จารุนันท์ จารุเธียร เจ้าของลิขสิทธิ์ TCBY ในประเทศไทย ก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตไอศกรีมโยเกิร์ต
TCBY เอง เตรียมบุกตลาดต่างประเทศ พร้อมรุกตลาดในไทยด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้ชื่อ
TC'S BEST เร่งขาย SUBFRANCHISE สวนกระแสเศรษฐกิจ
เป็นเวลาร่วม 7 ปีแล้วที่ "TCBY" (THE COUNTRY'S BEST YOGURT)
เข้ามาจับตลาดผู้บริโภคไอศกรีมโยเกิร์ตในประเทศไทย จากการนำเข้ามาของ จารุนันท์
จารุเธียร ลูกหลานเจ้าสัวใหญ่แห่งโรงแรมแชงกรีล่า ภายใต้บริษัท THE WORLD'S
BEST YOGURT (TWBY) ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่าย TCBY ในประเทศไทยและภูมิภาคใกล้เคียง
โดยสาขาแรกเปิดที่สยามสแควร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 และในปัจจุบันบริษัทฯ
สามารถขยายสาขาได้ถึง 31 สาขาทั่วประเทศแล้ว
จากความฝันของหญิงสาวเชื้อสายจีนที่ต้องการมีธุรกิจเล็ก ๆ เป็นของตัวเองก็ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย
เนื่องจากในปัจจุบันเธอได้รับความไว้วางใจโดยได้รับลิขสิทธิ์จากบริษัทผู้ผลิตไอศกรีม
TCBY ที่อเมริกาให้ผลิตไอศกรีมโยเกิร์ต TCBY ในภูมิภาคเอเชีย เธอจึงได้ก่อตั้งบริษัท
คีย์ อินเตอร์เนชั่นแนล ฟู้ด ขึ้น เพื่อทำการบริหารโรงงาน คีย์ อินเตอร์เนชั่นแนล
ฟู้ด (KIF) ซึ่งเป็นโรงงานรผลิตอาหารประเภทนมที่สะอาดด้วยเทคโนโลยีที่ได้มาตรฐาน
และทันสมัยที่สุดในเอเชีย บนเนื้อที่กว่า 28 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร
โดยใช้เงินทุนในการก่อสร้างไปกว่า 1,000 ล้านบาท
"ตอนแรกที่เอา TCBY เข้ามาไม่ได้คิดว่าจะเปิดใหญ่โตถึงขนาดนี้ เพียงแค่ตั้งใจว่าอยากจะทำธุรกิจของเราเองโดยไม่ต้องพึ่งพาพ่อแม่
คิดว่าจะเปิดแค่ 2-3 ร้าน มีลูก 2-3 คนก็พอ แบ่งให้ดูแลคนละร้าน ไม่ได้คิดไปไกลไปกว่านั้นแต่พอเราเข้าไปผูกพันกับธุรกิจแล้วก็พบว่าธุรกิจต้องมีการขยาย
ต้องมีการเติบโต ถ้าเราอยู่กับที่เราก็จะถูกกลืนเข้าไปในตลาดและหายไปในที่สุด
ต่อไปก็ไม่มีใครรู้จัก เราไม่อยากให้เกิดจุดนี้ ฉะนั้นเราก็ต้องพยายามเติบโตเรื่อย
ๆ และที่สำคัญเราก็มีพนักงานที่ผูกพันกับเรา และเราก็ผูกพันกับเขา เราอยากให้เขามีอะไรที่เป็นหลักประกัน
ฉะนั้นเราก็มีการขยายสาขาจนล่าสุดมีกว่า 30 สาขาทั่วประเทศไทยแล้ว"
เป็นความในใจของจารุนันท์ที่เผยถึงการเติบโตของธุรกิจไอศกรีมของเธอ
ณ ปัจจุบัน จารุนันท์ได้กลายเป็นเจ้าของโรงงานผลิตไอศกรีมที่ใหญ่ และมีมาตรฐานการผลิตที่ได้รับการยอมรับจากชาวต่างชาติ
โดยล่าสุดได้รับเกียรติจากเจ้าชายเฟรเดอริก องค์รัชทายาทแห่งประเทศเดนมาร์กเสด็จมาเป็นองค์ประธานในการเปิดโรงงาน
KIF ซึ่งเป็นโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีทีทันสมัยจากเดนมาร์กในการผลิต โดยมีกำลังการผลิตเต็มที่เฉลี่ยวันละ
32,000 ลิตร ซึ่งขณะนี้ทางโรงงานได้ทดลองเดินเครื่องไปตั้งแต่วันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมาแล้ว
"การจัดระบบภายในโรงงานเต็มไปด้วยความปลอดภัย และได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้
โดยเฉพาะเรื่องของความสะอาด ถูกหลักอนามัยจะมีการเข้มงวดเป็นพิเศษ เนื่องจากไอศกรีมโยเกิร์ตที่เราผลิตได้จะต้องส่งไปยังประเทศที่มีความเข้มงวดในเรื่องนี้สูง
เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น" จารุนันท์กล่าว และเล่าถึงความจำเป็นที่ต้องสร้างโรงงาน
KIF ขึ้นมาว่า
เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับตัวสินค้า TCBY ที่ในอดีตเป็นการนำเข้ามา
100% ซึ่งปัญหาเหล่านั้นก็ได้แก่รสชาติและรูปแบบที่เป็นที่นิยมในเมืองไทยกลับไม่เป็นที่นิยมในอเมริกา
บริษัทแม่จึงสั่งยกเลิกการผลิตสินค้าตัวนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นทาง TWBY จึงได้พยายามติดต่อกับทางบริษัทผู้ผลิตไอศกรีมในไทยหลายบริษัท
เพื่อทำการทดลองผลิตไอศกรีมโยเกิร์ต TCBY แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากบริษัทแม่ที่สหรัฐอเมริกา
TWBY จึงเป็นความจำเป็นที่ต้องสร้าง โรงงานเพื่อผลิตไอศกรีมโยเกิร์ต TCBY
ขึ้นเองในเมืองไทยโรงงาน KIF จึงได้ถูกก่อสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
รวมถึงการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วย
"ในภูมิภาคนี้ มีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวที่เป็นตัวแทนการผลิต TCBY
ที่ได้มาตรฐานที่สุด ที่เมืองจีนก็มีแต่ไม่ได้มาตรฐาน TCBY ในจีนจึงไม่สามารถส่งไปขายยังประเทศสิงคโปร์
ญี่ปุ่นหรือเกาหลีได้ เพราะประเทศเหล่านี้เข้มงวดเรื่องความสะอาดมากในขณะที่โรงงานของเราได้รับการยอมรับอย่างดี"
จารุนันท์กล่าวอย่างภูมิใจ
นอกจากโรงงาน KIF จะผลิตไอศกรีมโยเกิร์ต TCBY แล้วยังได้ผลิตสินค้าใหม่ภายใต้ชื่อ
TC'S BEST(THE COUNTRY'S BEST) ซึ่งประกอบด้วยสินค้าหลัก 2 ชนิดคือ ไอศกรีมโยเกิร์ตไขมันต่ำใช้ชื่อว่า
Y-BEST FROZEN YOGURT(Y-BEST) และไอศกรีมทั่วไปที่ใช้ชื่อว่า I-BEST THE
BELOW ZERO ICECREM(I-BEST)
Y-BEST เป็นไอศกรีมโยเกิร์ตแช่แข็งชนิดแท่ง (NOV-VELTY) ที่ไม่มีรสเปรี้ยว
เนื้อละเอียดเนียนนุ่มและมีรสชาติอร่อยเช่นเดียวกับไอศกรีมทั่วไป แต่มีไขมันเพียงแค่
4% เท่านั้น เนื่องจากผลิตจากนมที่ผ่านการสกัดไขมันออกจนเหลือในปริมาณที่น้อยมาก
ส่วน I-BEST จะเป็นไอศกรีมที่เหมือนกับไอศกรีมทั่วไป มีทั้งแบบชนิดตัก (HAND
DIP) และชนิดบีบเป็นเกลียวใส่กรวยกรอบ (SOFT SERVE)
"เมื่อเราตั้งโรงงานเอง เราก็ไม่สามารถที่จะขายสินค้าแค่ TCBY อย่างเดียวได้ถึงแม้ว่าอเมริกาจะเปิดไฟเขียวให้เราส่ง
TCBY ได้ทั่ว MIDDLE-EAST ซึ่งค่าใช้จ่ายจะมีเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ค่าขนส่งทางไกล
เราคิดว่าไม่คุ้ม เราจึงต้องทำการตลาดภายในประเทศด้วย โดยคิดว่าเราจะใช้ตลาดในประเทศไทยเป็นตลาดหลักและต่างประเทศเป็นตลาดรอง"
จารุนันท์กล่าว และเล่าเสริมถึงความตั้งใจแรกหลังจากที่ได้เป็นตัวแทนจำหน่าย
TCBY ในประเทศไทยว่า ตั้งใจจะผลิตเองตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อลดต้นทุนการนำเข้า
แต่เนื่องจากปริมาณยังน้อยอยู่ ซึ่งจะไม่คุ้มกับการสร้างโรงงาน
ในครั้งนั้นเธอคิดที่จะสร้างโรงงานเพื่อผลิต TCBY อย่างเดียว แต่ต่อมาเมื่อทำธุรกิจไปได้ช่วงหนึ่งเธอก็คิดว่าถ้าจะให้ได้
ECONOMY OF SKILL จะต้องทำให้ใหญ่ ดังนั้นโรงงาน KIF จึงไม่ได้ผลิตเพียงแค่ไอศกรีมโยเกิรต์เท่านั้น
แต่ยังทำการผลิตไอศกรีมทั่วไปด้วย เพื่อครอบคลุมตลาดได้มากขึ้น
แผนการบุกตลาดไอศกรีมในไทย
แม้ว่าจะสามารถผลิตไอศกรีม TCBY ได้เองในเมืองไทยแล้ว แต่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่ก็ยังคงนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งหมด
ยกเว้นส่วนผสมพื้น ๆ เช่น น้ำ น้ำตาล เป็นต้น สาเหตุนี้จึงทำให้บริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอัตราการแลกเปลี่ยนเงินบาทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประกอบกับตัวเลขเงินลงทุนที่ใช้ในการก่อสร้างโรงงานก็เป็นตัวเลขที่สูงมากคือ
1,000 ล้านบาท หนทางที่จะช่วยได้ก็คือการประหยัดด้วยการหาวัตถุดิบที่สามารถทดแทนกันได้
และยังคงได้รับการยอมรับจากอเมริกาอยู่
"ส่วนผสมบางตัวที่มีอยู่ในประเทศ หากนำมาใช้แทนได้เราก็นำมาใช้ แต่ต้องมีการทดลองและทดสอบว่าจะไม่เพี้ยนไปจากต้นตำรับเดิม
ซึ่งเป็นสูตรลับเฉพาะของ TCBY" จารุนันท์ชี้แจง
และอีกทางหนึ่งก็คือ เดินเครื่องเต็มกำลังในการบุกตลาดไอศกรีมไทยด้วยการจำหน่ายโดยตรง
และการจำหน่ายผ่านตัวแทนการจำหน่าย รวมทั้งมีการขยายสาขาผ่านระบบ SUB-FRANCHISE
ซึ่งในขณะนี้ทางบริษัทฯได้มีการเปิดขาย FRANCHISE ในรูปแบบของคีออส (TC'S
BEST KIOSK) หรือตู้จำหน่ายพร้อมซุ้มซึ่งผู้ที่เป็น SUB-FRANCHISE สามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมาจำหน่ายได้ทั้ง
TCBY, Y-BEST ไอศกรีมโยเกิร์ตชนิดแท่ง, ไอศกรีมตัก I-BEST และ SOFT SERVE
ชนิดบีบเป็นเกลียวใส่กรวยกรอบ
ไอศกรีมโยเกิร์ตทุกตัวจะเน้นตลาดผู้บริโภคที่มีความใส่ใจในเรื่องของโภชนาการ
ต้องได้ประโยชน์และที่สำคัญคือไม่มีไขมันสะสมด้วย โดย Y-BEST จะจับกลุ่มลูกค้าที่มีรสนิยมสูง
สไตล์ยุโรป โดยจะเป็นสินค้าที่มีส่วนผสมเกรดสูงเป็นพิเศษ เน้น LOW FAT และ
LOW CALORIES
ส่วน TCBY ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นและวัยทำงาน รวมทั้งครอบครัวด้วย โดยประเภทของสินค้าแบ่งเป็น
3 ประเภทคือ แบบ REGULAR แบบ NON FAT และแบบ SUGAR FREE
สำหรับ I-BEST จะมีรสชาติหวานมันและราคาอยู่ในระดับเดียวกับไอศกรีมที่มีวางจำหน่ายในตู้ทั่วไป
เพื่อจับกลุ่มลูกค้าวัยสดใสที่ไม่กังวลในเรื่องของความอ้วน
โดยการลงทุนดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขที่ยุ่งยากและซับซ้อน เพียงที่ผู้สนใจมีทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมขนาดประมาณ
4-8 ตารางเมตรและเงินทุนขั้นต้นจำนวน 150,000 บาท เท่านั้นก็สามารถเป็นเจ้าของกิจการเล็ก
ๆ ที่ตัวเองฝันไว้ได้
นอกจากนี้ทางบริษัทฯ ยังเปิดกว้างในเรื่องของการบริหารร้านโดยทางเจ้าของร้านสามารถกำหนดทิศทางในการบริหารร้านและการขายได้ตามความพอใจ
ทั้งนี้ บริษัทฯ จะมีการจัดรายการส่งเสริมการขายให้ด้วยเป็นระยะ ๆ และที่แน่นอนคือ
ผู้ที่เข้าร่วมธุรกิจกับทางบริษัทฯ จะได้รับการช่วยเหลือจากทางบริษัทฯ ในทุกด้าน
ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการอบรม ส่งพนักงานไปดูแล การให้ความสะดวกในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ
นับได้ว่าเป็นการผนึกกำลังทางธุรกิจครั้งสำคัญระหว่างผลิตภัณฑ์ TCBY และผลิตภัณฑ์
TC'S BEST ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของจารุนันท์
ทำไมต้องเป็น "TCBY" ไอศกรีมโยเกิร์ตรายแรกในไทย
"เนื่องจาก TCBY มีจุดแตกต่างจากไอศกรีมทั่วไป ณ ขณะนั้น ซึ่งตอนนั้นเรามองตลาดว่า
สินค้าที่มีอยู่ในเมืองไทยไม่มีตัวไหนที่เป็นสินค้าไขมันต่ำหรือแคลอรีต่ำเลย
ในขณะที่เราสำรวจตลาดแล้วพบว่า ยังมีกลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการในสินค้าชนิดนี้อยู่
เช่น คนที่กลัวอ้วน คนที่เป็นโรงเบาหวาน คนที่เอาใจใส่ในอาหารการกิน ระมัดระวังสุขภาพ
รวมทั้งผู้ที่ไม่ชอบโยเกิร์ต เพราะทนไม่ได้กับรสชาติและกลิ่น ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันมีประโยชน์
และพวกที่ไม่ชอบทานของหวาน ซึ่งพอเราเอา TCBY เข้ามาก็สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดทั้ง
3 กลุ่มนี้ได้" จารุนันท์กล่าวถึงที่มาของ TCBY ในเมืองไทย และเล่าถึงความสำเร็จที่ทำให้ได้เป็นตัวแทนจำหน่าย
TCBY ในประเทศไทยด้วยว่า
เธอเริ่มรู้จัก TCBY จากเพื่อนชาวอเมริกัน โดยเพื่อนของเธอได้เล่าว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขาเดินทางไปไต้หวัน
และเกิดอาการท้องเสีย ไม่สามารถทานอะไรได้ ก็ได้ไอศกรีมโยเกิร์ต TCBY ช่วยไว้
คือ เขาทานเข้าไปแล้วรู้สึกว่าหลับสบาย และการถ่ายก็ปกติด้วย เธอก็เลยสนใจในสินค้าตัวนี้
และได้ส่งจดหมายไปที่อเมริกาว่าเธอสนใจที่จะนำสินค้าตัวนี้มาจำหน่ายในประเทศไทย
ทางอเมริกาก็ส่งใบสมัคร และรายละเอียดมาให้ เธอก็ส่งเอกสารติดต่อกับทางอเมริกาเวลาเกือบปี
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 8 ปีที่แล้วปัจจุบันเธอได้เป็นผู้ที่ได้รับลิขสิทธิ์ให้จำหน่าย
TCBY ในประเทศไทยโดยมีสาขาเพิ่มขึ้นกว่า 30 สาขาแล้ว
นอกจากนั้น เธอยังเล่าถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้ได้รับเลือกให้เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์
TCBY จากอเมริกาว่า "ตอนแรกเราไม่รู้หรอกว่าทำไมเขาถึงเลือกเรา เขามาบอกให้รู้ตอนหลังว่า
ที่เขาเลือกเราเพราะเราเตรียมตัวทำการบ้านมาดี รู้ข้อมูลทางการตลาดว่าสินค้านี้จะเป็นอย่างไรในตลาดเมืองไทย
ซึ่งข้อมูลนี้เราใช้เวลาศึกษารวบรวมเป็นปี อาศัยเวลาในช่วงที่เรียน MIM หรือ
MINI MASTER MARKETTING ที่ธรรมศาสตร์ช่วยได้เยอะ"
สำหรับเงินลงทุนเริ่มต้นที่เธอใช้ไปทั้งหมดคิดเป็นเงินประมาณ 50 ล้านบาท
ซึ่งรวมค่าลิขสิทธิ์ FRANCHISE และค่าก่อตั้งร้านด้วย
จากเงินเริ่มต้นที่ 50 ล้านบาท ภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี เธอได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจของเธอกว่า
1,000 ล้านบาท นับเป็นความสำเร็จที่เกินความตั้งใจเริ่มแรกไปมาก และความฝันของเธอไม่ได้หยุดเพียงแค่ที่กล่าวมาทั้งหมด
หากเธอยังฝันที่จะเป็นบริษัทของเธอกลายเป็นบริษัทมหาชนที่มีมืออาชีพเป็นผู้บริหาร
และเธอก็คือหนึ่งในผู้ถือหุ้นเท่านั้น
"ถ้าเป็นไปได้ภายในเวลา 3-5 ปีนี้ เราอยากให้ธุรกิจไอศกรีมของเราเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
และก็วางมือปล่อยให้มืออาชีพเข้ามาบริหาร เพื่อให้หลุดจากการเป็นธุรกิจครอบครัวและเป็นระบบมากขึ้น"