"วัธนเวคิน รุ่นที่ 3 ถึงเวลาพิสูจน์ฝีมือ!"

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ธุรกิจของกลุ่มวัธนเวคิน กำลังเดินหน้าไปอย่างสวยงาม โดยเฉพาะโครงการระดับนานาชาติ "นิคมอุตสาหกรรมไทย-สิงคโปร์ 21" ภาพของงานเซ็นสัญญาอันสวยหรูที่ทำเนียบรัฐบาล ท่ามกลางใบหน้าอันยิ้มแย้มของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และ โก๊ะ จก ตง นายกรัฐมนตรี ประเทศสิงคโปร์ ยังไม่ทันจางหายไปจากความรู้สึก จู่ ๆ บงล. เกียรตินาคิน สถาบันการเงินหลักในกลุ่มวัธนเวคิน ก็ถูกแบงก์ชาติสั่งให้หยุดประกอบธุรกรรมชั่วคราว ภาระหนักของวัธนเวคิน รุ่นที่ 3 เริ่มขึ้นแล้ว ในการที่จะผลักดันธุรกิจในเครือ และความฝันที่จะเป็น "ดีทรอยต์แห่งเอเชีย" ต่อไป

ภาพความสัมพันธ์อันชื่นมื่นระหว่าง โก๊ะ จก ตง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธที่มาเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามสัญญาร่วมทุนระหว่างบริษัทน้ำตาลตะวันออกของกลุ่มวัธนเวคินกับริษัทเจทีซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในการทำโครงการ "นิคมอุตสาหกรรมไทย-สิงคโปร์" หรือ TS.21 ที่แถลงข่าวใหญ่โต ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาลเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ทีผ่านมา ยังไม่ทันจางหายไปจากความรู้สึก

14.00 น. วันที่ 5 สิงหาคม เป็นเวลาที่ผ่านไปเพียงไม่ถึงเดือนก็มีคำสั่งฟ้าฝ่าจากธนาคารแห่งประเทศไทยปิดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทหลักของตระกูลวัธนเวคิน เป็นเวลาชั่วคราว

เกิดอะไรขึ้น? กับกลุ่มบริษัทที่นายกรัฐมนตรีของไทยเพิ่งเข้าร่วมงานเซ็นสัญญา ซึ่งเสมือนหนึ่งยืนยันและรับประกันถึงความมั่นคงของบริษัทนั้น และแน่นอนมันได้ตอกย้ำสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนสิงคโปร์เพิ่มขึ้น นี่คือคำถามที่ตามมาติด ๆ

"ถ้าสมมุติว่า บริษัทเราเองประกอบการมีปัญหา การบริหารมีปัญหา หลักเกณฑ์ของแบงก์ชาติก็มีอยู่ชัดเจนแล้วนี่ ชี้แจงมาเลย แล้วสั่งปิดเราจะไม่เสียใจเลย แต่นี่ทางธนาคารชาติเองก็ได้เข้ามาตรวจสอบเป็นระยะ ๆ แล้วยืนยันมาโดยตลอดว่าไม่มีปัญหา"

นัฎฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล รองประธานกรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ระบายความรู้สึกกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว แน่นอนสิ่งที่เกิดขึ้นกับ บงล. เกียรตินาคิดทำให้มีคำถามต่อไปว่า แล้วมันจะเกิดผลกระทบอะไรกับบริษัทในกลุ่มวัธนเวคินหรือเปล่า โดยเฉพาะโครงการ TS.21

"โดนแน่นอน เพราะอย่างน้อยทางหุ้นส่วนก็ต้องมีคำถามแล้วว่าอะไรกันเนี่ย ดีไม่ดีจะมามองว่าเราไปทำให้เขามีปัญหาหรือเปล่าแต่อย่าลืมว่าการที่เขาจะมาร่วมกับเราได ้เขาเองก็ต้องเช็กแล้วเช็กอีกหลายรอบ ในเรื่องของประวัติ และฐานะทางการเงินของเรา นายกฯ เราเองก็ไปยืนพะยี่ห้อให้อยู่แล้วในวันนั้น"

นัฎฐิกาอธิบายต่อว่า เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ร่วมทุน รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้สถาบันการเงินในเมืองไทยที่ต้องกู้ยืมเงินมาด้วย ว่าการทำงานของแต่ละบริษัทในเครือแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด นอกจากมีการเข้าไปร่วมในการบริหารเท่านั้น โดยเฉพาะ TS.21 นั้นก็ไม่ได้วางแผนที่จะกู้เงินจากเกียรตินาคิน รวมทั้งเกียรตินาคินก็ไม่ได้เป็นผู้หุ้น เป็นเพียงที่ปรึกษาทางการเงินให้และร่วมเข้าไปเป็นกรรมการบริษัทเท่านั้น

แต่ภาพที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ทั้ง บงล. เกียรตินาคินและบริษัทน้ำตาลตะวันออกมาจากรากเดียวกัน

นอกจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มบริษัทผู้ร่วมทุนแล้วภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาของการเมืองไทยที่ยังคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา จะยังสร้างความมั่นใจให้กลุ่มผู้ร่วมทุนสิงคโปร์หรือไม่ และคิดว่าจะมีปัญหาในการที่จะนำลูกค้าเข้ามาทำเมืองอุตสาหกรรมยานยนต์ในพื้นที่ที่นิคมเตรียมไว้ได้หรือเปล่า?

"ก็อาจจะมานั่งคุยกันใหม่ แต่คงไม่ถึงกับชะลอโครงการ" นัฎฐิกายอมรับ

โครงการ TS.21 ดำเนินการโดย บริษัท เคเค-เจทีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างกลุ่มบริษัทน้ำตาลตะวันออก จำกัด บริษัทอินดัสเตรียลซิตี้ จำกัด บริษัทอีสเทิร์น ชิวยุ จำกัด ในสัดส่วน 60% กับบริษัท เจทีซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 40% บริษัทเจทีซีไอ เป็นผู้นำกลุ่มด้านอสังหาริมทรัพย์ของประเทศสิงคโปร์ และเป็นบริษัทในเครือของบริษัท จูล่ง ทาวน์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจด้านการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันบริษัทนี้มีการลงทุนถึง 15 โครงการใน 7 ประเทศ

การรุกเข้ามาสร้างเมืองนิคมอุตสาหกรรมในเมืองไทยด้วยนั้นเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ทางรัฐบาลสิงคโปร์ปูพื้นฐานไว้รองรับทางด้านการตลาด และการผลิตเมื่อเขตเสรีการค้าอาฟตา หรือ AFTA เกิดขึ้นในปี ค.ศ.2005

ซึ่งนอกจากประเทศไทยแล้วกลุ่มเจทีซีไอ ได้กระจายการลงทุนรวม 15 โครงการใน 7 ประเทศ เช่น "ไชน่า-สิงคโปร์ ชูโฮ" โครงการ "เวียดนาม-สิงคโปร์" ที่ประเทศเวียดนาม โครงการ "คาร์เมทรีย์ อินดัสเทรียลพาร์ค" ในประเทศฟิลิปปินส์

ส่วนโครงการในประเทศไทยนั้นถือว่าเป็นบุญหล่นทับให้กับกลุ่มวัธนเวคินเช่นกัน เพราะกลุ่มฯ ได้วางแผนที่จะพลิกฟื้นที่ดินซึ่งเป็นที่ดินของโรงงานน้ำตาลเก่านี้อยู่นานหลายปี ดำเนินเรื่องการขอบีโอไอไว้เสร็จสรรพ มีผู้สนใจเข้ามาร่วมทุนทั้งกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศและในประเทศหลายราย แต่กลุ่มฯ ยังคงพิจารณาโดยยังไม่ยอมตกร่องปล่องชิ้นกับใคร

จนกระทั่งได้มีโอกาสรู้จักกับกลุ่มทุนจากสิงคโปร์รายนี้ เมื่อเห็นว่าเป็นผู้ร่วมลงทุนที่เหมาะสม ฝ่ายหนึ่งมีที่ดินในทำเลที่ดี อีกฝ่ายมีความพร้อมทางด้านการตลาด ซึ่งสามารถแบ่งบทบาทกันได้ชัดเจน คือทางด้านการตลาดและด้านการขายพื้นที่สิงคโปร์จะเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนวัธนเวคินซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินก็จะต้องรับผิดชอบหลักในการพัฒนาพื้นที่

มันเหมือนฟันเฟือนที่จะผลักดันกงล้อธุรกิจตัวนี้ให้เดินหน้าไปด้วยดี การตกลงตัดสินใจจึงเกิดขึ้น

ตามแผนงานของการพัฒนาพื้นที่ของโครงการ TS.21 นั้น ในเฟสที่ 1 จำนวน 1,363 ไร่ จะเริ่มประมาณ เดือนกรกฎาคม 2540 เฟสที่ 2 ขนาดพื้นที่ 2,267 ไร่ เริ่มกลางปี 2542 เฟสที่ 3 จำนวน 1,911 ไร่จะต้องเริ่มต้นกลางปี 2545 โดยเฟสที่ 1 นั้นจะแล้วเสร็จในกลางปี 2541 ระยะเวลาที่จะใช้ในการพัฒนาทั้งโครงการ 8 ปี

สำหรับงบประมาณการลงทุนทั้งโครงการประมาณ 130,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในทางตรงซึ่งเป็นการเตรียมพื้นที่ สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานเช่น ไฟฟ้า โทรศัพท์ เรื่องของน้ำใช้ ถนนหนทางในโครงการ และโรงงานสำเร็จรูปสร้างโดยผู้ลงทุน 17,500 ล้านบาท

การลงทุนในทางอ้อม เป็นโรงงานที่สร้างตามความต้องการของนักอุตสาหกรรม 30,000 ล้านบาท และโรงงานและเครื่องจักร สร้างตามนักอุตสาหกรรมอีก 82,500 ล้านบาท

ในเรื่องของเงินที่จะนำเข้ามาพัฒนาโครงการในเฟสแรกนั้นหากไม่มีปัญหา เพราะสถาบันการเงินในประเทศมั่นใจในสถานะของกลุ่มเกียรตินาคินและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ในส่วนของการตลาดนั้น ผู้ร่วมทุนจากสิงคโปร์จะต้องรับภาระหนัก ซึ่งในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมานั้น นัฎฐิกายืนยันว่าทางสิงคโปร์ส่งข่าวมาว่าขณะนี้มีบริษัทตอบรับมาแล้วประมาณ 6 บริษัท

แต่นี่เป็นเพียงบทเริ่มต้น ปลายทางและบทสรุปของโครงการนี้ยังยาวนัก

"คุณพ่อเคยพูดไว้ว่าถ้าจะทำธุรกิจให้ดีต้องเป็นให้เหมือนกระดิ่ง เพราะเสียงกระดิ่งนั้นนอกจากจะเพราะแล้วยังกังวานใสดังไปนาน อย่าให้เป็นเหมือนกลองคือดังจริงแต่ละลุ่งตุ้งแช่ แล้วแช่ไปเลย" นัฎฐิกา เล่าถึงคำพูดของเกียรติ วัธนเวคิน ผู้เป็นบิดา และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มวัธนเวคิน ข้อความนี้มันอาจจะบาดความรู้สึกนักธุรกิจรุ่นใหม่หลายคนที่ทำธุรกิจโด่งดังเหมือนตีกลองที่ว่านั้น

"ดังนั้น สิ่งที่กลุ่มเราระมัดระวังตลอดมาก็คือเรื่องชื่อเสียง โดยเฉพาะในเรื่องของการทำสถาบันการเงิน ซึ่งอยู่ได้เพราะการขายเครดิตเท่านั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเจอจึงค่อนข้างจะหนักหน่วงและเสียใจว่าสิ่งที่เราทำมา 26 ปีนั้นไม่มีความดีอะไรเลยหรือ"

สิ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทั้ง 58 แห่ง "ผู้จัดการรายเดือน" คงไม่อธิบายถึงรายละเอียดที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะของกลุ่มเกียรตินาคิน เพราะอยู่ระหว่างการส่งแผนฟื้นฟู แต่จะอธิบายภาพของการเริ่มต้นในธุรกิจ การขยายเครือข่ายรวมทั้งแนวความคิดในการทำงานที่ทำให้กลุ่มนี้ยืนยาวอยู่ในวงการธุรกิจมานานเกือบ 40 ปี

"หากเปรียบเทียบไปแล้วคุณเกียรติในตอนนี้ก็คือ เจริญ สิริวัฒนภักดีนั่นเอง เพราะคุณเกียรติอยู่ในวงการธุรกิจด้านสุรามาก่อน ประมูลสุราทั่วประเทศ เรียกว่า เป็นเจ้าพ่อวงการในรุ่นแรก ๆ ถ้าถามว่านานแค่ไหนก็โน่นน่ะ รุ่นที่เขาเรียกว่ารุ่นแม่น้ำสุพรรณ รุ่นสงัด มหาคุณ รุ่นจอมพล ป. จอมพลผิน ซึ่งเป็นคุณพ่อของคุณชาติชาย ชุณหะวัณ" ผู้ใกล้ชิดกับกลุ่มวัธนเวคินคนหนึ่งกล่าว

จากธุรกิจสุรา ก็ได้มาสร้างโรงงานน้ำตาลเมื่อปี 2502 เพื่อจะส่งตัวโมลาสให้กับทางโรงเหล้า พอเริ่มสร้างโรงงานน้ำตาลไปสักระยะหนึ่ง สุราก็หมดอายุสัมปทาน ทางกลุ่มวัธนเวคิน จึงได้หยุดกิจการทางด้านน้ำเมา หันมาพัฒนาโรงงานน้ำตาลเป็นธุรกิจหลักของตระกูลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

โรงงานน้ำตาลที่ว่าคือที่ดินในจังหวัดระยอง ซึ่งขณะนี้ได้นำมาพัฒนาเป็นโครงการ TS.21 นั่นเอง โดยที่ในปี 2538 ได้มีการย้ายไปสร้างโรงงานแห่งใหม่ในเขตจังหวัดสระแก้ว

วัธนเวคินเป็นกลุ่มที่เป็นเจ้าของแลนด์แบงก์จำนวนมากอีกรายหนึ่ง จากความจำเป็นที่ว่าจะต้องใช้ที่ดินจำนวนมากในการสร้างโรงงาน และที่ดินในการปลูกอ้อยเพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบ และพร้อมๆ กับอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ขยายตัว ก็ได้ขยายธุรกิจไปทำ บริษัทสากลสถาปัตย์ ซึ่งประมูลงานทางการสร้างทางทั่วประเทศ เมื่อไปสร้างที่ไหนก็ต้องซื้อที่ดินสร้างแคมป์ไปเรื่อย ๆ ซึ่งแต่ละครั้งใช้ที่ดินนับ 100 ไร่ และที่ดินเหล่านี้ได้เอามาแบ่งจัดสรรให้คนงานผ่อนเดือนละ 10-100 บาทในเวลาต่อมา

และนี่คือจุดกำเนิดของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน

"จริง ๆ แล้วเราไม่ได้คิดจะทำบริษัททางด้านเงินทุนหรอก แต่การที่เราให้ลูกน้องผ่อนที่นั้น ทางราชการเขาก็อาจจะมองได้ว่าเป็นเงินทุนเถื่อนอีกก็เลยไปขอใบอนุญาตมา"

จรรสมร ภรรยาของกียรติซึ่งเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในเรื่องความสำเร็จของกลุ่มนี้ (อ่านในล้อมกรอบ) เล่าให้ "ผู้จัดการรายเดือน" ฟัง เธอบอกว่าในสมัยนั้นไม่มีใครอยากทำธุรกิจทางด้านเงินทุน แต่เธอมองว่าเมื่อขอไม่ยากเลยขอมาคราวเดียวกัน 3 ใบเลย ใบหนึ่งก็เอามาตั้งเป็นบริษัทสากลเคหะ เพื่อการผ่อนบ้านโดยเฉพาะ ซึ่งต่อมาลูกน้องของเกียรติได้ขอไปดำเนินการเอง อีกใบก็ให้เพื่อนฝูงไปและใบสุดท้ายคือเกียรตินาคิน

ความรู้สึกอย่างหนึ่งของจรรย์สมร ที่กระตุ้นให้อยากทำธุรกิจด้านเงินทุนก็คือ การเคยไปขอกู้เงินคนอื่นแล้วไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร "ตอนนั้นดูในเรื่องการสร้างทางซึ่งเหนื่อยมาก โครงการหนึ่ง ๆ ความยาวของถนนเป็นร้อยกิโลเมตร ไกลมาก เวลาไปกู้เงินที ร้อนก็ร้อน น้ำก็ไม่เอามาเสิร์ฟ เรานั่งรอนายแบงก์ตั้งแต่เช้ายันเย็นไม่ยอมออกมาพบสักที"

จากธุรกิจของเม็ดน้ำตาลได้กลายเป็นเม็ดเงินที่ก่อให้เกิดบริษัทในเครือต่าง ๆ ตามมา ซึ่งวันนี้ได้แบ่งเป็นธุรกิจหลักได้ 3 สายใหญ่คือ 1. ทางด้านอุตสาหกรรมและคลังสินค้า ซึ่งประกอบไปด้วยบริษัทน้ำตาลตะวันออก บริษัทโชติธนวัฒน์ ที่ดำเนินธุรกิจทางด้านพัฒนา และบริหารคลังสินค้า บริษัทไทยชูการ์ เทอร์มิเนิ้ลจำกัด (มหาชน) และบริษัทเคเค-เจทีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด

ปัจจุบันโรงงานที่จังหวัดสระแก้ว เป็นโรงงานที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก มีกำลังการผลิต 17,000 ตันต่อวัน มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 200 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม 2,482 ล้านบาท

2. ทางด้านการเงิน คือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) บริษัทโตเกียวลิสซิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ร่วมทุนกับกลุ่มธนาคาร โตเกียว มิตซูบิชิ และกลุ่มสหพัฒนพิบูล ทำธุรกิจทางด้านลิสซิ่ง

เกียรตินาคินเริ่มก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2514 เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2531

3. ทางด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยร่วมกับกลุ่มว่องกุศลกิจ ก่อตั้งบริษัทอัมรินทร์พลาซ่าจำกัด(มหาชน) ซึ่งปัจจุบันมีโครงการต่าง ๆ มากมายเช่น โรงแรม แกรนด์ไฮแอทเอราวัณ (กรุงเทพฯ), โรงแรมเจดับบลิว มาริออท (กรุงเทพฯ), เพลินจิตเซ็นเตอร์, แกรนด์อัมรินทร์ทาวเวอร์, อาคารอัมรินทร์พลาซ่า

และได้ร่วมกับกลุ่มนิวบุนนาค เช่าที่ดินของกระทรวงการคลัง ทำโครงการทางด้านโรงแรมและที่พักตากอากาศในอำเภอหัวหิน ซึ่งจะเปิดบริการได้ในเดือนธันวาคม 2541 นี้

การแตกตัวทางด้านธุรกิจของวัธนเวคิน อาจจะไม่หวือหวา เหมือนกลุ่มอื่น ๆ จึงถูกมองว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่ทำงานแบบครอบครัวและค่อนข้างอนุรักษนิยมซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า กลุ่มดังกล่าวค่อนข้างระมัดระวังในการขยายธุรกิจ

"จะเห็นได้ว่าเรามีที่ดินเยอะแยะ แต่เราไม่เอาที่ดินตรงนั้นมาสร้างเป็นอาคารสูง เพราะฉันจะดูว่าเงินที่จะลงทุนไปกับระยะเวลาที่ได้กลับคืนมานี่มันไปกันได้หรือเปล่า โครงการใหญ่ ๆ เช่นทางด่วนรถไฟฟ้า ไม่เอาแน่นอนเพราะทุ่มไป ร้อยล้าน พันล้าน กว่าจะได้เงินมามันช้าเกินไป" จรรย์สมรกล่าว

นี่คือวิธีคิดของจรรย์สมร ซึ่งยังมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดก้าวย่างของวัธนเวคิน

แต่กลุ่มนี้ไม่ปิดโอกาสในการเข้าร่วมทุนกับกลุ่มอื่น ๆ และการดึงเอามืออาชีพเข้ามาร่วมงาน ภาพที่เห็นได้ชัดก็คือทางด้านอาคารสูงในส่วนของสายงานอสังหริมทรัพย์นั้น ทางกลุ่มก็ได้เข้าร่วมทุนกับกลุ่มว่องกุศลกิจพันธมิตรเก่าแก่ทุกโครงการส่วนใหญ่เป็นที่เช่ามีทำเลที่ดีในย่านกลางเมือง และส่วนใหญ่พื้นที่โครงการที่เป็นอาคารสำนักงานและห้างสรรพสินค้าได้วางแผนให้เป็นการเซ้งเพื่อให้เงินไหลกลับโดยทันที

หรือธุรกิจทางด้านโรงแรม เช่นแกรด์ไฮแอท เอราวัณ ทางกลุ่มก็จะดึงเอากลุ่มต่างชาติเข้ามาเป็นผู้บริหารเลย เช่นเดียวกับการเข้าไปร่วมกับกลุ่มนักพัฒนาที่ดินท้องถิ่นที่หัวหิน ตั้งบริษัทโรงแรมชายทะเลซึ่งเมื่อพัฒนาโครงการเสร็จก็จะดึงเอากลุ่มไฮแอท เข้าไปบริหารเช่นกัน แม้แต่โครงการ TS.21 ที่เข้าร่วมทุนกับทางสิงคโปร์ ก็ใช้วิธีนี้

ด้วยยุทธวิธีดังกล่าว นอกจากเป็นการลดความเสี่ยงได้ระดับหนึ่งแล้วโอกาสที่จะทำให้วัธนเวคิน ก้าวไปสู่ความเป็นมืออาชีพก็เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ถ้าไม่ใช่กลยุทธ์ดังกล่าวแล้วก็น่าเป็นห่วงเหมือนกันว่า วันนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มนี้จะฟันฝ่าอุปสรรคทางด้านการตลาดไปได้อย่างไร?

ปัจจุบันด้านอสังหริมทรัพย์ กลุ่มมี 2 โครงการใหญ่ที่กำลังดำเนินการขายพื้นที่คือ อาคารเพลินจิตเซ็นเตอร์ที่ประกอบไปด้วยศูนย์การค้าและสำนักงานให้เช่าสูง 24 ชั้นและโครงการพหลโยธินพาร์ค ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธินซอย 14 บนพื้นที่รวมประมาณ 21 ไร่เป็นโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมโครงการแรกของกลุ่มนี้ที่ออกมาท่ามกลางอุณหภูมิอันร้อนแรงของการแข่งขันกันขาย และกำลังรอพิสูจน์ฝีมืออยู่เช่นกัน

"เราไม่ทราบว่าคนอื่นมองเราอย่างไร แต่ของเราคนที่จะทำก็ต้องมีความสามารถ พูดง่าย ๆ ว่า เราต้องมีทรัพยากรบุคคลของเราด้วย จุดเริ่มต้นอาจจะเป็นวัธนเวคินก็จริงแต่เมื่อแตกออกไปแล้ว มันอาจจะมีวัธนเวคินอีกหลายคนที่ทำไม่ได้ จำเป็นต้องดึงเอาคนอื่นมาร่วมในตำแหน่งที่เหมาะสม" นัฎฐิกาพูดถึงความเป็นภาพของการทำงานแบบครอบครัว

"ฉันอยากให้คำว่าตระกูลเป็นจุดเล็กๆ จุดหนึ่ง ควรให้ความสำคัญกับทีมเวิร์กมากกว่า เพื่อให้ตัวธุรกิจคงอยู่ก้าวไปตามโลก ในขณะที่วัธนเวคินก็จะเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่ง" จรรย์สมรกล่าวย้ำ

วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ในวันนี้ การผนึกกำลังและระดมสมองของวัธนเวคินรุ่นที่ 3 จะเป็นบทพิสูจน์ถึงความเป็นมืออาชีพในวันข้างหน้าอย่างแท้จริง!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.