|
“ทีโอที”ยุติปัญหาฟ้องร้อง-ฉีกทิ้งสัญญาร่วมการงาน
ผู้จัดการรายวัน(20 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ทีโอที หวังตัดไฟแต่ต้นลม เตรียมฉีกทิ้งสัญญาร่วมการงาน ลดปัญหาเอกชนฟ้องร้องยื้อไร้ข้อยุติ หวั่นสร้างปัญหาทำมูลค่าเสียหายบานปลาย ซึ่งจะมีผลต่อมูลค่าทรัพย์สินไม่ลงตัวก่อนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่สนฟ้องกลับ ใช้สิทธิได้ตามสัญญาที่ระบุ แถมบอร์ดไฟเขียว หลังตั้งคณะทำงานพิเศษ ติดตามและตรวจสอบคู่สัญญา ลักไก่บริการนอกเหนือสัญญาโดยไม่ยื่นขอ
แหล่งข่าวด้านกฎหมาย บริษัท ทีโอที กล่าวว่า เพื่อไม่ให้เกิดข้อพิพาทกับคู่สัญญาร่วมการงาน อาทิ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น บริษัท ทีทีแอนด์ที จนต้องมีมูลเหตุถึงกระบวนการยื่นต่อคณะอนุญาโตตุลาการและศาลปกครอง ทีโอที มีแนวทางเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายด้วยการยกเลิกสัญญาร่วมการงาน เนื่องจาก ทีโอที เจ้าของสัญญาร่วมการงานและให้สิทธิผู้ร่วมงานเข้ามาดำเนินการในส่วนที่ทาง ทีโอที ไม่สามารถดำเนินการได้ และเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมการงานมากกว่าที่จะให้เข้ามาแข่งขันหรือให้บริการในส่วนที่ทีโอที ดำเนินการอยู่ ประกอบกับคดีความที่เกิดขึ้น ทางคู่สัญญาจะเรียกร้องสิทธิ ในเรื่องของผลประโยชน์จากบริการ เกินกว่าข้อตกลงที่สัญญาไว้
นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการป้องกันที่ฝ่ายเอกชนคู่สัญญาดำเนินการฟ้องร้องทางคดีต่อศาลปกครอง หากมีผลเป็นผู้แพ้จากการพิจารณาผลของคณะอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้พิจารณาผลต่อให้เกิดจนข้อยุติและมักอ้างเป็นเรื่องของบรรทัดฐานในทางคดีสัญญาร่วมการงาน ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีผลกระทบต่อการตีมูลค่าทรัพย์สินในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จากผลของคดีความเกิดข้อยืดเยื้อไม่รู้ผลแพ้ชนะ รวมถึงการเข้ามีบทบาทของ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) สร้างกรอบกติกา ในการแข่งขันเสรี
“หลังจากนี้ ทีโอที จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดด้วยการยกเลิกสัญญา เพราะเราเป็นเจ้าของสิทธิ ซึ่งสัญญานั้นระบุไว้ และที่ผ่านมา ทีโอที เป็นฝ่ายถูกเอกชนคู่สัญญาร่วมการงาน เป็นฝ่ายร้อง ทีโอที เพียงอย่างเดียว ทั้งที่เขาเป็นคู่สัญญาและจะต้องดำเนินการตามข้อตกลง”
ที่ผ่านมามูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น จะมีข้อพิพาทต่อเนื่องและไม่ยุติ หาก ทีโอที เป็นฝ่าย ชนะ ทาง ทรู หรือ ทีแอนด์ที จะดำเนินการยื่นฟ้องเพื่อให้คดีความนั้นเกิดขึ้นสิ้นสุดมากที่สุด และไม่ให้เกิดการเสียเปรียบ หรือบางครั้งไม่ต้องชำระเงิน หากฝ่ายเอกชน เป็นฝ่ายชนะ ทีโอที ในฐานะเจ้าของสัญญา และเป็นผู้รักษาประโยชน์ของรัฐ จะต้องดำเนินการหาขั้นยุติ ทั้งที่ในความเป็นจริง คู่สัญญานั้น หากจะกระทำการณ์อื่นนอกเหนือสัญญาตามที่ตกลงไว้ คู่สัญญานั้นจะต้องยื่นขอจากเจ้าของสัญญามากกว่า การที่จะกระทำการอื่นโดยไม่บอกเจ้าของสัญญาซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด
แหล่งข่าวกล่าวว่า การยกเลิกสัญญานั้น ทีโอที ไม่กลัวผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการถูกคู่สัญญาฟ้องร้องทางคดีกลับ เพราะในข้อสัญญาได้มีข้อระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ทีโอที นั้นสามารถยกเลิกสัญญาได้หากคู่สัญญานั้นละเมิดต่อสัญญาที่ตกลงไว้ร่วมกัน ส่วนในแง่ของการให้บริการ กับลูกค้าต่อหลังจากที่ยกเลิกสัญญาแล้ว ทีโอที พร้อมที่จะเข้าดำเนินการต่อได้ทันที
“เราไม่กลัวการฟ้องร้องกลับ เพราะที่ผ่านมาเรายอมตลอด แต่หลังจากนี้เราจะจริงจังและดำเนินการตามมาตรการนี้ เพื่อที่ ทีโอที จะไม่ต้องได้รับผลกระทบในด้านความเสียหาย ทั้งๆ ที่เราเป็นเจ้าของสัญญา”
อย่างไรก็ตาม การที่จะยกเลิกสัญญาได้ ทางคณะกรรมการ (บอร์ด) ได้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามและตรวจสอบคู่สัญญาร่วมการงาน ซึ่งมีตัวแทนจาก บอร์ด ฝ่ายบริหาร ฝ่ายสหภาพฯ ฝ่ายกฎหมาย และฝ่ายสัญญา เพื่อที่จะทำงานในเชิงรุกและป้องกันปัญหาด้านการละเมิดข้อสัญญา โดยทำงานขึ้นตรงกับบอร์ด ด้วยการติดตามการดำเนินงานของเอกชนคู่สัญญานั้นเป็นไปตามสัญญาหรือไม่ หากไม่ใช่ ก็จะดำเนินการตรวจสอบข้อมูล และให้ฝ่ายกฎหมายประสานไปยังคู่สัญญาให้ยุติการดำเนิงานในส่วนนั้น หากยังดำเนินการต่อก็จะยื่นให้บอร์ดพิจารณายกเลิกสัญญาร่วมการงาน
ส่วนการที่ ทีโอที ฟ้องร้องกับคู่สัญญา เนื่องจากเป็นผู้ถูกละเมิดในข้อตกลงและดำเนินการผิดหลักตามสัญญาที่ตกลงร่วมกันไว้ อาทิ
1.ละเมิดปรับเปลี่ยนตกแต่งตู้โทรศัพท์สาธารณะและติดสติกเกอร์ มีค่าเสียหาย 433 ล้านบาท
2.ละเมิดพิมพ์สัญลักษณ์ของตังเองและลายน้ำลงในใบเสร็จ ใบแจ้งหนี้ ค่าเสียหาย 1,922 ล้านบาท
3.ไม่ได้นำส่งส่วนแบ่งรายได้จากบริการพีซีที และค่าให้บริการพิเศษแก่ลูกค้า เช่น โอนสาย, สายเรียกซ้อนรวมค่าเสียหาย 72 ล้านบาท
4.ละเมิดให้บริการ TA 1234 หรือบริการโทรศัพท์ทางไกลราคาประหยัดด้วยเทคโนโลยีวีโอไอพี โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมค่าเสียหาย 14,765 ล้านบาท
5.ละเมิดให้บริการ ADSLหรือบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีค่าเสียหาย 1,100 ล้านบาท
6.ละเมิดต่อสัญญาในการให้บริการ T-Pin, T-card,T-message รวมค่าเสียหาย 52 ล้านบาท
7.ค้างชำระค่าเช่าท่อร้อยสายที่เมืองทองธานี รวม 8 ล้านบาท
ส่วนคดีที่อยู่ระหว่างประเมินความเสียหายเพื่อเร่งเข้าอนุญาโตตุลาการรวม 2 ข้อพิพาท คือ 8.ละเมิดให้บริการพีซีที แบบสาธารณะในชื่อ PCT buddy และ 9.ละเมิดให้บริการวงจรเช่ากับการประปานครหลวงด้วยตัวเอง
ด้านแหล่งข่าวจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ทีโอที กล่าวว่า การยกเลิกสัญญาเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพื่อที่ ทีโอที จะไม่ต้องเสียเปรียบต่อการเป็นผู้ถูกกระทำหรือสร้างความเสียหายให้กับองค์กรโดยที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อ ทั้งที่เป็นเจ้าของสัญญา และเกิดการแข่งขันเสรีตามที่ต้องการ ทั้งนี้ เอกชนคู่สัญญา หากคิดจะลงทุนหรือคิดจะแข่งขัน ก็ควรที่จะออกไปก่อตั้งบริษัทใหม่ ลงทุนใหม่มากกว่าที่จะมาเรียกร้อง เพื่อไปสร้างรายได้ในการแข่งขันจากเข้าของสัญญา ซึ่งเป็น ทีโอที
“เอกชนหลงลืมฐานะตัวเองว่าเป็นเพียงผู้รับสัมปทาน แต่กลับเข้ามาดำเนินงานเป็นคู่แข่ง”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|