"ปีศาจแดง ไฟเขียว สตาร์ ซอคเก้อร์"

โดย ยังดี วจีจันทร์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

สมลักษณ์ โหลทอง ผู้บริหารเครือข่ายร้าน "สตาร์ ซอคเก้อร์" รับตำแหน่ง Woman of The Match อย่างเต็มภาคภูมิเมื่อธุรกิจนี้คือ Cash Cow ของสยามสปอร์ต สมลักษณ์ยังมีภาพลักษณ์เป็น "แม่บ้านแมนยูฯ" เมื่อ Souvenir ของทีม "ปีศาจแดง" คือ 80% ของสินค้าที่วางจำหน่าย อย่างไรก็ดี สินค้าอิมพอร์ต 100% ล็อตใหม่ใกล้เหินฟ้ามาถึง ในภาวะเงินบาทลอยตัวและภาษีมูลค่าเพิ่มปรับเป็น 10% ความยิ่งยงครั้งใหม่จึงอยู่ที่การประสานมือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สร้างฐานการผลิตในประเทศ และขยายทัพจัดจำหน่ายสู่ต่างจังหวัดเพื่อทำกำไรจากวอลุ่มมาก ๆ เพราะแฟนบอลเริ่มทรัพย์จางจนไร้แรงเชียร์กันแล้ว!

สมลักษณ์ โหลทอง เป็นคนสนทนาพาทีชัดถ้อยชัดคำ แต่ก็แฝงความร่าเริงอยู่เป็นนิจ

บนใบหน้าที่ยังดูอ่อนวัย ไม่มีอะไรสะดุดตาไปมากกว่าการเป็นผู้หญิงเล็ก ๆ ของโลก เชื่อไหมว่าแม้แต่ตัวเธอเองก็ไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่า ชีวิตจะเติบใหญ่และร่ำรวยด้วยความมหัศจรรย์ของฟุตบอล

ด้วยพื้นความรู้ระดับปริญญาตรี ด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เดี๋ยวนี้ชีวิตของสมลักษณ์ล้อมรอบไปด้วยแฟนฟุตบอลน้อยใหญ่ เธอเองก็เป็นแฟนในระดับเหินฟ้าไปชมการแข่งขันของทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด รู้จักลีลาและฝีเท้าของนักเตะแต่ละคนเป็นอย่างดี แค่เห็นหลังไหล่ของ Divid Beckham ซึ่งเป็น The PFA Yong Player Of The Year 1999 เธอก็จำได้แล้ว ทั้งยังจดจำสกอร์ของแมทซ์สำคัญ ๆ ได้อย่างแม่นยำ

ที่สำคัญคือ เธออาจเป็น "สตรีนักธุรกิจกีฬา" เพียงคนเดียวของประเทศนี้ และเอเชียโดยการเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท วรรคสร โปรโมชั่น จำกัด รับผิดชอบบริหารร้านสตาร์ซอคเก้อร์ เครือข่ายค้าปลีกชุดกีฬาและของที่ระลึกซึ่งใหญ่ที่สุดในเอเซีย

ปัจจุบันเครือข่ายสตาร์ซอคเก้อร์มีอยู่ทั้ง 4 มุมเมืองโดยเป็นช็อปหรือร้านขนาดใหญ่ที่ใช้วิธีเช่าและเซ้ง 7 แห่ง เป็นช็อปขนาดเล็ก 11 แห่ง ซึ่งต้องแบ่งเปอร์เซ็นต์การขายให้กับห้างสรรพสินค้า หากนับรวมสาขาในต่างจังหวัด ก็มีทั้งหมด 27 แห่ง

สตาร์ซอคเกอร์ ธุรกิจทวนกระแส

เมื่อ 12 ปีก่อน ร้านสตาร์ซอคเกอร์ แห่งแรกเปิดขึ้นที่พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า มีสภาพค่อนข้างเงียบเหงา สินค้าที่นำมาจำหน่ายใช้วิธีลอกเลียนแบบและ "หิ้ว" มาทางเครื่องบิน ทำยอดขายเพียงวันละประมาณ 7-8 พันบาท แต่เดี๋ยวนี้ สตาร์ซอคเก้อร์ คือตัวแทนจำหน่ายที่ถูกต้องตามกฎหมายลิขสิทธิ์ เฉพาะที่พันธุ์ทิพย์พลาซ่า รายได้วันละประมาณ 7-8 หมื่นบาท

หากพิจารณาในแง่การเป็นเครือข่ายร้านค้าปลีกก็จะพบว่า เพียงแค่สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว ซึ่งขายดีที่สุดทำรายได้ในช่วงเสาร์-อาทิตย์ วันละประมาณหนึ่งแสนกว่าบาท ในขณะที่วันธรรมดาจะตกประมาณ 7 หมื่นบาท ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ บอกได้คำเดียวว่า นี่เป็นเงินสดที่เกิดจากผู้จัดการร้านที่มีการศึกษาแค่ระดับมัธยมปลายเท่านั้น

ในเครือข่าย สตาร์ ซอคเก้อร์ ระดับผู้จัดการทั้งหมด ไม่มีใครจบปริญญาตรี หรือเอ็มบีเอ แต่พวกเขากับเจ้านาย เช่นสมลักษณ์ ก็สามารถทำธุรกิจตัวนี้เป็น Cash Cow จึงไม่แปลกที่วรรคสร โปรโมชั่นจำกัด จะเป็นเพียงบริษัทเดียวในเครือสยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด(มหาชน) ที่จ่ายโบนัสสองเดือนให้แก่พนักงาน

เมื่อปีที่แล้ว วรรคสรกำหนดเป้ารายได้ทั้งปีไว้ที่ 80 ล้านบาท ทำยอดขายได้ 65 ล้านบาท ในปีนี้กำหนดไว้ 120 ล้านบาท ผ่านครึ่งปีมาแล้วทำยอดขายได้ประมาณ 57 ล้านบาท

การก้าวไปสู่ยอดขายระดับ 100 ล้าน และการทวนกระแสเศรษฐกิจตกต่ำ ดูจะเป็นเรื่องที่พนักงานสตาร์ ซอคเก้อร์ปฏิเสธไม่ได้

สมลักษณ์กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "ครึ่งปีนี้เรายังเติบโตขึ้นประมาณ 80% ช่วงนี้เรายังไม่กระทบกระเทือนเพราะเราสั่งสินค้าล่วงหน้ามา 3 เดือน แต่ถ้าเป็นล็อตใหม่เราจะกระทบแบบ 100% เพราะเป็นสินค้าอิมพอร์ต 100% การที่ค่าเงินบาทลอยตัวก็ต้องมีปัญหารวมทั้งยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราใหม่อีกด้วย"

แต่เธอก็ตั้งหลักมั่น ทำให้น่าติดตามอยู่ไม่น้อย เมื่อต้องเพิ่มบิลลิ่งในภาวะเช่นนี้


จากแม่บ้าน ก้าวสู่ธุรกิจกีฬา

ในทศวรรษก่อน ใครจะรู้ว่า ปัญหาท้าทายเหล่านี้จะเป็นภารกิจของสมลักษณ์ เพราะเธอเป็นเพียงแม่บ้านของระวิ โหลทอง อดีตหัวหน้าข่าวกีฬาไทยรัฐ ซึ่งสามารถผลักดันธุรกิจสิ่งพิมพ์ด้านกีฬา เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และรั้งตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด(มหาชน)

แม้จะจบบริหารธุรกิจ แต่สมลักษณ์ก็ไม่เคยทำธุรกิจอะไรมาก่อน คนที่เคยทำงานที่สยามสปอร์ต ซึ่งมีสำนักงาน และโรงพิมพ์อยู่ที่ย่านคลองเตย เล่าให้ฟังว่า สมลักษณ์ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ของระวิ เธอมีบทบาททางด้านการค้าปลีกมากกว่า เริ่มแรกก็ค้าขายแบบค่อย ๆ เรียนรู้ ค่อยเป็นค่อยไป

เมื่อธุรกิจขยายตัว ธุรกิจสิ่งพิมพ์ของระวิ และร้านค้าปลีกที่แม่บ้านอย่างสมลักษณ์โดดออกมารับผิดชอบ ก็กลายเป็นเครือข่ายครบวงจรที่ส่งเสริมกันเป็นอย่างดี

ไม่ว่าจะเป็นฟากสิ่งพิมพ์หรือฟากค้าปลีก ในสมัยก่อน หากดูจากสำนักงานย่านคลองเตยที่เป็นตึกแถวเก่าคร่ำคร่า การจะขึ้นไปยังกองบรรณาธิการต้องฝ่าพนักงานจำพวก ช่างพับ ช่างเรียง เช่นเดียวกับที่พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ร้านค้าปลีกก็ออกจะเงียบเหงา ทั้งระวิและสมลักษณ์ต้องทำงานแทบทุกอย่าง

นี่ก็แสดงว่า ทั้งสองยึดถือคติ คนจนที่ใช้เงินอย่างคนจนนั้นมีโอกาสรวย ส่วนคนรวยที่ใช้เงินอย่างคนรวยนั้นมีโอกาสจน

สมัยนั้นระวิยินดีพิจารณาโปรเจ็กต์นิตยสารกีฬาและบันเทิง ที่น้องๆ ในวงการเสนอให้เขาเป็นนายทุน เขาจะให้เวลา 6 เดือนในการพิสูจน์ฝีมือของกองบรรณาธิการว่า มีแนวโน้มในการทำยอดขายได้ดีหรือไม่? ถ้าพิจารณาว่าไปไม่รอดก็จำเป็นต้องยุติ

ระวิมิได้เป็นเพียงราชาขายหนังสือ "เอายอด" เท่านั้นเขายังทำนิตยสารผู้หญิงที่มีรูปเล่มงดงามหลายเล่ม เช่น เปรียว และ FACE แม้กระทั่งหนังสือธุรกิจ เขาก็เคยผลักดันมาแล้ว เช่น ทิศทางธุรกิจ

หลายชีวิตในสื่อเล่มนี้ยังพอจำกันได้ถึงชีวิตหนังสือพิมพ์ ที่ทั้งตึกมี "คลูเลอร์" ใส่น้ำไม่กี่ใบให้กินดับกระหายในขณะที่ระวิจะเดินโอภาปราศรัยกับพนักงานอย่างเป็นกันเอง

ในอีกด้านหนึ่ง ระวิ "ขอแรง" สมลักษณ์ให้ช่วยบริหารร้าน สตาร์ ซอคเกอร์ ที่พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า เนื่องจากเมื่อแรกตั้งจริง ๆ รายได้จะตกแค่วันละ 2-3 พันบาทเท่านั้น ผู้ดูแลก็ดูเหมือนไม่ทุ่มเทจริงจัง และเต็มไปด้วยปัญหากระจุกกระจิก

"เออน่า....ไปช่วยดู ๆ หน่อยก็แล้วกัน" เขาบอกภรรยาด้วยลีลาง่าย ๆ ไม่คิดหรอกว่า เธอจะบริหารได้ยอดเยี่ยม เพียงแค่คติของเขาคือ ไม่ไว้ใจคนใกล้ตัวแล้วจะไว้ใจใคร นี่เป็นสไตล์แบบหนึ่งของสยามสปอร์ต

สาขาในต่างจังหวัด ผู้ที่รับสินค้าไปขาย ก็ล้วนแต่เป็นแฟนบอลที่มักคุ้นกันทั้งนั้น

สมลักษณ์ในเวลานั้นไม่เคยสนใจกีฬาฟุตบอลเลยด้วยซ้ำ

ด่านแรกที่เธอเผชิญคือ ผู้จัดการร้านและพนักงานบางคนเกรงว่าเธอจะเข้ามาตรวจสอบการทำงาน จึงพากันลาออก ด่านที่ 2 คือมิตรรักแฟนบอลน้อยใหญ่ ต่างก็อยากจะลองภูมิเกี่ยวกับความรอบรู้ในเรื่องฟุตบอลของหญิงสาวคนนี้แต่เมื่อรักที่จะทำแล้ว และยิ่งเห็นว่าเป็นธุรกิจครอบครัวแม่บ้านอย่างสมลักษณ์จึงไม่เคยมีคำว่า "ถอย"

ถือเป็นหญิงไทยในแบบ "มือก็ไกว" ดาบก็แกว่ง" อยู่เหมือนกัน

สมลักษณ์ปัดฝุ่นสตาร์ซอคเก้อร์เล่มเก่า ๆ มาอ่านอย่างเอาเป็นเอาตาย ติดตามชมการแข่งขันฟุตบอลแทบทุกนัด ข้อนี้เธอออกจะได้เปรียบ เนื่องจากสตาร์ซอคเก้อร์ เป็นศูนย์ให้เช่าเทปการแข่งขันฟุตบอลอังกฤษที่แฟน ๆ ติดกันงอมแงม เธอจึงมีโอกาสชมการดวลแข่งได้มากกว่าใคร ทั้งยังเป็นคนลงมือตัดต่อเทปเองด้วย อีกทั้งการเข้ากับคนได้ง่าย ก็ทำให้เธอมีสภาพกลมกลืนกับลูกค้า เมื่อตั้งวงคุยถึงเรื่องเกมฟาดแข้ง

ข้อมูลบางด้านที่ยังไม่รู้แจ้งแทงตลอด เธอก็สามารถสอบถามจากระวิและ ย.โย่ง เอกชัย นพจินดา ซึ่งเดี๋ยวนี้ชีวิตของเขากลายเป็นตำนานบทหนึ่งไปแล้ว

ต่อมาสมลักษณ์กลายเป็นแฟนฟุตบอลเต็มตัว บ่อยครั้งที่เธอบินไปอังกฤษเพื่อชมการแข่งขัน พรีเมียร์ ชิพ ทั้งยังศึกษารูปแบบร้านค้าปลีกของสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด หรือ "แมนยู"

"ต้องอินกับฟุตบอลจริง ๆ ต้องบินไปดู ถึงจะรู้ว่าบรรยากาศเป็นอย่างไร ลูกค้าจะเยอะมาก โดยเฉพาะเด็ก ๆ เขาจะถามเรื่องฟุตบอล เราทำธุรกิจอย่างนี้ก็จะต้องตอบให้ได้ เมื่อคลุกคลีกับลูกค้าทุกวัน ก็จะรู้ว่า ลูกค้าต้องการอะไร เราก็จัดหามาขาย"

นี่เป็นการศึกษาธุรกิจจากการลงมือทำ ลงมือปฏิบัติและรับฟังจากลูกค้า ที่สำคัญคือมีใจรักในกีฬาอย่างแท้จริง


ขยายตัว เพราะกีฬาบูม

ช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1990 เป็นผลดีอย่างมาก มียอดขายเพิ่มขึ้นและขยับตัวขยายสาขาไปที่เดอะมอลล์ รามคำแหง เป็นแห่งแรก ในรูปลักษณ์ช้อปขนาดเล็ก ทำยอดขายได้ดีมาก

นี่จึงเป็นเสมือนฤกษ์ดีและการปูทางให้สตาร์ซอคเก้อร์ เลี้ยงลูกหลบหลีกลัดเลาะไต่เส้น เข้าทำประตูชัยด้านการจำหน่าย โดยมีเดอะมอลล์เป็นผู้เล่นที่รู้ใจและเข้าขาขยายตัวไปด้วยกันทุกหนทุกแห่ง

ฟากสิ่งพิมพ์และฟากค้าปลีกพบปัญหาเหมือนกันคือ บุคลากรทางด้านกีฬาที่เชี่ยวชาญจริง ๆ หาได้ยากมาก ระดับผู้จัดการร้านบางส่วนของสมลักษณ์ จึงมาจาก "ช่างพับ" ของโรงพิมพ์สยามสปอร์ต

ก้าวแรกที่ย่างเข้าสู่ร้าน สตาร์ ซอคเกอร์ พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่า การบริหารธุรกิจคืออะไร? การตกแต่งร้านควรจะเป็นแบบไหน? อาศัยค่อยทำค่อยเรียนรู้ประกอบกับมีใจรักเป็นทุนเดิม ยามว่างสมัยตอนเป็นช่างพับ ก็อ่านหนังสือ สยามกีฬา สตาร์ ซอคเก้อร์

จากครั้งหนึ่งที่เคยมีเนื้อตัวมอมแมม พวกเขากลายเป็นผู้จัดการร้านที่ทำยอดขายสูง เก่งกาจในเรื่องโปรโมชั่นเชี่ยวชาญทำธุรกิจอย่างเต็มตัว มีบ้าน มีรถ ไม่น้อยหน้าใคร แต่อาการติดดินก็ไม่ได้หายไปไหน


บริหารแบบติดดิน

สมลักษณ์เคยจ้างระดับปริญญาตรีมาบริหารร้านเหมือนกัน แต่ทว่าอยู่เพียงสองสามเดือนก็ถอดใจลาออก จึงมีบทเรียนอุดมทีเดียวในการคัดเลือกและส่งเสริมพนักงาน ประการแรกสุดคือ 1) ต้องรักฟุตบอล 2) ขยัน 3 )อดทน 4) มีไอเดีย และ 5) ไม่คิดว่าการยืนขายของเป็นเรื่องต่ำต้อย หากมีคุณสมบัติเหล่านี้ก็มีสิทธิ์เป็นผู้จัดการร้านได้ เนื่องจากแทบไม่มีการจ้างคนนอก การโปรโมตบุคลากรจะเลือกไปจากพนักงานระดับล่างที่อยู่กันมานาน

แน่นอนสมลักษณ์เป็นผู้ให้ความสำคัญกับการศึกษาแต่ประสบการณ์ก็ทำให้ไม่ลังเลนักที่จะกล่าวว่า "ถ้าจ้างคนที่จบเอ็มบีเอหรือปริญญาตรีมาทำงานหน้าร้าน สามเดือนเขาก็เผ่นแล้ว เพราะเขาไม่อดทน เขาจะถือว่างานค้าขายเป็นงานที่ต่ำต้อยมากเลย อยากทำงานแบงก์ ทำไฟแนนซ์ นั่งโต๊ะบริหาร ผู้จัดการทุกแห่ง จบปริญญาตรี เอ็มบีเอ แต่ไม่คลุกคลีกับลูกค้า ก็ต้องล้มเหลว"

เมื่อทีมงานเข้มแข็ง เกิดการบูมของกีฬาฟุตบอล ทางโทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ ก็เท่ากับเป็นเครือข่ายที่คอยกระตุ้นตลาด เป็นผลดีกับสตาร์ ซอคเก้อร์เป็นเงาตามตัวจากธุรกิจในแบบหิ้วมาขายและลอกเลียนแบบ ให้ร้านยังดูว่าง ๆ โหรงเหรง ก็มาถึงช่วงเวลาสำคัญคือ การขายที่อาศัยเช่าลิขสิทธิ์ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย


แมนยูช่วยปูทางธุรกิจ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ ซีคอน สแควร์ อันเป็นรากฐานที่มั่นอีกแห่งหนึ่งของพลพรรคสตาร์ ซอคเก้อร์ ผู้บริหารจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คนหนึ่งเดินทางมาทำธุรกิจในเมืองไทย ได้ไปเที่ยวศูนย์การค้าแห่งนี้ เมื่อเดินเข้าไปในร้านของสมลักษณ์ก็เห็นสินค้าที่พะยี่ห้อแมนยูเต็มไปหมด

พึงเข้าใจว่า ร้านค้าในทำนองนี้จะต้องมีสินค้าของแมนยูถึง 80% จึงจะทำมาค้าขึ้น เพราะคนไทยชอบแมนยูมาตั้งแต่สองทศวรรษที่แล้ว ซึ่งเป็นยุคของเทพบุตรผมยาวเช่น ยอร์จ เบสต์ แค่เห็นเดวิด เบ็คแคม สาวไทยก็วูบไปทั้งตัวแล้ว หากเห็นยอร์จ เบสต์ ซึ่งหล่อกว่าสองเท่าและดูเป็นอาร์ติสต์ลูกหนังมากกว่า หัวใจจะโบยบินไปไกลสักแค่ไหน?

"ไม่มีลิขสิทธิ์นี่หว่า" ผู้บริหารแมนยูถึงกับตบอกผาก แต่เขาก็อดปลื้มใจไม่ได้ที่สินค้าแมนยูขายดีในเมืองไทย และแปลกใจที่คนไทยสามารถทำธุรกิจในทำนองนี้อย่างเป็นล่ำเป็นสันไม่แพ้ในอังกฤษ จึงบอกพนักงานภายในร้านให้ติดต่อผู้บริหารให้ด้วย

ในเคราะห์ร้ายที่มีเคราะห์ดีซ่อนอยู่

ยามนั้น เรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ยังไม่เข้มงวดนักในเมืองไทย แต่เมื่อแมนยูแสดงอาการทักท้วงระคนชื่นชม สยามสปอร์ต จึง "ฉวยโอกาสโต" โดยเสนอแผนการขยับร้านค้าปลีกอย่างเป็นขั้นตอนให้พิจารณา เพื่อความสมเหตุสมผลในการขอเช่าลิขสิทธิ์ทางแมนยูก็เห็นด้วย เนื่องจากสยามสปอร์ตมีความพร้อมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร และการมีสื่อต่าง ๆ อยู่ในมือ

"ผู้จัดการรายเดือน" ได้สอบถามสมลักษณ์ถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้รับคำชี้แจงว่า "ที่จริงทางเรา พยายามติดต่อเขามาตลอด แต่เขาก็มักจะตอบว่า แมนยูยังไม่พร้อมสำหรับเอเชีย"

บริษัทที่ทำหน้าที่ดูแลลิขสิทธิ์ก็คือบริษัทแม่ สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)

อาจกล่าวได้ว่า เกมรุกของสตาร์ ซอคเก้อร์ คือการอาศัยช้อปขนาดเล็ก ไปสู่การเป็นร้านขนาดใหญ่ จากการเริ่มต้นในปี 2528 สู่การขยายตัวในปี 2533 และทำรายได้อย่างมากในช่วงปี 2538-2540 ด้านการขยายสาขาในกรุงเทพฯ จะเปิดที่เซ็นทรัล พระราม 3 อีกแห่งหนึ่ง จากนั้นก็จะหยุดสักระยะหนึ่ง ประเมินสถานการณ์ให้ถ่องแท้ก่อนรุกรบต่อไป

ในต่างจังหวัด ยังมีการขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้งเพราะสยามสปอร์ต มิได้ลงทุนทำร้านเอง แต่เป็นลักษณะคนรักกีฬาที่คุ้นเคยกัน ขอสินค้าไปขาย

การได้ถือลิขสิทธิ์แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เปิดโอกาสให้ สตาร์ซ ซอคเก้อร์เก็บเกี่ยวดอกไม้ไปตามทางโดยแท้ ปัจจุบันกีฬาฟุตบอลคือ "อุตสาหกรรมปลอดความเครียด" ในแง่การซื้อขายตัวนักกีฬาก็ถือเป็นวงเงินมหาศาลต่อมาก็เกิดธุรกิจต่อเนื่องในลักษณะร้านเสื้อผ้า สิ่งพิมพ์และของที่ระลึก

ค้าปลีกฟุตบอล ธุรกิจมหาศาล

สโมสรฟุตบอลใหญ่ในอังกฤษ ก็คือธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดนั้นมีห้างขนาดใหญ่ขายสินค้าตั้งแต่ ผ้ากันเปื้อน ผ้าอ้อมเด็ก ผ้าพันคอ สบู่ ยาสีฟัน เสื้อยืดทีเชิ๊ต เสื่อใส่แข่งขัน (ชุดที่ใส่ลงสนาม) นาฬิกา หนังสือ โปสเตอร์ เครื่องเขียน

สิ่งของตั้งแต่หัวจรดเท้า และจากฝาห้องด้านหนึ่งไปสู่อีกด้านหนึ่ง มิหนำซ้ำ อาจเปิดหน้าต่างออกไปสู่สนามหญ้า สามารถเป็นสินค้าได้หมด เพียงแค่ประทับตรา "แมนยู"

นี่จึงเป็นขุมทรัพย์ของสตาร์ ซอคเก้อร์ โดยแท้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า สินค้าที่ระลึกเหล่านี้มีราคาแพง ยกเว้นของลอกเลียนแบบละแวกมาบุญครอง

"ตอนเราบินไปดูสินค้าในร้านแมนยู ที่อังกฤษ ยังสงสัยว่า สั่งเข้ามาแล้วจะขายได้ไหม ลองสั่งเข้ามาขายเป็นล็อตแรก ขายดีมากเลย" สมลักษณ์กล่าว

เสื้อใส่แข่งของแมนยูจะมีราคาตัวละ 2,500 บาท แม้แต่หมวกก็ราคาถึง 750 บาทปัจจุบันสตาร์ ซอคเก้อร์นำเข้าสินค้าจากแมนยูปีละ 5 แสนปอนด์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 20 ล้านบาท สาเหตุที่ทำให้สินค้าแพงมากก็คือภาษีนำเข้า เช่นหมวก ผ้าพันคอ และเสื้อ เสียภาษี 65% สินค้าอื่นๆ เสียภาษีโดยเฉลี่ย 40%

สตาร์ ซอคเก้อร์ ยังจำหน่ายสินค้าเชลซี ลิเวอร์พูล อาร์เซนนอล และสโมสรอื่นๆ อีกด้วย

สินค้าแพงทำให้การขยายตลาดมีขีดจำกัด ยิ่งเมื่อเผชิญกับภาวะเงินบาทลอยตัวและการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% ก็ยิ่งทำให้แพงขึ้นอีกมาก และเข้าข่ายสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งใคร ๆ ไม่อยากติติงนัก (เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกีฬา) จึงเป็นเรื่องที่สตาร์ ซอคเก้อร์ต้องจับเข่าคุยกับแมนยูเพื่อหาทางแก้เกม

แม้พฤติกรรมของแฟนกีฬานับวันจะเหนียวแน่นกับสตาร์ ซอคเก้อร์มากขึ้นเรื่อย ๆ สังเกตได้จากสาขาที่ดิสคัพเวอรี่พ่อแม่ลูกพากันซื้อของที่ระลึกกันเป็นครอบครัว แต่พวกเขาเริ่มเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ไร้ความมั่นคงในการงาน สตาร์ ซอคเก้อร์จึงไม่อาจตั้งอยู่ในความประมาทเพราะ "สยามเมืองยิ้ม" กลายเป็น "สยามเมืองยอบแยบ" ไปเสียแล้ว

ในยามนี้ จะมีก็เพียง IMF เท่านั้น มีสิทธิ์เป็น Man Of The Match
สร้างฐานการผลิต ขยายทัพครั้งใหญ่

เมื่อสินค้าล็อตใหม่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ราคาก็จะต้องเพิ่มขึ้น จะปล่อยให้เรื่องเช่นนี้ดำรงอยู่ยาวนานไม่ได้ เพราะคนไม่มีกำลังซื้อ ดังนั้นยุทธศาสตร์ใหม่จึงต้องอาศัยการขายในราคาต่ำ ทำกำไรจากวอลุ่มมาก ๆ คอนเซ็ปต์นี้นำไปสู่การผลิตเองแทนการนำเข้า และขยายเครือข่ายการจำหน่าย โดยเปิดแฟรนไชส์ขึ้นในต่างจังหวัด

การผลิตเองอาศัยการจ้างให้ซัปพลายเออร์โดยสยามสปอร์ต เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ ตามสัญญาที่ตกลงไว้กับสโมสรซึ่งจะระบุว่าให้ผลิตสินค้าชนิดใด

เมื่อผลิตเอง ก็ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ประหยัดค่าขนส่งทางเครื่องบินเสียแต่ค่าลิขสิทธิ์ทำให้ต้นทุนลดลงมากทีเชิ้ตตัวหนึ่ง (ไม่ใช่เสื้อใส่แข่งของแมนยู) จะมีราคาลดลงถึง 50% สอดคล้องกับกำลังซื้อที่ต่ำลง ประสานกับการเปิดแฟรนไชส์ในต่างจังหวัด ก็จะสามารถทำให้ขายได้ในวอลุ่มมาก ๆ

ผลดีคือแมนยูได้ค่าลิขสิทธิ์มากขึ้น ในขณะที่สตาร์ ซอคเก้อร์สามารถลดต้นทุน แต่กลับขยายตัว โดยเฉพาะในต่างจังหวัดแล้ว สินค้าของสตาร์ ซอคเก้อร์ยังไปไม่ถึงมากนัก ทั้งที่เป็นตลาดใหญ่ การที่สินค้ายอดนิยมมีขายในราคาต่ำลง 50% จึงน่าจะเป็นที่ยอมรับกันได้ของแฟนกีฬาต่างจังหวัด

การเปิดแฟรนไชส์ ก็มีข้อดีคือ เป็นทั้งการโปรโมตและการขยายช่องทางการจำหน่ายที่สยามสปอร์ต ไม่ต้องลงทุนเอง อย่างดีก็ขายโนว์ฮาวและรับเงินค่าธรรมเนียมเป็นก้อนในระยะแรก และเป็นงวดในระยะหลัง

ปัญหาที่น่ากังวลคือ โดยทั่วไปแล้วแฟนลูกหนังจะนิยมสินค้าอิมพอร์ตโดยตรงจากสโมสรฟุตบอล แม้พวกเขาบางคนจะรู้ดีว่ามีเพียงเสื้อใส่แข่งของแมนยูเท่านั้นที่ผลิตในอังกฤษส่วนสินค้าอย่างอื่นนั้นผลิตในจีนซึ่งมีค่าแรงถูก ส่งเข้าฮ่องกง ก่อนที่จะส่งเข้าเมืองไทย ทำให้เสียภาษีสูงแต่ก็ขอให้พวกเขาได้เป็นเจ้าของเถิด แค่นี้ก็ภูมิใจยิ่งแล้ว เป็นเช่นนี้กันจริง ๆ

อย่างไรก็ตามสตาร์ซอคเก้อร์เคยทดลองวางจำหน่ายสินค้าแมนยูที่ผลิตในไทย ที่สนามกีฬาศุภชลาศัย ในวันที่ทีมชาติไทยดวลแข้งกับแมนยูผลลัพธ์คือ ขายดีพอสมควร

"เราติดต่อกับทางแมนยูเขามาร่วมปรึกษาด้วย เราบอกเขาว่าเวลานี้เงินบาทลอยตัวหากเราอิมพอร์ตเข้ามาก็คงเอาสินค้าเข้ามาก ๆ ไม่ไหว จึงขอให้เราผลิตเอง เขาก็ตกลงในเอเชียเขาอนุญาตให้เราประเทศเดียวเท่านั้น ให้เราผลิตได้เป็นบางชิ้น ต่อไปจึงอาจเป็นไปได้ว่า เราจะเป็นฐานการผลิตของแมนยู แล้วส่งสินค้าไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน" สมลักษณ์กล่าว

กลยุทธ์ใหม่จึงออกจะดูเป็นการทวนกระแส ในยามบริษัทต่าง ๆ จำนวนมากต่างพยายามรักษาเนื้อรักษาตัวโดยไม่ขยายฐานการผลิต เลิกจ้างพนักงาน สยามสปอร์ตกลับมีความมีความจำเป็นในการส่งเสริมแฟรนไชส์ สนับสนุนคนให้ทำธุรกิจ กลยุทธ์ใหม่ยังเป็นการใช้สื่อในมือให้คุ้มค่า เพราะที่แล้วมาแม้จะมีสื่อครบวงจร ทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุ ตลอดจนมีรายการทางโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ แต่ช่องทางจำหน่ายของสตาร์ ซอคเก้อร์ กลับยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร จึงยังไม่เกิดศักยภาพอย่างเต็มที่ในการใช้สื่อโปรโมตร่วมกัน

ทุกวันนี้ สมลักษณ์ยังออกตรวจสาขาทุกแห่งอยู่ตลอดเวลามิได้นั่งทำงานอยู่ที่สำนักงานใหญ่เท่านั้น เธอรู้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองอาจผันแปรไปได้ทุกขณะ แต่ก็ยังน่ายินดีที่โดยทั่วไปแล้ว แฟนกีฬายังให้ความสนใจในสตาร์ ซอคเก้อร์อย่างคับคั่ง สังเกตได้จากการจัดโปรโมชั่นหาสมาชิกร้าน คือเสียค่าสมาชิก 350 บาท ซื้อสินค้าได้ในมูลค่า 400 บาท การซื้อครั้งต่อไปจะได้ลด 10% ปรากฏว่ามีคนสมัครเป็นสมาชิกกันมากมาย แม้จะปิดรับสมาชิกไปแล้ว ก็มาขอเป็นสมาชิกกันเนืองแน่น

สตาร์ ซอคเก้อร์ ยังเป็นร้านที่มีธุรกิจให้เช่าวิดีโอ เทปกีฬา ผู้เข้าเป็นสมาชิกจะต้องจ่ายเงิน 400 บาท เพื่อการเป็นสมาชิกตลอดชีพ จากนั้นจึงสามารถเช่าเทปได้ในราคาม้วนละ 30 บาท
ยังคงมีเทพีแห่งโชค

จากพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า เมื่อทศวรรษที่แล้ว สมลักษณ์ผ่านยุคที่สังเวียนแห่งนี้มีสถานะเป็นดีพาร์เมนต์สโตร์ ศูนย์จำหน่ายเพระเครื่อง ศูนย์จำหน่ายคอมพิวเตอร์ สตาร์ซอคเก้อร์ประคับประคองตัวมาได้ตลอดจนขยายไปสู่เดอะมอลล์ ซีคอนสแควร์ เซ็นทรัลลาดพร้าว เซ็นทรัลปิ่นเกล้า

ที่เซ็นทรัลปิ่นเกล้าขาดทุนอย่างชนิดยับเยินในปีแรก แต่ดูเหมือนเทพีแห่งโชคจะยังคงยืนอยู่ข้างแม่บ้านคนนี้

วิเคราะห์ดูจะพบว่า สะพานพุทธ สำเพ็ง เยาวราช เป็นถิ่นเถ้าแก่ที่เต็มไปด้วยท่วงทำนองล้งเล้ง พวกเขาสามารถมองข้ามเจ้าพระยาไปถึงฝั่งธนบุรี เม็ดเงินจากการทำธุรกิจส่งออก นำเข้า ค้าส่ง ขายทอง ขายผ้า ทำให้พวกเขาสามารถซื้อที่ดิน ตึกแถว ย่านฝั่งธน ครอบครองไว้เป็นจำนวนมาก

ย่านปิ่นเกล้าจึงกลายเป็นถิ่นเศรษฐี ที่ขับรถข้ามสะพานเข้ามาทำงานยังกรุงเทพฯ พ้นจากงาน พวกเขาและลูกหลานก็นิยมจับจ่ายแถวปิ่นเกล้า ย่านนี้ยังเป็นแหล่งรองรับคนจากต่างจังหวัด นี่จึงเป็นเหตุให้สตาร์ ซอคเก้อร์สาขาปิ่นเกล้าเริ่มทำกำไรงดงาม

ยุทธศาสตร์ของสยามสปอร์ต ยังไม่เคยผิดพลาดเป็นไปได้ไหมที่สมลักษณ์ โหลทอง จะได้มีโอกาสไปเยือนแฟรนไชส์ต่างจังหวัด และแวะเวียนตรวจสอบตลาดของสยามสปอร์ตในประเทศเพื่อนบ้าน

"พี่ระวิมีความกังวลเหมือนกันกับสภาพเศรษฐกิจในขณะนี้" สมลักษณ์บอกเล่ากับ "ผู้จัดการรายเดือน" ตรงไปตรงมา ใบหน้าของเธอแจ่มใส สะอาด และดูสบายใจ เกินคาดหมาย

นี่อาจเป็นพื้นฐานความสำเร็จประการหนึ่งของพลพรรค สตาร์ ซอคเก้อร์ซึ่งยังคงต้องการเพื่อนร่วมงานมากกว่าเลิกจ้าง และต้องการช่วยแฟนฟุตบอลให้มีโอกาสเป็นเจ้าของธุรกิจ ในยามที่ใครๆ ก็สิ้นหวังกันเสียแล้ว!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.