FTAกระทบตลาดทุน-บลจ.หวั่นดับเบิลสแตนดาร์ด


ผู้จัดการรายวัน(20 กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"รพี สุจริตกุล" แนะการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ ภาคบริการและการเงิน ควรพิจารณาธนาคารเป็นหลัก เนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญของภาคการเงิน พร้อมแนะรัฐช่วยปรับโครงสร้างตลาดทุนเร่งเพิ่มนักลงทุนสถาบัน ระบุโบรกเกอร์ขนาดเล็กจำเป็นต้องควบรวมกิจการเพิ่มขนาดธุรกิจ ขณะที่"โชติกา"หวั่นตั้งกองทุนโดยไม่ต้องมีสาขาในประเทศ ทำให้มาตรฐานการตรวจสอบต่างกัน และส่งผลกระทบบริษัทในประเทศ ด้านนายกสมาคมบล.ห่วงจำนวนสินค้าใหม่นักลงทุนไม่เข้าใจ-ไม่มีประสบการณ์

นายรพี สุจริตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย กล่าวว่า การเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา ในภาคบริการ และภาคการเงินกับสหรัฐฯ การเจรจาควรจะมีการพิจารณาจากเรื่องที่ เป็นหัวใจสำคัญ โดยในส่วนของภาคการเงินนั้น ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ เนื่องจากปัจจุบัน ธนาคารดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร (Univesal Banking) คือ มีบริษัทลูกประกอบธุรกิจอื่น เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทประกัน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ภาครัฐจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดแผนการดำเนินงาน เพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคต ด้วยการปรับโครงสร้างในภาคเอกชนเพื่อให้มีความพร้อมมากขึ้น เช่น การเร่งสร้างนักลงทุนสถาบันในประเทศให้มากขึ้นโดยควรจะเพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน 2-3 เท่า โดยปัจจุบันเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนสถาบันอยู่ที่ประมาณ 300,000 ล้านบาท จากพอร์ตการลงทุนของสถาบันทั้งหมด 1.25 ล้านล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้เพิ่มเสถียรภาพให้กับตลาดเงินและตลาดทุน

"การเจรจาเปิดเอฟทีเอทั้งในส่วนของแบงก์ บล.และประกันภัย ควรเป็นไปพร้อม ๆ กัน เพราะแบงก์ถือ เป็นหัวใจสำคัญมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน และเตรียมที่จะก้าวสู่ความเป็นธนาคารพาณิชย์ครบวงจร หรือ Universal Banking ในอนาคต"นายรพี กล่าว

นอกจากนี้ สิ่งที่จะช่วยในเรื่องการเพิ่มจำนวนนักลงทุนสถาบัน แนวทางหนึ่งคือ การเร่งการเกิดของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ เพราะจะทำให้มีเม็ดเงินจำนวนมากที่เข้ามาในระบบการลงทุนมากขึ้น นายรพี กล่าวอีกว่า สิ่งที่กังวลเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์ คือ การออกจำนวนใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจแบบไม่จำกัด จะส่งผลกระทบต่อบริษัทขนาดเล็ก และยังส่งผลทำให้บริษัทหลักทรัพย์มีสัดส่วนที่สูงเกินกว่าจำนวนนักลงทุนด้วย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนบัญชีนักลงทุนที่เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์เพียง
300,000 บัญชี ขณะที่เป็นบัญชีที่มีการซื้อขายเป็นประจำเพียง 100,000 บัญชี หรืออาจจะเป็นจำนวนนักลงทุนเพียง 7-8 หมื่นรายเท่านั้น

ทั้งนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง คือ บริษัทหลักทรัพย์ขนาดเล็กจะต้องมีการควบรวมกันเพื่อเพิ่มขนาดธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น และช่วยเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการแข่งขัน ซึ่งหากไม่มีเปลี่ยนแปลงอาจจะส่งผลทำให้บริษัทหลักทรัพย์หลายรายจะต้องปิดกิจการเนื่องจากไม่สามารถแข่งขันได้

"ปัจจุบันจำนวนโบรกเกอร์ต่อจำนวนนักลงทุนก็ถือว่ามากแล้ว ทำให้เกิดการแย่งลูกค้ากันเอง ยิ่งถ้าหากมีจำนวนโบรกเกอร์มากขึ้นการแข่งขันก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย"นายรพี กล่าว

นางโชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด กล่าวว่า รายะเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงในการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา ที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการและการเงิน ยังมีหลายเรื่องที่ยังต้องติดตามเนื่องจากอาจจะส่งผลกระทบบริษัทในประเทศไทย โดยในส่วนของบลจ. ความกังวลในรายละเอียดเรื่องการขอเปิดกองทุนโดยไม่ต้องมีสาขาในประเทศอาจจะส่งผลต่อเรื่องการกำกับดูแลการรายงานข้อมูลที่ต่างกัน

ทั้งนี้ หากระบบการตรวจสอบระหว่างบริษัทในประเทศและบริษัทในต่างประเทศต่างกันจะส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบในการดำเนินงาน เพราะกฎเกณฑ์ที่สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)มีการใช้บังคับและควบคุมของบลจ.ไทยค่อนข้างเข้มงวด ซึ่งถือว่ามีผลต่อการดำเนินธุรกิจแต่หากอนุญาตให้บริษัทในต่างประเทศเข้ามาดำเนินธุรกิจโดยไม่ต้องมีการตั้งสาขาการตรวจสอบดูแลให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์อาจจะทำได้ยาก

นอกจากนี้ ยังจะเกิดผลกระทบในเรื่องการดำเนินธุรกรรมต่างๆ ด้วย เนื่องจากประสบการณ์ในการดำเนินธุรกรรมต่างๆ ของกองทุนต่างประเทศมีมากกว่ากองทุนของไทย ซึ่งสิ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดหากมีการเปิดให้กองทุนจากต่างประเทศเข้ามาดำเนินธุรกรรมในไทยได้ คือ กองทุนประเภทกองทุนรวม เพราะสามารถเลือกลงทุนทั้งในประเทศและนอกประเทศได้ง่ายกว่า

"กองทุนจะได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะต่างชาติมีโอกาสมากกว่า เพราะกองทุนไทยเองแค่จะขอจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในต่างประเทศยังค่อนข้างยุ่งยากมาก ขณะที่ต่างชาติเองเมื่อขายหน่วยลงทุนในไทยแล้วสามารถนำเงินออกไปนอกประเทศได้ง่ายกว่า ซึ่งจะทำให้กองทุนในประเทศเกิดความเสียเปรียบ"นางโชติกากล่าว

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องความกังวลดังกล่าวจะต้องมีการหารือในกลุ่มสมาชิกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เพื่อหารือสรุปของสมาคมและเสนอต่อผู้ที่ดูแลถึงผลกระทบที่ผู้ประกอบการไทยจะได้รับ โดยกลุ่มสมาชิกจะหารือร่วมกันเร็วๆ นี้

นายกัมปนาท โลหะเจริญวนิช กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนิตี้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า สิ่งที่กังวลเกี่ยวกับการเปิดเสรีทางการเงิน คือ เรื่องสินค้าใหม่ที่จะเข้ามาอย่างมาก เนื่องจากผู้ให้บริการและนักลงทุนยังมีความรู้เกี่ยวกับธุรกรรมใหม่ที่มีการใช้ต่างประเทศน้อยมาก ซึ่งในเรื่องดังกล่าวทำให้บริษัทหลักทรัพย์แต่ละแห่งจะต้องเร่งเพิ่มให้ความรู้ให้กับพนักงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถแนะนำการลงทุนได้อย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ สิ่งที่จะต้องพิจารณาคือขนาดและความน่าสนใจของตลาดทุนไทยเป็นอยู่ในระดับที่จะดึงให้บริษัทในต่างประเทศเข้ามาลงทุนหรือไม่ ส่วนเรื่องการออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการต่างประเทศคงไม่ใช่ประเด็นในเชิงลบแต่กลับกลายเป็นเรื่องที่ดีเนื่องจากจะกระตุ้นให้บริษัทในประเทศต้องเร่งสร้างความแข็งแกร่งเพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคต


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.