|
หนังสือแข่งเดือด สนพ.เทศรุกหนักชี้แนวธรรมะบูม
ผู้จัดการรายวัน(21 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ซีเอ็ด ชี้ธุรกิจหนังสือปี 48 สะท้อนความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของสำนักพิมพ์ว่าดี หลังสำนักพิมพ์ทุบสถิติแห่ออกหนังสือสูง 11,651 ปกต่อปี เฉลี่ย 31.9 ปกต่อวัน ระบุธุรกิจข้างเคียงกว้านซื้อลิขสิทธิ์ต่างประเทศ/ไทย ร้านหนังสือมีน้อย บีบสมรภูมิหนังสือแข่งดุ อัดสงครามราคา โปรโมชั่นระคุ ขณะที่คนไทยแห่อ่านหนังสือหลักธรรมข่มใจเศรษฐกิจฝืด
นายทนง โชติสรยุทธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมตลาดหนังสือในปี 2548 มีอัตราการเติบโต 10-15% โดยมีหนังสือที่เข้าสู่ระบบร้านหนังสือประมาณ 11,651 ปกต่อปี หรือโดยเฉลี่ย 31.9 ปกต่อวัน เมื่อเทียบกับปี 2547 มี 11,103 ปก เฉลี่ย 30.4% ปกต่อวัน อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบปี 2548 กับ ปี 2540 ซึ่งมีปัจจัยด้านเศรษฐกิจเหมือนกัน แต่ในช่วงวิกฤติทางเศรษฐกิจปี 2540 อัตราการออกปกหนังสือตกลงเหลือเป็น 15.9 ปกต่อวัน แต่ในปี2548 มีถึง 31.9 ปกต่อวัน สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของสำนักพิมพ์ว่าดีตามสมควร และกลับคืนมาจนมากกว่าก่อนเกิดวิกฤติเป็นเกือบเท่าตัว
“อัตราการออกหนังสือใหม่ของไทย แม้ว่าจะดูมาก แต่ก็ยังน้อยกว่าหลายประเทศ เช่น ในปี 2544 ประเทศเกาหลีมีหนังสืออกใหม่ประมาณ 34,000 ปกต่อปี อินเดียประมาณ 60,000 ปกต่อปี ญี่ปุ่นประมาณ 69,000 ปกต่อปี จีนประมาณ 88,000 ปกต่อปี เป็นต้น”
ร้านหนังสือน้อยบีบการแข่งขันแรง
อย่างไรก็ตามการที่หนังสือออกใหม่มีปริมาณมากกว่าพื้นที่ในร้านหนังสือทั่วไป ซึ่งมีจะมีขนาดเล็กจะรองรับได้ 5,000-10,000 ปกเท่านั้น โอกาสมีสูงที่หนังสือจำนวนไม่น้อยจะไม่ประสบความสำเร็จในการขาย เนื่องจากไม่มีที่วางที่เหมาะสมในร้านหนังสือ อีกทั้งหนังสือยังถูกโชว์สั้นลง โดยพบว่าในปี 2548 ร้านหนังสือเพิ่มขึ้น 11.7% หรือประมาณ 848 ร้าน แบ่งเป็น กรุงเทพฯ 447 ร้าน เติบโต 15..8% ต่างจังหวัด 401 ร้าน เติบโต 7.5%
ในจำนวนร้านหนังสือทั้งหมด มีร้านอิสระปิดกิจการ 37 ร้าน และเปิดเพิ่ม 21 ร้าน และมีแนวโน้มหดตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะด้วยทำเล ระบบการจัดการ ทำให้กิจการมีความเสี่ยงสูง ส่วนร้านเครือข่ายหรือร้านที่เปิดตั้งแต่ 3 สาขาขึ้นไป ขยายเพิ่ม 122 ร้าน และปิดเพียง 17 ร้าน และปีนี้จะมีการเปิดเพิ่มอีก 140-180 แห่ง ขณะที่ร้านเครือข่ายเต็มรูปแบบ 5 รายแรก มีส่วนแบ่ง 45-55% ทั้งนี้ร้านเครือข่ายจะเป็นตัวผลักดันให้ตลาดหนังสือเติบโต
นอกจากนี้ยังพบว่า ตลาดต่างจังหวัดเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง โดยพบว่าคนต่างจังหวัด 72 จังหวัด อ่านหนังสือ 40-30% ส่วนกรุงเทพ 60-70% ใกล้เคียงกันมาก อีกทั้งฤติกรรมการอ่านหนังสือคนต่างจังหวัดยังแตกต่างจากเดิมมาก
การแข่งขันรุนแรงทั้งหัวนอก-ใน
นายทนง กล่าวว่า แนวโน้มการแข่งขันธุรกิจหนังสือมีความรุนแรงมากขึ้น เพราะธุรกิจข้างเคียงและธุรกิจอื่นเข้ามาร่วมวงด้วยการกว้านซื้อลิขสิทธิ์ต่างประเทศ/ไทย การออกหนังสือประเภทเดียวกันมากขึ้น แย่งที่วาง แย่งพื้นที่ร้าน แย่งทำเลร้าน ใช้การตลาดสมัยใหม่ การจัดการ และเทคโนโลยีมากขึ้นในทุกส่วนเพื่อแย่งชิงลูกค้าและความเข้มแข็ง อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดสงครามราคา โปรโมชั่น การสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภค การสร้างแบรนด์จะมีให้เห็นมากขึ้น รวมไปถึงการต่อรอง การปรับเงื่อนไขการค้า
“สำนักพิมพ์ต่างประเทศจะเข้ามารุกมากขึ้น โดยจัดทำหนังสือในไทย จัดพิมพ์ในไทยเพื่อส่งออก และซื้อลิขสิทธ์ไทย เพื่อแปล และส่งออก ซึ่งผู้ประกอบการรายเล็ก-ใหญ่ จะต้องปรับตัวกันหมด ถ้าควบคุมไม่ดี รายเล็กสำนักพิมพ์-ร้านหนังสือจะอยู่ลำบาก ขณะที่ความหลากหลายจะหายไป”
ปี48คนไทยแห่อ่านหลักธรรมข่มใจ
สำหรับหมวดหนังสือที่ออกใหม่มากที่สุด คือ กลุ่มวรรณกรรมสัดส่วน 21% ของตลาดหนังสือ มีอัตราการเติบโต 4% หรือมีจำนวน 2,468 ปกต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2547 มี 2,363 ปกต่อปี คู่มือเรียน-สอบ สัดส่วน 18% ในปี 2548 หดตัวลง -4% จาก 2,204 ปกต่อปี เหลือเป็น 2,106 กลุ่มเด็กสัดส่วน 12% โต 4% เพิ่มจาก 1,332 เป็น 1,391 ปกต่อปี ศาสนาและปรัชญาสัดส่วน 7% โต 57% เพิ่มจาก 494 เป็น 776 ปกต่อปี บริหารธุรกิจสัดส่วน 4% หดตัว-1% จาก 472 ลดลง 469 ปกต่อปี ขณะเดียวกันหนังสือแปลขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยมีหนังสือออกใหม่เพิ่มขึ้นถึง 15.11% เมื่อเทียบกับปี 2547 มี 12.65% โดยหนังสือแปลยอดนิยม ได้แก่ งานวรรณกรรม เด็ก บริหารธุรกิจ จิตวิทยา และศาสนา ตามลำดับ
หนังสือที่มีจำนวนเล่มขายมากที่สุดในปี 2548 อันดับหนึ่ง แฮรรี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม ของสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ตามด้วย เกิดแต่กรรม แม่ชีธนพร 2 สำนักพิมพ์มีเดียออฟ มีเดียส์ และเกิดแต่กรรม แม่ชีธนพร ส่วนอันดับ 8 เป็น หนังสือพระราชอำนาจ โดยประมวล รุจนเสรี เนื่องจากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ที่ออกอากาศวันศุกร์ที่ 2 กันยายน 2548 มีการกล่าวถึง ส่งผลให้กลายเป็นหนังสือที่ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม ตั้งข้อสังเกตุว่า 5 ใน 10 อันดับขายดีเป็นหนังสือที่นำหลักธรรมมาใช้ในการสอนชีวิต ให้ประพฤติดี ซึ่งเป็นกลุ่มหนังสือที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในปีที่ผ่านมา
สำหรับหมวดหนังสือที่คนไทยซื้ออ่านมากที่สุด ได้แก่ หนังสือเด็ก วรรณกรรม คู่มือเรียน-สอบ คอมพิวเตอร์ จิตวิทยา ส่วนหมวดหนังสือที่มีอัตราการซื้ออ่านเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มธรรมชาติ ศาสนา สังคมศาสตร์ ดนตรี และวรรณกรรม
นายทนง กล่าวว่า สำนักพิมพ์ที่มียอดขายเป็นอันดับหนึ่ง คือ ซีเอ็ด โดยในปีที่ผ่านมามีรายได้ 2,900 ล้านบาท โดยมีหนังสือออกใหม่ 127 ปกต่อปี โดยสิ้นปีนี้ตั้งเป้า 4,000 ล้านบาท ส่วนอันดับสอง นานมีบุ๊คส์ จากการออกปกหนังสือใหม่ 219 ปกต่อปี ตามด้วยอมรินทร์พริ้นติ้งออกหนังสือ 254 ปกต่อปี ไอดีซี 38 ปกต่อปี แจ่มใส 148 ปกต่อปี และโปรวิชั่น 21 ปกต่อปี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|