานด้านอื่น ๆ ก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นการเบี้ยวค่าสินไหม
หรือการประวิงเวลาที่บางบริษัทพร้อมที่จะหาลู่ทางฉวยโอกาสจากช่องของกฎหมายหรือความไม่รู้เท่าทันของผู้เอาประกันอยู่ตลอดเวลา
แม้จะระแวดระวังอยู่แล้วก็ตาม กระนั้นอธิบดีเองก็ยอมรับว่าการตรวจสอบของกรมฯ
นั้นปัจจุบันทำไม่ไหวเพราะมีเจ้าหน้าที่อยู่เพียงหยิบมือเดียว การเข้ามาของทริสคงจะช่วยแบ่งเบาภาระตรงนี้ของกรมฯ
ไปได้
สิ่งสำคัญที่กรมฯ ยังฝากความหวังไว้กับโครงการนี้คือการตรวจสอบการทำงานและมุมมองของกรมฯ
กับบริษัทเอกชนอย่างทริสว่ามีความแตกต่างหรือสอดคล้องอย่างไร เพื่อการพัฒนาปรับปรุงการทำงานต่อไปที่ดีขึ้น
ซึ่งอธิบดีพิพรรธน์เห็นว่าในส่วนของกรมฯ แล้วอาจจะสำคัญกว่าการแบ่งเบาภาระงานเสียอีก
งานไม่ยากแต่คงวุ่นวาย
ที่ผ่านมาทั้งหมดมุมมองของแต่ละฝ่ายยอมรับในหลักการอย่างที่กล่าวมาแล้วตั้งแต่เปิดเรื่อง
ดังนั้นโครงการนี้คงจะสะดวกโยธินแน่ในระยะแรกคือมีโอกาสได้ทำสูงเพราะทั้งฝ่ายกำกับดูแล
ผู้อยู่ในวงการเองและตัวแทนที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคต่างยอมรับ
ยิ่งไปกว่านั้นการได้รับความร่วมมือจากฟิทช์หรือบริษัท ฟิทช์อินเวสเตอร์เซอร์วิส
ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับเครดิตชั้นนำ 1 ใน 4 ของโลก ยิ่งจะมีส่วนช่วยในเรื่องคุณภาพและความน่าเชื่อของการประเมินได้เป็นอย่างดี
เนื่องจากฟิทช์ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในด้านการจัดอันดับประกันภัยซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติและในวันที่
8-11 กันยายน ทริสได้ส่งบุคลากรระดับผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ 3 คนและผู้บริหารอีก
2 คนเพื่อไปอบรมฝึกฝนที่สำนักงานใหญ่ของฟิทช์ ณ กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
ดังนั้นสำหรับการจัดอันดับธุรกิจประกันภัยนี้เรื่องความยากลำบากในการดำเนินงานคงเป็นสิ่งที่ทริสสามารถควบคุมดูแลได้
แต่สิ่งที่จะตามมาในกระบวนการประเมินนั้นเป็นสิ่งที่น่ากังวลอยู่เพราะความมีลูกเล่นของบรรดาบริษัทประกันภัยนั้น
ถ้าจับไม่ได้ไล่ไม่ทันก็จะเหนื่อยอย่างกรมฯ ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ดร.วุฒิพงษ์คงเข้าใจในข้อนี้ดีจึงขอเวลาเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมของทีมงานก่อนเป็นเวลา
6 เดือนก่อนจะเริ่มงานอย่างจริงจัง
เมื่อทริสเข้ามารับบท "จับปูใส่กระด้ง" แทนกรมฯ เช่นนี้ก็ต้องเตรียมใจว่าต้องรับบทหนักจริง
ๆ เห็นได้จากงานสัมมนาวันนั้น แม้ท่านนายกฯ ของทั้งสองสมาคมจะยอมรับกันอย่างแข็งขัน
แต่บรรดาตัวแทนบริษัทประกันทั้งหลายที่เข้าฟังแทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
"ทริสต้องทำการบ้านมากกว่านี้" เพราะลำพังแต่การขายแนวคิดที่ดีเพียงอย่างเดียวคงไม่มีน้ำหนักพอ
ที่จะให้พวกเขาเหล่านี้ยอมเปลืองตัวเปลืองเงินให้ทริสจับมาแก้ผ้าได้ง่าย
ๆ
อันที่จริง ทริสน่าจะขอความช่วยเหลือจากโพลล์ต่าง ๆ ที่ทำเกี่ยวกับการประกันภัยอยู่แล้วให้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค
ซึ่งเชื่อแน่ว่าผลที่ออกมาคงจะสนับสนุนโครงการใหม่ของทริสเป็นแน่ และบางทีตัวเลขที่ออกมาอาจจะทำให้ปู
(ประกัน) น้อยใหญ่ทั้งหลายเสียงอ่อนยอมเข้ารับการรีดเลือดของทริสโดยดุษณีก็เป็นได้
และที่สำคัญถ้าเป็นที่ยอมรับและผู้บริโภคใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกทำประกันแล้วละก็งานนี้ทริสรับไปเต็ม
ๆ เพราะทั้งบริษัทประกันเก่าที่มีอยู่ 73 รายและที่ขอใบอนุญาตใหม่อีก 28
รายก็ร่วมร้อยบริษัทรายได้จากค่าจัดเรตติ้งเฉพาะตรงนี้ก็ไม่ใช่น้อย !!