|

EXIMแบงก์ออกแรงเข็น"เอสเอ็มอี""ปิดจุดอ่อน"ผลักวอลุ่มภาคส่งออก
ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เอ็กซิมแบงก์ ในยามนี้ถึงจะเหนื่อยแต่ก็ต้องสู้ เพราะไม่เพียงต้องแก้ปัญหา NPL ที่คลังตั้งเกณฑ์ไม่ให้เกิน10% แล้ว ยังต้องเร่งผลักดันผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีออกสู่ตลาดโลก ฟังดูเป็นเรื่องง่ายแต่ทำได้ยากเพราะจุดอ่อนที่สร้างความเหน็ดเหนื่อยให้แบงก์แห่งนี้คือผู้ประกอบการแทบไม่มีความเข้าใจเรื่องการส่งออก ขณะเดียวกันนโยบายรัฐก็ต้องการเห็นภาคส่งออกขยายตัวด้วยบทบาทสำคัญที่มีผลต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเอ็กซิมแบงก์ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่ต้องสนองนโยบายดังกล่าว ด้วยเหตุนี้เอ็กซิมแบงก์จึงไม่เพียงแค่เหนื่อย แต่ยังเต็มไปด้วยแรงกดดัน
ด้วยบทบาทของภาคการส่งออกที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย และยังเป็นนโยบายหลัก ๆ ที่รัฐพยายามผลักดันให้มีการส่งออกเพิ่มมากขึ้น แม้ในวันนี้อัตราการขยายตัวด้านการส่งออกของไทยกมิได้แย่อะไรมากมาย แต่ถ้ามองถึงอนาคตที่มีการเปิดเสรี ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งสร้างฐานผู้ประกอบการให้แข็งแกร่งเพื่อใช้ประโยชน์จากโลกที่ไร้พรหมแดนขวางกั้นด้วย
พรรณพ ชะระไสย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ บอกว่า ผู้ประกอบการ ขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ของไทยมีจุดอ่อนมาก เพราะแทบไม่รู้เรื่องขั้นตอนหรือวิธีการในการส่งออกเลย ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความเสียเปรียบ
"หรือบางรายนั้นแค่สนใจเรื่องการส่งออกแต่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะส่งออกอะไรดี ตรงนี้ก็มีเข้ามาถามที่แบงก์เหมือนกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังต้องการความรู้ความเข้าใจอีกมาก ว่าถ้าจะส่งออกได้ต้องทำอย่างไร สินค้าที่ส่งออกคืออะไร และเราในบทบาทหน้าที่ดังกล่าวก็อยากแนะนำสำหรับผู้ประกอบการที่มีความตั้งใจจริง
ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการผลักดันผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมให้ออกไปสู่ตลาดโลก เพราะไม่เพียงแค่ความรู้ความเข้าใจเท่านั้นแต่แบรนด์ก็เป็นสิ่งสำคัญต่อการต่อสู้และแข่งขันในตลาดโลก เพราะในวันนี้ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ยังผลิตสินค้าส่งออกต่างประเทศในแบรนด์บริษัทอื่นเป็นส่วนใหญ่ น้อยนักที่จะผลิตและขายได้ในแบรนด์ของตัวเอง
"ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องของความเชื่อถือในแบรนด์สินค้า มาตรฐาน และความไว้ใจ ทุกวันนี้แม้เรายังผลิตส่งในนามแบรนด์คนอื่นก็ตาม แต่เราก็พยายามที่จะสอดแทรกแบรนด์ที่เป็นของคนไทยเข้าไปด้วย เพื่อให้เป็นที่ยอมรับว่าเราเองก็มีมาตรฐานในการผลิต เพียงแต่ผลิตให้ในนามแบรนด์บริษัทอื่นเท่านั้น ซึ่งกว่าตรงนี้จะเป็นที่ยอมรับก็คงต้องใช้เวลา"
คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่านี่คือปัญหาและความเหน็ดเหนื่อยของเอ็กซิมแบงก์ แต่กระนั้นก็ตามในฐานะและบทบาทการเป็นธนาคารเฉพาะกิจเช่นนี้แล้ว งานที่ได้รับมอบหม่ายแม้จะกดดันเพียงใดก็ต้องเดินหนาต่อไป อย่างในวันนี้ธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมให้มีการส่งออกนั้นจะเป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ อย่างอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และแฟชั่น
กสินา ศรีสอ้าน ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจขนาดย่อม และรักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาบริการและลูกค้าสัมพันธ์ บอกว่า ทางเอ็กซิมแบงก์ได้คัดเลือกผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และแฟชั่น จำนวน 120 รายมาอบรมเพื่อให้รู้และเข้าใจถึงกระบวนการวิธีในการส่งออก อย่างการขนส่ง และการชำระเงิน กฎหมายที่เกี่ยวกับการค้าในประเทศคู่ค้า หรืออย่างน้อย ๆ ก็อาจจะให้คำแนะนำว่าจะหาแหล่งข้อมูลได้จากที่ไหนบ้าง หากสนใจเปิดตลาดใหม่ ๆ
ซึ่งถ้าจะปล่อยให้ผู้ประกอบการทำกันเอง เชื่อว่าคงรอดได้ยาก สินเชื่อที่เอ็กซิมแบงก์ปล่อยให้อาจเป็นหนี้เสียซะส่วนใหญ่ ในขณะที่ผู้ประกอบการก็ไม่สามารถต่อยอดธุรกิจได้ ด้วยเหตุนี้เอ็กซิมแบงก์จึงต้องยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ
"เราไม่ได้หวังว่าผู้ประกอบการที่เข้ามาอบรมจะประสบความสำเร็จทุกราย แต่อย่างน้อยก็น่าจะมีบางส่วนที่ไปรอดและสามารถขยายกิจการเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและไปสู่ขนาดใหญ่ได้ อย่างเช่น 500 ราย เหลือรอดสัก 20-25% ก็ยังดี"
กสินา บอกว่าเราพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่โดยได้เปิดฝ่ายพัฒนาธุรกิจขนาดย่อมเพื่อทำหน้าที่ในการให้ความรู้ผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันก็ควบคู่ไปพร้อมกับส่งเสริมจำนวนผู้ประกอบการรายใหม่ ๆเพิ่มขึ้น รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการที่เพิ่มเริ่มทำธุรกิจส่งออกด้วย
สถาพร ชินะจิต กรรมการผู้จัดการ บอกว่า เอสเอ็มอีเป็นกลุ่มเป้าหมายที่แบงก์พยายามผลักดันการส่งออก เพราะแม้ในวันนี้จะยังเป็นแค่ผู้ประกอบการขนาดเล็กแต่อนาคตอาจเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการส่งออกหลายล้านบาทก็ได้
"ด้วยเหตุผลและภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ จึงเป็นจังหวะดีสำหรับการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีความแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันก็มองหาช่องทางขายใหม่ ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจของตัวเอง ซึ่งถ้าเป็นไปได้ดีอนาคตจากผู้ประกอบการรายย่อยก็เป็นรายใหญ่ได้"
นั่นคือส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาในผู้ประกอบการรายย่อย อีกปัญหาหนึ่งที่เอ็กซิมแบงก์ต้องเร่งแก้ไขคือปัญหาหนี้เสีย หรือ NPL แต่จะว่าไปแล้วปัญหานี้ สถาพร บอกว่าไม่ได้หนักหนาสาหัสอะไรมากมาย เพราะนโยบายการจัดชั้นกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดจากธนาคารแห่งประเทศไทยทำให้ผู้ประกอบการบางรายต้องเข้าไปอยู่ในเกณฑ์NPL ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้วธุรกิจดังกล่าวอาจสะดุดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และยังมีกำลังที่จะสานต่อไปได้
I ณ สิ้นปี 2548 NPL อยู่ที่ 6,420 ล้านบาท หรือ 10.6% ของยอดเงินให้สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับ แต่เพื่อความปลอดภัยในการดำเนินธุรกิจเอ็กซิมแบงก์ได้ตั้งเงินสำรองหนี้สูญและหนี้สังสัยจะสูญไว้จำนวน 1,075 ล้านบาท ซึ่งการตั้งสำรองดังกล่าวทำให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินงานของที่เอ็กซิมแบงก์จะไม่มีปัญหา ขณะเดียวกันก็พยายามที่จะลดNPLลง ซึ่งเชื่อว่าในปีนี้น่าจะทำได้ต่ำกว่า10%
ผลการดำเนินงานในปี 2548 เอ็กซิมแบงก์ มีกำไร สุทธิ457ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2547ซึ่งอยู่ที่ 477 ลานบาท โดยมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยตามการขยายกิจกรรมสนับสนุนการส่งออกและการเปิดสาขาเพิ่ม 2 แห่ง และการกันสำรองหนี้สูญ ส่วนยอดเงินให้สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับ มีจำนวน 60, 327 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากปีที่ผ่านมา
แม้การทำงานของเอ็กซิมแบงก์จะเต็มไปด้วยแรงกดดันและความเหน็ดเหนื่อยแต่นั่นถือเป็นหน้าที่และบทบาทที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรจากบทของพระเอกที่ต้องอยู่เคียงข้างค่อยช่วยเหลือนางเอกตลอดเวลา
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|