ปตท.สผ.กำไรกว่า 2.3 หมื่นล้าน ราคาปิโตรฯพุ่งหนุนยอดขายเพิ่ม


ผู้จัดการรายวัน(21 กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ปตท.สผ. โชว์ผลงานงวดปี 2548 กำไรสุทธิกว่า 2.37 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 50% เหตุจากราคาขายปิโตรเลียมปรับตัวสูงขึ้น หนุนให้รายได้จากการขายเพิ่มขึ้น ด้านผู้บริหารแย้มปี 2549 ต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้อง ขณะที่ราคาหุ้นขานรับบวก 8 บาท ปิดที่ 524 บาท

นายมารุต มฤคทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP กล่าวถึง ผลการดำเนินงานประจำปี สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ 23,734.69 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 36.29 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 15.866.02 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 24.31 บาท หรือมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 7,868.67 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 49.59%

ทั้งนี้ ปตท.สผ. และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 69,583 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนจำนวน 48,417 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21,166 ล้านบาท หรือ 44% โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการขายปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้น 20,159 ล้านบาท เนื่องจากราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 29.37 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 23.38 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ

ขณะที่ปริมาณการขายผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นเป็น 153,531 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากปีก่อนอยู่ที่ 134,070 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยยอดขายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลจากการขายน้ำมันดิบของโครงการ S1โครงการ B8/32 & 9A และโครงการนางนวล รวมทั้งก๊าซธรรมชาติและคอนเดนเสทของโครงการบงกช, โครงการไพลิน และโครงการเยตากุน

ด้านค่าใช้จ่าย ปตท.สผ. และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 27,854 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้จำนวน 19,848 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,006 ล้านบาท หรือ 40% เป็นผลจากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากโครงการนางนวลที่เริ่มดำเนินการผลิตปลายไตรมาสที่สองของปีนี้ รวมทั้งค่าดำเนินงานของโครงการ B8/32 & 9A และค่าซ่อมบำรุงในโครงการบงกช และโครงการไพลิน

พร้อมกันนี้ บริษัทยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาทิ ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากค่าเสื่อมราคาโครงการนางนวล โครงการเยตากุน และโครงการไพลินที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตและการตัดจำหน่ายส่วนเกินเงินลงทุนจากการเข้าซื้อหุ้นในบริษัท ออเร้นจ์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และบริษัท บี8/32 พาร์ทเนอร์ จำกัด รวมถึงค่าใช้จ่ายในการสำรวจแหล่งน้ำมันเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีรายการตัดจำหน่ายค่าใช้จ่ายของหลุมแห้งในโครงการอัลจีเรีย 433a &416b โครงการS1 โครงการเยตากุน และโครงการ Unocal III รวมทั้งค่าศึกษาทางธรณีวิทยาและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ 3D Seismicของโครงการไพลิน, โครงการพื้นที่ร่วมพัฒนาไทย-มาเลเซีย โครงการ อัลจีเรีย 433a&416 และโครงการ L53/43& L54/43 เป็นต้น

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 4 ปี 2548 ปตท.สผ.และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิรวม 6,817 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 10.38 บาท กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 34% ที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 5,099 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 7.78 บาท โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 21,793 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่มีรายได้รวม 14,234 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,559 ล้านบาท หรือ 53% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากรายได้จากการขายปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้น 7,510 ล้านบาท หรือ 58% เนื่องจากราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยและปริมาณการขายเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ยอดขายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลจากการขายก๊าซธรรมชาติและคอนเดนเสทของโครงการไพลินและโครงการเยตากุน และการขายน้ำมันดิบของโครงการ B8/32 & 9A โครงการ S1 และโครงการนางนวล ทั้งนี้ในไตรมาสนี้ ปตท.สผ.ให้ส่วนลดค่าก๊าซธรรมชาติแก่บริษัท ปตท. จำกัด เพื่อส่งต่อให้ กฟผ.ในการนำไปลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) จำนวน 1,169 ล้านบาท

ด้านค่าใช้จ่ายนั้น ปตท.สผ. และบริษัทย่อย มีค่าใช้จ่ายในไตรมาสนี้รวมทั้งสิ้น 9,512 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 5,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,112 ล้านบาท หรือ 76%

สำหรับฐานะการเงินของปตท.สผ.และบริษัทย่อย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 ปตท.สผ. และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 143,317 ล้านบาท เพิ่มจากสิ้นปีก่อนจำนวน 31,372 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของทรัพย์สินสุทธิเพื่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำนวน 35,695 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในทรัพย์สินของโครงการ B8/32 & 9Aโครงการอาทิตย์ โครงการโอมาน 44 โครงการพม่า M7 & M9 และ โครงการ S1 ขณะที่มีหนี้สินรวม 71,620 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16,774 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายค้างจ่ายจำนวน 6,929 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2549 มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2548 สืบเนื่องจากการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 ความคลี่คลายจากวิกฤติราคาน้ำมัน และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง เพราะการลงทุนนับเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญประการหนึ่งที่จะชี้วัดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี

"การดำเนินธุรกิจของ ปตท.สผ. ต้องเฝ้าติดตามภาวะเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ปรับการบริหารงานให้ได้อย่างเหมาะสม บวกกับสถานการณ์การแข่งขันกันอย่างสูงในการเร่งที่จะผลิตปิโตรเลียมเข้าสู่ตลาดเพื่อให้ทันกับช่วงราคาของผลิตภัณฑ์ที่ยังสูงอยู่ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นความท้าทายของ ปตท.สผ. ในการบริหารจัดการโครงการต่างๆ ที่มีอยู่ให้บรรลุผลสำเร็จตามแผนงานที่กำหนดและคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ"

ด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้น ล่าสุด (20 ก.พ.) เปิดการซื้อขายด้วยราคาที่ต่ำกว่าราคาปิดครั้งก่อน และลงทุนทำจุดต่ำสุดที่ 512 บาท ก่อนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงบ่ายที่ราคาสูงสุด 528 บาท ก่อนจะปิดที่ 524 บาท เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 8 บาท หรือคิดเป็น 1.55% มูลค่าการซื้อขายรวม 264.11 ล้านบาท และถือเป็นหุ้น 1 ใน 2 ตัวของกลุ่มพลังงานที่สามารถยืนอยู่เหนือราคาปิดครั้งก่อน

สำหรับการเคลื่อนไหวราคาหุ้นของ ปตท.สผ. จะส่งผลต่อภาพรวมของตลาดหุ้นไทย เพราะเป็นหุ้นที่มีมูลค่าตลาดรวม (มาร์เกตแคป) ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นปี 2549 ที่ผ่านมา นักลงทุนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในหุ้น ปตท.สผ. เป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ขึ้นแรงลงแรง คือบวกลบแต่ละครั้งมากกว่า 4 บาท หรือบางครั้งอาจจะสูงถึง 20 บาท

ผลการดำเนินงานของ ปตท.สผ. งวดสิ้นปี 48 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2548
รายได้ ปี 2548 69,584 ปี 2547 48,417 เปลี่ยนแปลง(%) 44
ค่าใช้จ่าย ปี 2548 27,854 ปี 2547 19,848 เปลี่ยนแปลง(%) 40
กำไรสุทธิ ปี 2548 23,734.68 ปี 2547 15,866.02 เปลี่ยนแปลง(%) 49.59
กำไรสุทธิต่อหุ้น(บาท) ปี 2548 36.29 ปี 2547 24.31 เปลี่ยนแปลง(%) 49.28
ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.