|
ทุนต่างชาติถอดใจเมกะโปรเจกท์หลังเสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
“พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล” เจ้ากระทรวงหูกวาง ยอมรับนักลงทุนข้ามชาติเริ่มวิตกกังวลโครงการเมกกะโปรเจกท์ เสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอน การชุมนุมกดดัน“ทักษิณ ชินวัตร” ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนขอคำอธิบายก่อนตัดสินใจร่วมประมูลงาน ด้านรัฐบาลเสียงแข็งประกาศชัดไม่ล้มโครงการแน่นอน พร้อมเดินหน้าตามกรอบเดิมที่กำหนดไว้
นึกว่าจะมีแต่คนไทยเท่านั้นที่ยัง“สับสน มึนงง ”ไม่หายกับนโยบายการลงทุนโครงการเมกกะโปรเจกต์ มูลค่า 5.5 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลมีท่าทีจะเอาจริงเองจังกับการลงทุนโครงการขนส่งมวลชนระบบราง
แต่วันนี้นักลงทุนข้ามชาติที่แห่กันเข้ามาร่วมฟังรายละเอียดโครงการดังกล่าวหลายรายเกิดความสับสนขึ้นบ้างแล้ว กังวลว่ารัฐบาลจะเดินหน้าโครงการต่อไปหรือไม่ ?
เพราะปัจจุบันรัฐบาลถูกกระแสการกดดันจากการชุมนุมของกลุ่มผู้ที่ไม่พอใจการบริหารประเทศของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงความไม่โปร่งใสการขายหุ้นชินคอร์ป มูลค่า 73,300 ล้านบาท ให้กับเทมาเส็ก กองทุนจากสิงคโปร์ รวมถึงการบริหารประเทศที่ส่อเค้าเอื้อประโยชน์ต่อตัวเอง ครอบครัว และพวกพ้อง จนทำให้เกิดเหตุลุกลาม จนถึงขั้นการชุมนุมกันที่ลานพระรูป ถึง 2 ครั้ง เพื่อกดดันให้นายกฯทักษิณ ลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบ
ประเด็นดังกล่าว ทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มสับสน ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะเดินหน้าโครงการต่อหรือไม่ ?เพราะการชุมนุมของประชาชนเรือนแสนคน มากพอที่จะทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน และที่สำคัญไม่รู้ว่า นายกฯทักษิณ จะลาออกหรือยุบสภาตามความต้องการของผู้ชุมนุมหรือไม่ ? เพราะหากมีการลาออก หรือยุบสภาจริง อาจจะทำให้โครงการสะดุดได้
“เสี่ยเพ้ง” รับทุนข้ามชาติกังวล
พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล หรือเสี่ยเพ้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวยอมรับว่า กลุ่มทุนข้ามชาติที่สนใจลงทุนโครงการขนส่งมวลชนระบบราง เริ่มมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาทางการเมืองในประเทศ หลังจากที่มีการชุมนุมเพื่อกดดันนายกรัฐมนตรีให้แสดงความโปร่งใสในการขายหุ้นชินคอร์ป ที่ส่อแววว่าจะไม่โปร่งใส มีการใช้วิธีการอันชาญฉลาดหลบเลี่ยงภาษี
รวมถึงการบริหารราชการแผ่นดินที่เอื้อประโยชน์ต่อครอบครัว และพวกพ้อง จนทำให้มีการสอบถามถึงสถานการณ์กันเข้ามาที่กระทรวงคมนาคมจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงก็ได้อธิบายให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวยังเดินหน้าต่อไป ไม่มีการล้มโครงการอย่างแน่นอน
“ยอมรับว่านักลงทุนต่างชาติเริ่มวิตกกับปัญหาทางการเมือง และสอบถามสถานการณ์เข้ามามาก เพื่อให้เกิดมั่นใจต่อการลงทุนในโครงการระบบขนส่งมวลชนระบบราง หรือเมกะโปรเจกท์ ซึ่งเป็นโครงการที่มีพันธสัญญาผูกพันในระยะยาว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะเข้าใจสถานการณ์ทางการเมืองและเดินหน้าลงทุนต่อ เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นไทยจะต้องลงทุนโครงการเมกะโปรเจกท์แน่นอน” พงษ์ศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงได้ติดตามสถานการณ์ของนักลงทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิด และเห็นนักลงทุนต่างชาติยังทำงานต่อไป เพื่อเข้าร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว แม้ว่าจะมีความกังวลอยู่บ้าง
ทั้งนี้ กลุ่มทุนข้ามชาติที่สนใจหลายราย ได้ทยอยเข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทยแล้ว เนื่องจากในเดือนก.พ.นี้ จะเป็นการเสนอข้อมูลการร่วมลงทุน และในวันที่ 28 เดือนเดียวกันจะเป็นขั้นตอนการคัดเลือกผู้ทำการก่อสร้างในหลาย
ที่ปรึกษาฯเชื่อต่างชาติมองพื้นฐาน
ขณะที่พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ. เอ็มเอฟซี ในฐานะที่ปรึกษาการระดมทุน โครงการขนส่งมวลชนระบบราง กล่าวว่า จากการเดินทางไปโรดโชว์ร่วมกับกระทรวงการคลังในต่างประเทศ ทำให้เห็นมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ ที่สนใจลงทุนโครงการขนส่งมวลชนระบบราง รวมทั้งสถาบันการเงินที่สนใจปล่อยเงินกู้ว่า ไม่ได้มองแค่สถานการณ์การเมืองว่าจะมีผลกระทบต่อโครงการ เพราะปัญหาทางการเมืองเป็นปัญหาระยะสั้น และไม่ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร ก็ไม่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงการระบบราง ที่เป็นการลงทุนในระยะยาว และถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติ ได้สนใจวิธีการเข้ามาร่วมลงทุน โครงการขนส่งมวลชนระบบราง ซึ่งได้ชี้แจงว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นแล้ว หากนักลงทุนสนใจสามารถขอรายละเอียดข้อมูลได้ โดยรัฐบาลไทยเปิดกว้างการลงทุน ไม่เฉพาะเรื่องของเทคนิคก่อสร้างเท่านั้น แต่เปิดกว้างด้านการจัดหาเงินลงทุน ส่วนนักลงทุนไทยเชื่อว่าจะร่วมลงทุนกับนักลงทุนต่างชาติแน่นอน ในลักษณะการร่วมลงทุน เนื่องจากผู้ประกอบการไทยจะมีข้อมูลพื้นฐานมากกว่าต่างชาติ
ส่วนความคืบหน้าโครงการเมกะโปรเจกท์ พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ได้เสนอให้ใแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการลงทุนพิเศษของรัฐ (กนค.) ที่มีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณาตัดสินของเสนอขอนักลงทุนก่อนเสนอครม.อนุมัติ ส่วนโครงการเมกะโปรเจกท์ของกระทรวงคมนาคมจะตั้งคณะกรรมการบริหาร4 ชุด โดยพงษ์ศักดิ์เป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณาข้อเสนอเบื้องต้นก่อนเสนอกนค.
นอกจากนี้ ยังเสนอให้ยุบกรรมการบริหารเหลือ 4 ชุด โดยกรรมการบริหารจะรับผิดชอบ 4 โครงการหลัก ได้แก่ 1. โครงการรถไฟฟ้า 10 สาย 2. โครงการรถไฟทางคู่ และโครงการปรับปรุงทางรถไฟ 3. โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราและท่าเรือน้ำลึกสงขลา รวมทั้งระบบถนนและรถไฟที่เกี่ยวข้อง และ 4. โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา โครงการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบนอก ชั้นที่ 3 และโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายศรีนครินทร์-บางนา-สมุทรปราการ
ทั้งนี้ เดิมกำหนดตั้งกรรมการบริหาร 7 ชุด แต่เนื่องจากแต่ละชุดต้องมีกรรมการถึง 18 คน ทำให้มีปัญหาในการหาผู้มีคุณสมบัติไม่ขัดกับที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินโครงการลงทุนพิเศษของรัฐเพื่อการพัฒนาประเทศ พ.ศ. 2549
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|